กรณีการตรวจพบคราบน้ำมันถูกคลื่นซัดเข้ามารวมกับเม็ดทราย กลายเป็นก้อนสีดำๆ หรือที่เรียกกว่า “ก้อนน้ำมันดิน” (tar ball) ลอยมาติดตามชายหาด ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของไทย โดยที่ไม่มีหน่วยงานใดมีหลักฐานหรือข้อมูลทางวิชาการยืนยันว่า “ทาร์บอล” ที่ว่าพวกนี้มาจากแหล่งไหน เกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นน้ำมันรั่วจากแท่นขุดเจาะ หรือขณะขนถ่ายน้ำมัน หรือมาจากเรือประมง หรืออื่นๆ เหตุการณ์ดังกล่าวปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง อาทิ
พบ “ก้อนสีดำ” เกลื่อนชายหาด อ.สทิงพระ และ อ.สิงหนคร จ.สงขลา
“พบคราบน้ำมันถูกคลื่นซัดเข้าชายหาด บริเวณปากคลองแกลง ต.แกลง อ.เมือง จ.ระยอง”
“ก้อนน้ำมันสีดำจำนวนมาก ลอยมาขึ้นที่บริเวณชายหาด ต.บางมะพร้าว ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน จ.ชุมพร เป็นระยะทางยาวกว่า 15 กม. และอยู่ห่างจากเรือจำลองเรือรบหลวงจักรีนฤเบศร ชายหาดปากน้ำหลังสวน สถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อของจังหวัดเพียง 1 กม.”
“พบก้อนน้ำมันลอยขึ้นมาติดตามชายหาดต่างๆ ในพื้นที่ ต.เกาะลันตาใหญ่ จากตรวจสอบ พบว่าก้อนน้ำมันดังกล่าวนั้นเป็น ก้อน “ทาร์บอล” ซึ่งเป็นการแปรสภาพจากน้ำมันเป็นก้อนของเหลวด้านนอกแข็ง แต่ด้านในจะคล้ายเยลลี่ ไม่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศ”
“บริเวณลานหินขาว-หินดำ พบคราบน้ำมันเป็นก้อนเล็กๆ เต็มชายหาดยาวไปถึงหาดแม่รำพึง ต.ตะพง อ.เมือง จ.ระยอง ความยาวประมาณ 3 กม. โดยคราบน้ำมันจับตัวเป็นก้อนเหนียว”
“คราบน้ำมันลักษณะข้นเหนียว สีดำ ลอยปะปนกับขยะมูลฝอยเข้ามาชายหาดหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตลอดแนวถึงชายหาดเขาตะเกียบระยะ ทางกว่า 10 กม.”
พบคราบน้ำมันเกยชายหาดจำนวนมาก อ.หลังสวน จ.ชุมพร โดยเฉพาะพื้นที่ตำบลบางน้ำจืด ตำบลบางมะพร้าว ซึ่งมีคราบก้อนน้ำมันเกยชาดหาดเป็นจำนวนมากตามแนวชายฝั่งยาวหลายกิโลเมตร
พบคราบและก้อนน้ำมันสีดำลอยติดหาดทรายใน อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช บริเวณอ่าวไทย เป็นแนวยาว 3-4 กม. มีทั้งเต่าและโลมาหัวบาตร ตายถูกคลื่นซัดเกยหาดบริเวณเดียวกัน
“พบก้อนน้ำมันสีดำลอยถูกคลื่นซัดมาเกยชายหาดในตำบลท่าบอน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ตลอดแนวกว่า 10 กิโลเมตร ก้อนน้ำมันสีดำลักษณะมักจะถูกคลื่นซัดมาเกยชายหาด บริเวณ อำเภอระโนด สทิงพระ สิงหนคร เป็นประจำทุกปี”
“พบก้อนน้ำมันสีดำลอยถูกคลื่นซัดมาเกยชายหาดในตำบลท่าบอน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลาตลอดแนวกว่า 10 กิโลเมตร ก้อนน้ำมันสีดำลักษณะมักจะถูกคลื่นซัดมาเกยชายหาด บริเวณ อำเภอระโนด สทิงพระ สิงหนคร เป็นประจำทุกปี”
“พบคราบน้ำมันลอยติดแนวชายหาดเกาะพะงัน ระยะทางกว่า 500 เมตร โดยชาวบ้านในพื้นที่อ่าวหินกอง หมู่ 6 ต.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี วิตกว่าจะส่งผลต่อพื้นที่ป่าโกงกางแนวชายหาด”
“พบก้อนวัตถุสีดำคล้ายลักษณะเหนียวข้น จับตัวกันเป็นก้อน กระจายเกลื่อนแนวชายหาด บริเวณทะเลหาดทุ่งซาง ม.5 ต.ชุมโค อ.ปะทิว จ.ชุมพร”
“พบปรากฏการณ์ก้อนน้ำมันดินลอยเกยอยู่ตามชายหาดขนาดตั้งแต่เท่าหัวไม้ขีดถึงเหรียญบาท ส่วนใหญ่มีขนาดประมาณ 3 มิลลิเมตร ถึง 1 เซนติเมตร กระจายตามแนวน้ำขึ้นสูงสุด บริเวณหาดทุ่งซาง อ.ปะทิว หาดทรายรี อ.เมือง จ.ชุมพร, หาดริ้น หาดในพื้นที่เกาะพะงัน หาดละไม หาดเฉวง เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี”
“คลื่นลมแรงพัดขยะและคราบน้ำมันลอยเกยชายหาดแม่รำพึง จังหวัดระยอง ยาวกว่า 5 กม. จนท.อุทยานฯ หน่วยงานรุดเก็บคราบน้ำมัน และน้ำทะเลตรวจสอบ”
ล่าสุดมีรายงานว่าทางบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC เตรียมพิจารณา เเละบูรณาการข้อมูลกับหน่วยงานของรัฐ รวม 9 แห่ง ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ, กรมเจ้าท่า, กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, กรมศุลกากร, กองทัพเรือ, วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี และสมาคมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันรั่ว เริ่ม “โครงการ Crude Oil and Tar Ball Fingerprint Library” หรือโครงการพัฒนาฐานข้อมูลลายนิ้วมือน้ำมันดิบ น้ำมันดิน และผลิตภัณฑ์น้ำมันที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งวิเคราะห์ทาร์บอลและคราบน้ำมัน เพื่อการบ่งชี้แหล่งที่มาของทาร์บอลและคราบน้ำมันในประเทศไทย
ถ้าจำกันได้เหตุการณ์ปี 2560 มีรายงานข่าว พบทาร์บอลตามแนวชาดหาดหัวหินและสงขลา กระทรวงพลังงานส่งเจ้าหน้าที่ไปเก็บตัวอย่างมาให้ PTTGC ตรวจสอบ พบว่า เป็นทาร์บอลที่เกิดจากคราบน้ำมันดิบที่มาจากตะวันออกกลาง จึงขอความร่วมมือไปยังสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ “GISTDA” ให้จัดส่งภาพถ่ายทางอากาศมาให้ PTTGC พบว่าเป็นเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่จากตะวันออกกลาง หลังจากที่ขนถ่ายน้ำมันดิบลงที่ท่าเรือสงขลาเสร็จ ได้นำเรือออกจากฝั่งไปล้างคราบน้ำมันบริเวณน่านน้ำไทย ก่อนที่จะไปรับน้ำมันดิบมาส่งรอบถัดไป กรมเจ้าท่าจึงทำหนังสือตักเตือนเจ้าของเรือ ห้ามล้างเรือในน่านน้ำไทยอีก
จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ทาง PTTGC จึงทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับGISTDA เพื่อขอใช้ข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศตรวจสอบแหล่งที่มาของทาร์บอล
สำหรับโครงการตรวจสอบลายนิ้วมือของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี หลังทราบผลตรวจทางวิทยาศาสตร์จากห้องแล็บว่าเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีชนิดใด เป็นคราบน้ำมันดิบหรือน้ำมันเครื่อง ขั้นตอนต่อไปคือการค้าหาแหล่งที่มา เพื่อหาแนวทางป้องกัน แม้จะไม่ได้ผลเต็ม 100% แต่ก็ถือว่าเป็นการสร้างฐานข้อมูลทางด้านวิชาการให้กับประเทศ ที่ผ่านมาไม่มีหน่วยงานใดมีฐานข้อมูลประเภทนี้เลย
ขณะนี้ทางบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จํากัด, บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ก็แสดงความสนใจที่จะเข้ามาร่วมโครงการนี้กับ PTTGC รวมทั้งกรมควบคุมมลพิษด้วย คาดว่าจะมีการลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOU) ในเร็วๆ นี้
นับเป็นโครงการแรกของประเทศไทย ที่ประยุกต์หลักการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการบ่งชี้แหล่งที่มาของคราบน้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเชื่อถือได้ รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการรั่วไหลของน้ำมันได้
นอกจากภารกิจการบ่งชี้แหล่งที่มาแล้ว โครงการดังกล่าวยังเป็นข้อมูลสำหรับการศึกษาและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อประชาชน สังคม และนานาประเทศ ปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการหารือและจัดทำข้อตกลงความร่วมมือร่วมกัน