ต่อเนื่องจากกรณีน้ำมันรั่วไหลของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ที่จังหวัดระยอง โดย PTTGC เคยให้เหตุผลในการใช้สารเคมี Slickgone NS ขจัดคราบน้ำมัน ในปริมาณที่เกินมาตรฐานที่บริษัทผู้ผลิตกำหนดไว้ว่า สภาพทะเลในขณะเกิดเหตุมีคลื่นสูงถึง 2 เมตร ความเร็วลมแรงกว่าปกติที่ 15-35 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้ไม่สามารถใช้วิธีการขจัดคราบน้ำมันที่ถูกต้องและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือก็คือวิธีล้อมและดูดกลับ (Boom and Skimmer)ได้
นอกจากนี้ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เคยให้สัมภาษณ์กับไทยรัฐออนไลน์ ในทำนองเดียวกันนี้ว่า “เท่าที่ PTTGC และบริษัทน้ำมันแห่งอื่น เคยฝึกซ้อมการป้องกันและบรรเทาอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นภายใต้แผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำ ส่วนใหญ่เป็นการซ้อมในสภาพอากาศปกติ ไม่มีคลื่นสูง แต่ในเหตุการณ์นี้ปรากฏว่า เจอความสูงของคลื่นถึง 3 เมตร” จึงเป็นเหตุให้มีการใช้น้ำยาขจัดคราบน้ำมันไปอย่างน้อย 32,000 ลิตร ทั้งๆ ที่มาตรฐานกำหนดให้ใช้ไม่เกิน 5,000 ลิตร เพื่อต้องการควบคุมสถานการณ์ในท้องทะเลที่มีคลื่นลมแรงให้เข้าสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด
ต่อมา คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ได้ส่งหนังสือไปถึงอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อขอข้อมูลรายงานสภาพอากาศ ความเร็วลม และความสูงของคลื่นทะเล ของวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 แถวบริเวณที่เกิดเหตุน้ำมันรั่วนอกชายฝั่งมาบตาพุด จังหวัดระยอง
วันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556 กรมอุตุนิยมวิทยาส่งหนังสือกลับมาว่า ในบริเวณที่เกิดเหตุไม่มีสถานีอุตุนิยมวิทยาของกรมอุตุนิยมวิทยาตั้งทำการอยู่ จึงไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดได้ แต่อย่างไรก็ตาม ได้ส่งข้อมูลสรุปผลการตรวจสภาพอากาศพร้อมรายละเอียดจากสถานีอุตุนิยมวิทยาระยอง ในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 ตั้งแต่เวลา 01.00-22.00 น. มาชี้แจง ซึ่งสถานีอุตุนิยมวิทยาดังกล่าวตั้งอยู่ตำบลตะพง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง อยู่ใกล้กับหาดแม่รำพึง ห่างจากบริเวณที่เกิดเหตุประมาณ 20 กิโลเมตร ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงบริเวณดังกล่าวมากที่สุด
ข้อมูลสรุปผลการตรวจสภาพอากาศเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 เวลา 7.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่เกิดเหตุน้ำมันรั่วกลางทะเลมาแล้วประมาณ 30 นาที รายงานว่า ลักษณะท้องฟ้ามีเมฆมาก ทัศนวิสัย 12 กิโลเมตร ลมพื้นผิวพัดมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 9 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทะเลมีลักษณะเรียบ มีคลื่นสูง 0.1-0.5 เมตร ซึ่งข้อเท็จจริงที่กรมอุตุนิยมวิทยารายงานนี้กลับไม่ตรงกับข้อมูลที่ PTTGC ให้ไว้ว่าคลื่นในทะเลขณะนั้นสูงถึง 2 เมตร และมีลมแรงกว่าปกติที่ 15-35 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
จากข้อเท็จจริงที่ได้ดังกล่าว นำไปสู่ข้อสังเกตเรื่อง “ความโปร่งใส” ของการรายงานข้อมูลของบริษัท ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับรางวัลด้านธรรมาภิบาลดีเด่นหลายรางวัลในระดับประเทศและระดับทวีป นอกจากนี้ยังมีกรณี “ผลประโยชน์ทับซ้อน” เรื่องการแต่งตั้ง “คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงน้ำมันรั่วกลางทะเล” โดยนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการบริษัท PTTGC ซึ่งเป็นบริษัทผู้ก่อเหตุน้ำมันรั่ว เป็นผู้มีอำนาจในการแต่งตั้งคุณหญิงทองทิพ รัตนะรัต ซึ่งดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา ปตท. และกรรมการผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยด้วย เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบ
เหตุการณ์น้ำมันรั่วนอกชายฝั่งมาบตาพุด จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 ผ่านมา จนถึงวันนี้ก็เป็นเวลา 3 เดือนแล้ว หลายคนลืมไปแล้วว่าเหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้น คราบน้ำมันหายไป น้ำทะเลใส แล้วแต่ผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลเป็นสิ่งที่ยังไม่ปรากฏให้เห็นในเร็ววัน แม้จะมีการพบสัตว์ทะเลตายเกยตื้นหลายชนิดในบริเวณใกล้เคียง ยกตัวอย่างเช่น เต่าทะเลที่มีทาร์บอลหรือก้อนน้ำมันดิบค้างอยู่ในปาก ซึ่งนักชีววิทยาทางทะเลและผู้เชี่ยวชาญต่างเห็นด้วยว่าสิ่งที่พบนั้น “ผิดปกติ” แต่ทาง PTTGC ก็ยืนยันว่า การที่สัตว์ทะเลตายเกยตื้นนั้นไม่เกี่ยวกับน้ำมันดิบที่รั่วกลางทะเล ชาวประมงที่ทำมาหากินในบริเวณนั้นยังไม่ได้รับการเยียวยาที่พวกเขาพึงพอใจ กลุ่มชาวประมงตำบลตะพง จังหวัดระยอง หาปลาได้น้อยกว่าที่เคยทำได้จนทำให้หยุดการออกหาปลาเพราะไม่คุ้มค่าที่จะลงทุน การตั้งกลุ่มชุมนุมเรียกร้องยังไม่ได้การตอบรับใดๆ จาก PTTGC
ส่วนทางด้าน “กลุ่มติดตามน้ำมัน ปตท. รั่วไหล” ที่ได้รวบรวมรายชื่อ 32,000 รายชื่อผ่านการรณรงค์จาก Change.org และยื่นให้นายกรัฐมนตรีไปตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2556 เพื่อขอให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการตรวจสอบอิสระขึ้นมาค้นหาข้อเท็จจริงและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลเช่นเดียวกัน