ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2556 ที่บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือพีทีทีจีซี (PTTGC) ได้ทำน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเลในพื้นที่จังหวัดระยอง โดยทางพีทีทีจีซีได้ดำเนินการเก็บกู้คราบน้ำมัน ปรับสภาพแวดล้อม และจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบไปแล้วส่วนหนึ่ง
เหตุการณ์ผ่านมาแล้วกว่า 8 เดือน ชาวบ้านยืนยันว่าผลกระทบที่ได้รับยังไม่เปลี่ยนแปลง อีกทั้งบางส่วนยังไม่ได้รับเงินเยียวยา จึงเข้ายื่นคำร้องต่อสภาทนายความฯ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2557
นางสาวไพรวัลย์ บุญฤทธิ์ ประธานกลุ่มประมงเรือเล็ก ต.บ้านเพ อ.เมือง จ.ระยอง นำตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ตำบลบ้านเพที่ประกอบอาชีพต่างๆ จำนวน 14 คน ซึ่งเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้ามายื่นคำร้องต่อสภาทนายความฯ เพื่อขอให้ช่วยดำเนินการเรียกร้องความรับผิดชอบจากพีทีทีจีซี โดยชาวบ้านอ้างว่าไม่ได้รับความช่วยเหลือ และการดูแลใดๆ นอกจากเงินเยียวยา และพีทีทีจีซีจ่ายเงินไม่ครบทุกครัวเรือน
นางสาวไพรวัลย์ บุญฤทธิ์ ประธานกลุ่มประมงเรือเล็ก ต.บ้านเพ อ.เมือง จ.ระยอง นำตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ตำบลบ้านเพที่ประกอบอาชีพต่างๆ เข้ายื่นคำร้องต่อสภาทนายความฯ
ผู้สื่อข่าวไทยพับลิก้าที่ได้พูดคุยกับชาวบ้านที่มายื่นคำร้องเล่าว่า เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2557 ที่ผ่านมา ก่อนชาวบ้านมายื่นคำร้องกับทางสภาทนายความฯ เพียงไม่กี่วัน เจ้าหน้าที่พีทีทีจีซีได้จ่ายเงินเยียวยางวดแรกให้ผู้ประกอบการผลิตโมบายจากเปลือกหอย และอาชีพหาหอยนางรมใน ต.บ้านเพ จำนวนกว่า 80 ราย แต่ไม่มีการแจ้งล่วงหน้าทำให้มีผู้เสียสิทธิ์ไปหลายราย เนื่องจากมาไม่ทันเวลารับเงินเยียวยา อีกทั้งในกลุ่มอาชีพนี้ทางบริษัทเคยรับปากชาวบ้านว่าจะจ่ายเงินเยียวยาให้ในจำนวนเงิน 7,500 บาท แต่ชาวบ้านได้รับจริงแค่เพียง 6,000 บาท ชาวบ้านจึงเกิดข้อสงสัยในประเด็นนี้
ส่วนนายอุเล สินสมุทร์ หนึ่งในชาวบ้านที่เป็นตัวแทนเข้าร้องเรียนต่อสภาทนายความฯ เปิดเผยว่า ตนมิได้มีความรู้ในเรื่องการทำงานในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของทางเจ้าหน้าที่ ไม่ทราบว่าน้ำมันที่รั่วจะมีผลเสียอะไรบ้าง หรือสารเคมีที่ใช้ในการสลายคราบน้ำมันนั้นคืออะไร มีผลกระทบแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ สิ่งที่ชาวบ้านชาวประมงได้รับและส่งผลกระทบต่อชีวิตพวกเขา คือจำนวนสัตว์น้ำที่เคยจับได้มีปริมาณลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากที่เคยหาปลาได้วันละ 15-16 กิโลกรัม แต่ในวันนี้ไม่ถึง 10 กิโลกรัม อีกทั้งยังต้องออกเรือไปไกลขึ้น ทำให้มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นทั้งที่รายได้ลดลง
โดยชาวบ้านได้นำบัญชีครัวเรือนที่แต่ละครัวเรือนทำแนบมากับเอกสารยื่นคำร้องเปิดเผยให้กับทางผู้สื่อข่าวดูว่าตัวเลขสัตว์น้ำที่จับได้และรายได้ของพวกเขาลดลงอย่างมากภายหลังเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่ว อีกทั้งหากต้องการปริมาณปลาที่มากขึ้นก็ต้องออกเรือไปไกลขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นตามมา พวกเขาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หากไม่ได้รับผลกระทบจริงๆ จะไม่ดิ้นรนต่อสู้ให้เหนื่อยเลย
ชาวบ้านคนอื่นกล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อนำหอยที่จับได้ไปขายก็ขายได้ไม่ดีเหมือนแต่ก่อน เพราะนักท่องเที่ยวกลัวสารตกค้างจากสารสลายคราบน้ำมัน ทำให้รายได้ลดลง บางรายถึงกับต้องไปกู้หนี้ยืมสิน และการที่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาทำให้เดือดร้อนเป็นเป็นอันมาก
อย่างไรก็ตาม ทางสภาทนายความฯ โดยนายชัยวัฒน์ สิทธิสุขสกุล อนุกรรมการสิ่งแวดล้อมฝ่ายคดี ได้รับคำร้องจากชาวบ้านไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเตรียมนำเรื่องขอการอนุมัติจากที่ประชุมสภาทนายความฯ ในวันที่ 23 เมษายนนี้ เพื่อดำเนินการช่วยเหลือชาวบ้านกลุ่มนี้ต่อไป หลังจากที่มีการลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้านแล้วส่วนหนึ่ง และการช่วยเหลือนั้นอยู่ในขั้นเตรียมการร่างคำร้องแล้ว