ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “ผู้นำโกง” -ตามล่าขุมทรัพย์แดนสฟิงซ์ (7)

“ผู้นำโกง” -ตามล่าขุมทรัพย์แดนสฟิงซ์ (7)

7 เมษายน 2013


รายงานโดย: อิสรนันท์

ฮอสนี มูบารัก ที่มาภาพ : http://www.egyptindependent.com
ฮอสนี มูบารัก ที่มาภาพ : http://www.egyptindependent.com

ปรากฎการณ์ประหลาดในกระบวนการยุติธรรมแดนสฟิงซ์ก็คือ จู่ๆ ศาลอุทธรณ์ในกรุงไคโรแถลงเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2556 ว่า ได้สั่งลบล้างคำตัดสินของศาลพิเศษที่ให้จำคุกตลอดชีวิตอดีตประธานาธิบดีฮอสนีมูบารัก ขณะที่ภรรยาพร้อมด้วยลูกๆอีก 2 คน อดีตรัฐมนตรีคนสนิท และนักธุรกิจที่ใกล้ชิดสนิทสนม ต้องรับโทษานุโทษแตกต่างกันไปในความผิดคดีทุจริตคอร์รัปชันและถลุงเงินงบประมาณแผ่นดินรวมทั้่งข้อหาสั่งฆ่าประชาชน และให้รื้อคดีทุกคดีของนักโทษคดีอุกฉกรรจ์เหล่านี้ขึ้นมาพิจารณาใหม่ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2556 โดยไม่ให้เหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น

ทั้งๆ ที่อดีตผู้ยิ่งใหญ่เหล่านั้นรับโทษกันไม่ถึง 2 ปี หนำซ้ำมีแนวโน้มว่าคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวจะยิ่งทำให้สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้นไปอีก เพราะมีขึ้นในช่วงไล่เลี่ยกับการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา ซึ่งกำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 22 เมษายน โดยพรรคฝ่ายค้านหลายพรรคประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้งครั้งนี้ อันอาจจะทำให้อียิปต์เผชิญกับความวุ่นวายทางการเมืองและเศรษฐกิจอีกครั้่งหนึ่ง

ด้านทนายความของนายมูบารัก เมื่อได้ทีก็รีบขี่ม้าไล่ว่าการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาครั้งนี้เป็นเพราะกระบวนการพิจารณาคดีในครั้งแรกนั้นเป็นไปด้วยความไม่ยุติธรรมและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมีขึ้นในช่วงสถานการณ์ไม่ปรกติ เต็มไปด้วยเงื่อนงำชวนสงสัยหลายประการ โดยเฉพาะการรีบด่วนตัดสินคดีเพียงเพราะแรงกดดันจากผู้ประท้วง ขณะที่แกนนำผู้ประท้วงหลายคนต่างเห็นด้วยกับการรื้อฟื้นคดีเช่นกันแต่ด้วยเหตุผลต่างออกไป คือ อยากให้นายมูบารักและสมุนต้องรับโทษหนักขึ้นในฐานะผู้สั่งการสลายการชุมนุมประท้วงด้วยกำลังอาวุธ แทนที่จะเป็นข้อหาไม่สามารถปกป้องชีวิตของผู้ประท้วงได้ ซึ่งมีโทษเบาลงกว่ามาก

กระบวนการฟื้นคดีอดีตผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายแหล่ขึ้นมาพิจารณาใหม่เริ่มด้วยศาลไคโรได้สั่งปล่อยนายซาดาเรีย อัซมี อดีต ส.ส. และอดีตเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งถูกศาลตัดสินจำคุก 7 ปี ปรับอีก 5.4 ล้านดอลลาร์ (ราว 162 ล้านบาท) ในข้อหาใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ใส่ตัวเป็นเงิน 6.3 ล้านดอลลาร์ (ราว 189 ล้านบาท) ทั้งๆ ที่ถูกจองจำได้แค่ 18 เดือน โดยศาลให้เหตุผลว่าเป็นการปล่อยตัวชั่วคราวก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะฟื้นคดีทุจริตคอร์รัปชันมาพิจารณาใหม่ ขณะที่นายอาห์เหม็ด นาซิฟ อดีตนายกรัฐมนตรีและนายฮาบิบ อัล แอดลี อดีตรัฐมนตรีมหาดไทยก็ได้รับการฟื้นคดีใหม่ในข้อหาสั่งฆ่าประชาชนและคอร์รัปชันเช่นเดียวกับนายมูบารัก

ผู้เชี่ยวชาญปัญหาอิยิปต์หลายคนเชื่อว่า การรื้อฟื้นคดีครั้งนี้คงจะเกี่ยวเนื่องกับการที่นักโทษคดีอุกฉกรรจ์เหล่านั้นต่างยินดีจะคืนเงินบางส่วนที่มาจากการคอร์รัปชันกลับคืนให้กับรัฐบาล ซึ่งต้องการนำทรัพย์สินมหาศาลของนักโทษทรงอิทธิพลเหล่านี้ไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศที่ซบเซาลงจากปัญหาไร้เสถียรภาพทางการเมืองให้กลับเฟื่องฟูขึ้นอีก แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าการยอมรับข้อเสนอนี้เท่ากับกระตุกหนวดเสือแหย่ให้ประชาชนลุกฮือประท้วงอีกครั้ง เพราะไม่ต้องการเห็นคนฉ้อราษฎร์บังหลวงได้รับอภิสิทธิ ไม่ต้องรับโทษานุโทษที่ก่อไว้

จะว่าไปแล้ว ผู้เป็นหัวหอกสนับสนุนโครงการ “คืนเงินแลกกับอิสรภาพ ” ก็คือนายมุมตัส ซาอิด รัฐมนตรีคลัง ที่ประกาศว่าเห็นด้วยกับการเจรจาต่อรองเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ ตราบใดที่กฎหมายไม่ได้ห้ามการไกล่เกลี่ยในคดีทุจริตทางการเงิน ที่สำคัญ หากได้เงินก้อนใหญ่คืนก็จะเป็นผลประโยชน์ยิ่งต่ออียิปต์ซึ่งกำลังเผชิญกับสารพัดปัญหาที่รุมเร้ารอบด้าน โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ เพราะเงินที่ได้กลับคืนมาจะถูกนำเข้าคลังหลวงดังเดิมจากที่ถูกปล้นไปในรูปของการทุจริตคอร์รัปชันมากถึง 225,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 6,750,000 ล้านบาท)

หลายคนเชื่อว่าผู้เป็นต้นแบบ “คืนเงินแลกกับอิสรภาพ ” ก็คือนางซูซานน์ มูบารัก อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งที่ได้ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างมาก่อนหน้าเมื่อประกาศจะคืนทรัพย์สินนับร้อยล้านบาทให้รัฐบาลแลกกับการไม่ถูกจับกุมเข้าเรือนจำหญิงในข้อหาร่ำรวยผิดปกติจากนั้นก็ตัดใจขายวิลลาหรูย่านชานกรุงไคโรรวมทั้งยอมให้รัฐบาลยึดเงินอีก 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 90 ล้านบาท) ในบัญชีเงินฝากธนาคารในอียิปต์

ขณะที่นายอัซมี อดีตเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรี เสนอจะคืนเงินให้รัฐจำนวน 1.9 ล้านปอนด์อียิปต์ (ราว 8.4 ล้านบาท) เท่ากับมูลค่าของของขวัญที่ได้รับจากอัลอาห์ราม สถาบันสื่อภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ และจากหนังสือพิมพ์อัคบาร์ อัล ยูม ของรัฐในช่วงที่นายมูบารักเรืองอำนาจ ด้านนายฮาบิบ อัล แอดลี อดีตรัฐมนตรีมหาดไทยที่ถูกจำคุกในคดีฉ้อโกงยึดที่ดินของรัฐ ฟอกเงิน และสั่งให้ตำรวจใช้ปืนยิงสลายผู้ประท้วง นายอาเหม็ด อัล มัคริบี อดีตรัฐมนตรีกิจการเคหะ และนายอาเหม็ด เอซซ์ มหาเศรษฐีเหล็กกล้าและอดีตสมาชิกอาวุโสของพรรคเอ็นดีพี ต่างเสนอที่จะใช้ทรัพย์สมบัติแลกกับอิสรภาพของตัวเองเช่นกัน

ช่วงเดียวกัน มีรายงานข่าวที่ไม่ยืนยันแต่เชื่อว่ามีมูลความจริงว่า นายอาลาและนายกามาล มูบารัก สองลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของนายมูบารัก ก็ได้รับการประกันตัวเพื่อสู้คดีใหม่เช่นกัน โดยก่อนหน้านี้ศาลได้ตัดสินว่าทั้งสองคนไม่มีความผิดในคดีคอร์รัปชัน แต่มีความผิดจริงในคดีลักลอบใช้ข้อมูลภายในในการซื้อขายหุ้น ทำให้เกิดการได้เปรียบนักลงทุนรายอื่น เป็นเหตุให้ทั้งสองต้องย้ายนิวาสถานไปสถิตในเรือนจำโทรา ณ กรุงไคโร

อีกไม่นานคงรู้กันว่า นโยบาย “คืนเงินแลกกับอิสรภาพ ” จะออกหมู่หรือจ่า ไม่เช่นนั้นจะเป็นตัวอย่างให้กับบรรดาอาชญากรเศรษฐกิจอื่นๆ ทำตาม ซึ่งคงจะทำให้กฎหมายของอีิยิปต์คลายความศักดิ์สิทธิ์ลงทันตาเห็น

แต่ก็เชื่อกันว่า การกระทำเช่นนี้คงจะไม่มีผลต่อการตัดสินใจของรัฐบาลและธนาคารยักษ์ใหญ่ของหลายประเทศ ที่ประกาศอายัดเงินของนายมูบารักและบริวารที่แอบเปิดบัญชีลับส่วนตัวไว้

ทั้งนี้ นับตั้งแต่รัฐบาลใหม่ของอียิปต์ที่มาจากการเลือกตั้งตามครรลองประชาธิปไตย ซึ่งนำโดยประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี จากพรรคเคร่งศาสนา ขึ้นบริหารประเทศแทนอดีตฟาโรห์มูบารัก รัฐบาลนายมอร์ซีนอกจากจะไฟเขียวให้ตั้งกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินนายมูบารักและครอบครัวในข้อหาร่ำรวยผิดปกติแล้ว ยังได้ออกปากขอร้องให้รัฐบาลในหลายประเทศแถบยุโรปและอีกหลายประเทศทั่วทุกมุมโลกช่วยกันอายัดทรัพย์สินหรือเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของนายมูบารักและพรรคพวก เพื่อให้รัฐบาลสามารถตามยึดทรัพย์สินที่ได้มาโดยมิชอบตลอดการดำรงตำแหน่งผู้นำของนายมูบารัก

เริ่มด้วยการยื่นเรื่องถึงรัฐบาลสหภาพยุโรป อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ เสปน รวมถึงรัฐบาลสหรัฐฯ ขอให้ช่วยอายัดทรัพย์ที่คาดว่าเป็นของตระกูลมูบารักและผู้ช่วยคนสนิทระดับสูงคนอื่นๆ จากข้อมูลของสถาบันการเงินระหว่างประเทศเผยว่า ทรัพย์สินลับของตระกูลมูบารักอาจมีมูลค่าสูงถึง 1,000-2,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 30,000-60,000 ล้านบาท) ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของอสังหาริมทรัพย์ในสิงคโปร์ กรุงลอนดอน รวมถึงนครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขณะที่สถาบันการเงินบางสถาบันในสหรัฐฯ ชี้ว่า ทรัพย์สินของตระกูลมูบารักอาจมีมากกว่านั้น เพราะช่วงปี 2543-2551 มีเงินไหลออกนอกประเทศอียิปต์มากถึง 57,000 ล้านดอลลาร์