ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “ผู้นำโกง” – ตามล่าขุมทรัพย์แดนสฟิงซ์ (2)

“ผู้นำโกง” – ตามล่าขุมทรัพย์แดนสฟิงซ์ (2)

4 กุมภาพันธ์ 2013


รายงานโดย: อิสรนันท์

ที่มาภาพ  : http://rack.2.mshcdn.com
ที่มาภาพ : http://rack.2.mshcdn.com

ถ้าให้เทียบขุมทรัพย์ของอดีตประธานาธิบดีเบน อาลี แห่งตูนิเซีย อดีตนครคาร์เธจโบราณ ที่ปล้นไปจากประชาชนช่วงที่เรืองอำนาจมานานถึง 23 ปี ก็คงห่างไกลหลายขุมจากขุมทรัพย์ของ “ฟาโรห์แห่งศตวรรษที่ 20” ฮอสนี มูบารัก แห่งแดนสฟิงซ์อียิปต์ ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครสามารถประเมินได้ว่า ตลอดช่วง 30 ปีที่นั่งบัลลังก์ฟาโรห์นั้น นายมูบารักพร้อมด้วยนางซูซาน ภรรยาลูกครึ่งอียิปต์-เวลส์ และลูกชายหัวแก้วหัวแหวนอีกสองคน คือ กามาล ลูกชายคนโตที่นายมูบารักหมายมั่นปั้นมือจะให้เป็นทายาทการเมือง และนายอาลา บุตรชายคนเล็ก นั้นแท้ที่จริงมีมากน้อยเท่าใด

จากรายงานของหนังสือพิมพ์ “อัลคาบาร์” ของแอลจีเรีย ซึ่งประเมินว่า ครอบครัวของนายมูบารักทั้ง 4 ชีวิตอาจจะมีทรัพย์สินมากกว่า 4 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์ ซึ่งซุกซ่อนอยู่ตามบัญชีลับธนาคารหลายแห่งในสวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ สถาบันการลงทุนของสหรัฐ หรือในรูปของทองคำและการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ ในกรุงลอนดอน นครนิวยอร์ก นครลอสแอนเจลิส และที่ดินราคาแพงแถบชายฝั่งทะเลแดง ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญในตะวันออกกลางประเมินว่า ครอบครัวหมายเลขหนึ่งแห่งแดนสฟิงซ์อาจมีทรัพย์สินสูงถึง 70,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 2.1 ล้านล้านบาท) แต่จากการประเมินล่าสุดของนิตยสารฟอร์บเมื่อปลายปี 2554 ระบุว่าอาจมีมากถึง 700,000 ล้านดอลลาร์

ผู้เชี่ยวชาญการเงินหลายคนยอมรับว่า ไม่ประหลาดใจแม้แต่น้อยที่นายมูบารักจะมีทรัพย์สินมากถึงขนาดนี้ ในเมื่อเปรียบแล้วก็เหมือนกับลูกคนโปรดของประเทศตะวันตก ที่พร้อมจะอัดฉัดเงินก้อนมหาศาลนับพันล้านดอลลาร์ให้ในแต่ละปีตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา แน่นอน นายมูบารักและคนสนิทต่างคงไม่ยอมพลาดโอกาสที่จะกินเปอร์เซนต์จากเงินช่วยเหลือเหล่านั้น อยู่ที่ว่าจะเรียกร้อยชัก 3 ร้อยชัก 10 หรือร้อยชัก 30

สำหรับเส้นทางการเมืองของอดีตประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัก วัย 84 ปี เริ่มขึ้นเมื่อประธานาธิบดีอันวาร์ ซาดัต ถูกกลุ่มอาหรับหัวรุนแรงลอบสังหารเมื่อปี 2524 เพราะไม่พอใจที่ไปร่วมลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพกับอิสราเอล ศัตรูตลอดกาลของอาหรับ นายมูบารักซึ่งขณะนั้นรั้งตำแหน่งรองประธานาธิบดีได้เข้ามาสวมหัวโขนประธานาธิบดีคนที่ 4 ของแดนสฟิงซ์อียิปต์แทนท่ามกลางเสียงปรามาสว่าคงจะอยู่ได้ไม่นาน เนื่องจากไม่มีความโดดเด่นอะไรนอกเหนือจากการเป็นผู้บัญชาการกองทัพอากาศในช่วงสงครามอาหรับ-อิสราเอล ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2516

แต่การณ์กลับตรงกันข้าม นับวันคะแนนนิยมของนายมูบารักก็ยิ่งดีขึ้นตามลำดับ และได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากประชาชน อันเนื่องจากเป็นคนตีบทแตก ทั้งมีวาทศิลป์ดี มีภาวะความเป็นผู้นำสูง มีความสามารถในการเจรจาคลี่คลายปัญหาต่างๆ ให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี โดยเฉพาะการรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศอาหรับ ควบคู่ไปกับการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้นำประเทศมหาอำนาจตะวันตก ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี โดยเฉพาะสหรัฐซึ่งถือว่าอียิปต์เป็นหนึ่งในพันธมิตรสำคัญที่สุดรองจากอิสราเอล และได้เจียดงบสนับสนุนถึงปีละ 1,800 ล้านดอลลาร์

แต่จุดอ่อนสำคัญของนายมูบารักที่ปล่อยให้เรื้อรังมานานถึง 30 ปี จนกลายเป็นจุดตายของอดีตผู้นำผู้นี้ก็คือ การไร้ความสามารถในการบริหารประเทศ ต้องพึ่งพากองทัพให้เป็นเสาหลักคอยประคับประคองเสถียรภาพของรัฐบาล และปิดหูปิดตาไม่ยอมรับรู้สารพัดปัญหาที่หมักหมมมานาน ไม่ว่าจะปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ปัญหาทุกข์ซ้ำซากของประชาชนที่ต้องหาเช้ากินค่ำหรือหาเท่าไหร่ก็ไม่เคยพอกิน อันเนื่องจากการว่างงานที่มีแต่สูงขึ้น เช่นเดียวกับราคาอาหารที่สูงขึ้น กลับตาลปัตรกับค่าจ้างขั้นต่ำที่ต่ำจริงๆ

ที่สำคัญก็คือ การไม่ยอมยกเลิกกฎอัยการศึกที่ประกาศใช้เรื่อยมานับตั้งแต่การลอบสังหารนายซาดัต อ้างว่าเพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายอิสลาม แต่แท้ที่จริงกลับเป็นตัวลิดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน เนื่องจากให้อำนาจล้นฟ้ากับทหารที่สามารถจับกุมตัวผู้มีความเห็นไม่ลงรอยกับรัฐบาลได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ และนำตัวผู้ต้องสงสัยขึ้นศาลทหารได้ทันที

ปัญหาเหล่านี้ถูกทับถมเรื่อยมา โดยประเทศตะวันตกพร้อมใจกันปิดตาข้างหนึ่งทำเป็นไม่รับรู้กับเรื่องการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน และทำเป็นหลงเชื่อในประชาธิปไตยจอมปลอมผ่านการเลือกตั้งประธานาธิบดี 5 สมัย ทำให้นายมูบารัก เจ้าของฉายา “ฟาโรห์ยุคใหม่” อ้างสิทธิที่จะบริหารประเทศมาตลอดช่วง 30 ปี ทั้งๆ ที่ตกเป็นเหยื่อความพยายามลอบสังหารถึง 6 ครั้ง แต่ล้มเหลวทุกครั้ง เช่นเดียวกับการเดินขบวนขับไล่รัฐบาลครั้งแล้วครั้งเล่า แต่นายมูบารักก็ดวงแข็งรอดได้ตลอดมา ทำให้นายมูบารักและพันธมิตรตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐเกิดความประมาทในพลังของประชาชนนับล้านคนที่เริ่มรวมตัวกันที่จตุรัสทาฮีร์เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2554 แม้กระทั่งนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐก็ยังเชื่อมั่นว่า “รัฐบาลอียิปต์ยังคงมีเสถียรภาพ” และประธานาธิบดีมูบารักจะสามารถควบคุมฝูงชนได้เหมือนเช่นทุกครั้งที่ผ่านมาในเมื่อมีกองทัพอยู่ในมือ เหตุนี้ นายมูบารักจะไม่มีวันประสบชะตากรรมเดียวกับประธานาธิบดีเบน อาลี แห่งตูนิเซียแน่

นางซูซาน มูบารัก ภรรยาลูกครึ่งอียิปต์-เวลส์   ที่มาภาพ : http://www.matichon.co.th
นางซูซาน มูบารัก ภรรยาลูกครึ่งอียิปต์-เวลส์ ที่มาภาพ : http://www.matichon.co.th

ความประมาทนี้ทำให้นายมูบารักลืมมองตัวแปรสำคัญที่เคยเป็นฐานค้ำบัลลังก์อำนาจของตัวเองมาตลอด นั่นก็คือกองทัพซึ่งโครงสร้างเปลี่ยนไปมากเมื่อมีทหารเกณฑ์ที่เป็นลูกหลานของประชาชนเข้ามาร่วมมากขึ้น ระหว่างการชุมนุมประท้วงที่จตุรัสทาฮีร์ซึ่งมีการล้อมปราบประชาชนจนมีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน ทหารเกณฑ์เหล่านั้นเริ่มแข็งข้อไม่ยอมยิงญาติพี่น้องของตัวเอง และกดดันให้นายทหารระดับสูงต้องทบทวนท่าทีใหม่เมื่อไม่สามารถสั่งการทหารระดับล่างให้อยู่ในแถวได้

ระหว่างนั้น นายมูบารักจึงเพิ่งเริ่มตระหนักแก่ใจถึงความกลวงโบ๋ของฐานอำนาจของตัวเอง จึงพยายามยื้อเวลาสุดฤทธิ์ เริ่มจากการต่อรองว่าจะไม่ลาออกจนกว่าจะครบวาระ แต่จะไม่ลงสมัครเลือกตั้งสมัยที่ 6 ในเดือนกันยายน ปีเดียวกัน อ้างว่าต้องการใช้เวลาที่เหลืออยู่ก่อนครบวาระเพื่อฟื้นฟูความมั่นคงและนำเสถียรภาพของประเทศกลับคืนมา เพื่อปูทางสู่การผ่องถ่ายอำนาจให้เป็นไปอย่างราบรื่น นอกจากนี้ ยังให้สัญญาว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อจำกัดจำนวนสมัยของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี รวมทั้งจะแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีได้ง่ายขึ้น

แต่บรรดาลูกหลานฟาโรห์อียิปต์ผู้ผ่านบทเรียนมาหลายครั้งต่างไม่เชื่อในสัญญาลมๆ แล้งๆ นั้น ดึงดันชุมนุมประท้วงต่อไป จนในที่สุดก็ได้รับชัยชนะ สามารถโค่นบัลลังก์การเมืองของนายมูบารักได้อย่างไม่น่าเชื่อเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2554 หรือภายในชั่วเวลา 18 วันเท่านั้น

กล่าวได้ว่า นายมูบารักก้าวขึ้นมามีอำนาจจากรอยเลือดของอดีตประธานาธิบดีซาดัต และถูกอัปเปหิจากตำแหน่งด้วยรอยเลือดของประชาชน

แต่ความที่อยู่ในตำแหน่งมายาวนานถึง 30 ปี ทำให้นายฮอสนี มูบารัก ได้เปรียบกว่าผู้นำอีกหลายคนตรงที่มีประสบการณ์ได้เห็นการขึ้นและการตกของผู้นำทรราชในหลายประเทศ ได้เห็นและได้รับรู้ถึงเครือข่ายและกลวิธีในการตามล่าขุมทรัพย์ของอดีตผู้นำเผด็จการนั้นๆ โดยเฉพาะความร่วมมือและการสมคบคิดของรัฐบาลและธนาคารใหญ่น้อยในสหรัฐและประเทศตะวันตกในการอายัดเงินที่ได้จากการทุจริตคอร์รัปชัน ได้ประจักษ์กับตาถึงเล่ห์เหลี่ยมของธนาคารสวิสฯ ซึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นแหล่งซ่อนเงินที่ปลอดภัยของบรรดาทรราช แต่แท้ที่จริงแล้วกลับเต็มไปด้วยเล่ห์เพทุบาย ทั้งปกปิด ทั้งเตะถ่วง ทั้งไม่ยอมให้เข้าถึงบัญชีลับ หมายมั่นจะฮุบเงินเหล่านั้นเองหากทรราชผู้นั้นมีอันเป็นไป ฯลฯ

ด้วยเหตุนี้ ตลอดช่วงที่สื่อโลกพุ่งความสนใจไปที่การชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่สุดของชาวอียิปต์ นายมูบารักและครอบครัวก็เริ่มแอบยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์ จากบัญชีลับในธนาคารต่างประเทศไปยังประเทศที่ยากต่อการติดตามร่องรอย จากรายงานของหน่วยข่าวกรองตะวันตก เชื่อว่าครอบครัวนายมูบารักได้เปิดการหารือลับเป็นการภายในทันทีที่เห็นว่าสถานการณ์เริ่มไม่ค่อยดีนักนับตั้งแต่อดีตประธานาธิบดีเบน อาลี แห่งตูนิเซีย ต้องระเห็จหนีไปลี้ภัยที่ซาอุดิอาระเบีย ขณะที่ทางการสวิสเซอร์แลนด์ อังกฤษ และอีกหลายประเทศได้ร่วมกันไล่ล่าและอายัดบัญชีเงินฝากในธนาคารของครอบครัว นายเบน อาลี

ผลของการร่วมหาหนทางที่จะรักษาทรัพย์สินทั้งหมดที่ได้มาจากการทุจริตคอร์รัปชัน นายมูบารักอาจจะมอบหมายให้ที่ปรึกษาทางการเงินที่ไว้ใจได้ช่วยผ่องถ่ายโอนเงินไปที่อื่น โดยเฉพาะการเร่งโยกย้ายเงินฝากที่ธนาคารสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งไม่ได้เป็นสวรรค์ที่ปลอดภัยอีกต่อไปหากมีอันหลุดจากวงจรอำนาจ ทางหนึ่งที่เป็นไปได้ก็คือ ครอบครัวหมายเลขหนึ่งของอียิปต์อาจจะถ่ายโอนทรัพย์สินไปยังประเทศอาหรับอื่นๆ ในรูปของการลงทุน โดยประเทศที่ได้รับการหมายตามากที่สุดก็คือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย ที่ซึ่งนายมูบารักและครอบครัววางแผนจะไปใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสำราญบานเบิกจากทรัพย์สินที่ปล้นไปจากบรรดาทายาทฟาโรห์อียิปต์