ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ผู้นำโกง: ตามล่าขุมทรัพย์เจ้าทะเลทรายกัดดาฟี (3)

ผู้นำโกง: ตามล่าขุมทรัพย์เจ้าทะเลทรายกัดดาฟี (3)

31 กรกฎาคม 2013


รายงานโดย: อิสรนันท์

 ที่มาภาพ : http://digitaljournal.com
ที่มาภาพ : http://digitaljournal.com

จะว่าไปแล้ว กระบวนการซุกซ่อนขุมทรัพย์ของ พ.อ.กัดดาฟี และการตามล่าคลังสมบัติของอดีตบุรุษเหล็กแห่งลิเบียนั้นทั้งลึกลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน ทั้งเชือดเฉือนกันด้วยไหวพริบกันทั้ง 2 ฝ่าย ชนิดที่ภาพยนตร์ประเภทหักเหลี่ยมโหดของฮอลลีวูดยังทาบไม่ติด

42 ปีที่นั่งทับภูเขาเงินภูเขาทองมูลค่ามหาศาลไม่ยอมลุกไปไหน พ.อ.กัดดาฟีย่อมมีช่องทางมากมายที่จะวางหมากกลไว้ไม่ให้ใครสืบเสาะพบคลังสมบัติของตัวเองได้ง่ายๆ รวมไปถึงการใช้ช่องทางกฎหมายของลิเบียเองเตะถ่วงกระบวนการของรัฐที่จะยึดสมบัติเหล่านั้นกลับคืนเป็นสมบัติของแผ่นดินหากตัวเองเกิดพลาดพลั้งในวันใดวันหนึ่ง

ขณะที่รัฐบาลของหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และชาติตะวันตกเองก็พยายามเตะถ่วงการคืนสมบัติเหล่านั้นกลับไปให้ลิเบีย หรือหาช่องทางปกปิดซ้ำซ้อนเข้าไปอีกเพื่อประโยชน์ของตัวเอง ทำให้กระบวนการทวงคืนสมบัติของ พ.อ.กัดดาฟีเป็นไปด้วยความยากลำบากมากกว่าอดีตผู้นำอาหรับคนอื่นๆ ที่ถูกโค่นล้มระหว่างการปฏิวัติ “อาหรับสปริง” เพราะต้องเสียเวลาถอดรหัสลับซ่อนเงื่อนทุกอย่าง โดยเฉพาะปัญหาทางด้านกฎหมายที่มีการหมกเม็ดกันทุกฝ่าย

หลังจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีมติเมื่อต้นปี 2554 ให้อายัดทรัพย์ของผู้นำหมายเลขหนึ่งของลิเบีย เพื่อกดดันให้รัฐบาลกัดดาฟียุติการปราบปรามผู้ประท้วงจนเกิดการนองเลือดไปทั่ว ปรากฏว่ามีหลายประเทศกระตือรือร้นที่จะให้ความร่วมมือเต็มที่ ทำให้สามารถอายัดทรัพย์สินได้ราว 150,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 4.5 ล้านล้านบาท) ในจำนวนนี้เป็นเงินที่สหรัฐฯ อายัดไว้กว่า 30,000 ล้านดอลลาร์ อังกฤษสั่งอายัดอีกราว 20,000 ล้านดอลลาร์ และเยอรมนีอีกราว 9,000 ล้านดอลลลาร์

ในปลายปีเดียวกัน คณะมนตรีความมั่นคงยอมผ่อนผันให้ถอนการอายัดเงินส่วนหนึ่งจำนวน 18,000 ล้านดอลลาร์ของที่อายัดไว้ทั้งหมด เพื่อชุบชีวิตใหม่ให้ฝ่ายกบฏที่กำลังขาดแคลนทั้งกระสุนและทุนทรัพย์ที่กู้มาจากตะวันตก แต่สหประชาชาติไม่วายตั้งเงื่อนไขว่าฝ่ายกบฏมีสิทธิใช้เงินก้อนนั้่นแค่ 3,000 ล้านดอลลาร์ ตามที่ฝ่ายกบฏออกปากขอ โดยให้เหตุผลว่าแต่ละวันต้องมีค่าใช้จ่ายประมาณ 50-100 ล้านดินาร์ (ราว 1,290-2,580 ล้านบาท) เป็นค่าอาหาร, เวชภัณฑ์ และค่าใช้จ่ายทั่วไป หลังจากได้รับชัยชนะไม่นาน รัฐบาลใหม่ลิเบียสามารถทวงเงินที่อยู่ในต่างประเทศกลับคืนมาได้อีกราว 9,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นสัดส่วนน้อยนิดของเงินที่อายัดไว้หรือเมื่อเทียบกับมหาสมบัติที่ครอบครัวกัดดาฟีโกงเงินแผ่นดินไปเป็นสมบัติส่วนตัว

และในความเป็นจริง หลังเสร็จสิ้นปฏิบัติการสังหาร พ.อ.กัดดาฟีแล้ว สหประชาชาติเพิ่งจะเลิกอายัดเงิน 1,500 ล้านดอลลาร์ จากบัญชีในสหรัฐฯ ขณะที่รัฐบาลประธานาธิบดีบารัก โอบามา เพิ่งจะเลิกอายัดเงินน้อยนิดแค่ 700 ล้านดอลลาร์ ให้ลิเบีย โดยทำเป็นไขสือตีหน้าซื่อพูดไปคนละเรื่องว่าเพิ่งรู้จากผลการตรวจสอบที่พบว่าอดีตบุรุษเหล็กแห่งลิเบียได้เปิดบัญชีลับและขนเงินมาลงทุนในแดนดินถิ่นอินทรีผยองถึง 37,000 ล้านดอลลาร์ พอรู้ปุ๊บจึงรีบสั่งอายัดทันที

คำถามก็คือ แล้วอีก 15,000 ล้านดอลลาร์ หายไปไหน

ที่น่าประหลาดใจมากกว่านั้นก็คือ ขณะที่ลิเบียพยายามขอให้สหรัฐฯ และพันธมิตรยกเลิกการอายัดทรัพย์ แต่กระทรวงคลังสหรัฐฯ กลับรีบร้อนยกเลิกการแซงก์ชันลิเบียแค่บางส่วน เพื่อจะเปิดประตูให้บริษัทอเมริกันและเอกชนเข้าไปทำธุรกิจกับการปิโตรเลียมแห่งชาติลิเบียและบริษัทพลังงานอื่นๆ ในลิเบีย ตราบใดที่การโยกย้ายเงินไม่เป็นประโยชน์ต่อใครที่เกี่ยวข้องกับอดีตผู้นำลิเบีย แต่คำถามใหญ่กว่านั้นก็คือ มีบริษัทใดบ้างในลิเบียที่ไม่มีสายสัมพันธ์กับกัดดาฟีและญาติสนิทมิตรสหาย

ที่มาภาพ : http://images.sodahead.com
ที่มาภาพ : http://images.sodahead.com

แม้กระทั่งธนาคารข้ามชาติยักษ์ใหญ่เองก็ยอมรับว่ารู้สึกประหลาดใจไม่ใช่น้อย ว่าเหตุใดจึงเป็นเรื่องง่ายดายนักที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจะรีบลงมติให้อายัดทรัพย์ของครอบครัวหมายเลขหนึ่งแห่งลิเบีย แต่ที่ประชุมอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตกลับปิดปากเงียบว่าจะทำอย่างไรต่อหลังจากการอายัดทรัพย์นั้นแล้ว เป็นเพราะว่าหน่วยงานนี้ต้องปิดปากเงียบอยู่แล้วหรือเป็นเพราะว่าธนาคารข้ามชาติได้วิ่งล็อบบี้กันยกใหญ่

หลายคนตั้งคำถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่าเงินที่สหรัฐฯ เลิกอายัดนั้นแท้ที่จริงก็คือเงินที่บริษัทอเมริกันให้ฝ่ายกบฏหยิบยืมเพื่อเปิดช่องทางลัดที่จะได้ทำธุรกิจในประเทศนี้ หนังสือพิมพ์เดลิเมลของอังกฤษอ้างความเห็นของ ส.ส.อเมริกันหลายคนที่ยอมรับโดยตรงว่าต้องการใช้เงินลิเบียที่สหรัฐฯ อายัดไว้ไปจ่ายคืนให้กับนาโตที่เข้าร่วมปฏิบัติการโค่นล้มรัฐบาล พ.อ.กัดดาฟี ขณะที่หลายประเทศต้องการนำเงินไปใช้โดยไม่ได้รับอนุมัติจากลิเบีย อ้างว่าเพื่อปราบปรามการก่อการร้ายที่กัดดาฟีเคยหนุนหลังอยู่

และนี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กระบวนการคืนเงินที่อายัดไว้ให้รัฐบาลใหม่ลิเบียเป็นไปอย่างอืดอาดยืดยาดล่าช้ายิ่งกว่าเต่าคลาน แม้ว่าสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตกจะดีแต่พูดว่าจะพยายามโอนเงินที่อายัดไว้คืนให้ลิเบียโดยเร็วที่สุดเพื่อนำไปบูรณะประเทศ โดยเฉพาะการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับความเสียหายในช่วงสงครามกลางเมืองมากถึง 15,000 ล้านดอลลาร์ นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ได้ออกปากเรียกร้องให้นานาประเทศเร่งยกเลิกการอายัดทรัพย์สินของรัฐบาลลิเบียในต่างแดน เพื่อที่จะให้คณะบริหารชุดใหม่มีทุนทรัพย์ในการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย

นายฟาร์ฮัด เบงดารา อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางลิเบีย ซึ่งแปรพักตร์ไปเข้ากับฝ่ายกบฏให้ความเห็นว่าลิเบียไม่จำเป็นต้องกู้เงิน เพราะมีเม็ดเงินและทรัพยากรน้ำมันจำนวนมหาศาล สิ่งที่ลิเบียต้องการคือความร่วมมือจากประชาคมโลก ให้ยกเลิกการอายัดทรัพย์สินของรัฐบาลลิเบียในต่างประเทศ นายเบงดาราเผยด้วยว่า ธนาคารกลางลิเบีย และสำนักงานเพื่อการลงทุนลิเบีย ซึ่งเป็นกองทุนบริหารความมั่งคั่งของประเทศ มีสินทรัพย์ในต่างประเทศอยู่ราว 168,000 ล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้รวมถึงเงินฝากอีกราว 50,000 ล้านดอลลาร์ ในหลายประเทศยุโรป อาทิ เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน สวีเดน และเนเธอร์แลนด์ นอกจากนี้สถาบันการเงินแห่งชาติทั้ง 2 แห่ง ยังถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และยุโรปอยู่อีกราว 40,000 ล้านดอลลาร์

ในส่วนของกระบวนการตามล่าหาขุมทรัพย์ที่ครอบครัวหมายเลขหนึ่งซุกซ่อนไว้ตามที่ต่างๆ ทั่วโลกนั้น รัฐบาลลิเบียได้ขอให้ตำรวจสากลหรืออินเตอร์โปลช่วยตามล่าอีกทางหนึ่ง ซึ่งผู้อำนายการสำรวจสากลประจำลิเบียได้รับปากว่าจะยื่นมือไปช่วยเหลืออย่างสุดความสามารถ รวมไปถึงการขึ้นรหัสสีแดงตามคำขอร้องของรัฐบาลตริโปลีในการตามล่าผู้ต้องหาที่ยังหลบหนีคดีอยู่ ในจำนวนนี้รวมไปถึงนายอับดุลเลาะห์ อัล เซนุสซี อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าวกรองทหารสมัยรัฐบาลกัดดาฟี ซึ่งรัฐบาลมอริตาเนียได้เนรเทศกลับไปลิเบียตามคำขอ บ่งบอกถึงความสำเร็จของการร่วมมือกับอินเตอร์โปล

สาเหตุสำคัญที่ทำให้กระบวนการตามล่าหาขุมทรัพย์กัดดาฟีเป็นไปด้วยความล่าช้า เนื่องจากประสบอุปสรรคเฉพาะหน้าหลายอย่าง อาทิ อุปสรรคด้านภาษาและการขาดความไว้เนื้อเชื่อใจกันเวลาต้องประสานงานกับประเทศอื่นๆ ขณะที่เจ้าหน้าที่รับผิดชอบก็ขาดประสบการณ์และกำลังคน กระทั่ง สหภาพยุโรปต้องรับหน้าเสื่อให้ทุนสนับสนุนโครงการฟื้นฟูสมรรถนะในการลงทุนของลิเบียมูลค่า 2.2 ล้านยูโร เปิดช่องให้กองอำนวยการชายแดนลิเบียสามารถเข้าไปดูข้อมูลจากทั่วโลกเพื่อหาสมบัติเหล่านั้น แต่อุปสรรคสำคัญที่สุดก็คืออุปสรรคด้านกฎหมาย พ.อ.กัดดาฟีนั้นฉลาดมากพอที่จะวางหมากกลซ่อนเงื่อนไว้เวลาออกกฎหมายการเงิน จนทำให้มีปัญหาเวลาต้องติดต่อประสานงานกับต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนในกองทุนต่างๆ ซึ่งปรกติมักจะปกปิดบัญชีรายชื่อของลูกค้าอยู่แล้ว

หมากกลหนึ่งที่ผู้นำเผด็จการที่ฉ้อราษฎร์บังหลวงชอบทำกันก็คือ การสมคบคิดกับสถาบันการเงินของต่างประเทศซึ่งรู้เห็นเป็นใจให้เปิดบัญชีลับสักบัญชีสองบัญชีสำหรับใช้เป็นเหยื่อล่อ เพราะเป็นบัญชีที่สามารถตามล่าตามอายัดได้ง่ายๆ อย่างเช่น เงินฝากในบัญชีลับในชื่อของคนอื่นที่ไว้ใจได้ว่าไม่โกงหากผู้นำผู้นั้นเกิดถูกเบียดตกจากเวทีการเมืองและต้องหนีมาเสวยสุขในต่างประเทศ นายอาคีเร มูนา รองประธานคณะกรรมการโปร่งใสระหว่างประเทศ ได้เผยถึงความยุ่งยากของการตามล่าสมบัติว่า จากประสบการณ์ทำให้รู้ว่าธนาคารต่างๆ มักจะขอให้ผู้นำเผด็จการต่างๆ เปิดเงินฝากในบัญชีที่ทุกคนต่างรู้ว่าเงินในบัญชีนี้จะต้องถูกอายัดแน่เวลามีเรื่อง และธนาคารนั้นเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์แต่ผู้เดียวจากเงินในบัญชีนี้

ส่วนทรัพย์สินส่วนใหญ่จะถูกซุกซ่อนเป็นอย่างดีทั้งในรูปของบัญชีลับ หรือในตู้เซฟที่ซ่อนเงินสดสกุลต่างๆ อัญมณีล้ำค่าและภาพเขียนราคาแพง ตู้เซฟเหล่านี้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยเป็นอย่างดีจนยากจะติดตามได้ง่ายๆ เช่นเดียวทรัพย์สินอื่นๆ รวมไปถึงการถือครองหุ้นในบริษัทยักษ์ใหญ่และอสังหาริมทรัพย์ผ่านนอมินีหรือบริษัทหลักทรัพย์ที่ไว้ใจได้

ความยุ่งยากอีกประการหนึ่งก็คือ กระบวนการพิสูจน์ว่าทรัพย์สินนั้นๆ เป็นของอดีตครอบครัวหมายเลขหนึ่งของลิเบียหรือคนสนิทหรือไม่ เพราะท้ายสุดมักจะติดเงื่อนไขทางกฎหมายระหว่างประเทศ หรือต้องอาศัยความจริงใจของรัฐบาลประเทศต่างๆ ในการร่ววมือกันตามหาสมบัตินั้น

นางโรซี ชาร์ป เอ็นจีโอของโกลบอล วิตเนสส์ ในกรุงลอนดอน อันเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ให้ความเห็นว่า รัฐบาลตะวันตกเองควรจะต้องเพิ่มความพยายามให้มากขึ้นในการขุดคุ้ยหาสมบัติของลิเบีย เพราะรัฐบาลทั้ง 140 ประเทศ ต่างตระหนักดีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ถึงความล้มเหลวที่จะสกัดกั้นไม่ให้ธนาคารรับฝากเงินของเผด็จการ หรือความล้มเหลวของระบบตามล่าหาสมบัติส่วนตัวของใครสักคนที่เป็นนอมินีของผู้ยิ่งใหญ่ในการถือครองทรัพย์สินแทน ตัวอย่างนี้เห็นได้ชัดในกรณีของอียิปต์ซึ่งได้ส่งปัญหาต่อมาที่ที่ประชุมต่อต้านการคอร์รัปชันที่สหประชาชาติเป็นสปอนเซอร์ ซึ่งทุกประเทศล้วนแต่เห็นด้วยที่จะต้องเพิ่มความพยายามให้มากขึ้นในการตามหาสมบัติเหล่านั้น

ร้อนถึงธนาคารโลกต้องวางมาตรการเพื่อเป็นแนวทางหรือกรอบการตรวจสอบบัญชีเงินและทรัพย์สินของ “ผู้ที่เกี่ยวพันกับการเมือง” ซึ่งอาจจะถือบัญชีลับแทนนักการเมืองชั้นนำหรือครอบครัวและคนสนิท โดยเฉพาะผู้ที่ต้องสงสัยว่าทุจริตคอร์รัปชัน

ภายใต้คำขอร้องแกมบังคับของศาลอาญาระหว่างประเทศ รัฐบาลอิตาลีเพิ่งจะยอมอายัดทรัพย์สินของครอบครัวกัดดาฟีกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์ รวมไปหุ้นธนาคารยูนิเครดิต ธนาคารยักษ์ใหญ่สุดของอิตาลีมูลค่า 814 ล้านดอลลาร์ หุ้นบริษัทฟินเมคคานิคา บริษัทด้านอากาศยานและความมั่นคงมูลค่า 53 ล้านดอลลาร์ และอีก 71 ล้านดอลลาร์ จากการถือครองหุ้นบริษัทรถยนต์เฟียต นอกจากนี้ยังอายัดหุ้นของจูเวนตุส สโมสรฟุตบอลชื่อดังที่นายซาอัด ลูกชายคนหนึ่งถือครองอยู่

ขณะเดียวกัน ลิเบียต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะได้บ้านพักหรูมูลค่า 15 ล้านดอลลาร์ คืนจากอังกฤษ และคงต้องใช้ความพยายามเพิ่มอีกหลายเท่าในการตามล่าขุมทรัพย์ที่กระจัดกระจายตามที่ต่างๆ ในชื่อของคนวงในของกัดดาฟี