เมื่อวันอังคารที่ 27 สิงหาคม 2556 เวลาประมาณ 10 โมงเช้า “กลุ่มติดตามน้ำมัน ปตท. รั่วไหล” นำโดยนายพลาย ภิรมย์ และนางสาวสุภาภรณ์ มาลัยลอย ได้เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นรายชื่อ 32,000 ราย ที่รวบรวมจากการรณรงค์ผ่านทางเว็บไซต์ www.change.org/oilspill เสนอต่อนายกรัฐมนตรีให้ตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบกรณีบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือพีทีทีจีซี (PTTGC) ทำน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเล โดยมีนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกฯ มารับหนังสือที่หน้าทำเนียบรัฐบาล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวขอให้รัฐบาลในฐานะผู้นำประเทศดำเนินการแต่งตั้ง “คณะกรรมการอิสระเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีน้ำมันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) รั่วไหลในอ่าวไทย” อย่างเร่งด่วน ทั้งนี้คณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้น จะต้องมีการดำเนินงานที่เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีอำนาจในการเรียกข้อมูลและข้อเท็จจริงทั้งจากหน่วยงานรัฐและเอกชน ที่สำคัญคือมีความเป็นอิสระและปลอดจากผลประโยชน์ทับซ้อนของธุรกิจในกลุ่ม ปตท. และเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในสาขาที่เกี่ยวข้อง โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการจะต้องมีตัวแทนจากอย่างน้อย 4 ฝ่าย คือ ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคกฎหมาย และภาคประชาชน
โดยคณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่หลักดังต่อไปนี้ 1) ตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับกรณีปัญหาน้ำมันรั่วไหล 2) ตรวจสอบผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม 3) เสนอหลักการฟื้นฟูเยียวยาความเสียหายต่อรัฐบาล 4) จัดทำข้อเสนอเพื่อปรับปรุงนโยบาย กฎหมาย โครงสร้าง และกลไกที่เกี่ยวข้องกับการรับมือสถานการณ์น้ำมันรั่วไหลในอนาคต
การเรียกร้องในครั้งนี้ก็มาจากการที่ “คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงน้ำมันรั่วกลางทะเล” ที่มีคุณหญิง ทองทิพ รัตนะรัต เป็นประธานคณะกรรมการ ถูกตั้งคำถามถึงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากบริษัทพีทีทีจีซีเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาสอบสวนตัวเอง ทำให้
คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงน้ำมันรั่วกลางทะเลที่แต่งตั้งโดยพีทีทีจีซีเป็นการอาศัยอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2556 โดยนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มอบหมายให้นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัทพีทีทีจีซี เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และมอบอำนาจให้นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีอำนาจสั่งการพีทีทีจีซีแทนตน
ต่อมาวันที่ 1 ส.ค. 2556 นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ได้รับแจ้งจากนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ถึงการแต่งตั้ง “คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงน้ำมันรั่วกลางทะเล” 5 คน มีหน้าที่สอบสวนข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน นับตั้งแต่ 31 ก.ค. 2556
อย่างไรก็ตาม จากการรวบรวมข้อมูลโดยนางสาวนิชา รักพานิชมณี มูลนิธิบูรณะนิเวศ เกี่ยวกับคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงน้ำมันรั่วกลางทะเล พบว่ากรรมการมีผลประโยชน์ทับซ้อน ดูกราฟิกประกอบ
ทั้งนี้ ตัวแทนจาก “กลุ่มติดตามน้ำมัน ปตท. รั่วไหล” กล่าวกับผู้สื่อข่าวไทยพับลิก้าว่า การยื่นรายชื่อทั้ง 32,000 รายชื่อ นั้นไม่ได้คาดหวังว่านายกรัฐมนตรีจะต้องทำตามข้อเรียกร้องดังกล่าว แต่เป็นการทำหน้าที่และแสดงจุดยืนว่า เหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่ว่าจะกำจัดคราบน้ำมันให้หายไปเหมือนกับ “ปัดฝุ่นไว้ใต้พรม” แล้วจะจบ โดยจะมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง และระหว่างที่รอคำตอบจากนายกรัฐมนตรี ทางกลุ่มฯ จะส่งนักวิชาการลงพื้นที่เพื่อศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ต่อไป สำหรับแนวทางการเคลื่อนไหวหลังจากนี้ ทางกลุ่มฯ จะขอประชุมกันก่อนอีกครั้ง
สำหรับ “กลุ่มติดตามน้ำมัน ปตท. รั่วไหล” นั้นประกอบไปด้วย มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH), มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW), กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Greenpeace Southeast Asia) และสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (GSEI)
–