ThaiPublica > คนในข่าว > อหังการ์อันซาร์ อัล ชารีอะห์: สังหารทูตสหรัฐฯ ในเบงกาซีสู่ชนวนการอพยพใหญ่ในลิเบีย

อหังการ์อันซาร์ อัล ชารีอะห์: สังหารทูตสหรัฐฯ ในเบงกาซีสู่ชนวนการอพยพใหญ่ในลิเบีย

23 สิงหาคม 2014


บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์

หนังสือ “ฮาร์ด ชอยส์” หรือทางเลือกที่ยากมาก อันเป็นหนังสือบันทึกความทรงจำเล่มล่าสุดของฮิลลารี คลินตัน อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งและอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐซึ่งเชื่อว่าอาจจะประกาศตัวชิงทำเนียบขาวอีกครั้งในปลายปีนี้ เธอได้อุทิศบทที่ 17 ทั้งบทซึ่งหนาถึง 33 หน้า ให้กับเบื้องหลังเหตุการณ์โจมตีสถานกงสุลสหรัฐฯ ในเมืองเบงกาซี เมืองใหญ่อันดับ 2 ของลิเบียเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2555 ทำให้คริส สตีเวนส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ รวมทั้งณอน สมิท ผู้เชี่ยวชาญทางข้อมูลและเทคโนโลยี และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่เคยเป็นอดีตหน่วยซีลส์ของกองทัพเรือสหรัฐฯอีก 2 คนเสียชีวิต รวม 4 รายด้วยกัน โดยเธอระบุชัดว่าเป็นฝีมือของกลุ่มนักรบญิฮัด อันซาร์ อัล-ชาเรีย หรือ อันซาร์ อัล ชารีอะฮ์ ซึ่งเป็นเครือข่ายหนึ่งของกลุ่มอัลกออิดะฮ์

หญิงเหล็กแห่งวงการเมืองอเมริกันยังประกาศกร้าวว่า จะต้อง “ตามล่าตัวพวกเขาและนำตัวมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม” แต่จนถึงขณะนี้ กลุ่มอันซาร์ อัล ชารีอะฮ์ ก็ยังคงอหังการ์ก่อความรุนแรงไม่หยุดหย่อน รวมไปถึงก่อเหตุยิงถล่มบ้านพักในกรุงตริโปลีของอาฮ์เหม็ด ไมทีก นายกรัฐมนตรีคนใหม่ซึ่งเป็นนายกฯ คนที่ 5 หลังการโค่นล้มอดีตผู้นำเผด็จการ โมอัมมาร์ กัดดาฟี ทั้งๆ ที่ไมทีกเพิ่งนำคณะรัฐมนตรีชุดใหม่สาบานตนเข้ารับตำแหน่งได้เพียงวันเดียว ทั้งนี้ เพื่อส่งสัญญาณว่าให้รีบลาออกจากตำแหน่งแต่โดยดีเหมือนกับอับดุลลาฮ์ อัล-ทานี ที่ลาออกเมื่อเดือน เม.ย. โดยให้เหตุผลว่าทั้งตัวเองและครอบครัวถูกลอบทำร้าย

หนังสือ "ฮาร์ด ชอยส์" หรือทางเลือกที่ยากมาก อันเป็นหนังสือบันทึกความทรงจำเล่มล่าสุดของฮิลลารี คลินตัน อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งและอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐซึ่งเชื่อว่าอาจจะประกาศตัวชิงทำเนียบขาวอีกครั้งในปลายปีนี้ ที่มาภาพ : http://chickaboomer.com/wp-content/uploads/2014/06/Hillary.jpg
หนังสือ “ฮาร์ด ชอยส์” หรือทางเลือกที่ยากมาก อันเป็นหนังสือบันทึกความทรงจำเล่มล่าสุดของฮิลลารี คลินตัน อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งและอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งเชื่อว่าอาจจะประกาศตัวชิงทำเนียบขาวอีกครั้งในปลายปีนี้
ที่มาภาพ: http://chickaboomer.com/wp-content/uploads/2014/06/Hillary.jpg
ที่มาภาพ : http://www.bbc.com/news/world-africa-24472322
ที่มาภาพ : http://www.bbc.com/news/world-africa-24472322

นอกจากนี้ กลุ่มนี้ยังได้จุดชนวนสงครามกลางเมืองขึ้นในลิเบีย ทั้งบุกโจมตีค่ายทหารของหน่วยรบพิเศษลิเบียในเมืองเบงกาซี จนสามารถยึดกองบัญชาการหน่วยรบพิเศษไว้ได้

พร้อมกับยิงขีปนาวุธถล่มท่าอากาศยานนานาชาติและท่าเรือขนส่งน้ำมันในกรุงตริโปลีจนเกิดไฟลุกท่วมขนานใหญ่ ฉุดคร่าหญิงต่างชาติรวมไปถึงพยาบาลชาวฟิลิปปินส์ไปข่มขืน ท้ายสุด นานาประเทศรวมทั้งไทยต้องรีบอพยพประชาชนอย่างกะทันหัน บางประเทศถึงขั้นเตรียมปิดสถานทูตเป็นการชั่วคราวเพื่อความปลอดภัย สร้างความงุนงงให้กับชาวต่างชาติรวมทั้งคนไทยไม่ใช่น้อย ช่วงที่กำลังติดตามข่าวทหารอิสราเอลถล่มแหลกชาวปาเลสไตน์ที่กาซา พร้อมกับข่าวเครื่องบินของสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ส เที่ยวบินเอ็มเอช 17 ถูกยิงตกที่ยูเครน ตลอดจนติดตามสถานการณ์คืบหน้าในอิรัก แต่กลับ ตกข่าวใหญ่ในลิเบียอย่างแทบไม่น่าเชื่อ

ทั้งนี้ทั้งนั้น เป็นผลพวงจากความผิดพลาดของของสื่อตะวันตกที่หน้าแตกเย็บไม่ติดเมื่อพร้อมใจตกข่าวสงครามกลางเมืองในลิเบียในช่วงแรกๆ เป็นผลสืบเนื่องจากเนื้อแท้ที่ไม่เคยเข้าใจประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศนี้อย่างลึกซึ้ง คิดเอาเองแต่เพียงว่าเมื่อล้มรัฐบาลโมอัมมาร์ กัดดาฟี เมื่อต้นปี 2554 ได้แล้ว ลิเบียก็จะกลับมามีความสงบสุข เนื่องจากมีการเลือกตั้งตามครรลองประชาธิปไตย โดยไม่สนใจว่าแท้ที่จริงแล้วลิเบียได้กลายเป็นรัฐที่ล้มเหลว รัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมากลายเป็นรัฐบาลเป็ดง่อยไม่สามารถบริหารประเทศได้ ปล่อยให้กลุ่มติดอาวุธกลุ่มต่างๆ ที่ผุดขึ้นราวดอกเห็ดหน้าฝนในช่วงสงครามกลางเมืองเพื่อช่วยกันโค่นล้มกัดดาฟี ยึดพื้นที่และควบคุมความสงบเรียบร้อยภายในเมืองต่างๆ กันเองโดยไม่ขึ้นต่อรัฐบาลและยังเป็นเป็นอิสระต่อกัน กลายเป็นรัฐซ้อนรัฐ โดยกองทัพก็ไม่สามารถจัดการกับกลุ่มติดอาวุธเหล่านี้ หนำซ้ำยังถูกตีแตกกระเจิงต้องทิ้งค่ายทหารตามเมืองต่างๆ ให้อยู่ในมือของกองกำลังติดอาวุธแทน

ในบรรดากองกำลังติดอาวุธที่เข้มแข็งมากที่สุดและเป็นตัวการใหญ่ในการจุดสงครามกลางเมืองรอบใหม่ก็คือกลุ่มติดอาวุธญิฮัดสุดโต่ง อันซาร์ อัล ชารีอะฮ์ ลิเบีย ซึ่งกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ประกาศเมื่อต้นปีที่ผ่านมาให้ขึ้นบัญชีดำเป็นกลุ่มก่อการร้าย ไม่ว่าจะเป็นอันซาร์ อัล ชารีอะฮ์ ลิเบีย ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ อันซาร์ อัล ชารีอะฮ์ ในเบงกาซี ที่มีอาฮ์เหม็ด อาบู คัตตาลา เป็นผู้นำและเพิ่งถูกสหรัฐฯ จับตัวได้เมื่อกลางเดือนมิถุนายนจากนั้นก็รีบนำตัวกลับไปขึ้นศาลที่สหรัฐฯ กลุ่ม อันซาร์ อัล ชารีอะฮ์ ในเมืองดอร์นา ที่มีซูเฟียน บิน คูมู อดีตนักโทษเรือนจำอ่าวกวนตานาโมเป็นผู้นำ

อันที่จริงชื่อ “อันซาร์ อัล ชารีอะฮ์” ซึ่งหมายถึงผู้สนับสนุนกฎหมายอิสลาม และพลพรรคนิยมเรียกตัวเองว่าอันซาร์ หมายถึงผู้สนับสนุน เป็นชื่อรวมของกลุ่มติดอาวุธในหลายประเทศในตะวันออกกลางและแอฟริกาตอนเหนือที่พร้อมใจกันใช้ชื่อนี้ตามแผนลับ ลวง พราง เพื่อสร้างความสับสนให้กับประเทศตะวันตกที่กำลังไล่ล่า โดยเริ่มต้นใช้ชื่อนี้เป็นที่แรกที่เยเมน ภายใต้การนำของอับเดล อัล อับบับ ที่ต้องการจะเปลี่ยนเยเมนเป็นรัฐอิสลามที่ยึดกฎหมายอิสลามหรือชารีอะฮ์เป็นกฎหมายหลัก นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มอันซาร์ อัล ชารีอะฮ์ตูนีเซีย นำโดยไซฟัลเลาะฮ์ เบน ฮัสซีน หรือ “อาบู อิยาฮ์” ซึ่งถูกขึ้นบัญชีดำเป็นผู้ก่อการร้ายที่โลกต้องการตัวมากที่สุดเช่นเดียวกับอาบู คัตตาลาฮ์ และซูเฟียน บิน คูมู กลุ่มอันซาร์ อัล ชารีอะฮ์ ลิเบีย ที่แยกเป็น 2 กลุ่มแล้ว กลุ่มอันซาร์ อัล ชาริะฮ์ โมร็อกโก กลุ่มอันซาร์ อัล ชารีอะฮ์ อิยิปต์ กลุ่มอันซาร์ อัล ชาชีอะฮ์ มาลี และกลุ่มอันซาร์ อัล ชารีอะฮ์ มอริทาเนีย เป็นต้น

แต่แม้จะใช้ชื่อเดียวกัน มีอุดมการณ์อย่างเดียวกันคือจะตั้งรัฐอิสลามขึ้นมาภายใต้คำขวัญว่า “ผองเราคืออันซาร์ อัล ชารีอะฮ์” แต่มีโครงสร้างแยกจากกัน รวมไปถึงการมีผู้นำแยกจากกัน ไม่รวมศูนย์อยู่ที่คนใดคนหนึ่งเหมือนอัลกออิดะฮ์ เนื่องจากมีความเห็นขัดแย้งกันในหมู้ผู้นำว่าควรเป็นองค์กรระดับท้องถิ่นและปฏิบัติการในท้องถิ่น หรือควรจะเป็นองค์การระดับสากลแต่ปฏิบัติการในท้องถิ่น

ในส่วนของอันซาร์ อัล ชารีอะฮ์ ลิเบีย ถือกำเนิดในช่วงสงครามกลางเมืองล้มกัดดาฟี โดยมาจากการรวมตัวของกลุ่มติดอาวุธในท้องถิ่นหลายกลุ่ม อาทิ กลุ่มกองพลน้อยอาบู โอเบย์ดา บิน อัลจาร์ราฮ์ กลุ่มกองพลน้อยมาลิค และกลุ่มกองพลน้อยพลีชีพ 17 กุมภาพันธ์ เป็นต้น มุ่งโจมตีเป้าหมายที่เป็นพลเรือนทั้งที่เป็นชาวลิเบียและชาวอเมริกัน บ่อยครั้งด้วยวิธีลอบสังหารนายทหารและตำรวจในพื้นที่ภาคตะวันออก จริงๆ แล้วอันซาร์ อัล ชารีอะฮ์ ลิเบีย มีหลายกลุ่ม แต่ที่โดดเด่นเป็นพิเศษมีแค่ 2 กลุ่มหลัก คือ อันซาร์ อัล ชารีอะฮ์ เบงกาซี (เอเอสบี) ที่ประกาศตั้งกลุ่มเมื่อเดือน ก.พ. 2555 อีกกลุ่มหนึ่งก็คืออันซาร์ อัล ชารีอะฮ์ ดอร์นา (เอเอสดี)

กลุ่มเอเอสบีตกเป็นจำเลยสำคัญว่าเป็นตัวการบุกสถานกงสุลสหรัฐฯ ในเมืองนี้เพื่อประท้วงการฉายภาพยนตร์ลบหลู่ศาสนา “อินโนเซนซ์ ออฟ มุสลิม” กำกับและอำนวยการสร้างโดย แซม เบซิล นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์วัย 52 ปีในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งได้วิจารณ์ศาสนาอิสลามว่าเป็น “มะเร็งร้าย” ส่วนเนื้อหาในภาพยนตร์ได้แสดงภาพของศาสดามูฮัมหมัดว่าพูดไม่ชัดและหลับนอนกับผู้หญิงหลายต่อหลายคน ทั้งยังเหยียดหยามว่า “ลาคือสัตว์มุสลิมตัวแรก” การบุกครั้งนี้ทำให้เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ และผู้ช่วยอีก 3 คนเสียชีวิตภายในสถานกงสุลที่ถูกเผา

เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ชาวเมืองเบงกาซีรวมตัวกันขับไล่พลพรรคเอเอสบีออกจากเมืองเพราะรู้สึกไม่ปลอดภัย อยากจะได้ตำรวจกับทหารของรัฐบาลมาช่วยรักษาความสงบเรียบร้อยมากกว่า กองกำลังกลุ่มย่อยกองพลน้อยพลีชีพ 17 ก.พ. และกลุ่มพลีชีพบู ซาลิม ยอมยุบตัวเองและอพยพพลพรรคไปยังเมืองอื่น กลุ่มนี้เก็บตัวเงียบจนถึงเมื่อเดือน มี.ค. ปีที่แล้ว จึงกลับมาที่เบงกาซีอีกครั้ง คราวนี้ได้ช่วยกันดูแลเมืองนี้ ทั้งให้บริการพื้นฐานต่างๆ ซ่อมแซมถนน ทำความสะอาด ให้การดูแลในช่วงถือศีลอดรอมฎอน ตลอดจนช่วยดูแลความปลอดภัยในโรงพยาบาลอีกด้วย อย่างไรก็ดี กลุ่มนี้ยอมรับว่าได้ทำลายสุเหร่าและสุสานซูฟีในเมืองนั้นจริง ตลอดจนได้นำกฎหมายอิสลามมาบังคับใช้ในพื้นที่ใต้การยึดครอง

ที่มาภาพ : http://city1971.com/images1/benghazi-libya-1.jpg
ที่มาภาพ : http://city1971.com/images1/benghazi-libya-1.jpg
ผู้ก่อการร้ายบุกทำลายเครื่องบิน ที่มาภาพ : http://www.bbc.com/news/world-africa-28418925
ผู้ก่อการร้ายบุกทำลายเครื่องบิน ที่มาภาพ : http://www.bbc.com/news/world-africa-28418925
ธนาคารหยุดให้บริการ ที่มาภาพ : http://www.bbc.com/news/world-africa-28418925
ธนาคารหยุดให้บริการ ที่มาภาพ : http://www.bbc.com/news/world-africa-28418925

สำหรับอาเหม็ด อาบู คัตตาลา ผู้นำกลุ่มเอเอสบี วัย 43 ปี เกิดเมื่อปี 2514 เป็นชาวเบงกาซีโดยกำเนิด ทำงานเป็นช่างก่อสร้าง เคยถูกจำคุกนานหลายปีในเรือนจำอาบู ซาลิม ในกรุงตริโปลีในยุคของรัฐบาลกัดดาฟีในข้อหาเป็นอิสลามิสต์ ระหว่างสงครามกลางเมืองขับไล่กัดดาฟี คัตตาลาได้ตั้งกลุ่มติดอาวุธของตัวเองเรียกว่ากลุ่มโอไบดา อิบน์ อัล จาร์รา ในตอนแรกมีคนเข้าร่วมกว่า 20 คนเท่านั้น ภายหลังได้รวมกับอันซาร์ อัล ชารีอะฮ์ ทำให้มีสมุนที่แตกมาจากกลุ่มอื่นเพิ่มขึ้นเป็นราว 200 คน และระหว่างการจัดประชุมครั้งแรกเมื่อปี 2555 ปรากฏว่ามีคนเข้าร่วมประมาณพันคน คัตตาลายืนกรานว่าไม่เคยเกี่ยวข้องกับอัลกออิดะฮ์ แต่ไม่ปิดบังว่ามีเครือข่ายก่อการร้ายกลุ่มนี้เป็นต้นแบบ อีกทั้งยังปฎิเสธว่ามีส่วนรับผิดชอบในการโจมตีกงสุลสหรัฐฯ แต่พยานในเหตุการณ์ยืนยันว่าพบเห็นเขาในบริเวณที่เกิดเหตุ

คัตตาลาเพิ่งจะถูกหน่วยปฏิบัติการพิเศษเดลตาฟอร์ซร่วมกับสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) จับตัวจากที่กบดานในเบงกาซีเมื่อวันที่ 14-15 มิ.ย. ที่ผ่านมา และถูกนำตัวไปกักขังในที่ลับแห่งหนึ่ง ซึ่งรายงานบางกระแสระบุว่าถูกคุมขังอยู่บนเรือรบสหรัฐฯ ก่อนจะถูกนำตัวไปกักขังต่อที่วอชิงตันที และอัยการรัฐบาลกลางในกรุงวอชิงตัน ดีซี ได้ตั้งข้อหาฉกรรจ์ฆาตกรรม พกพาอาวุธ และให้การสนับสนุนอุปกรณ์แก่กลุ่มก่อการร้าย เฉพาะข้อหาแรกมีโทษถึงขั้นประหารชีวิต

แหล่งข่าวระดับสูงชาวอเมริกันเปิดเผยว่า ปฏิบัติการลับเพื่อตระครุบตัวคัตตาลาครั้งนี้อาศัยข่าวกรองจากอดีตสมาชิกหน่วยข่าวกรองลิเบีย และเป็นปฏิบัติการเพียงฝ่ายเดียวของกองทัพสหรัฐฯ โดยไม่มีกองกำลังของลิเบียเข้าร่วมแต่อย่างใด เพียงแต่ทางการสหรัฐฯ ได้แจ้งให้ทางการลิเบียทราบล่วงหน้าพอเป็นพิธีเท่านั้น ไม่เหมือนกับคราวบุกสังหารอุซามะฮ์ บิน ลาเดน ผู้นำอัล กออิดะฮ์ ที่กบดานเงียบในบ้านพักแห่งหนึ่งในเมืองแอบบ็อตทาบัต ใกล้กองบัญชาการทหารปากีสถาน ซึ่งสหรัฐฯ ไม่ยอมบอกรัฐบาลปากีสถานล่วงหน้าเนื่องจากไม่ไว้วางใจ จนทำให้ความสัมพันธ์หมางเมินกันเรื่อยมา หลังจากทั้ง 2 ปฏิบัติการนี้ลุล่วง หน่วยปฏิบัติการพิเศษสหรัฐฯ ได้ถอนกำลังออกทันทีโดยไม่มีการปะทะหรือสูญเสียใดๆ

ขณะที่บีบีซีวิเคราะห์ว่า การแอบข้ามพรมแดนลิเบียไปไปบุกจับอาบู คัตตาลาครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 2 ของปฎิบัติการจู่โจมทางทหารของสหรัฐฯ ในดินแดนลิเบียก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว

สหรัฐฯ ได้ปฎิบัติการลับจับกุมอาบูอานาส อัล-ลิบี ผู้ก่อการร้ายโยงใยเครือข่ายอัลกออิดะฮ์จากบ้านพักในกรุงตริโปลี ขณะนี้อยู่ในระหว่างการใต่สวนในนิวยอร์ก

ทันทีที่มีข่าวยืนยันว่าจับตัวอาบู คัตตาลาได้แล้ว ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ได้แถลงชมเชยความกล้าหาญและความเป็นมืออาชีพของกองทัพสหรัฐฯ เจ้าหน้าที่รักษากฎหมาย และเจ้าหน้าที่ข่าวกรองที่สามารถแกะรอยและจับกุมตัวอาเหม็ด อาบู คัตตาลา ซึ่งเป็น “ตัวการหลัก” ในเหตุการณ์ก่อการร้ายกงสุลสหรัฐฯ ที่เบงกาซี

“เมื่อชาวอเมริกันถูกทำร้าย ไม่ว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าใด รัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องตามล่าผู้ที่มีส่วนในความรับผิดชอบเพื่อนำมาลงโทษให้ได้” ประธานาธิบดีย้ำ ขณะที่เจมส์ คอร์นีย์ ผู้อำนวยการเอฟบีไอสำทับซ้ำว่า เอฟบีไอจะไม่หยุดค้นหาจนกว่าจะสามารถจับกุมตัวคนร้ายอื่นๆ

“เราจะไม่ยอมหยุด เราจะทำงานและทำจนกว่าจะนำความยุติธรรมกลับคืนมา”