ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ธปท. เผยไตรมาส 2 เศรษฐกิจเป็นบวก – ส่งออกยังโตช้า เหตุจีน อาเซียน ชะลอตัว

ธปท. เผยไตรมาส 2 เศรษฐกิจเป็นบวก – ส่งออกยังโตช้า เหตุจีน อาเซียน ชะลอตัว

1 กรกฎาคม 2014


เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2557 นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงิน เดือนพฤษภาคม 2557 ว่าเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน คาดว่าไตรมาสที่ 2 ปี 2557 จีดีพีเทียบกับไตรมาสที่แล้วน่าจะเติบโตเป็นบวกมากกว่า 1-1.1% ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยการเติบโตของเศรษฐกิจรายไตรมาสของ ธปท. ทั้งนี้เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ไตรมาสที่ 2 น่าจะยังหดตัวอยู่ที่ -0.4% น้อยกว่าไตรมาสแรกที่หดตัว -0.6%

“จริงๆ ในประมาณการก็ฟื้นตัวค่อนข้างแรง เพราะ -0.4% อาจจะดูไม่เยอะแต่ก็แรงกว่าปกติ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไตรมาสแรกลงไปลึกมาก แต่เทียบไตรมาสต่อไตรมาสก็น่าจะโตกว่าค่าเฉลี่ยของเศรษฐกิจที่ 1.0-1.1% ” นายดอนกล่าว

ด้านการส่งออกในภาพรวมก็ฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้า การส่งออกเดือนนี้มีมูลค่ารวม 19,268 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 1.2% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากอุปสงค์จากเอเชียลดลง โดยเฉพาะจากจีนและอาเซียน ซึ่งคิดเป็น 40% ของการส่งออกทั้งหมด โดยกลุ่มอาเซียนเป็นผลกระทบจากการชะลอตัวของอุปสงค์ในอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าค่อนข้างมาก ทั้งนี้แม้ว่ากลุ่มประเทศกัมพูชา, ลาว, เมียนมาร์ และเวียดนาม หรือประเทศกลุ่ม CLMV ของอาเซียนจะยังคงเติบโตได้ดี จากข้อมูลการส่งออกของ ธปท. แต่ก็คิดเป็น 8% ของมูลค่าส่งออกเท่านั้น และไม่สามรถชดเชยการส่งออกที่หดตัวได้

มูลค่าการส่งออกCLMV

ด้านกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักคือสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ยังฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสินค้าอุตสาหกรรม เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ทั้งนี้ ประเทศไทยต้องส่งออกให้ได้เดือนละ 20,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ เพื่อทำให้การส่งออกสามารถเติบโตได้ 3% ตามการประมาณการครั้งล่าสุด

“เรามองว่าการส่งออกก็อยู่ในวิสัยที่ทำได้ แต่ถ้ามากกว่า 20,000 ล้านเหรียญ ก็คิดว่ายากเหมือนกัน” นายดอนกล่าว

มูลค่าการส่งออกแยกรายประเทศ

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 44.3 ในเดือนที่แล้วเป็น 48.6 ซึ่งต่ำกว่า 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 11 แต่ค่าดัชนีปรับตัวดีขึ้นทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะความเชื่อมั่นด้านการผลิต ด้านคำสั่งซื้อ และด้านผลประกอบการ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถานการณ์การเมืองที่เริ่มกลับมามีเสถียรภาพมากขึ้น และแนวโน้มเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น ขณะที่ค่าคาดการณ์สามเดือนข้างหน้าผู้ประกอบการทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคที่มิใช่อุตสาหกรรมประเมินว่าภาวะธุรกิจโดยรวมจะปรับดีขึ้นจากปัจจุบันสะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นที่อยู่เหนือระดับ 50 ในเกือบทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะความเชื่อมั่นด้านการผลิต ผลประกอบการ และค่าสั่งซื้อ สะท้อนมุมมองของผู้ประกอบการต่อความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองที่จะคลี่คลายลงในระยะต่อไป

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ

ดัชนีความเชื่อมั่น

ด้านการลงทุนภาคเอกชน หดตัว -2.9% เนื่องจากผู้ประกอบการชะลอการลงทุนใหม่ออกไปเพื่อรอความชัดเจนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้การลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์หดตัวต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันเริ่มเห็นทิศทางที่ดีขึ้นและน่าจะดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี แต่ก็ยังติดลบอยู่ -2.6% จากการประมาณการครั้งล่าสุด

คาดการณ์ลงทุนภาคเอกชน
“จริงๆ ถ้าเกิดดูโครงการต่างๆ ก็มีทิศทางที่ดี อย่างการเร่งอนุมัติบีโอไอ การเร่งอนุมัติ รง.4 ก็ทำให้การลงทุนน่าจะกลับมาจากที่อั้นไว้ แล้วก็แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ถ้ามีความชัดเจนก็จะกระตุ้นได้ดี” นายดอนกล่าว