ThaiPublica > เกาะกระแส > กนง. ลดดอกเบี้ย 0.25% รับมือผลกระทบส่งออกติดลบ จับตาสินเชื่อขยายตัวสูง

กนง. ลดดอกเบี้ย 0.25% รับมือผลกระทบส่งออกติดลบ จับตาสินเชื่อขยายตัวสูง

18 ตุลาคม 2012


นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยสายนโยบายการเงิน ธปท. และเลขาณุการ กนง.
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยสายนโยบายการเงิน ธปท. และเลขาณุการ กนง.

กนง. ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายจาก 3% เป็น 2.75% เพื่อกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ ลดผลกระทบส่งออกที่วูบลงกว่าที่คาด โดยเตรียมปรับประมาณการส่งออกทั้งปีนี้เหลือ 4% จากเดิม 7%

ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2555 กรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 3% เป็น 2.75% ซึ่งเป็นการปรับลดลงครั้งแรก หลังจาก กนง. ยืนดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3% มาตั้งแต่การประชุม กนง. เมื่อ 25 มกราคม 2555

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ในฐานะเลขานุการ กนง . แถลงหลังการประชุม กนง.ว่า คณะกรรมการ กนง. ส่วนใหญ่มีมติปรับลดดอกเบี้ยลง เนื่องจากการส่งออกได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลกมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม และต้องการกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศเพื่อค้ำจุนเศรษฐกิจให้ขยายตัวในระดับที่เหมาะสม

การประชุม กนง. ครั้งนี้ นายไพบูลย์ระบุว่า จะมีการปรับประมาณการส่งออกลดลงจากที่คาดการณ์ไว้เดิม โดยจะแถลงรายละเอียดการปรับประมาณการในการแถลงรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อวันที่ 26 ตุลาคมนี้ และจะปรับลดประมาณการตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของปี 2556 ลงจากที่ประมาณการเดิม ส่วนจีดีพีปีนี้จะไม่ต่างจากที่คาดการณ์ไว้ครั้งก่อน

ทั้งนี้ การประมาณการเศรษฐกิจล่าสุดในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อฉบับเดือนกรกฎาคม 2555 คาดการณ์จีดีพีปีนี้ขยายตัว 5.7% และปีหน้า 5% ส่วนตัวเลขการส่งออกทั้งปีคาดว่าจะขยายตัว 7%

“กรรมการฯ ส่วนใหญ่คิดว่า ผลกระทบต่อเนื่องของการส่งออกที่ชะลอลงในที่สุดจะส่งผลต่อรายได้ในประเทศ และส่งผลต่อการบริโภค การใช้จ่ายในประเทศในระยะต่อไปก็เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่กรรมการฯ ส่วนใหญ่เห็นว่า ในภาวะที่เงินเฟ้อต่ำ และความเสี่ยงข้างหน้าไม่สูง ก็เห็นว่าควรผ่อนคลายนโยบายการเงิน เพื่อให้เรามั่นใจได้ว่า แรงของอุปสงค์ปีหน้าก็จะมีกำลังเพียงพอทีจะพยุงเศรษฐกิจให้ขยายตัวในระดับที่น่าพอใจต่อไป” นายไพบูลย์กล่าว

นอกจากนี้ ในภาคการเงิน คณะกรรมการฯ เห็นพ้องต้องกันว่า สินเชื่อที่ขณะนี้ขยายตัว 14-15% เป็นระดับที่ค่อนข้างสูง จำเป็นต้องติดตามว่ามีภาคส่วนใดขยายตัวมากเกินควรหรือไม่ แต่ความกังวลในเรื่องอุปสงค์ในประเทศ และผลกระทบต่อเนื่องเรื่องภาคการส่งออกที่จะชะลอลง ซึ่งช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีคงชะลอ และจะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ ทั้งการบริโภค ภาคการลงทุน เป็นเรื่องที่ได้รับน้ำหนักมากกว่าเรื่องของความเสี่ยงการขยายตัวสินเชื่อ ซึ่งขณะนี้ ธปท.ยังไม่เห็นความเสี่ยงที่เป็นสัญญาณอันตรายในภาคอสังหาริมทรัพย์ และการขยายสินเชื่อด้านการบริโภค ซึ่งเป็นส่งที่ต้องติดตามต่อไป

ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากวงในภาคส่งออกเห็นสอดคล้องกับ ธปท. ว่า การส่งออกที่เหลือของปีนี้น่าจะชะลอลง แต่คนวงในภาคส่งออกมองเลวร้ายกว่านั้นคือ การส่งออกทั้งปีนี้มีโอกาสติดลบหรือไม่ขยายตัวเลย ซึ่งเป็นผลจากปัญหาเศรษฐกิจโลกไม่ดี ดังนั้น ผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศจะรุนแรง เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออก 60-70% โดยการส่งออกล่าสุดเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาหดตัว 6.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน และ 8 เดือนแรกของปีนี้หดตัว 1.3%

ขณะที่แหล่งข่าวจาก กนง. รายหนึ่งเปิดเผยว่า การประชุมหารือของ กนง. ครั้งนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจโลกและผลกระทบต่อการส่งออกของไทย โดยหารือกันเรื่องนี้ค่อนข้างมาก เพราะกังวลว่าการส่งออกที่ถูกกระทบจากเศรษฐกิจโลกนั้นค่อนข้างแรงและเร็ว จึงเป็นที่มาของการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อต้านผลกระทบของการส่งออกที่คาดว่าจะแย่ลง

ที่มาภาพ: http://static.guim.co.uk
ที่มาภาพ: http://static.guim.co.uk

โดย ธปท. รายงานตัวเลขการส่งออกว่า ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกมากกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก และจะปรับประมาณการส่งออกทั้งปีนี้ลงเหลือ 4% จากเดิมประมาณการไว้ 7% เพราะฉะนั้น เมื่ออุปสงค์ต่างประเทศตกลงมากขนาดนี้ การพยุงเศรษฐกิจก็เหลือทางเลือกเพียงทางเดียว คือ กระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ ซึ่งทำได้ 2 ทาง

ทางแรก ใช้นโยบายการคลังกับนโยบายการเงิน ในส่วนของนโยบายการคลัง ที่ผ่านมาทำมาค่อนข้างเยอะ แต่เน้นการอุดหนุนเป็นส่วนใหญ่ และเน้นระยะสั้น ถือว่าไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ในการกระตุ้นเศรษฐกิจถือว่านโยบายการคลังเดินมาถูกทาง แต่ต้องปรับปรุงคุณภาพ มุ่งทำนโยบายที่สร้างแรงจูงใจกับเศรษฐกิจที่ส่งผลระยะยาวมากกว่าระยะสั้น

อีกทางหนึ่งคือ เพิ่มอำนาจซื้อให้ประชาชน โดยการลดภาระรายจ่ายดอกเบี้ยลง เพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้กับภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคครัวเรือน กนง. จึงเห็นควรลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

“การลดดอกเบี้ยก็ช่วยอีกแรงหนึ่ง แต่เป็นการช่วยในลักษณะต้านผลกระทบการส่งออกที่ลดลงแรงอย่างชัดเจน เพื่อให้อุปสงค์ในประเทศไม่ฟุบลง” แหล่งข่าว กนง. กล่าว

ทั้งนี้ในการประชุม กนง. ครั้งก่อนเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2555 คณะกรรมการฯ มีมติ 3 ต่อ 2 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3% เหตุผลประการหนึ่งที่อธิบายตอนนั้นคือ ต้องการ “เก็บกระสุน” ไว้ใช้ยามจำเป็น แต่เป็นครั้งแรกที่ยอมรับว่าอีกเหตุผลหนึ่งคือเกรงว่า “กระสุนจะด้าน” หรือการส่งผ่านนโยบายดอกเบี้ยไปสู่อัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์อาจไม่มีประสิทธิเพียงพอที่จะกดดันให้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตาม

เนื่องจากช่วงนั้นธนาคารพาณิชย์มีการแข่งขันสูง จึงมีโอกาสสูงที่จะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยเคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่ง กนง. ลดดอกเบี้ยลงจาก 3.25% เป็น 3% แต่กว่าธนาคารพาณิชย์จะลดดอกเบี้ยลงต้องใช้เวลานานพอสมควร

ครั้งนี้ แม้สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์จะขยายตัวสูง 14-15% แต่แหล่งข่าว กนง. ประเมินว่า โอกาสที่ธนาคารพาณิชย์จะปรับลดดอกเบี้ยตามมีความเป็นไปได้สูงเมื่อเทียบกับครั้งก่อน เนื่องจากธนาคารพาณิชย์น่าจะมีการกักตุนสภาพคล่องไว้เพียงพอแล้ว และด้านความต้องการสินเชื่อ เมื่อมองไปข้างหน้าแล้วค่อนข้างสมดุลกับสภาพคล่องที่มีอยู่ เนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ทำให้การลงทุนที่มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นไม่ชัดเจน และการบริโภคอาจชะลอลง

ดังนั้น จุดที่จะทำให้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดดอกเบี้ยน่าจะขึ้นอยู่กับการประเมินภาวะเศรษฐกิจ หากมองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไม่สดใส เชื่อว่าธนาคารพาณิชย์จะปรับลดดอกเบี้ยลง เว้นแต่ธนาคารพาณิชย์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจข้างหน้ายังขยายตัวดี ก็อาจจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง แต่คงไม่ปรับขึ้น เชื่อว่าธนาคารพาณิชย์จะรอดูสถานการณ์ให้ชัดเจนก่อน

“กระสุนต้องเก็บไว้เพื่อใช้ยามจำเป็น แต่ถ้า overdue นานแล้ว กระสุนมีความจำเป็นต้องยิงก็ต้องยิง เมื่อมีภัยเข้ามาประชิดตัวแล้ว คือการส่งออกที่ดิ่งลงเหมือนตกเหว ก็จำเป็นต้องทำ ที่สำคัญการแก้ไขปัญหาในเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง จึงเป็นความเสี่ยงที่ต้องระวัง” แหล่งข่าว กนง. กล่าว

ด้านนายไพบูลย์ ได้อธิบายเกี่ยวกับการส่งผ่านนโยบายดอกเบี้ยว่า การส่งผ่าน คือ การดำเนินนโยบายการเงินที่เราปรับดอกเบี้ยไป เราคิดว่า ถ้าสถาบันการเงินปรับดอกเบี้ยตาม ก็เป็นผลในทางปฏิบัติได้โดยเร็ว แต่ต้องยอมรับว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินมีปัจจัยอื่นๆ มากมาย โดยเฉพาะการแข่งขันระหว่างสถาบันการเงินเฉพาะกิจกับธนาคารพาณิชย์ รวมถึงปัจจัยต่างๆ อีกหลายประการ ในที่สุดแล้วก็ต้องให้กลไกตลาดเป็นตัวตัดสินว่า ดอกเบี้ยของสถาบันการเงินปรับตามได้รวดเร็วเพียงใด และมากน้อยเพียงใด ซึ่งคงตอบไม่ได้ ต้องติดตามดูกลไกตลาด

นอกจากนี้ เลขานุการ กนง. อธิบายเพิ่มเติมว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ไม่เป็นสัญญาณว่าดอกเบี้ยขาลง เพราะในการประชุมแต่ละครั้งจะประเมินภาพเศรษฐกิจใหม่หมด การประชุมครั้งนี้ก็อยู่บนพื้นฐานตามตัวเลขข้อมูลที่มีขณะนี้ และเป็นตัวเลขที่คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

แต่เมื่อมีการประชุมครั้งต่อไป ก็ต้องดูความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก ความเสี่ยงต่างๆ ที่ประเมินไว้ครั้งนี้เป็นจริงหรือไม่ รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศหลัก ๆ แตกต่างจากที่ประเมินไว้ครั้งนี้หรือไม่ และแรงส่งอุปสงค์ในประเทศหลังจากเราลดดอกเบี้ยครั้งนี้แล้วสามารถทำให้แรงส่งอุปสงค์ในประเทศดีขึ้น และสามารถค้ำจุนให้เศรษฐกิจขยายตัวในปีหน้าหรือไม่

“เพราะฉะนั้นคงไม่สามารถบอกได้ว่า การลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้เป็นแนวโน้ม แต่คิดว่าในระดับปัจจุบันเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับแนวโน้มที่เรามองไปข้างหน้าขณะนี้” เลขานุการ กนง. กล่าว และปฏิเสธว่า การพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ไม่เกี่ยวและไม่ได้พิจารณาเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้าย และไม่ได้เป็นเพราะการเมืองต้องการเห็นดอกเบี้ยลดลง

ทั้งนี้ หลังปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ 2.75% ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริง อยู่ที่ -0.25%

อ่านเพิ่มเติมบทวิเคราะห์ฝ่ายวิจัย ธนาคารไทยพาณิชย์