ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > วิธีรับมือเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลในระดับสากลที่ ปตท. ไม่ได้ทำ (2)

วิธีรับมือเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลในระดับสากลที่ ปตท. ไม่ได้ทำ (2)

6 กันยายน 2013


ต่อเนื่องจากตอนที่แล้ว ถึงเรื่องราวข้อเท็จจริงและการตั้งข้อสังเกตต่างๆ จากภาคประชาสังคมเกี่ยวกับกรณีน้ำมันรั่วไหลของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)หรือ PTTGC ที่จังหวัดระยอง ซึ่งในตอนที่แล้วได้เล่าถึงวิธีการกำจัดคราบน้ำมันและข้อปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุน้ำมันรั่วกลางทะเลในระดับสากลซึ่งเป็นวิธีการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่ทาง ปตท. กล่าวอ้างว่าไม่สามารถทำตามวิธีการดังกล่าวได้เนื่องจากคลื่นลมทะเลในขณะนั้นสูงถึง 2 เมตร ในประเด็นนี้หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ เกษมศรี ได้นำเสนอเกี่ยวกับสารเคมีที่ทาง PTTGC ใช้ในการกำจัดคราบน้ำมันซึ่งทางบริษัทผู้ก่อเหตุกล่าวว่าเป็นสารเคมีที่ได้รับมาตรฐานระดับสากลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงข้อสังเกตเรื่องปริมาณในการใช้ด้วย

การดำเนินการของปตท.กรณีน้ำมันรั่ว

สิ่งที่เรารับรู้จาก ปตท. เกี่ยวกับสารเคมีเมื่อวันอังคารที่ 30 กรกฎาคม 2556 คือ มีหนังสือราชการ “ด่วนที่สุด” จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมส่งถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีใจความว่า “เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม เวลา 18.30 น. กรมควบคุมมลพิษได้รับแจ้งจาก PTTGC ว่าสามารถควบคุมสถานการณ์น้ำมันรั่วได้แล้ว โดยที่ผ่านมา 2 วันได้ใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันไปแล้ว 32,000 ลิตร”

หนังสือแจ้งครม.ถึงการใช้เคมีแก้ปัญหาน้ำมันรั่ว

โดยสารเคมีที่ใช้ฉีดพ่นขจัดคราบน้ำมันมีชื่อว่า Slickgone NS ประเภท 2/3 ผลิตโดยบริษัท Dasic International จากประเทศอังกฤษ สารเคมีดังกล่าวเป็นสารประเภทลดแรงตึงผิวชนิดเดียวกับที่ใช้ในสบู่และผงซักฟอก มีความเป็นพิษต่ำ ย่อยสลายตามธรรมชาติได้อย่างรวดเร็ว ได้รับการรับรองจากหน่วยงานด้านความปลอดภัยทางทะเลของประเทศอังกฤษ และ Warren Spring Laboratory โดยมีอัตราส่วนในการกำจัดคราบน้ำมัน 1 ส่วน Slickgone NS ต่อ 20 ส่วนน้ำมัน หรือ 1:20 ถ้าในกรณีที่ใช้งานแบบผสมน้ำ (ทะเล) ให้ใช้ในอัตราส่วน 1:10 แทน

น้ำมันรั่วSlide19

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และผู้บริหารระดับสูงของกลุ่ม ปตท. ต่างออกมายืนยันและให้ความมั่นใจถึงการจัดการกับสถานการณ์ดังกล่าวและสารเคมีที่ใช้ว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยสารเคมีดังกล่าวจะย่อยสลายคราบน้ำมันเป็นละอองเล็กๆ ไปเป็นอาหารแพลงตอนตามกระบวนการธรรมชาติ และจะสามารถกำจัดคราบน้ำมันให้หายไปภายใน 3 วัน รวมถึงก้อนหินและหาดทรายบนอ่าวพร้าวที่จะต้องกลับมาสะอาดเหมือนเดิม

ข้อเท็จจริงและข้อสังเกตเกี่ยวกับสารเคมีที่ ปตท. ไม่ได้กล่าวถึง

สารเคมี Slickgone NS Type 2/3 ประกอบไปด้วยสารเคมี 2 ตัว คือ Kerosene และ Dioctyl Sulfosuccinate ซึ่งตัวหลังใช้เวลาในการย่อยสลายทางชีวภาพไปประมาณ 50-80% ในเวลา 50 วัน ส่วนผลข้างเคียงที่พบมีตั้งแต่การระคายเคืองผิวหนัง ผิวหนังแห้งแตก ทำลายปอด และคลื่นไส้อาเจียน

น้ำมันรั่วSlide21

น้ำมันรั่ว Slide22

น้ำมันรั่วSlide23

สำหรับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทะเล มีการทดลองจากประเทศอิสราเอลโดยนำสารเคมีดังกล่าวมาผสมกับน้ำมันจากประเทศอียิปต์ที่ปนอยู่ในน้ำทะเลในอัตราส่วน 1:10 แล้วนำปะการัง 2 ชนิด มาแช่ไว้ 24 ชั่วโมง พบว่าไม่มีปะการังชนิดไหนที่มีชีวิตรอด การทดลองได้ลดความเจือจางของสารเคมีดังกล่าวไปเรื่อยๆ จนเหลือ 25% ของที่กำหนดไว้ซึ่งก็คืออัตราส่วน 0.25:10 จึงจะพบปะการังที่มีชีวิตรอดที่ 88% ของจำนวนปะการังทั้งหมด ในทางกลับกันเมื่อทดลองโดยนำปะการังไปแช่ในน้ำมันดิบผสมน้ำทะเลในปริมาณและเวลาเท่าเดิมกลับพบอัตราการรอดของปะการังสูงกว่ามากในระดับ 90% ขึ้นไปของปะการังทั้งหมด การทดลองดังกล่าวทดลองกับสารเคมีกำจัดคราบน้ำมัน 9 ชนิด ชนิดละ 540 ตัวอย่าง และทดลองกับปะการังเป็นหมื่นๆ ชิ้น

น้ำมันรั่ว

Slide25

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่อ่าวเม็กซิโกหลังจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งที่เลวร้ายที่สุดในโลก พบว่าการที่จุลินทรีย์บางชนิดสามารถย่อยสลายละอองน้ำมันดิบที่แตกตัวจากการใช้สารเคมีได้นั้นเป็นเรื่องจริง เพียงแต่ในการย่อยสลายนั้นจะต้องใช้ก๊าซออกซิเจนในการเผาผลาญสูงมาก ส่งผลให้ปริมาณก๊าซออกซิเจนในทะเลบริเวณนั้นลดลงถึง 30% ซึ่งส่งผลต่อสัตว์ในทะเลเป็นอันมาก รวมถึงการกลายพันธุ์ของสัตว์บางชนิด เช่น กุ้งและปลา ที่พบว่ามีสาเหตุมาจากสาร “อโรเมติกส์” ในน้ำมันดิบนั่นเอง

จากการทดลองข้างต้นก็พอจะสามารถคาดเดาได้บ้างว่า ปริมาณของสารเคมีขจัดคราบน้ำมันที่ใช้มีความสำคัญมาก ยิ่งใช้มากก็ยิ่งมีความเสี่ยงต่อระบบนิเวศน์ในทะเลมาก โดยทาง ปตท. กล่าวว่ามีการใช้สารเคมีไปแล้ว 32,000 ลิตรภายในวันที่ 28 กรกฎาคม ในขณะที่ในวันที่ 29 กรกฎาคมและหลายๆ วันต่อมาก็ยังพบว่ามีการฉีดสารเคมีดังกล่าวอยู่ ซึ่งไม่มีรายงานออกมาอย่างชัดเจนว่าใช้ไปในปริมาณเท่าใด นอกจากนี้ เมื่ออ้างอิงจากปริมาณน้ำมันดิบที่รั่วออกมา 54,341 ลิตร เทียบกับอัตราส่วนที่ใช้ไปแล้วแน่ๆ คือ 32,000 ลิตร จะมีอัตราส่วนมากถึง 6:10 มากกว่าที่กำหนดไว้ 6 เท่า โดยทางกรมควบคุมมลพิษก็อนุมัติในการใช้ไปเพียง 5,000 ลิตรเท่านั้น ในส่วนนี้ทาง ปตท. ยังคงไม่สามารถให้ความชัดเจนใดๆ ได้นอกจากกล่าวว่า “เนื่องจากกระแสลมและคลื่นที่รุนแรงได้พัดคราบน้ำมันออกไปในวงกว้าง ทำให้ต้องระดมฉีดสารเคมีให้มากที่สุดและต้องยับยั้งให้เร็วที่สุด”

ปาการังฟอกขาว