ThaiPublica > เกาะกระแส > ประมงพื้นบ้านระยอง ร้องศาลเว้นเก็บค่าธรรมเนียมฟ้องแพ่ง “พีทีทีจีซี” เหตุน้ำมันรั่วทำรายได้สูญ

ประมงพื้นบ้านระยอง ร้องศาลเว้นเก็บค่าธรรมเนียมฟ้องแพ่ง “พีทีทีจีซี” เหตุน้ำมันรั่วทำรายได้สูญ

5 ตุลาคม 2014


ชาวประมงบ้านเพมายื่นคำร้องเรื่องเงินชดเชยจากน้ำมันรั่ว
ชาวประมงบ้านเพมายื่นคำร้องเรื่องเงินชดเชยจากน้ำมันรั่ว

วันที่ 26 กันยายน 57 เวลา 09.00 น. ศูนย์ข้อมูลชุมชนที่ศาลจังหวัดระยอง สมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กระยอง ชาวประมงพื้นบ้าน และชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบกรณีน้ำมันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (พีทีทีจีซี) รั่วไหลลงทะเลพื้นที่จังหวัดระยองเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 ในฐานะเป็นโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลย บริษัทพีทีทีจีซี รวมทั้งสิ้น 454 ราย เข้าร่วมไต่สวนขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดระยอง เพื่อขอให้พิจารณายกเว้นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมศาลในอัตราร้อยละ 2 ของทุนทรัพย์ค่าเสียหายที่โจทก์แต่ละรายยื่นฟ้อง

นายละม่อม บุญยงค์ กรรมการสมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กระยอง กล่าวถึงเหตุที่ชาวบ้านผู้ฟ้องคดีต้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลว่า ต้องยอมรับว่า ปัจจุบัน หลังเกิดเหตุน้ำมันของบริษัทพีทีทีจีซีรั่วลงทะเลระยอง และมีปรากฏการณ์คราบน้ำมันลอยเกยหาดเป็นระยะๆ นับจากนั้น ชาวประมงพื้นบ้านและแม่ค้าอาหารทะเลอยู่ในภาวะขัดสน เนื่องจากทรัพยากรทางทะเลสูญหาย ชาวบ้านไม่สามารถจับสัตว์น้ำมาขายได้เหมือนก่อน ทำให้รายได้ลดลงอย่างน่าตกใจ ส่วนใหญ่จากที่เคยทำมาหากินได้หลายหมื่นบาทต่อเดือน ก็ลดเหลือหลักพันบาท หรือบางคนต้องเลิกทำประมงไป ทุกวันนี้ในแต่ละเดือนจึงแทบไม่พอใช้จ่าย หลายคนต้องไปกู้หนี้ยืมสินทั้งในระบบและนอกระบบมาใช้เพื่อให้อยู่รอด

การฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทพีทีทีจีซี ซึ่งชาวบ้านทุกคนฟ้องเป็นทุนทรัพย์ไม่ต่ำกว่าสามแสนบาท ส่วนหนึ่งเรียกค่าเสียหายหลักล้าน คิดรวมระยะเวลา 2-3 ปี ซึ่งเป็นค่าเสียหายตามจริง เป็นเหตุให้ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในอัตราร้อยละ 2 ของทุนทรัพย์ที่ฟ้อง ดังนั้น ชาวบ้านจะต้องจ่ายเงินถึงหลักหมื่นในการดำเนินการทางการศาล แน่นอนว่าชาวบ้านไม่สามารถหาเงินมาจ่ายได้ จึงจำเป็นต้องขอความเป็นธรรมงดเว้นค่าธรรมเนียมจากศาล

ด้านนางสำเริง ศรีลอย ชาวประมงพื้นบ้าน หนึ่งในผู้ฟ้องคดี กล่าวว่า ก่อนเกิดเหตุน้ำมันรั่ว ตนสามารถจับปูมาขายมีรายได้วันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 1,000–3,000 บาท แต่ปัจจุบันบางวันได้เงินเพียง 100–300 บาทเท่านั้น จนไม่พอใช้จ่าย ต้องไปกู้เงินจากธนาคาร หรือนำของมีค่าที่เคยสะสมไว้ไปจำหน่ายเพื่อนำเงินมาประทังชีวิต ทำให้ทุกวันนี้ความเป็นอยู่ลำบากมาก แต่ยังพร้อมที่จะต่อสู้ทางคดี เพื่อให้บริษัทรับผิดชอบต่อสิ่งที่ทำและรีบฟื้นฟูทรัพยากรทะเลต่อไป

“เราไม่ได้ฟ้องเพราะอยากจะได้แต่เงินของบริษัท ไม่มีใครอยากเสียเวลาทำกินมาขึ้นโรงขึ้นศาล แต่เราสู้เพราะอยากให้พีทีทีจีซีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันมาฟื้นฟูทรัพยากรทะเลอย่างแท้จริง โดยให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วม ไม่ใช่ทำแบบสร้างภาพ เอาปลาหรือปะการังมาปล่อยเหมือนที่ผ่านมาๆ อีกประเด็นสำคัญที่ชาวบ้านฟ้องจึงเป็นการขอให้มีการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลเพื่อความยั่งยืนต่อไป เพราะถ้าในทะเลมีปลา เงินทองเราจะออกไปหาเท่าไหร่ก็ทำได้” นายละม่อมกล่าวเพิ่มเติม

ด้าน นางสาวส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความจากศูนย์ข้อมูลชุมชนซึ่งให้ความช่วยเหลือทางคดีแก่ชาวบ้าน กล่าวว่า คดีนี้ แม้ชาวบ้านจะไม่ต้องจ่ายเงินว่าจ้างทนายความเพื่อดำเนินการทางคดี เนื่องจากศูนย์ข้อมูลชุมชนและสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนได้ให้ความช่วยเหลือแก่ชาวบ้าน ซึ่งเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายแล้วก็ตาม แต่ชาวบ้านก็ยังเดือดร้อนมากและไม่มีรายได้มากพอที่จะหาเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาล โดยศาลจังหวัดระยองไต่สวนชาวบ้านส่วนใหญ่แล้วและจะนัดไต่สวนโจทก์ที่เหลืออีก 27 คนเพิ่มเติมในวันที่ 13 ต.ค. 57 ซึ่งเราคาดหวังว่าชาวบ้านจะได้รับความเมตตาจากศาลยกเว้นค่าธรรมเนียมและสามารถเข้าถึงความยุติธรรมต่อไป หลังจากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการที่จำเลย (บริษัทพีทีทีจีซี) จะต้องยื่นคำให้การต่อศาล และเริ่มกระบวนพิจารณาคดีสืบพยานในชั้นต่อไป

นางสาวส.รัตนมณีกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการฟ้องคดีแพ่งที่ศาลจังหวัดระยองแล้ว ชาวบ้านยังได้ฟ้องหน่วยงานทางปกครองไว้ที่ศาลปกครองระยองอีกด้วย โดยขณะนี้ ชาวบ้านได้ไปสาบานตัวต่อศาลเกี่ยวกับการขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลแล้ว คดีจึงอยู่ระหว่างศาลพิจารณาเรื่องการขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวมีการยื่นฟ้องตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 57 ที่ผ่านมา โดยสมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กระยอง ชาวประมงพื้นบ้าน และกลุ่มแม่ค้าผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำมันดิบของบริษัทพีทีทีจีซีรั่วไหลออกทะเล พื้นที่จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 56 รวม 454 ราย เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัทพีทีทีจีซี ในฐานะผู้ก่อมลพิษ (คดีแพ่ง) และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง (คดีปกครอง) ประกอบด้วย คณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน(กปน.) กรมเจ้าท่า กรมประมง กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ในฐานะผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายในการบำบัดแก้ไขปัญหามลพิษและบรรเทาผลกระทบที่เกิดแก่ทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่ง ต่อศาลจังหวัดระยอง ความแพ่ง และศาลปกครองระยอง

โดยได้ขอให้มีการชดใช้ค่าเสียหายจากการสูญเสียรายได้ในการประกอบอาชีพโดยประมาณกว่า 400 ล้านบาท (ยอดความเสียหายตามฟ้องดังกล่าวยังไม่แน่นอน แต่เป็นความเสียหายประมาณการที่คาดว่าจะฟ้องทั้งหมด) และขอให้มีการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติจากปัญหาน้ำมันรั่ว โดยให้บริษัทจัดสรรงบประมาณสู่กองทุนคิดเป็นร้อยละ 10 ของกำไรเฉลี่ยต่อปี