ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสนโยบายการเงิน > ธปท. ปรับจีดีพีปีนี้โตแค่ 4.2% ระบุนโยบายการเงินทำเต็มที่แล้ว

ธปท. ปรับจีดีพีปีนี้โตแค่ 4.2% ระบุนโยบายการเงินทำเต็มที่แล้ว

20 กรกฎาคม 2013


แบงก์ชาติปรับจีดีพีปีนี้ลดฮวบเหลือ 4.2% จากเดิม 5.1% ผลจากการบริโภค การลงทุน และเศรษฐกิจชะลอลง โดยจีนชะลอลงกว่าที่คาด ฉุดส่งออกทั้งปีโตแค่่ 4% ขณะที่นโยบายการเงินผ่อนคลายเต็มที่แล้ว ชี้หากต้องการให้เศรษฐกิจโตเต็มศักยภาพต้องแก้ข้อจำกัดด้านอุปทาน ไม่เช่นนั้นจะเป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจให้โตต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ถึง 3 ครั้ง หรือทุกไตรมาสที่มีการรายงานนโยบายการเงิน

ครั้งแรก เดือนมกราคม ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.9% จากเดือนตุลาคม 2555 ประมาณการไว้ที่ 4.6%

ครั้งที่สอง เดือนเมษายน ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.1% จากเดือนมกราคมที่ประมาณการไว้ 4.9%

และครั้งที่สาม ล่าสุด เดือนกรกฎาคม ปรับลดลงเหลือ 4.2% จากเดือนเมษายนที่ประมาณการไว้ 5.1%

ทั้งนี้ ธปท. ประมาณการเศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะขยายตัวเฉลี่ยในอัตรา 4% โดยไม่คิดว่าจีดีพีไตรมาส 2 ไตรมาส 3 และ 4 ไม่ติดลบ และไม่ได้อยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างที่บางคนเป็นห่วง ไม่เช่นนั้นจีดีพีจะไม่ได้ 4.2% อย่างที่คาดการณ์ไว้

ปรับจีดีพี

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงรายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือนกรกฎาคม 2556 ว่า สาเหตุสำคัญที่ปรับจีดีพีลดลง เนื่องจากอุปสงค์ทั้งในประเทศและต่างประเทศชะลอลงพร้อมๆ กัน

โดยอุปสงค์ในประเทศ การบริโภคภาคครัวเรือนชะลอตัวลงชัดเจน แต่ ธปท. คิดว่าเป็นการปรับฐานเพราะจากช่วงก่อนหน้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากจากแรงกระตุ้นของภาครัฐ แต่ผลของมาตรการกระตุ้นลดลงไปรวดเร็วกว่าที่ ธปท. คาดการณ์ไว้ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การบริโภคลดลงค่อนข้างมาก อีกสาเหตุหนึ่งเป็นผลจากหนี้ครัวเรือนที่เร่งมากขึ้น เป็นปัจจัยทำให้ต้องลดทอนการจับจ่ายใช้สอยสินค้าคงทุนประเภทอื่นๆ นอกจากรถยนต์

อย่างไรก็ตาม ธปท. คาดว่าแนวโน้มข้างหน้าของการบริโภคภาคครัวเรือนจะกลับมาขยายตัวได้ปกติ เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานยังอยู่ในเกณฑ์ดี ได้แก่ มีการจ้างงานเต็มที่ รายได้ของประชาชนโดยเฉพาะรายได้นอกภาคเกษตรยังขยายตัวในเกณฑ์ดี และนโยบายการเงิน การคลัง ยังอยู่ในภาวะผ่อนคลาย สะท้อนจากสภาพคล่องที่อยู่ระดับสูง สินเชื่อที่ขยายตัวระดับสูง และการคลังยังขาดดุลงบประมาณต่อเนื่อง

ด้านการลงทุนเอกชนก็ชะลอตัวลง เนื่องจากเลื่อนการลงทุนออกไปเพราะมีความไม่แน่นอนสูงเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก และการชะลอลงของอุปสงค์ในประเทศ โดยเป็นการชะลอลงทั้งอุตสาหกรรมส่งออก และอุตสาหกรรมในประเทศ

อย่างไรก็ตาม เมื่อสำรวจปัจจัยพื้นฐานต่างๆ โดยเฉพาะความจำเป็นในการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และเพื่อทดแทนแรงงาน และตรวจสอบสภาพคล่องบริษัทจดทะเบียนก็มีสภาพคล่องระดับสูง ด้านการเงินคงไม่ใช่ข้อจำกัดด้านการลงทุน ดังนั้น การลงทุนก็น่าจะทยอยเกิดขึ้นในระยะต่อไป

ด้านการคลัง แรงกระตุ้นยังมีต่อเนื่อง แต่น้อยกว่าประมาณการเดิม ส่วนหนึ่งเพราะความล่าช้าในการใช้จ่ายของภาครัฐ จากโครงการบริหารจัดการน้ำ 350,000 ล้านบาท ที่มีประเด็นเรื่องศาลปกครองให้ทำประชาพิจารณาก่อนดำเนินโครงการ ในการทำประมาณการเศรษฐกิจ ธปท. จึงได้ปรับลดประมาณการลงทุน จากเดิมในปีนี้คาดว่าจะมีการลงทุน 54,000 ล้านบาท ได้ปรับลดลงมาเหลือ 14,000 ล้านบาท และปีหน้าจาก 69,000 ล้านบาท ปรับลดลงเหลือ 48,000 ล้านบาท

ขณะที่อุปสงค์ต่างประเทศ ภาคการส่งออกซึ่งขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักๆ ซึ่งเศรษฐกิจสหรัฐฯ ค่อนข้างทรงตัวและมีแนวโน้มที่ดีขึ้นทั้งจากภาคที่อยู่อาศัย และการจ้างงาน แม้จะโดนถ่วงจากมาตรการการคลังที่ถูกจำกัด หรือที่เรียกว่า (sequestration) แต่แนวโน้มข้างหน้าน่าจะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวเกินกว่าที่คาดจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และยูโรค่อนข้างทรงตัวแต่ยังอ่อนแออยู่ คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะกลับคืนสู่ปกติ

แต่ปัจจัยสำคัญที่มีการชะลอตัวลงมากกว่าที่ ธปท. คาดคือเศรษฐกิจเอเชีย โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ซึ่งนโยบายของทางการจีนไม่ต้องการให้เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดดอย่างในอดีตที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นคงไม่ได้เห็นอัตราการขยายตัวสูงมากๆ อย่างในอดีต โดยทางการจีนเห็นว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจในอัตรา 7.5% น่าจะเป็นระดับที่เหมาะสมและยั่งยืน สามารถขยายตัวในระดับเช่นนี้ในระยะยาวโดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาด้านเงินเฟ้อและฟองสบู่

“การที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจเอเชียมีแนวโน้มชะลอลงกว่าประมาณการครั้งก่อน ทำให้เราปรับประมาณการส่งออกสินค้าในปีนี้ลดลงจาก 7.5% เหลือ 4% การส่งออกไปจีนนั้นก็อย่างที่เรียนว่าชะลอลงตั้งแต่ปลายไตรมาสแรก ขณะที่การส่งออกไปประเทศจี 3 ดีขึ้นช้าๆ แต่คาดว่าในระยะต่อไปการส่งออกจะมีแนวโน้มขยายตัวค่อยเป็นค่อยไป เพราะฉะนั้นในปีหน้าคาดว่าจะขยายตัวได้ประมาณ 8% “

สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ธปท. คาดว่าการขยายตัวมีความเสี่ยงด้านลบมากกว่าด้านบวก โดยการใช้จ่ายด้านครัวเรือนที่ชะลอลงซึ่งเป็นการปรับฐานมีความเสี่ยงจะปรับฐานนานกว่าที่คาด และอาจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ส่วนการลงทุนในการบริหารจัดการน้ำก็อาจล่าช้าออกไปอีกก็ได้

“ทั้งสองเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก็จะทำให้ประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจของเราต่ำกว่าที่คาดไว้”

ที่มา : รายงานนโยบายการเงิน เดือนกรกฎาคม 2556
ที่มา: รายงานนโยบายการเงิน เดือนกรกฎาคม 2556

นายไพบูลย์กล่าวว่า จีดีพีในอัตรา 4.2% ไม่ได้เป็นอัตราที่เลวร้าย แม้จะชะลอลงจากที่เราประมาณการไว้เดิม โดยถ้าสังเกตจะเห็นสินเชื่อยังขยายตัวในระดับเลข 2 หลัก ครัวเรือนก็ยังเป็นหนี้ระดับสูง เพราะฉะนั้น การที่เศรษฐกิจยังทรงตัวได้ในระดับนี้ แม้การบริโภคชะลอลงบ้าง แต่คิดว่าเป็นการปรับตัวในทิศทางที่เหมาะสม

“ถ้าเรามองว่าหลังจากช่วงนี้ ต่อไปเมื่อภาระหนี้ต่างคลี่คลายลงจากการที่เรานำอุปสงค์ในอนาคตมาใช้ในปัจจุบันหมดไปแล้ว คนก็ต้องกลับมาบริโภคใช้จ่ายเหมือนเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ไม่ว่าจะการจ้างงานเต็มร้อย เรื่องสภาพคล่องในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายภาครัฐ ยังเป็นในโหมดกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ ดังนั้นโดยรวมยังอยู่ในวิสัยที่รับได้ในระดับนี้”

นายไพบูลย์กล่าว่า กนง. ยังมองว่า ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา หรือในระยะข้างหน้าเริ่มขยายตัวได้ไม่เต็มที่ คือข้อจำกัดภาคการผลิต หรือด้านอุปทาน ไม่ว่าจะเป็นกำลังแรงงาน ผลิตภาพ โลจิสติกส์ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพราะอุปสงค์ในประเทศที่เน้นนโยบายกระตุ้นคงได้ผลเพียงชั่วคราว

การที่เศรษฐกิจจะเติบโตในระดับสูง มีความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศได้ จำเป็นต้องมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การลงทุนเพื่อเพิ่มเทคโนโลยีต่างๆ โดยด้านอุปทานที่สำคัญเรื่องหนึ่งคือ ประเด็นแรงงาน ซึ่งเราขาดแคลนแรงานทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ

โดยผลิตภาพของแรงงานในช่วงที่ผ่านมาของไทยลดถอยลง และอัตราการเกิดที่ต่ำทำให้ปริมาณแรงงานไม่พอ การเข้าสู่ตลาดแรงงานก็สูงอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น เพิ่มอัตราการทำงานมากไปกว่านี้ไม่ได้ นอกจากนั้นยังมีการเคลื่อนย้ายแรงงานจากที่ผลิตภาพสูงไปสู่ภาคที่มีผลิตภาพต่ำ ก็เป็นส่วนหนึ่งทำให้ผลิตผลิตแรงงานโดยรวมลดลง

“เพราะฉะนั้น ทางการควรให้ความสำคัญด้านแรงงาน เพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพิ่มขึ้น ถ้าเราไม่แก้ข้อจำกัดด้านการผลิต หรือด้านอุปทาน โอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัวได้สูงอย่างในอดีตคงจะยาก ถ้าธุรกิจต้องการลงทุน ต้องการผลิตมากขึ้น แต่หาแรงงานไม่ได้ ก็ไม่รู้จะลงทุนอย่างไร ถึงแม้จะมีการสั่งซื้อรออยู่ก็ตาม นี่คือตัวอย่างง่าย”

นายไพบูลย์ย้ำว่า ถ้าเศรษฐกิจโตไม่เต็มตามศักยภาพ หรือต่ำกว่า 5% ในระยะยาว การเพิ่มขึ้นของรายได้ประชาชนไม่สูงเท่าที่ควร การค้าขายจะไม่ซื้อง่ายขายคล่อง และไม่หมุนเวียนดีเหมือนที่ผ่านมา และศักยภาพการแข่งขันของประเทศก็อาจถดถอยลงไป ในภาวะที่เราไม่โตในระดับสูงเท่าที่ควร

“จึงจำเป็นต้องดำเนินการไปควบคู่ในภาวะที่เศรษฐกิจถดถอยชั่วคราว ชะลอลงชั่วคราวจำเป็นที่จะต้องดำเนินนโยบายผ่อนคลายก็ยังมีอยู่ ทุกวันนี้เราก็ผ่อนคลายทั้งด้านการเงินและการคลังสนับสนุนการเติบโต แต่เท่านี้ยังไม่พอ เพราะฉะนั้นต้องทำด้านอุปทาน หรือด้านระยะยาวต้องมีการปฏิรูปควบคู่กันไปด้วย”

นายไพบูลย์กล่าวว่า โดยสรุปแล้วภาพรวมคิดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำลงในปี 2556 แต่จะกลับมาขยายตัวได้ระดับปกติในปีหน้า คือขยายตัวได้ในอัตรา 5%

ทางด้านเงินเฟ้อ ธปท. ปรับประมาณการลดลงทั้งเงินเฟ้อพื้นฐานและเงินเฟ้อทั่วไป โดยเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2556 ปรับประมาณการลดลงจาก 2.7% เป็น 2.3% ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2556 ปรับประมาณการลดลงจาก 1.6% เป็น 1.1% โดยมีเหตุผลสำคัญมาจากแรงกดดันด้านต้นทุนและสินค้าโภคภัณฑ์ชะลอลง รวมถึงมีการเลื่อนการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีออกไป และเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวลง แรงกดันจากราคาสินค้าในประเทศก็ลดลง

ขณะที่ความเสี่ยงเงินเฟ้อก็เป็นความเสี่ยงด้านลบ คือ ถ้าเศรษฐกิจจริงขยายตัวต่ำกว่าที่ ธปท. คาด โอกาสที่เงินเฟ้อจะขยายตัวต่ำกว่าที่คาดก็มีอยู่

อย่างไรก็ตาม หากเงินเฟ้อมีโอกาสต่ำกว่าที่คาดการณ์ ในแง่การดำเนินนโยบายการเงินมีความจำเป็นต้องผ่อนคลายเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตต่อเนื่องหรือไม่ นายไพบูลย์ระบุว่า นโยบายการเงินผ่อนลายเต็มที่แล้ว เท่าที่ประเมินไว้ตอนนี้ ถ้าเศรษฐกิจเป็นไปตามที่ ธปท. มองไว้ คือ โต 4.2% และภาวะเงินเฟ้อเป็นตามที่คาด ก็ถือว่าอัตราดอกเบี้ยระดับนี้เป็นระดับที่เหมาะสม

โดยถ้าพิจารณาด้านการขยายตัวของสินเชื่อ ด้านการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือน การลดอัตราดอกเบี้ยลงไม่น่าจะช่วยกระตุ้นอะไรได้มากนัก เพราะถือว่าเรากู้หนี้ยืมสินมากอยู่แล้ว และเมื่อพิจารณาตลาดหลักทรัพย์ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ก็จะเห็นว่าช่วงที่ผ่านมาแม้จะมีความผันผวน แต่ดูระยะยาวถือว่ามีการปรับตัวสูงขึ้นมาก เพราะฉะนั้น นโยบายการเงินจะมีผลส่งผ่านไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริงก็ต้องผ่านช่องทางเหล่านี้

ดังนั้น ถ้าปัจจัยเหล่านี้ถึงขีดเกณฑ์ค่อนข้างจำกัดแล้ว การกระตุ้นก็คงได้ผลน้อย หรือไม่ได้ผล

“แต่ไม่ได้หมายความว่า หากตัวเลขที่ปรากฏจริงมีพัฒนาการใหม่ๆ เกิดขึ้น อาทิ ความเสี่ยงตลาดการเงิน เศรษฐกิจของโลก ความผันผวนต่างๆ ที่เกิดขึ้น ถ้ากระทบต่อเศรษฐกิจไทยทำให้ภาวการณ์คาดการณ์ของเราเปลี่ยนแปลงไป ก็พร้อมปรับนโยบายการเงินให้สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป”

ดาวโหลด รายงานนโยบายการเงิน เดือนกรกฎาคม 2556 ฉบับสมบูรณ์

ดาวโหลด เอกสารประกอบการแถลงข่าวนโยบายการเงิน เดือนกรกฎาคม 2556