ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ผู้นำโกง: ตามล่าขุมทรัพย์เจ้าทะเลทรายกัดดาฟี (6) – กองทุนลับแอฟริกาใต้

ผู้นำโกง: ตามล่าขุมทรัพย์เจ้าทะเลทรายกัดดาฟี (6) – กองทุนลับแอฟริกาใต้

13 พฤศจิกายน 2013


รายงานโดย อิสรนันท์

อีกครั้งหนึ่งที่กระบวนการการตามล่าขุมทรัพย์ของ พ.อ. โมอัมมาร์ กัดดาฟี อดีตผู้นำสูงสุดของลิเบีย ต้องเผชิญกับอุปสรรคนานัปการ โดยเฉพาะการตามล่าขุมทรัพย์ที่เชื่อว่าซุกซ่อนอยู่ในแอฟริกาใต้ ซึ่งได้บานปลายกลายเป็นข้อพิพาททางการทูตระหว่างแอฟริกาใต้กับสหประชาชาติ กระทั่งยูเอ็นต้องขอความร่วมมือจากนายตีโต มาเลกา ผู้อำนวยการหน่วยรักษาความมั่นคงแห่งชาติของแอฟริกาใต้ ให้ช่วยอำนวยความสะดวกในการตามล่าขุมทรัพย์ของกัดดาฟีด้วย ซึ่งเท่ากับส่งสารเตือนทางอ้อมว่ายูเอ็นระแวงว่าประเทศนี้ไม่มีความจริงใจและไม่ให้ความร่วมมือ หลังจากกระทรวงต่างประเทศแอฟริกาใต้ทำเป็นหูหนวกตาบอดเมินเฉยกับคำร้องขอของยูเอ็น

หนังสือพิมพ์ซันเดย์ อินดีเพนเดนท์ ของแอฟริกาใต้รายงานเมื่อกลางเดือน ส.ค. 2556 ว่า คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินของลิเบียที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติตั้งขึ้นมา ได้มีจดหมายสองฉบับถึงนายมาเลกา กล่าวหาแอฟริกาใต้ว่าไม่ได้ให้ความร่วมมือในการติดตามทรัพย์สินของกัดดาฟี พร้อมกับขอความร่วมมือในการตามทวงทรัพย์สินของกัดดาฟีราว 10,000 ล้านดอลลาร์ที่เชื่อว่าซุกซ่อนอยู่ในประเทศนี้ เพื่อที่ว่ายูเอ็นจะได้สั่งอายัดรอการตรวจสอบอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีคลังของแอฟริกาใต้กลับตอบสั้นๆ ว่า ไม่มีหลักฐานบ่งบอกว่ากัดดาฟีได้หอบเงินมาลงทุนในประเทศนี้ ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงของแอฟริกาใต้เผยว่า นายมาเลกา ในฐานะผู้มีอำนาจล้นฟ้า กำลังเร่งสอบสวนว่ามีใครรู้เรื่องนี้บ้าง

หอบเงินทองไปสวาซิแลนด์

ก่อนหน้านี้ หนังสือพิมพ์สวาซิไทมส์ หนังสือพิมพ์ซันเดย์ ทรีบูน และสื่อออนไลน์ของสวาซิแลนด์ ในทวีปแอฟริกา รายงานเมื่อปลายเดือน เม.ย. 2556 ว่านายบาชีร์ ซาเลห์ เจ้าของสมญา “นายธนาคารของกัดดาฟี” เนื่องจากเป็นมือขวาที่กัดดาฟีไว้วางใจมากที่สุดในการดูแลการลงทุนทุกอย่าง ได้แอบยื่นเรื่องถึงกระทรวงมหาดไทยแอฟริกาใต้เมื่อปี 2555 เพื่อขอลี้ภัยทางการเมืองที่แอฟริกาใต้ แต่ทางการแอฟริกาใต้ปิดปากเงียบ อ้างเป็นความลับทางราชการ เนื่องจากเกรงว่าชีวิตของผู้ที่ยื่นเรื่องขอลี้ภัยการเมืองผู้นี้จะไม่ปลอดภัย

แม้จะมีข่าวลือที่ดังกระหึ่มไปทั่วว่านายบาชีร์ ซาเลห์ ได้ตั้งกองทุนแรนด์ฟันด์ขึ้นในแอฟริกาใต้ มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ถือเป็นส่วนหนึ่งของกองทุนลับของครอบครัวกัดดาฟีที่กระจัดกระจายในที่ต่างๆ ทั่วทุกมุมโลกภายใต้การดูแลของนายซาเลห์

ที่มาภาพ : http://msnbcmedia.msn.com
ที่มาภาพ: http://msnbcmedia.msn.com

ขณะเดียวกัน มีข่าวลือที่รู้ไปทั่วเช่นกันว่า นายซาเลห์มักจะเดินทางไปที่สวาซิแลนด์บ่อยๆ เชื่อว่าได้หอบเงินสดและทองคำไปซ่อนไว้ที่สวาซิแลนด์ แต่กระทรวงมหาดไทยสวาซิแลนด์ไม่ให้ความเห็นใดๆ แม้ว่านายซาเลห์จะมีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้ที่ตำรวจสากลต้องการตัวมากที่สุดก็ตาม

นอกเหนือจากซุกซ่อนสมบัติมหาศาลในมิตรประเทศหลายประเทศในทวีปแอฟริกาแล้ว มอลตาเป็นอีกประเทศหนึ่งที่กำลังถูกจับตามองว่ามีขุมสมบัติของกัดดาฟีฝังอยู่ โดยคอมมานด์ โกลบอล เซอร์วิสเซส บริษัทนักสืบแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ กำลังพุ่งเป้าความสนใจไปที่บริษัทหลายบริษัทที่มอลตาที่เชื่อว่ามีสมบัติลับของกัดดาฟี โดยเฉพาะบริษัทที่มีนายโจ แซมมุต นักบัญชีของบริษัทมอสตาในมอลตาเป็นนอมินี เนื่องจากมีสายสัมพันธ์กับนักธุรกิจชาวตูนิเซียผู้หนึ่ง รวมทั้งยังมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับชาวลิเบียหลายคนที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับบริษัทนอมินีเหล่านั้น

หนึ่งในบริษัทที่คอมมานด์ โกลบอล เซอร์วิสเซส ให้ความสนใจไม่ใช่น้อยก็คือบริษัทในเครือของนายกาซี เมลลูลี นักธุรกิจชาวตูนิเซียและนายมาเฮอร์ น้องชาย ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลกัดดาฟี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนายโมฮัมเหม็ด กิลูชิ กุนซือใหญ่ของนายแบกดาดี มาห์มูดี อดีตนายกรัฐมนตรีอิรัก ซึ่งขณะนี้หลบไปเก็บตัวเงียบอยู่ที่เยอรมนี

ว่ากันว่าสองพี่น้องตระกูลเมลลูลี ซึ่งจดทะเบียนบริษัทหลายบริษัทในมอลตาผ่านทางนายโจ แซมมุต แห่งมอสตา หนึ่งในนั้นได้แก่บริษัทน้ำมัน ซีแลนด์แอร์ เอนเนอร์จี อินเตอร์เนชันแนล ที่กำลังถูกบริษัทสายสืบของสหรัฐฯ จับตาอยู่ กระทั่งทั้งสองคนยอมติดต่อกับนายเบชีร์ อัล อัจจารา ประธานคณะกรรมการตามล่าหาทรัพย์สินลิเบีย แต่ไม่มีรายละเอียดใดๆ เล็ดรอดไปถึงหูของนักข่าว

มาเฮอร์ เมลลูลี ซึ่งมีที่พักที่เมืองคานส์ ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส เป็นเจ้าของหุ้นซีแลนด์แอร์ เอนเนอร์จี อินเตอร์เนชันแนลอยู่ 9.9 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นหุ้นที่ถือโดยบริษัทเบสต์ อินเตอร์ จำกัด บริษัทแม่ของซีแลนด์แอร์และเจนคอน อินเตอร์เนชันแนล ซึ่งบริษัทแม่นี้มีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับโจ แซมมุต แฟนเก่าแก่ที่ซื่อสัตย์ของทีมฟุตบอลอิตาลีอย่างทีมอินเตอร์นาซิยองนาล นอกจากนี้ แซมมุตยังเป็นเจ้าหน้าที่การเงินให้กับพรรคเลเบอร์ย้อนหลังไปช่วงปี 2536 และยังเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ให้กับลูกค้าชาวลิเบียซึ่งส่วนใหญ่มีสายสัมพันธ์กับกัดดาฟี ไม่รวมไปถึงบรรดาลูกๆ ของอดีตผู้นำสูงสุดผู้นี้

เมื่อปี 2554 นายแซมมุตเคยพยายามจะจัดหาวีซาให้กับชาวลิเบียที่ตัวเองมีสายสัมพันธ์แนบแน่นแต่ไม่สำเร็จ นอกจากนี้ มีการเปิดเผยว่านายแซมมุตเป็นคนจ่ายเงินให้กับซูเปอร์สตาร์ บียอนเซ โนลส์ และเนลลี เฟอร์ตาโด ราว 1 ล้านดอลลาร์ ในนามของฮันนิบาล ลูกชายของกัดดาฟี เป็นค่าตอบแทนที่ไปเปิดแสดงในงานปาร์ตีของนายฮันนิบาล

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลมอลตาได้อายัดทรัพย์สินของลิเบียจำนวน 377 ล้านปอนด์ และอีก 86 ล้านปอนด์ที่เป็นของครอบครัวกัดดาฟีหรือคนสนิทที่ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทต่างๆ