ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ผู้นำโกง : ตามล่าขุมทรัพย์เจ้าทะเลทรายกัดดาฟี(4) – เปิดกรุสมบัติทรราชย์ในสวิสฯ

ผู้นำโกง : ตามล่าขุมทรัพย์เจ้าทะเลทรายกัดดาฟี(4) – เปิดกรุสมบัติทรราชย์ในสวิสฯ

11 กันยายน 2013


รายงานโดย อิสรนันท์

 พันเอกโมอัมมาร์ กัดดาฟีที่มาภาพ : http://www.top1000funds.com
พันเอกโมอัมมาร์ กัดดาฟีที่มาภาพ : http://www.top1000funds.com

อดีตนักการทูตลิเบียผู้หนึ่งซึ่งจำเป็นต้องปกปิดชื่อตัวเองเพื่อความปลอดภัยเปิดเผยว่า ได้เคยรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบล่วงหน้าหลายเดือนก่อนหน้าที่รัฐบาลจะถูกโค่นล้มว่าครอบครัวหมายเลขหนึ่งได้แอบโอนเงินก้อนมหาศาลผ่านสถานทูตลิเบียในต่างประเทศกระจายไปตามบัญชีลับที่ซุกซ่อนไว้ รวมทั้งยังมีการโอนเงินในกองทุนต่างๆ ไปยังบัญชีลับในอิตาลี ด้วยความช่วยเหลือของนักการทูตลิเบียหลายคนในกรุงโรม โดยเฉพาะนายโมอัตตัสเซม บิลเลาะห์ กัดดาฟี ได้โอนเงินก้อนใหญ่ไปยังบัญชีธนาคารที่มอลตาในช่วงที่เกิดการลุกฮือของประชาชน

นักการทูตผู้นี้เผยด้วยว่า ตัวเองยังได้มอบหลักฐานที่เป็นเอกสารบ่งชี้ถึงการโอนเงินนี้ แต่ผู้บังคับบัญชากลับสั่งให้ปิดปากเงียบไม่ให้กระโตกกระตากเรื่องนี้แต่อย่างใด ขณะที่นักการทูตหลายคนรวมทั้งแหล่งข่าวในรัฐบาลเผยตรงกันด้วยว่า ขณะนี้ได้มีการสอบสวนกระทรวงต่างประเทศซึ่งข้าราชการจำนวนมากยังเป็นคนของพันเอกกัดดาฟีอยู่ เพื่อเค้นหาข้อมูลให้ได้ว่าทรัพย์สินที่ซ่อนไว้ในต่างประเทศนั้นมีที่ไหนบ้าง

เนื้อในปากเสือหิว

หลายประเทศอย่างเช่นสวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ซึ่งล้วนแต่ได้ชื่อว่าเป็นสวรรค์ของบรรดาเผด็จการหรือข้าราชการคอร์รัปชันหรือมหาเศรษฐีผู้ชอบหลบเลี่ยงภาษ ที่ได้จัดทำดัชนีภาพรวมของการคอร์รัปชันว่ามีประเทศใดบ้างที่ทุจริตมากที่สุดไปจนถึงน้อยที่สุด เสริมจากที่ธนาคารโลกแถลงว่าแต่ละปีมีการขโมยหรือยักยอกเงินของรัฐในประเทศกำลังพัฒนาราว 20,000-40,000 ล้านดอลลาร์ โดยระหว่างปี 2543-2551 รัฐต่างๆ ได้สูญเงินรวมทั้งสิ้น 2.18 ล้านล้านดอลลาร์ เฉพาะรัสเซียประเทศเดียวสูญเงินจากการคอร์รัปชันมากถึง 427,000 ล้านดอลลาร์ และเม็กซิโกอีก 426 ล้านดอลลาร์จากการหมุนเวียนเงินผิดกฎหมาย

แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการตั้งองค์กรด้านกฎหมายระหว่างประเทศองค์กรใดหรือไม่มีสนธิสัญญาฉบับใดที่จะมุ่งไล่ล่าเพื่อทวงคืนเงินบาปที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือจากการใช้อำนาจในทางมิชอบ เปิดช่องโหว่ช่องใหญ่ให้เป็นสิทธิและการตัดสินใจของรัฐบาลแต่ละประเทศที่จะจัดการกันเอง

ที่มาภาพ : http://edition.cnn.com
ที่มาภาพ : http://edition.cnn.com

เช่นนี้แล้ว มีหรือที่บรรดาเสือหิวที่ชอบบริโภคเงินก้อนโตของทรราชและทุรชนคนชั่วจะยอมคายเงินที่อมไว้เต็มสองกระพุ้งแก้มแต่โดยดี แม้ปากจะพูดจาดีๆ ว่ายินดีให้ความร่วมมือ แต่การกระทำกลับต่างออกไป ไม่ต้องอื่นไกล แค่การตามล่าขุมทรัพย์ของอดีตผู้นำตูนิเซียและอียิปต์ที่ถูกโค่นล้มก่อนหน้าพันเอกกัดดาฟี จนถึงขณะนี้มีความคืบหน้าน้อยมาก ไม่ต้องสาวย้อนดูกระบวนการตามล่าขุมสมบัติของอดีตผู้นำหลายประเทศที่ยังอยู่ในมือของธนาคารใหญ่น้อยซึ่งยังไม่ยอมคายออกมาเพื่อคืนให้กับประชาชนเจ้าของประเทศนั้นๆ

จากโทรเลขลับที่สถานทูตแดนดินถิ่นอินทรีผยองอเมริกาประจำลิเบียรายงานให้กระทรวงต่างประเทศในกรุงวอชิงตันทราบเมื่อปี 2553 และ 2554 ซึ่งเว็บไซต์จอมแฉวิกิลีกส์นำมาเผยแพร่อ้างคำเปิดเผยของโมฮัมเหม็ด ลายาส ผู้อำนวยการกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของลิเบีย (แอลไอเอ) ที่เผยว่าพันเอกกัดดาฟีได้ครอบครองทรัพย์สินของแอลไอเอมากถึง 32,000 ล้านดอลลาร์จากทั้งหมด 70,000 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้่ยังได้แยกฝากเงินในบัญชีลับของธนาคารอีกหลายแห่งในสหรัฐ โดยแต่ละแห่งมีวงเงินฝากระหว่าง 300-500 ล้านดอลลาร์ เอกสารลับของสถานทูตสหรัฐระบุด้วยว่าเชื่อว่าแอลไอเอยังได้ไปลงทุนตามธนาคารหลายแห่งในยุโรป เช่น ยูนิเครดิต ของอิตาลี และกลุ่มธุรกิจสื่อสารมวลชน เพียร์สัน ที่เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ ไฟแนนเชียล ไทมส์ และเพนกวิน บุกส์ ซึ่งหากไม่มีอุปสรรคใดๆ มาขวางกั้น เงินก้อนนี้จะทำให้ลิเบียได้ผลตอบแทนก้อนงามในระยะยาวก่อนจะโอนคืนให้กับประชาชนในภายหลัง

นายลายาสยังแสดงความหวังเต็มเปี่ยมว่าสหรัฐจะเร่งคืนเงินก้อนมหาศาลนี้ให้กับรัฐบาล หลังจากลิเบียได้สูญเสียเงินก้อนใหญ่จากการล้มครืนโดยไม่คาดหมายของธนาคารเลห์แมน บราเธอรส์ และจากการลงทุนกับแชร์ลูกโซ่ของนักลงทุนจอมลวงโลกเบอร์นาร์ด เมดอฟฟ์ อดีตประธานตลาดหุ้นแนสแด็ก และอัลเลน สแตนฟอร์ด ประธานสแตนฟอร์ด ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ซึ่งถูกคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐเป็นโจทก์ยื่นฟ้องในคดีแพ่งจากกรณีหลอกล่อให้นักลงทุนทั่วโลกนำเงินมาลงทุนในรูปแบบแชร์ลูกโซ่จำนวน 8,000 ล้านดอลลาร์

เอกสารลับทางการทูตของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐชี้ว่า แอลไอเอยังได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในแหล่งเก็บกักเงินทุนจากต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของลิเบีย โดยเมื่อสิ้นปี 2553 ได้มีการประเมินว่าลิเบียมีทรัพย์สินกระจัดกระจายอยู่ทั่วโลกมูลค่าถึง 152,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งกระทรวงการคลังสหรัฐได้เตือนไปยังธนาคารต่างๆ ว่าให้จับตาการโอนเงินที่เกี่ยวข้องกับผู้นำการเมืองของลิเบียให้ดี แต่ไม่มีหลักฐานใดๆ บ่งบอกว่ามีการถอนเงินสดออกไปก่อนที่ประธานาธิบดีโอบามาจะสั่งอายัดทรัพย์ของลิเบียที่ฝากไว้ในสหรัฐแต่อย่างใด

ที่มาภาพ :http://img2-cdn.newser.com
ที่มาภาพ :http://img2-cdn.newser.com

สิ่งหนึ่งที่ยากเย็นแสนเข็ญยิ่งกว่าเข็นครกยักษ์ขึ้นภูเขาหรือลำบากกว่าคราวทำสงครามกลางเมืองล้มระบอบกัดดาฟีเสียอีกก็คือ การตามทวงขุมทรัพย์ลับที่กัดดาฟีซุกซ่อนไว้ในประเทศต่างๆ หลังจากระบอบกัดดาฟีถูกประชาชนโค่นล้มแล้ว รัฐบาลเฉพาะกาลลิเบียได้เรียกร้องให้นานาประเทศที่ร่วมคว่ำบาตรลิเบียตามมติของยูเอ็น ให้รีบยุติการอายัดทรัพย์สินและส่งคืนทรัพย์สินที่ยึดไปรวมเกือบ 150,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 4 ล้าน 5 แสนล้านบาท) เพื่อจะได้นำเงินก้อนนั้นไปบูรณะประเทศหลังสงครามกลางเมือง นายมุสตาฟา อับดุล จาลิล ประธานสภาถ่ายโอนอำนาจแห่งชาติตอกย้ำว่าการคืนทรัพย์สินให้กับลิเบีย จะช่วยหนุนเกื้อให้ระบบเศรษฐกิจของลิเบียมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น

หลังจากก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางของหลายประเทศทั่วโลกพยายามเตะถ่วงด้วยการทำเป็นไม่ทราบว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นไปที่ใด และธนาคารชาติลิเบียจะจัดการทรัพย์สินเหล่านั้นได้ดีแค่ไหน

เปิดกรุสมบัติทรราชย์ในสวิสฯ

สวิตเซอร์แลนด์เป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกจับตามองมากที่สุดในฐานะเป็นแหล่งซุกซ่อนเงินหรือเป็นกรุสมบัติลับของอดีตทรราชทุกยุคทุกสมัยที่ตามคืนได้ยากเย็นแสนเข็ญมากที่สุด ต้องใช้เวลานานหลายปีหรือหลายสิบปีกว่าจะได้คืนเพียงบางส่วน สมกับที่ได้ฉายาว่า “สวิสขี้ตืด” ขี้ตืดแม้กระทั่งเงินที่ไม่ใช่ของตัวเองก็ตาม โดยกระบวนการตามคืนเงินในบัญชีลับที่โด่งดังมากที่สุดและเป็นคดีความนานถึง 20 ปีก็ยังไม่จบ เนื่องจากธนาคารต่างชาติไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเผยบัญชีเงินฝาก หรือการเต็มใจที่จะโอนเงินคืนให้รัฐบาลใหม่ ก็คือเงินในบัญชีลับของอดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส แห่งฟิลิปปินส์ ซึ่งวายชนม์เมื่อปี 2529 เชื่อกันว่าในยุคนั้นอาจมีมากถึง 10,000 ล้านดอลลาร์ แต่ในยุคสมัยนี้มูลค่าอาจเพิ่มมากขึ้นเป็น 100,000 ล้านดอลลาร์ แต่ทางการฟิลิปปินส์สามารถพิสูจน์ทรัพย์สินที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายแค่ 8,000 ล้านดอลลาร์ หนำซ้ำ ในจำนวนนี้สามารถขอคืนกลับมาเป็นสมบัติของแผ่นดินได้เพียง 1,630 ล้านดอลลาร์ เท่านั้น

นอกจากนี้ รัฐบาลสวิสยังได้อายัดบัญชีลับของอดีตเผด็จการอีกหลายคน อาทิ อายัดทรัพย์สินของนายโลรองด์ จีบักโบ อดีตผู้นำไอวอรีโคสต์ที่ตกกระป๋องเมื่อต้นปี 2554 อายัดทรัพย์สินของนายซานี อาบาชา อดีตเผด็จการแห่งไนจีเรียซึ่งแม้จะสวมหัวโขนแค่ 5 ปีนับจากปี 2536 แต่สามารถผันเงินรัฐเข้ากระเป๋าลับส่วนตัวถึง 2,000-5,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 2 แสนล้านบาท) หลังจากทำเรื่องของคืนเงินนาน 4-5 ปี สวิสยอมคืนเงินให้แค่ 700-800 ล้านดอลลาร์ ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องนำเงินก้อนนั้นไปใช้จ่ายในโครงการสาธารณสุขและการศึกษา ส่วนเฮตินั้นใช้เวลากว่า 10 ปีในการเดินเรื่องขอคืนเงินในบัญชีลับของอดีตประธานาธิบดีฌอง-โคลด ดูวาลิเยร์ ที่ยักยอกไปช่วงที่อยู่ในอำนาจระหว่างปี 2514-2529 ประมาณ 300-800 ล้านดอลลาร์ (ราว 32,000 ล้านบาท) แต่เพิ่งมีความคืบหน้าเล็กน้อยเมื่อรัฐสภาสวิสเพิ่งจะออกกฎหมายฉบับใหม่เพื่อเพิ่มความเร็วในกระบวนการคืนสมบัติของอดีตทรราชกลับไปให้เจ้าของประเทศเดิมเร็วขึ้น

ที่มาภาพ : http://resources1.news.com.au
ที่มาภาพ : http://resources1.news.com.au

ในส่วนของเงินฝากในบัญชีลับของอดีตทรราชในตะวันออกกลางที่ล้มระเนระนาดระหว่างเกิดปรากฏการณ์อาหรับสปริงเมื่อปี 2553-2554 ที่ถูกรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์สั่งอายัด เนื่องจากอาจเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในสวิตเซอร์แลนด์นั้น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสวิส เพิ่งจะยอมเปิดเผยตัวเลขเงินฝากในบัญชีลับของอดีตประธานาธิบดีไซน์ อัลอาบิดีน เบน อาลี ของตูนิเซีย ว่ามีเงินฝากประมาณ 60 ล้านฟรังก์ (ราว 2,070 ล้านบาท ) ส่วนอดีตประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัก แห่งแดนสฟิงซ์อิยิปต์มีทรัพย์สินหรือบัญชีเงินฝากในธนาคารของสวิสประมาณ 410 ล้านฟรังก์สวิส (ราว 14,180 ล้านบาท ) และพันเอกกัดดาฟีแห่งลิเบียมีอยู่ 360 ล้านฟรังก์สวิส (กว่า 12,450 ล้านบาท)

โฆษกรัฐบาลสวิสยังแถลงเป็นนัยว่า กระบวนการคืนเงินเหล่านั้นคงต้องใช้เวลาหลายปี เพราะมีขั้นตอนการดำเนินงานที่ต้องตรวจสอบให้รอบคอบอีกหลายส่วน ขณะที่รัฐบาลใหม่ของทั้งตูนิเซียและอียิปต์ได้ติดต่อขอความช่วยเหลือทางกฎหมายมายังสวิสอย่างเป็นทางการแล้ว เพื่อนำเงินกองทุนและทรัพย์สินของอดีตผู้นำทั้งสองกลับคืนประเทศ

ผิดกับลิเบียที่ยังไม่ได้หารือกับฝ่ายตุลาการของสวิสในเรื่องนี้ ก่อนหน้านี้ กระทรวงต่างประเทศลิเบียในยุคของพันเอกกัดดาฟีเคยปฏิเสธว่าอดีตทรราชย์ผู้นี้มีบัญชีเงินฝากธนาคารในสวิตเซอร์แลนด์หรือเงินกองทุนใดๆ ในต่างประเทศ หลังจากที่รัฐบาลลิเบียได้เกิดเรื่องบาดหมางกับสวิสเซอร์แลนด์เมื่อลูกชายคนหนึ่งของกัดดาฟีถูกตำรวจสวิสจับเมื่อปี 2551 โทษฐานทำร้ายร่างกายคนรับใช้ในบ้าน 2 คน แม้ต่อมาเหยื่อจะถอนฟ้อง เนื่องจากได้รับเงินทำขวัญก้อนหนึ่ง แต่รัฐบาลลิเบียได้ตอบโต้รัฐบาลสวิสฐานทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ด้วยการถอนเงินออกจากธนาคารสวิสมากกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์ นอกเหนือจากระงับการส่งออกน้ำมันให้และกักตัวนักธุรกิจสวิส 2 คน ไว้ในประเทศนานกว่า 1 ปี