ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “ผู้นำโกง” – ตามล่าขุมทรัพย์ดินแแดนแห่งกุหลาบทะเลทราย (2)

“ผู้นำโกง” – ตามล่าขุมทรัพย์ดินแแดนแห่งกุหลาบทะเลทราย (2)

21 พฤษภาคม 2013


รายงานโดย อิสรนันท์

yemenprotests ที่มาภาพ : http://neareaststudies.as.nyu.edu/props/
yemenprotests ที่มาภาพ : http://neareaststudies.as.nyu.edu/props/

ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์การปฏิวัติประชาชนในเยเมนเมื่อปี 2554 ซึ่งยืดเยื้อไปถึงปี 2555 สถานทูตสหรัฐในกรุงซานา นครหลวงของเยเมน ได้ส่งรายงานลับไปยังกระทรวงต่างประเทศในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อปี 2553 ระบุว่า “รัฐบาลประธานาธิบดีอาลี อับดุลลาห์ ซาเลห์”เป็นหนึ่งในรัฐบาลที่ทุจริตฉ้อฉลมากที่สุดในโลก โดยเครือข่ายการทุจริตคอร์รัปชันในวงกว้างได้ดำเนินมาหลายสิบปีแล้วและยิ่งขยายตัวมากขึ้่น สืบเนื่องจากความอ่อนแอของสถาบันของรัฐและโครงสร้างที่แตกเป็นส่วนๆ บรรดาพันธมิตรต่างได้รับรางวัล ชนชั้นปกครองอื่นๆ ได้รับการตอบแทนภายใต้ระบบอุปถัมภ์ แลกกับความเงียบสงบทางการเมือง”

ตลอดช่วง 33 ปีที่บริหารประเทศ รัฐบาลนายซาเลห์สามารถสร้างภาพลวงโลกว่าประเทศนี้สงบเงียบปราศจากคลื่นลมทางการเมือง เนื่องจากได้จัดสรรผลประโยชน์ที่ลงตัวให้กับทุกฝ่ายรวมไปถึงชนเผ่าต่างๆ นอกจากนี้ นายซาเลห์ยังได้สร้างภาพตัวเองว่าเป็นผู้นำเพียงคนเดียวที่สามารถผนึกรวมเยเมนให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้ คำหนึ่งที่นายซาเลห์มักจะใช้โจมตีฝ่ายต่อต้านทุกครั้งที่เกิดปัญหา รวมไปถึงช่วงต้นที่มีการประท้วงตามกระแสคลื่น “อาหรับสปริง” ก็คือการประณามว่า “สมคบกันบ่อนทำลายประเทศชาติ” ตอกย้ำว่านายซาเลห์เป็นหนึ่งเดียวกับประเทศที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้

แต่ชาวเยเมนผู้หนึ่งให้ความเห็นว่า การที่บ้านเมืองดูเหมือนเงียบสงบนั้น เป็นเพราะอดีตประธานาธิบดีซาเลห์สามารถทำให้ประชาชนคุ้นเคยกับการคอร์รัปชัน การเล่นพรรคเล่นพวก และการทำงานแบบเช้าชามเย็นชามของข้าราชการ จนเหมือนกับเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันใต้เงาทะมึนของรัฐบาลนายซาเลห์และครอบครัว ซึ่งมองว่าสมบัติทุกชิ้นของแผ่นดินเป็นสมบัติส่วนตัวหรือสมบัติของวงศ์ตระกูล

ขณะที่ชาวเยเมนกลุ่มหนึ่งกลับมีมุมมองว่า “ประธานาธิบดีซาเลห์ไม่ใช่ตัวปัญหา หากแต่เป็นคนที่รายล้อมเขาที่ร่วมกันทุจริตคอร์รัปชันต่างหาก ที่ทำลายเศรษฐกิจของประเทศจนยับเยิน” ความเห็นนี้เท่ากับสะท้อนความเป็นจริงของสังคมว่า แท้ที่จริงการคอร์รัปชันได้หยั่งรากลึกแผ่กว้างไปทั่วทุกส่วนของสังคม เมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็ย่อมสะเทือนไปถึงดวงดาวเป็นธรรมดา

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ การคอร์รัปชันที่จังหวัดฮูไดดาและเอเดน ทางตอนใต้ของเยเมน อันเป็นสถานที่แรกของการปฏิวัติประชาชน ซึ่งปัญหานี้ได้เรื้อรังมานานและทวีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะเมื่อเกิดปรากฎการณ์ใหม่ มีนายทหาร นักการเมือง และข้าราชการระดับสูง รวม 15 คน ใช้อำนาจบาตรใหญ่เข้าไปถือครองที่ดินผืนใหญ่ เฉพาะที่จังหวัดเอเดนเพียงแห่งเดียวมีการยึดอาคารบ้านเรือน 1,357 หลัง และทรัพย์สินราชการอีก 63 แห่ง เป็นสมบัติส่วนตัวอย่างโจ๋งครึ่ม จนเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วและมีการร้องเรียนให้รัฐบาลเร่งตรวจสอบ สุดท้ายรัฐสภาต้องตั้งคณะกรรมาธิการชุดหนึ่งขึ้นมาสอบสวน แต่ก็ไม่มีการจับกุมผู้ต้องหาแม้แต่รายเดียว หนำซ้ำยังเกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้ซ้ำขึ้นมาอีก เมื่อนักการเมืองผู้ทรงอิทธิพลได้ร่วมมือกับนักธุรกิจ ผู้นำศาสนา และผู้นำชนเผ่า รวม 148 ราย เข้าไปยึดครองที่ดินและทรัพย์สินของราชการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กระทั่งรัฐสภาต้องตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบชุดที่ 2 ขึ้น แต่เรื่องก็เงียบหายไป

สื่อตะวันออกกลางบางสำนักให้ความเห็นว่า ในสังคมที่ประชาชนธรรมดาๆ ทั่วไปไม่สามารถเป็นเจ้าของใบขับขี่ ไม่มีตู้ไปรษณีย์ หรือยากจะขอวีซาออกไปต่างประเทศ ก็สามารถทำนายได้ว่าสังคมนั้นจะเต็มไปด้วยการทุจริตฉ้อฉลมากเพียงใด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ชาแก้วหนึ่งที่ดื่มไปนั้น ได้รวมราคาที่ต้องจ่ายไปให้กับสายโซ่ของการทุจริตฉ้อฉล ซึ่งสุดปลายของสายโซ่นั้นก็คือรัฐบาลที่ควบคุมทุกอย่างอยู่ในมือ

ประธานาธิบดีอาลี อับดุลลาห์ ซาเลห์  ที่มาภาพ : http://news.bbcimg.co.uk/media/
ประธานาธิบดีอาลี อับดุลลาห์ ซาเลห์ ที่มาภาพ : http://news.bbcimg.co.uk/media/

เมื่อปัญหาอันเนื่องจากการทุจริตคอร์รัปชันกระจายไปทั่ว รัฐบาลนายซาเลห์จึงประกาศเมื่อ 2-3 ปีก่อนหน้าว่าจะกวาดล้างการคอร์รัปชันในระดับสูง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ชาวเยเมนต่างสิ้นหวังเมื่อเห็นกับตาว่าการกวาดล้างนั้นไม่มีอะไรคืบหน้าแม้แต่น้อย ผลการสำรวจความเห็นล่าสุดพบว่า กว่า 70 เปอร์เซนต์ของชาวเยเมนเชื่อว่ายังมีการทุจริตในวงกว้าง ยิ่งกว่านั้น คนที่เคยเชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถกวาดล้างการคอร์รัปชันก็เริ่มยอมรับความจริงว่าไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะทำได้ตามราคาคุย

อย่างไรก็ดี ระบบอุปถัมภ์ของนายซาเลห์ที่เคยสามารถปิดปากทุกฝ่ายเริ่มมีปัญหา เนื่องจากกองทุนสำรองน้ำมันของเยเมนอันเป็นแหล่งกระจายรายได้ใหญ่เริ่มเหือดแห้งลง การผลิตน้ำมันในประเทศที่เคยพุ่งสูงสุดในปี 2544 เริ่มลดลงตามลำดับ การที่ชนเผ่าพื้นเมืองเผ่าเดียวกับนายซาเลห์ลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลถึงขั้นยิงระเบิดสั่งสอนใส่มันสยิดในทำเนียบประธานาธิบดี ทำให้นายซาเลห์ได้รับบาดเจ็บสาหัสต้องบินไปรักษาตัวที่ซาอุดีอาระเบียและสหรัฐฯ นั้น เป็นเพราะนายซาเลห์ไม่สามารถกระจายความมั่งคั่งร่ำรวยให้ทั่วถึงได้เหมือนที่เคยทำมาก่อน เท่ากับกดดันให้ชนเผ่าที่เป็นเป็นศัตรูกันหันมาจับมือกันเพื่อกดดันให้นายซาเลห์ลาออก

เพียงไม่กี่วันหลังจากนายซาเลห์ยอมผ่องถ่ายอำนาจให้กับนายอับดราบูห์ มันซูร์ ฮาดี รองประธานาธิบดี ให้ขึ้นมาเป็นรักษาการประธานาธิบดีเป็นเวลา 2 ปี ภายใต้เงื่อนไขหลายประการรวมไปถึงการได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองไม่ถูกเช็กบิลย้อนหลัง โดยเอกสิทธิ์คุ้มครองนี้ครอบคลุมไปถึงลูกหลานทุกคนด้วย ชาวเยเมนทั่วประเทศได้หันความสนใจไปที่การติดตามสมบัติและทรัพย์สินของแผ่นดินที่ถูกนายซาเลห์พร้อมครอบครัวและคนสนิทยักยอกไปเป็นสมบัติส่วนตัว ได้มีการรณรงค์ในกรุงซานาเมื่อกลางปี 2555 เรียกร้องให้เร่งติดตามและเรียกคืนสมบัติของประเทศที่ถูกอดีตรัฐบาลปล้นไปซึ่งๆ หน้า ทิ้งไว้เพียงหนี้มหาศาลที่ประชาชนต้องรับผิดชอบ

“การติดตามทรัพย์สินของแผ่นดินกลับคืนมาถือเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญเพื่อจะพยุงฐานะการเงินของรัฐบาลชุดใหม่ และเพื่อช่วยโครงการพัฒนาเศรษฐกิจให้เดินหน้าไปได้” นักเคลื่อนไหวคนสำคัญคนหนึ่งกล่าว

นายโมฮัมเหม็ด อัล อาฟานดี ประธานศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และอดีตรัฐมนตรีพาณิชย์ ให้ความเห็นว่า รัฐบาลนายซาเลห์ได้ใช้กลวิธีต่างๆ ในการขยายขอบข่ายการคอร์รัปชัน รวมไปถึงการขโมยเงินของกองทุนสาธารณะ ผ่านการให้อำนาจตัวเองหรือพรรคพวกเข้าไปควบคุมการใช้จ่ายในโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเท่ากับเปิดช่องทางหนึ่งในการทุจริตโครงการต่างๆ จากการประเมินคร่าวๆ ของนายยาเซน อัล ทามีนี นักเศรษฐศาสตร์ผู้กลายเป็นนักเคลื่อนไหวชื่อดัง คาดว่านายซาเลห์และพรรคพวกได้ขโมยสมบัติและทรัพย์สินของแผ่นดินไปเป็นของส่วนตัวมากถึง 60,000 ล้านดอลลาร์

นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวชื่อดังหลายคนเชื่อว่า เยเมนไม่มีทางเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้ หากไม่นำตัวนายซาเลห์พร้อมบริวารหว่านเครือและคนสนิทมาลงโทษหรือส่งตัวไปขึ้นศาลโลกที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ แต่นักเคลื่อนไหวบางกลุ่มกลับมองมุมต่าง ไม่เชื่อว่าจะสามารถขุดรากถอนโคนปัญหาการทุจริตฉ้อฉลให้หมดสิ้นภายในเร็ววันได้เพียงแค่นำตัวนายชาเลห์และคนสนิทมาลงโทษเท่านั้น เนื่องจากการทุจริตคอร์รัปชันได้ชอนไชและหยั่งรากลึกไปทั่วทุกภาคส่วนในสังคมมานานแล้ว การล้มรัฐบาลนายซาเลห์อาจจะเป็นเพียงแค่การเฉือนรากฝอยเล็กๆ ส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังไม่กระทบถึงรากแก้วซึ่งก็คือโครงข่ายการคอร์รัปชันซึ่งคงต้องใช้เวลานานหลายสิบปีกว่าจะถอนรากถอนโคนขบวนการคอร์รัปชันนี้ให้สิ้นทรากได้

นักเคลื่อนไหวหลายกลุ่มยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลรักษาการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง อันประกอบด้วยผู้ชี่ยวชาญสาขาต่างๆ เพื่อทำหน้าที่สืบเสาะว่าทรัพย์สินมหาศาลของนักการเมืองและข้าราชการนั้นได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

แหล่งข่าวระดับสูงในเยเมนเปิดเผยว่า เหตุผลหนึ่งที่ทำให้นายซาเลห์พยายามเตะถ่วงไม่ยอมคืนอำนาจง่ายๆ เป็นเพราะต้องการหาหลักประกันความปลอดภัยของทรัพย์สินของครอบครัว และจากประสบการณ์ที่สวมหัวโขนผู้นำประเทศมานาน 33 ปี ทำให้นายชาเลห์ตระหนักดีในสัจธรรมข้อที่ว่า “แพ้เป็นโจร ชนะเป็นเจ้า ” จึงต้องการหาหลักประกันว่าจะไม่มีใครสามารถสาวหาสมบัติของตัวเองที่ซุกซ่อนไว้ในต่างประเทศได้

ประธานาธิบดีอับดราบูห์ มันซูร์ ฮาดี จึงได้แต่วิงวอนขอให้นานาประเทศช่วยตามล่าหาสมบัติที่นายซาเลห์และพรรคพวกซุกซ่อนไว้ ขณะที่องค์การตามทวงคืนกองทุนที่ถูกปล้นไปจากเยเมน (YLFRO) กล่าวว่า “สหรัฐฯ อังกฤษ สหภาพยุโรป สวิตเซอร์แลนด์ และกาตาร์ ได้รับปากว่าพร้อมจะตามล่าสมบัติที่ถูกขโมยไปแล้ว” และแหล่งข่าวระดับสูงยังเปิดเผยด้วยว่า นายซาเลย์ได้ซุกซ่อนเงินสดก้อนใหญ่ไว้ที่เยอรมนี

ดังนั้น จึงมีการกดดันให้นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี รีบสั่งอายัดทรัพย์สินเหล่านั้น ซึ่งถ้าเยอรมนียอมทำตามแล้ว สหภาพยุโรปก็คงจะทำตามเช่นกัน ซึ่งจะเท่ากับช่วยให้สงครามกลางเมืองในเยเมนยุติลง เพราะนายซาเลห์คงไม่มีเงินหนุนการก่อการร้ายอีกแล้ว