ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ผู้นำโกง :ตามล่าขุมทรัพย์เจ้าทะเลทรายกัดดาฟี(5) – ทรัพย์สินลับที่แอฟริกา

ผู้นำโกง :ตามล่าขุมทรัพย์เจ้าทะเลทรายกัดดาฟี(5) – ทรัพย์สินลับที่แอฟริกา

9 ตุลาคม 2013


รายงานโดย : อิสรนันท์

ที่มาภาพ : http://www.arabianbusiness.com
ที่มาภาพ : http://www.arabianbusiness.com

นายมุสตาฟา อาบูชากูร์ รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลเฉพาะกาลของลิเบีย หลัง โค่นล้มระบอบกัดดาฟีเป็นอีกคนหนึ่งที่ยืนยันว่าทรัพย์สินของลิเบียที่หอบไปลงทุนในต่างประเทศราว 160,000 ล้านดอลลาร์ในนามของธนาคารกลางลิเบียก่อนหน้าการปฏิวัติยังมีอีกหลายพันล้านดอลลาร์ที่ยังไม่ถูกอายัด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะยังไม่มีใครรู้ว่าซุกซ่อนอยู่ที่ไหน อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลของหลายประเทศไม่ยอมให้ความร่วมมือ โดยเฉพาะรัฐบาลของหลายประเทศในทวีปแอฟริกา ซึ่งพยายามยื้อเวลาด้วยการให้ข้อมูลผิดๆแก่สหประชาชาติที่ขอดูเอกสารทั้งหมด โดยแอบหวังอยู่ในใจว่าจะฮุบเงินที่กัดดาฟีหอบไปลงทุนราว 7,000 ล้านดอลลาร์เป็นของตัวเอง

นายอาบูชากูร์เผยด้วยว่าในโลกนี้ เชื่อว่ามีชายเพียงคนเดียวเท่านั้นที่รู้ทุกอย่างว่าสมบัติของกัดดาฟีที่แอบซ่อนในแอฟริกาอยู่ที่ไหนและมีอะไรบ้าง คนผู้นั้นก็คือนายบาชีร์ ซาเลห์ บาชีร์ วัย 66 ปี เจ้าของสมญา “นายธนาคารของกัดดาฟี” เนื่องจากเป็นมือขวาที่กัดดาฟีไว้วางใจมากที่สุดในการดูแลการลงทุนทุกอย่าง รวมไปถึงเป็นคนดูแลกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของลิเบียในแอฟริกา ด้วยการนำเงินจากการค้าน้ำมันไปลงทุนในธุรกิจโรงแรม ธนาคาร ธุรกิจการสื่อสารและการเหมืองแร่ทั่วทั้งทวีป แต่เงินก้อนนี้ไม่เคยมีการจัดทำบัญชีหรือระบุเป็นลายลักษณ์อักษรแต่อย่างใด

ระหว่างที่ฝ่ายกบฎกำลังยึดกรุงตริโปลี นายบาชีร์ซึ่งบางครั้งอาจจะใช้ชื่อปลอมว่า บาชีร์ อัล แชรคกาวี ถูกจับกุมในช่วงนั้นแต่ได้หลบหนีออกจากลิเบียไปอยู่ที่ฝรั่งเศส โดยรัฐบาลเฉพาะกาลของลิเบียพยายามขอให้ส่งตัวกลับไปดำเนินคดีในประเทศ รวมทั้งขอให้ตำรวจสากลช่วยตามจับในข้อหาฉ้อโกง ทำให้ขณะนี้ อดีตมือขวาของกัดดาฟี มีชื่ออยู่ในบัญชีผู้ต้องหาที่ตำรวจสากลต้องการตัวมากที่สุด

อย่างไรก็ดี หนังสือพิมพ์ซันเดย์ไทมส์ของแอฟริกาใต้รายงานเมื่อกลางปี 2556 นี้ว่าเห็นนายบาชีร์เดินทางไปไหนมาไหนในประเทศนี้อย่างอิสระเสรี โดยไม่ใต้องหลบซ่อนตัวว่าอาจจะถูกตำรวจจับตัวแต่อย่างใด ส่อให้เห็นว่ามีเส้นใหญ่หรือได้รับการคุ้มครองจากพรรครัฐบาลเอง ซึ่งได้ท้าทายอำนาจของตำรวจสากลด้วยการเชิญนายบาชีร์ไปร่วมงานเลี้ยงในพิธีเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำประเทศภาคีกลุ่มบริกส์ที่เมืองเดอร์บันเมื่อเดือนมีนาคม 2556

ซันเดย์ไทมส์ของแอฟริกาใต้ยังรายงานด้วยว่าทางการลิเบียได้พบหลักฐานว่าสมบัติของกัดดาฟีทั้งเงินสด ทองคำ อัญมณี และทรัพย์สินอื่นๆรวมมูลค่ากว่าพันล้านดอลลาร์ได้ซุกซ่อนไว้ในธนาคาร 4 แห่ง และบริษัทหลักทรัพย์อีก 2 แห่งในประเทศนี้

ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงของลิเบียเผยว่าก่อนหน้านั้นราว 3 สัปดาห์ มีคนพบเห็นนายบาชีร์ที่โรงแรมไมเคิลแองเจโล โรงแรม 5 ดาวในโยฮันเนสเบิร์กซึ่งเชื่อว่ากัดดาฟีมีหุ้นอยู่ด้วยโดยใช้ชื่อนอมินี แต่ผู้บริหารของโรงแรมแห่งนี้ปฎิเสธว่าไม่มีมูลความจริง การพบเห็นายบาชีร์ในที่ต่างๆเท่ากับยืนยันว่ามือขวาของอดีตทรราชย์กัดดาฟีเดินทางไปมาระหว่างแอฟริกาใต้ สวาซีแลนด์และไนเจอร์

ซันเดย์ไทมส์รายงานว่ารัฐบาลใหม่ลิเบียเพิ่งรู้เรื่องว่า กัดดาฟีได้แอบลงทุนในทวีปแอฟริกาหลังจากรัฐบาลมอริตาเนียได้ยอมส่งตัวนายอับดุลเลาะห์ อัล เซนุสซี อดีตผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองลิเบียซึ่งถูกจับกุมเมื่อปีที่แล้วในข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติกลับไปดำเนินคดีที่ลิเบีย ผลจากการรีดปากคำนายเซนุสซี กระทั่งยอมคายความลับว่ากัดดาฟีไว้วางใจนายบาชีร์ ให้ถือหุ้นแทน ในจำนวนนี้รวมไปถึงหุ้นของกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติมูลค่า 40,000 ล้านดอลลาร์ ข้อมูลบางส่วนที่ได้นี้นำไปสู่การไล่ล่าหาขุมทรัพย์ของกัดดาฟีทั้งในรูปเงินสด ทองคำและทรัพย์สินอื่นในทวีปแอฟริกาอย่างน้อย 4 ประเทศ โดยทำในนามของการลงทุนลิเบีย การลงทุนของลิเบียในแอฟริกาและบริษัทการลงทุนของลิเบียในแอฟริกา ซึ่งส่วนใหญ่ควบคุมโดยคนในตระกูลกัดดาฟี

ที่มาภาพ : http://i.telegraph.co.uk
ที่มาภาพ : http://i.telegraph.co.uk

หลังจากทราบเรื่องแล้ว รัฐมนตรีคลังและรัฐมนตรียุติธรรมของลิเบียได้ส่งจดหมายถึงรัฐมนตรีคลังและรัฐมนตรียุติธรรมของหลายประเทศในทวีปนี้ รวมไปถึงแอฟริกาใต้ขอให้ช่วยตามล่าหาเงินลงทุนลับของกัดดาฟี รวมทั้งภรรยา ลูกๆทุกคนทั้งลูกสาวและลูกชาย ญาติสนิทมิตรสหาย หรือคนสนิท ทั้งในนามส่วนตัวหรือในนามรัฐบาลหรือนักธุรกิจที่ลงทุนในทวีปนี้ เนื่องจากเป็นเงินที่ได้มาหรือยึดครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก่อนจะหอบมา แอบฝากไว้ในประเทศเหล่านี้

ทางการลิเบียยอมรับว่าเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่จะต้องตามทวงทรัพย์สินเหล่านั้นกลับคืนมาโดยเร็ว เนื่องจากบางประเทศในแอฟริกาเริ่มมีเงื่อนไข อาจสั่งอายัดการลงทุนของลิเบีบมาเป็นของรัฐดื้อๆ อาทิ แซมเบีย ได้สั่งยึดกิจการบริษัทแซมเทล บริษัทโทรศัพท์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ทั้งๆที่ผู้ถือหุ้นใหญ่สุดก็คือกองทุนลิเบียในแอฟริกา

ส่วนในแอฟริกาใต้นั้น ส่วนหนึ่งของทรัพย์สินที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นของนักลงทุนลิเบียในประเทศนี้ก็คือโรงแรมเซนจูรียน เลค โรงแรมคอมโมดอร์และพอร์สวู้ดในเมืองเคปทาวน์ โรงแรมครูเกอร์ พาร์ค ลอดจ์ในเมืองเอ็มพูมาลังกาและไมเคิลแองเจโล ทาวเวอร์ ในแซนด์ตันซึ่งมีชื่อเสียงลือเลื่องไปทั่วโลก

ด้านอดีตเอกอัครราชทูตลิเบียประจำซิมบับเวเปิดเผยว่า กัดดาฟีซึ่งสนิทสนมกับเผด็จการโรเบิร์ต มูกาเบ มาตั้งแต่สมัยต่อสู้ปลดปล่อยประเทศจากอังกฤษเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว ได้หอบเงินจำนวนไม่ใช่น้อยมาลงทุนในประเทศนี้ ทั้งในรูปของการลงทุนในภาคธนาคาร เกษตรกรรม การทำเหมือง อสังหาริมทรัพย์ น้ำมันและการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ อังโกลายังเป็นอีกประเทศหนึ่งที่เชื่อว่ากัดดาฟีมีเงินลงทุนราว 700 ล้านดอลลาร์ เช่นเดียวกับประเทศมาลาวี ที่กัดดาฟีขนเงินมาลงทุนราวพันล้านดอลลาร์นอกเหนือจากเงินสดอีกเกือบ 300 ล้านดอลลาร์ที่ฝากไว้ในบัญชีลับของธนาคารหลายแห่ง ทางการแอฟริกาใต้เองยอมรับว่ามีทรัพย์สินหลายพันล้านดอลลาร์ของอดีตรัฐบาลเก่าลิเบียอยู่ในประเทศนี้จริง แต่ไม่วายเล่นแง่ว่าคงต้องใช้เวลาสักพักกว่าจะจำแนกแยกแยะว่าเป็นสมบัติชิ้นใดและของใคร