ThaiPublica > เกาะกระแส > ไอเอ็มเอฟแนะลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ห่วงบทบาทแบงก์รัฐ-หนี้ครัวเรือนเพิ่ม

ไอเอ็มเอฟแนะลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ห่วงบทบาทแบงก์รัฐ-หนี้ครัวเรือนเพิ่ม

19 มิถุนายน 2013


ไอเอ็มเอฟพอใจเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแข็งแกร่งหลังเผชิญวิกฤติโลกและมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ เสนอลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มพื้นที่นโยบายคลัง รองรับความเสี่ยงในอนาคต ส่วนนโยบายการเงินเหมาะสม แต่ต้องพร้อมปรับดอกเบี้ยถ้าเงินเฟ้อสูุงขึ้น พร้อมประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2556 ขยายตัว 4.75% และ 5.25% ในปีหน้า ขณะที่ห่วงบทบาทสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และการเพิ่มขึ้นของหนี้ภาคครัวเรือน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่ผลการประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยประจำปี 2556 โดยคณะผู้แทนจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ซึ่งเดินทางมาเยือนประเทศไทยเพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจประจําปี 2556 ตามนัยแห่งข้อตกลงว่าด้วยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (2013 Article IV Consultation) ระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม–13 มิถุนายน 2556 มีนาย Luis E. Breuer หัวหน้าคณะผู้แทน

กองทุนการเงินฯ ได้กล่าวสรุปผลการประเมินโดยมีประเด็นที่สําคัญ ดังนี้

คณะผู้แทนกองทุนการเงินฯ เห็นว่า เศรษฐกิจไทยมีความสามารถในการปรับตัวเพื่อรองรับความเสี่ยง ต่างๆ ที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นผลจากวิกฤติการเงินโลก ห่วงโซ่อุปทานที่ต้องหยุดชะงักจากเหตุการณ์สึนามิในญี่ปุ่น รวมทั้งมหาอุทกภัยในปี 2554 โดยเป็นผลมาจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง สะท้อนจากการขยายตัวในระดับสูง เสถียรภาพที่อยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งรวมไปถึงการมีวินัยด้านการคลัง และงบการเงินของภาคธนาคารพาณิชย์และภาคธุรกิจที่แข็งแกร่ง และระดับทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง ตลอดจนระดับหนี้สาธารณะ ที่สามารถบริหารจัดการได้

แม้เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชะลอลงในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ แต่คณะผู้แทนกองทุนการเงินฯ คาดว่า ทั้งปี 2556 จะขยายตัวได้ 4.75% และ 5.25% ในปี 2557 โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากอุปสงค์ภาคเอกชนที่ขยายตัวในเกณฑ์ดี และการเร่งใช้จ่ายของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังมีอยู่ โดยเฉพาะจากปัจจัยภายนอก ขณะที่การเมืองในประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น และส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน อย่างไรก็ดี ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายจะเป็นความเสี่ยงเพิ่มเติมต่อเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

คณะผู้แทนกองทุนการเงินฯ เห็นว่า แรงกระตุ้นทางการคลังเพื่อสนับสนุนอุปสงค์ในประเทศภายหลังวิกฤติการเงินโลกและการซ่อมแซมความเสียหายจากมหาอุทกภัยในระยะที่ผ่านมามีความเหมาะสม ภายใต้ภาวการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ภาครัฐสามารถใช้โอกาสนี้ทยอยลดการกระตุ้นเศรษฐกิจลงได้ เพื่อเป็นการเพิ่มความสามารถทางการคลัง (fiscal space) ที่จะรองรับการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมด้านนโยบาย (policy buffers) เพื่อรองรับผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

คณะผู้แทนกองทุนการเงินฯ สนับสนุนความตั้งใจของทางการไทยที่จะรักษากรอบวินัยทางการคลัง ด้วยการกำหนดเป้าหมายสัดส่วนหนี้สาธารณะไม่เกินร้อยละ 50 ของ GDP และมีงบประมาณสมดุลในปี 2560 ซึ่งมีมาตรการสนับสนุนที่อยู่ระหว่างดำเนินการ อาทิ การปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีและการขยายฐานภาษี การลดแรงจูงใจด้านภาษีสำหรับการบริโภค การปรับปรุงระบบภาษีสรรพสามิต รวมถึงการเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณ ในการนี้ คณะผู้แทนกองทุนการเงินฯ ได้หารือมาตรการการคลังเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนนโยบายของทางการในการเพิ่มการใช้จ่ายสำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ไปพร้อมกับการรักษาวินัยด้านการคลังด้วย

การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ยังถือว่าผ่อนคลายและเหมาะสมในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในภาวะปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ธปท. ยังคงต้องติดตามการส่งผ่านของแรงกดดันด้านอุปสงค์และค่าแรงไปยังเงินเฟ้อต่อไป และเตรียมพร้อมในการปรับนโยบายการเงินหากมีแรงกดดันเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ คณะผู้แทนกองทุนการเงินฯ เห็นว่า การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อและความน่าเชื่อถือของ ธปท. เป็นปัจจัยที่ช่วยรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เงินทุนเคลื่อนย้ายมีความผันผวนและนักลงทุนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการลงทุนต่อความเสี่ยงได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งที่ผ่านมา การดำเนินการเพื่อรับมือกับความผันผวนของตลาดการเงิน ได้แก่ การให้อัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวได้มากขึ้นตาม กลไกตลาด และการเตรียมพร้อมในมาตรการด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายถือว่าเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของไทยส่งผลดีต่อภาคการเงิน อย่างไรก็ดี คณะผู้แทนกองทุนการเงินฯ มีความกังวลจากการขยายบทบาทของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) และระดับหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ คณะผู้แทนกองทุนการเงินฯ สนับสนุนความตั้งใจของทางการไทยที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับการดำเนินงานของ SFIs ด้วยการปรับปรุงการกำกับดูแล รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานของ SFIs ให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกับระบบธนาคารพาณิชย์ โดยยังคงทำหน้าที่ของ SFIs ได้ด้วย สำหรับหนี้ของภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการซ่อมแซมหลังอุทกภัย และนโยบายการกระตุ้นการบริโภคในประเทศในระยะสั้น ยังเป็นสิ่งที่ทางการไทยต้องติดตาม

คณะผู้แทนกองทุนการเงินฯ สนับสนุนแนวนโยบายของทางการที่จะให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม (inclusive growth) ผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการขนส่ง ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการยกระดับผลิตภาพ (productivity) โดยรวมของประเทศและการรักษาวินัยทางการคลัง รวมถึงความโปร่งใสในการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณและการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจและ SFIs ซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศดำเนินการได้ต่อเนื่อง นอกจากนี้ คณะผู้แทนกองทุนการเงินฯ ยังเสนอให้ทางการพิจารณาแนวทางการปรับปรุงกลไกในการช่วยเหลือภาคประชาชน เช่น ให้เงินช่วยเหลือที่มีเงื่อนไข โดยเฉพาะในโครงการด้านการศึกษาและสาธารณสุข ซึ่งจะช่วยให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างยั่งยืนและเท่าเทียมกันมากขึ้น