ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ผู้นำโกง : ตามล่าขุมทรัพย์เจ้าทะเลทรายกัดดาฟี (7)

ผู้นำโกง : ตามล่าขุมทรัพย์เจ้าทะเลทรายกัดดาฟี (7)

3 มกราคม 2014


รายงานโดย…อิสรนันท์

เกือบครบรอบ 3 ปีเต็มนับตั้งแต่มวลชนชาวลิเบียเริ่มลุกฮือตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2554 เพื่อโค่นล้มรัฐบาลโมอัมมาร์ กัดดาฟี ที่ผูกขาดอำนาจการบริหารประเทศมานานถึง 42 ปี ก่อนที่บุรุษเหล็กแห่งทะเลทรายสะฮาราจะถูกจับกุมและถูกสังหารโหดระหว่างพยายามหลบหนีออกจากเมืองเซิร์ต บ้านเกิดของตัวเอง เมื่อเดือนตุลาคม 2554 แต่จนถึงขณะนี้ สารพัดปัญหายังคงรุมเร้าลิเบียไม่รู้จบ ขณะที่การเกาะติดกระแสการไล่ล่าตามหาขุมทรัพย์ลับของกัดดาฟีที่ซุกซ่อนในประเทศต่างๆ อย่างน้อย 35 ประเทศในเกือบทั่วทุกทวีปกลับเฉื่อยลง ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสื่อท้องถิ่นที่จะตามเจาะหาขุมทรัพย์นั้นเอง

อาทิ หนังสือพิมพ์ เดอะ ซัมบับวีน ของซัมบิบเวได้รายงานเพิ่มเติมผลการขุดคุ้ยทรัพย์สินของกัดดาฟีในซิมบับเวว่าอาจจะรวมไปถึงที่ดินเพื่อการพาณิชย์หลายแห่ง รวมทั้งวิลลาหรือคฤหาสน์สุดหรูที่กรุงฮาราเร ซึ่งรู้จักกันในชื่อเกรซแลนด์ ที่คงซื้อต่อจากภรรยาคนหนึ่งของประธานาธิบดีโรเบิร์ต มูกาเบ

นอกจากนี้ เชื่อว่าอดีตผู้นำลิเบียยังได้หอบเงินมาลงทุนในบริษัทหลายแห่งของพรรคซานู-พีเอฟ ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล หรือกรณีที่ถือหุ้นอย่างน้อย 14 เปอร์เซ็นต์ ในธนาคารพาณิชย์ของซิมบับเว (ซีบีซี โฮลดิง) แต่ธนาคารแห่งนี้ปฏิเสธว่าไม่มีมูลความจริง ขณะที่ผลการสอบของคณะกรรมการติดตามทรัพย์สินของกัดดาฟีกล่าวว่าธนาคารต่างชาติอาหรับลิเบีย (แอลเอเอฟบี) ซึ่งกัดดาฟีซื้อหุ้นในซีบีซี เป็นเครื่องมือในการลงทุนส่วนตัวของมูกาเบ

ด้านวิทยุเอสดับเบิลยูในแอฟริการายงานโดยอ้างแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้หลายกระแสที่เผยว่าการที่กัดดาฟีเข้าไปร่วมลงทุนในกิจการต่างๆ ในประเทศนี้มีขึ้นหลังจากซิมบับเวไม่สามารถชำระหนี้รายไตรมาสจำนวน 90 ล้านดอลลาร์ อันเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงนำเข้าน้ำมันมูลค่า 360 ล้านดอลลาร์ กับบริษัททามอย บริษัทน้ำมันของลิเบียได้ จึงชำระหนี้ในรูปของการไฟเขียวให้เข้าไปลงทุนภายใต้เอกสิทธิ์พิเศษต่างๆ แทน

หนังสือพิมพ์ ซิมบับเว อินดีเพนเดนท์ รายงานเพิ่มเติมว่า หลังจากรายงานข่าวในทำนองนี้เผยแพร่ออกไป สร้างความว้าวุ่นใจให้กับนายมูกาเบและพรรคซานู-พีเอฟ เพราะเกรงจะมีการกล่าวหาว่ามีการไซฟอนเงินลงทุนของกัดดาฟี อาทิ มีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งของซีบีซีว่าฉ้อโกงเงินของรัฐบาลลิเบียจากบริษัทหนึ่งจำนวน 4 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรู้จักกันในชื่อของบริษัทเพื่อการลงทุนคริฟฟ์ ซึ่งตอนหลังเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นอัลดาวิลา

พันเอกโมอัมมาร์ กัดดาฟี ที่มาภาพ : http://images.christianpost.com
พันเอกโมอัมมาร์ กัดดาฟี ที่มาภาพ : http://images.christianpost.com

ขณะเดียวกัน ออสเตรเลียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ได้เร่งสอบสวนว่าแดนจิงโจ้เป็นหนึ่งในประเทศที่อดีตบุรุษหมายเลขหนึ่งแห่งลิเบียและครอบครัวได้แอบหอบเงินมาซุกไว้หรือไม่ เนื่องจากมีรายงานที่น่าเชื่อถือได้ว่าหลายปีก่อนหน้าที่ระบอบกัดดาฟีจะถูกประชาชนล้มล้าง นายซาอีฟ อัล อิสลาม กับนายซาดี กัดดาฟี สองพี่น้องทายาทของกัดดาฟีได้หอบเงินหลายล้านดอลลาร์ที่เบียดบังมาจากบริษัทน้ำมันแห่งชาติลิเบีย รวมทั้งทรัพย์สินอื่นๆ รวมมูลค่าหลายล้านดอลลาร์มาซุกซ่อนไว้ที่นี่ ซึ่งถ้าหากทางการตรวจพบหลักฐานว่าเป็นเงินของครอบครัวกัดดาฟีจริง ก็จะสั่งอายัดเพื่อตรวจสอบกระบวนการทางกฎหมายตามมติของสหประชาชาติ

นายเควิน รัดด์ รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลียในช่วงนั้นเผยด้วยว่า ออสเตรเลียยังได้สั่งระงับการเดินทางเข้าประเทศ รวมทั้งห้ามทำธุรกรรมการเงินกับครอบครัวกัดดาฟีและคนสนิทรวม 22 คน ในจำนวนนี้มีนายทหารระดับสูงและองครักษ์ประจำตัวรวมอยู่ด้วย

เผยเหตุล่าช้าเพราะสับสนในการสะกดชื่อ

จะว่าเป็นเรื่องตลกก็ถือเป็นตลกร้าย จะว่าเป็นความล้าหลังของเทคโนโลยีก็เป็นข้อแก้ตัวที่เชื่อได้ครึ่งๆ กลางๆ แต่สื่อตะวันตกบางสื่อพยายามให้เหตุผลถึงความล่าช้าในความพยายามที่จะอายัดทรัพย์ของกัดดาฟีว่าเป็นเพราะชื่อของกัดดาฟีที่สะกดเป็นภาษาอาหรับนั้น เมื่อถอดออกมาเป็นภาษาอังกฤษแล้วก็สามารถถอดได้หลายแบบ มีทั้งที่สะกดเป็นตัว G, K และ Q ยิ่งกว่านั้น ยังเกิดความสับสน เนื่องจากมีคนที่สะกดชื่อและวงศ์ตระกูลแบบเดียวกันถึงอย่างน้อย 115,000 ราย

ขณะที่ธนาคารต่างๆ ทั้งใหญ่และน้อยไม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากพอที่จะแยกแยะว่าใครคือพันเอกกัดดาฟี ผู้นำลิเบีย ตัวจริงเสียงจริง ซึ่งหมายความว่าอาจจะมีทรัพย์สินส่วนหนึ่งของอดีตผู้นำสูงสุดของลิเบียเล็ดรอดจากการถูกตรวจสอบและถูกอายัดโดยไม่มีใครสะกิดใจแต่อย่างใด

ดอกเตอร์โทนี วิคส์ ผู้อำนวยการกลุ่ม “ไนซ์ แอคติไมซ์” อันเป็นกลุ่มต่อต้านการฟอกเงินกล่าวว่า การตามล่าทรัพย์สินของกัดดาฟีถือเป็นงานท้าทายของสถาบันการเงินทั่วโลกที่มีเทคโนโลยีแบบเก่าที่จะต้องแก้ไขปัญหานี้ให้ได้ ขณะที่ธนาคารยักษ์ใหญ่สุดหลายแห่งอาจจะไม่มีปัญหา เนื่องจากมีเทคโนโลยีล้ำยุคมากพอ จนกระทั่งสามารถคุ้ยหาขุมทรัพย์ที่ซ่อนไว้ได้ อย่างไรก็ดี ธนาคารเล็กๆ ก็แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการพึ่งพากำลังคนมากขึ้นในการค้นหาตัวสะกดต่างๆ

ปัญหาความล่าช้าทั้งหมดนี้ยังไม่นับรวมไปถึงการที่กัดดาฟีได้ซุกซ่อนสมบัติส่วนใหญ่ในชื่อของลูกเมียและคนใกล้ชิดที่ไว้วางใจได้หลายคน ซึ่งแต่ละคนก็มีกลวิธีหรือเส้นสนกลในการปกปิดสมบัติเหล่านั้นให้ยากต่อการตามรอยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

เตรียมแอบขนเงินหนีสุดขอบฟ้า

ระหว่างที่สงครามกลางเมืองดำเนินไปอย่างดุเดือดเลือดพล่านนั้น มีข่าวลือที่รู้ไปทั่วว่าบุรุษผู้สถาปนาตัวเองว่าเป็น “พ่อของประเทศ” หรือ “พี่ชายผู้นำแห่งการปฏิวัติ” ซึ่งแม้จะปลุกระดมมวลชนว่าจะไม่หนีไปไหนและพร้อมจะสู้จนตัวตายในลิเบีย แต่จริงๆ แล้วได้แอบเตรียมการจะหลบหนีไปลี้ภัยในต่างประเทศ โดยหนึ่งในประเทศที่หมายตาว่าจะไปลี้ภัยการเมืองก็คือประเทศไนเจอร์ ประเทศเพื่อนบ้านยากจนทางใต้หรือที่ประเทศเบอร์กินาฟาโซ อดีตเมืองขึ้นของฝรั่งเศสเช่นเดียวกับลิเบีย และได้รับเงินอุดหนุนก้อนโตจากกัดดาฟีมานาน จึงตอบแทนบุญคุณด้วยการเสนอให้ที่ลี้ภัยแก่กัดดาฟี แม้เบื้องหน้ารัฐบาลประธานาธิบดีไบลเซ คอมเปาเร จะประกาศรับรองสภาถ่ายโอนอำนาจแห่งชาติ (เอ็นทีซี) ว่าเป็นรัฐบาลของลิเบียก็ตาม

ที่มาภาพ : http://i.telegraph.co.uk
ที่มาภาพ : http://i.telegraph.co.uk

แหล่งข่าวทางทหารของฝรั่งเศสเปิดเผยว่า กัดดาฟีได้แอบตกลงลับกับผู้นำประเทศไนเจอร์เรื่องจะขอลี้ภัยหรือขอผ่านทาง จากนั้นได้จัดส่งขบวนรถทหารราว 200-250 คัน ขนทองคำพร้อมด้วยเงินสดสกุลยูโรและดอลลาร์ที่นำออกจากธนาคารกลางในเมืองเซิร์ต เดินทางเข้าไนเจอร์ด้วยความช่วยเหลือของพวกชนเผ่าเร่ร่อนตอเร็ก โดยมีกองทัพไนเจอร์ตามให้การคุ้มกัน โดยกัดดาฟีอาจจะวางแผนตามไปสมทบกับขบวนนี้เพื่อเดินทางต่อไปยังเบอร์กินาฟาโซ

ปรากฏว่าในคาราวานรถขนทองคำและเงินสดสกุลดอลลาร์และยูโรนี้มีนายซาอิฟ อัล อิสลาม ลูกชายสุดรักที่เชื่อว่าเป็นทายาทการเมืองของกัดดาฟีแม้จะไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการร่วมขบวนด้วย และอาจเป็นไปได้ว่าขบวนคาราวานนี้อาจตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางใหม่โดยยอมอ้อมผ่านแอลจีเรียแทนที่จะข้ามชายแดนไนเจอร์โดยตรง หลังจากแอลจีเรียเพิ่งประกาศยินยอมให้อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของลิเบียและลูกๆ เข้าประเทศได้เพื่อเห็นแก่มนุษยธรรม

โชคร้ายที่อดีตผู้นำหมายเลขหนึ่งของลิเบียถูกจับกุมขณะหลบหนีและถูกสังหารโหดก่อนจะมีโอกาสทำตามแผนนั้น ขณะที่นายซาอิฟ อัล อิสลาม ที่หนีหัวซุกหัวซุนมานานถึง 3 เดือน โดยปลอมตัวเป็นชนเผ่าเร่ร่อนเบดูอิน ถูกจับกุมกลางทะเลทรายสะฮาราในสภาพมอมแมม มีทรายเปรอะเต็มใบหน้า ต่างกับภาพของชายสูงสง่าที่เคยทำหน้าที่เป็นทูตส่วนตัวของกัดดาฟีมาโดยตลอด

อย่างไรก็ดี อานิสงส์จากการเตรียมการล่วงหน้ากลับตกเป็นของลูกชายอีกคนหนึ่ง เมื่อรัฐบาลไนเจอร์ยอมให้ลี้ภัยการเมืองแม้จะถูกตำรวจสากลหรืออินเตอร์โพลออกหมายจับทั่วโลกก็ตาม โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเห็นแก่มนุษยธรรม

นอกเหนือจากเตรียมเส้นทางหลบหนีไว้ล่วงหน้า อดีตเจ้าทะเลทรายสะฮารากัดดาฟีก็ยังเตรียมทางหนีทีไล่เผื่อไว้อีกทางหนึ่งด้วย เพื่อจะได้ถอดหัวโขนทิ้งอย่างสง่างามและสามารถเสวยสุขกับทรัพย์สินที่ตัวเองปล้นไปจากประชาชนด้วยการเสนอขอเจรจากับฝ่ายกบฏ

หนังสือพิมพ์ อัสชาร์ค อัล ออว์ซัท ที่มีสำนักงานอยู่ที่กรุงลอนดอน และหนังสือพิมพ์ อัล บายัน ที่มีสำนักงานอยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมถึงสถานีโทรทัศน์อัล จาซีรา รายงานตรงกันว่า ก่อนหน้าจะหลบหนี กัดดาฟีได้เสนอผ่านสภาเฉพาะกาล กระบอกเสียงของฝ่ายกบฏ ต่อรองขอหลักประกันด้านความปลอดภัยของตัวเองและครอบครัวหากยอมลาออกและเดินทางไปลี้ภัยในประเทศที่สามพร้อมกับสมบัติส่วนตัว รวมทั้งขอไม่ให้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีตัวเองด้วย

ที่มาภาพ : http://cdn.ientry.com
ที่มาภาพ : http://cdn.ientry.com

แน่นอน ฝ่ายกบฏซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ​และพันธมิตรนาโตไม่ยอมรับเงื่อนไขนี้ เพราะถึงจะยอมรับแต่ประชาชนก็คงไม่ยอมให้ทำตามเงื่อนไขนั้น ไม่เพียงเพราะคับแค้นใจที่ถูกกดขี่มานานกว่า 40 ปี หากยังเป็นเพราะภายใต้ระบอบกัดดาฟีที่โหดเหี้ยม ได้จ้างทหารรับจ้างจากประเทศเพื่อนบ้านแอฟริกาอย่างชาดและซูดาน มาเป็นเครื่องมือในการปราบปรามกบฏครั้งแล้วครั้งเล่า

อาทิ เมื่อปี 2523 กัดดาฟีได้ส่งหน่วยล่าสังหารไปปิดปากบรรดาผู้ที่มีความเห็นไม่ลงรอยกับตัวเอง และในทศวรรษถัดมา การปราบปรามบรรดากบฏก็ทวีความรุนแรงมากขึ้นกลายเป็นการสังหารหมู่อย่างเลือดเย็น ดังกรณีการสังหารหมู่นักโทษการเมืองถึง 1,200 คน ที่ถูกยิงตายในเรือนจำที่เมืองเบงกาซี ทำให้ชาวเบงกาซีสุมความแค้นแน่นอกมานานนับ 20 ปี กระทั่งกลายเป็นเชื้อไฟอย่างดีที่จะกระพือโหมการลุกฮือล้มล้างระบอบกัดดาฟี