ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > มหกาพย์จำนำข้าว (1): “อัมมาร” เสนอ “จับรัฐบาลขังอยู่กับโครงการจำนำข้าว” สร้างปัญหาก็ต้องแก้ปัญหาเอง

มหกาพย์จำนำข้าว (1): “อัมมาร” เสนอ “จับรัฐบาลขังอยู่กับโครงการจำนำข้าว” สร้างปัญหาก็ต้องแก้ปัญหาเอง

16 ตุลาคม 2013


จัดงานรำลึก 100 ปี ชาตกาล อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์

วันที่ 15 ตุลาคม 2556 12 องค์กรภาคีร่วมจัดงาน “รำลึก 100 ปี ชาตกาล อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์” โครงการอาจารย์ป๋วย จริยธรรม กับการต่อต้านการคอร์รัปชัน ในชื่อ “มหากาพย์จำนำข้าว สู่มหกรรมกอบกู้สุจริต ความรับผิดชอบทางจริยธรรมเป็นความจำเป็นในการพัฒนาประเทศ” ณ ห้องประชุม 212 อาคารมหิตลาธิเบศร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในงานเร่ิมต้นด้วย อารัมภกถา ป๋วย อึ๋งภากรณ์: 1 ศตวรรษของผู้สุจริต โดย ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

ศ.ดร.อัมมารกล่าวถึง อาจารย์ป๋วย ว่าเป็นผู้มีคุณูปการหลายอย่างในเรื่องของข้าว เรื่องหนึ่งคืออาจารย์ป๋วยเป็นต้นคิด “ภาษีส่งออกข้าว” ท่านทำไปตอนนั้นเพราะต้องการสะสางปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตราให้เป็นอัตราเดียว

เนื่องจากสมัยก่อน ธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) เป็นผู้ผูกขาดอัตราแลกเปลี่ยน และแบงก์ชาติจะซื้ออัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์จากผู้ส่งออกในอัตราไม่เหมือนกัน สำหรับข้าวอัตราแลกเปลี่ยนถูกกำหนดให้ใช้อัตราทางการ คืออัตราต่ำสุด ไม่ใช่อัตราตลาด แต่อัตราตลาดของไทยราคาจะต่ำ แล้วมีการโกงกันบ้าง กินกันบ้าง มีโควตาบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่มีการทุจริตกันมหาศาล

คุณูปการของอาจาย์ป๋วยคือ ขจัดคอร์รัปชันไปได้ส่วนหนึ่ง ด้วยการแปรอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตราให้เป็นอัตราเดียว ทำให้ส่วนที่เคยเป็นกำไรของแบงก์ชาติจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการขายข้าวส่งออกต่างประเทศ เพราะจะซื้อเงินปอนด์ในอัตรา 35 บาท ขณะที่อัตราตลาดผู้นำเข้าต้องซื้อเงินปอนด์ในอัตราตลาดประมาณ 50-70 บาทเพราะฉะนั้น แบงก์ชาติจะกำไรเต็มๆ

แต่สถานการณ์การเมืองตอนนั้นเป็นห่วงความเป็นอยู่ของข้าราชการมากกว่าของประชาชน ราคาข้าวที่ต่ำเป็นวิธีหนึ่งที่รัฐบาลให้สวัสดิการกับข้าราชการ จึงต้องมี “พรีเมียมข้าว” (ภาษีส่งออกข้าว) ขึ้นมา จึงกดราคาข้าวในประเทศ แต่หลังจากอาจารย์ป๋วยทำนโยบายเหล่านี้ออกมา ซึ่งสะสางปัญหาคอร์รัปชันได้

แต่ในช่วงนั้น มีนักวิชาการหลายคน เริ่มต้นจากหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร เป็นคนแรกที่ชี้ให้เห็นว่า “พรีเมียมข้าวสร้างความทุกข์ให้ชาวนา” และก็มีนักวิชาการหลายคน มีการจ้างนักวิจัยจากแคนาดามาเจาะลึกก็ยืนยันเช่นเดียวกัน แต่พวกเราที่ต่อสู้เรื่องพรีเมียมข้าวไม่สามารถเขียนความคิดได้ว่า การเก็บพรีเมียมได้สร้างความทุกข์ให้เกษตรกรอย่างไร ถือเป็นภัยเงียบกับเกษตรกร

อาจารย์ป๋วยก็ช่วยผลักดันอะไรหลายๆ อย่าง แต่ไม่สามารถผลักดันได้เต็มที่ ตอนเป็นที่ปรึกษาอาจารย์สัญญา (ธรรมศักดิ์) อาจารย์ป๋วยก็ยอมกับความเห็นของคนจากกระทรวงเกษตรบอกว่าเก็บภาษีชาวนาแล้วเราเอาไปคืนให้ด้วยนโยบายต่างๆ ให้ชาวนา จึงเป็นบ่อเกิดของการพยุงราคา การประกันราคา การจำนำข้าว และมาตรการต่างๆ ตามมาในช่วง 10-20 ปีต่อจากนั้น

ปัจจุบันสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนไป ทำเพื่อประชาชนมากขึ้น ให้ประชานิยมมากขึ้น การให้ราคาสินค้ากับเกษตรกรในราคาที่ดี เป็นของที่เกษตรกรได้รับระโยชน์เต็มๆ และนักการเมืองมักอ้างว่า

“การแก้ปัญหาเกษตรกรแก้ได้วิธีเดียวคือ ให้ราคาดีแล้วมันง่าย มันคิดง่าย แต่ในระยะยาวมันอยู่ได้หรือเปล่าไม่รู้ แล้วก็ทำกันมาอย่างนี้”

คุณูปการของรัฐบาลนี้คือ ทำให้เราเห็นว่า “การยกราคาขึ้นโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ” แม้จะช่วยเหลือเกษตรกรได้ แต่ไม่ใช่วิธีที่ยั่งยืน และไม่ถาวร

ผมคิดว่าสิ่งที่เราต้องคิดกันต่อไปจากนี้ เมื่อมาถึงจุดนี้แล้ว ผมขอตั้ง “โจทย์” ไว้ว่า ขณะนี้ วันนี้ สถานการณ์เป็นอย่างนี้ มองไปข้างหน้าจะเป็นอย่างไร และจะแก้ไขปัญหาอย่างไร

แต่ผมขอเรียนว่า “ผมไม่ขอรับผิดชอบแก้ไขปัญหา”

ผมจะบอกกับรัฐบาลนี้ว่า “เอ็งสร้างปัญหา เอ็งต้องแก้ต่อไป แก้ให้สุด และรับผิดชอบในด้านการเสียคะแนน และในด้านต่างๆ ที่ทำให้คนต้องเดือดร้อน เพราะการจำนำข้าวเป็นนโยบายของท่าน”

และขอพูดตรงๆ กับพรรคประชาธิปัตย์ ว่า “ผมไม่ต้องการเป็นธารินทร์ที่ 2 (ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง)

และผมไม่ต้องการให้ใครทั้งหลายเป็น “ธารินทร์ที่ 2” คือ รับบาปที่คนอื่นสร้างไว้ และในที่สุดก็เป็นการฆ่าตัวตายทางการเมือง

ผมต้องการให้คนที่สร้างปัญหาแก้ปัญหา ประชาชนจะได้เรียนรู้ว่า การแก้ปัญหาจากสิ่งที่เกิดขึ้นจากนโยบายฉาบฉวย จะสร้างความทุกข์อย่างไร

ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณTDRI กล่าวอารัมภกถา ป๋วย อึ๋งภากรณ์ : 1 ศตวรรษของผู้สุจริต
ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณTDRI กล่าวอารัมภกถา ป๋วย อึ๋งภากรณ์: 1 ศตวรรษของผู้สุจริต

โจทย์ที่หนึ่ง ขณะนี้ราคาข้าวโลกในช่วง 3-4 เดือนนี้โน้มต่ำลงค่อนข้างรุนแรงและเร็ว เพราะตลาดโลกเห็นว่าเรามีข้าวในสต็อก ซึ่งรัฐบาลเก็บเป็นความลับสุดยอด กระทั่งรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ท่านก่อน (นายบุญทรง เตริยาภิรมย์) หลุดบอกว่ามีข้าวในสต็อกกว่า 17 ล้านตัน ทำให้ตกใจกันมาก และล่าสุดรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์คนปัจจุบันก็หลุดบอกว่ามี 10 ล้านตัน ชี้ให้เห็นว่ามีสต็อกข้าวจำนวนมาก

โจทย์ที่สอง เวลานี้รัฐบาลมีหนี้อันเกิดขึ้นจากการจำนำข้าวแล้วประมาณ 5-6 แสนล้านบาท เกินกว่าวงเงินที่ตั้งไว้ 5 แสนล้านบาท และกำลังจะเริ่มจะมีปัญหาว่า เกินกว่ากำลังจะกู้ได้ ไม่ว่าจะเป็น ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) และธนาคารของรัฐ เริ่มติดเพดานการกู้ยืมเงิน

โจทย์ที่สาม เวลานี้พลังของประเทศไทย ขาดในด้านการขายข้าวคุณภาพสูง ในอนาคตคนเอเชียจะบริโภคข้าวลดน้อยลง แต่เงินที่ใช้ในการซื้อข้าวน้อยลงจะไปเพิ่มเรื่องคุณภาพข้าว ดังนั้น เราจะไปสู้ตลาดโลกไม่ได้ ราคาข้าวที่ชาวนาได้ในที่สุดเป็นราคาที่มาจากการขายข้าวในตลาดโลก นอกเหนือไปจากเงินที่รัฐบาลทุ่มเท แต่ตอนนี้รัฐบาลกำลัง “บ่จี๊” หรือ กำลังไม่มีเงิน

ผมคิดว่ากระทรวงการคลังเริ่มเห็นว่าค่าใช้จ่ายจากการขาดทุนต่างๆ เริ่มมีมากขึ้น โดยคณะกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ได้แจงรายงานการปิดบัญชี ทำให้เห็นปัญหาต่างๆ เรื่องนี้เป็นปัจจัยหนึ่งทำให้กระทรวงการคลังหมดอาลัยตายอยาก ไม่อยากให้กู้ยืมมากต่อไปอีก อย่างน้อยข้าราชการกระทรวงคลังก็คิดอย่างนั้น

“ส่วนท่านรัฐมนตรีคิดอย่างไรผมไม่ทราบ แต่รู้สึกท่านเงียบไปเยอะเลย ผมรู้สึกว่านายกฯ จากดูไบก็เงียบไปเยอะ นายกฯ​ในประเทศไทยก็ว่าไปตามบท ตามสไตล์ของท่าน แต่อย่างไรก็ตาม มาถึงจุดที่ต้องแก้ไขปัญหา แต่จะแก้อย่างไรที่จะให้เดือดร้อนกับชาวนาน้อยที่สุด”

ที่ผ่านมา รัฐบาลทำตามเป้าหมาย ประสบความสำเร็จในการจำนำ 15,000 บาทต่อตัน แม้จะมีการโกงกินกันบ้าง แต่เวลาเขาโกงกินกัน เขามีจริยธรรมอย่างหนึ่ง คือ เขาโกงกินตอน ‘ขาออก’ เพราะเป็นเงินที่มาจากรัฐ หมายถึง ขาออกจากโกดังรัฐบาล ขาเข้าก็มีเป็นเบี้ยบ้ายรายทาง

“โจทย์ก็มีแค่นี้ว่า จากนี้ ไม่ว่าจะหันซ้ายหรือหันขวา สิ่งแรกที่จะเกิดขึ้นคือ ราคาข้าวในตลาดจะตกแน่ เพราะสต็อกข้าวจะต้องระบายออกมา ไม่อย่างนั้นข้าวจะเน่าและเป็นภาระของรัฐบาล”

ทางออกคือ ข้าวที่เราระบายออก สมมติว่า ข้าวทุกเมล็ดที่ชาวนาผลิต ต้องไม่เก็บเข้าสต็อก ขายออกให้หมดทุกปีๆ จากนี้ไป ส่วนข้าวที่เก็บอยู่ในสต็อกก็ทิ้งไว้ให้มันเน่า จะเผาหรือจะเอาไปทำอะไรก็ตามใจ ถือว่าจบไปแล้วอย่าไปสนใจ

แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องความรับผิดชอบของรัฐบาล ความเสียหายที่เกิดขึ้นรัฐบาลต้องรับผิดชอบ ไม่ทางการเมืองก็ทางกฎหมาย และทางการเมืองก็ต้องฝากให้ฝ่ายค้านจี้ให้ถึงที่สุด อย่ารับไปทำเอง เดี๋ยวคุณตาย แล้วคุณต้องรับผิดชอบด้วย ต้องให้รัฐบาลทำ นี่คือวิธีทำโทษของผม คือ “จับเขาขังอยู่กับโครงการจำนำข้าว” จนกระทั่งเขาแก้ปัญหาให้สิ้นสุด

แต่จะแก้ปัญหาอย่างไร เป็นโจทย์ของพวกเราที่จะบอกกับรัฐบาลว่า “เอ็งต้องทำนู่น เอ็งต้องทำนี่ แต่เอ็งต้องรับผิดชอบกับเงินที่กำลังสูญเสียไป” คือดีดลูกคิดทีไรตัวเลขขึ้นทุกที

อย่างไรก็ตาม ขอฝากโจทย์เหล่านี้ไว้ ว่าปัญหาที่รัฐบาลมีคือ ข้าวกำลังจะล้นออกสู่ตลาด ข้าวที่ชาวนาไทยอุตส่าห์เพียรผลิตขึ้นมา แต่ไม่ใช่ข้าวที่คุณภาพดีแล้ว จะขายให้ได้ราคาอย่างไร โดยที่รัฐบาลไม่ควักกระเป๋ามากไปกว่านี้ เพราะรัฐบาลไม่มีสตางค์ในกระเป๋าแล้ว!

อนึ่ง ในงานเดียวกัน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีความเห็นต่างกับ ศ.ดร.อัมมารในประเด็นการแก้ปัญหาโครงการจำนำข้าว คือ ไม่เห็นด้วยที่จะ “กักขัง” รัฐบาลไว้กับโครงการจำนำข้าว เพราะประเทศชาติจะเสียหายไปมากกว่านี้ ดังนั้น จึงเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนยกเลิกโครงการจำนำข้าว ด้วยการเขียน “จดหมายเปิดผนึก” ถึงนายกรัฐมนตรี “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”

12 ภาคีที่ร่วมจัดการ ได้แก่ กลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), (ศูนย์วิจัยเพื่อต่อต้านการทุจริต ป๋วย อึ้งภากรณ์), เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Thailand Political Database: TPD), เครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (SVN), เครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (คปต.), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (สทพ.: LDI.), สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์, ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาแผ่นดินเชิงคุณธรรม (องค์กรมหาชน), องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และโครงการเตรียมงาน ๑๐๐ ปี ชาตกาล ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป