ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ความจริงของก๊าซ LPG ที่ สนพ. – ปตท. ไม่ได้พูดถึง

ความจริงของก๊าซ LPG ที่ สนพ. – ปตท. ไม่ได้พูดถึง

10 กันยายน 2013


หลังจากกระทรวงพลังงานทยอยปรับขึ้นราคาขายปลีก “แก๊สหุงต้ม” เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2556 เป็นต้นไป เดือนละ 0.50 บาท/กิโลกรัม นาน 12 เดือน กระแสคัดค้านยังคงดำเนินอยู่ ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2556 เวลา 9.00 น. เครือข่ายประชาชนเจ้าของเครือข่ายพลังงานไทย นัดระดมพลหน้าสำนักงานใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตั้งเป้าล่ารายชื่อผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการปรับราคาแอลพีจีจำนวน 50,000 ราย เพื่อถอดถอนนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน

ม็อบเครือข่ายภาคประชาชน ระดมพลถอดถอนรมว.พลังงาน หน้าสำนักงานใหญ่บริษัท ปตท. วันที่ 9 ก.ย. 2556
ม็อบเครือข่ายภาคประชาชน ระดมพลถอดถอน รมว.พลังงาน หน้าสำนักงานใหญ่บริษัท ปตท. วันที่ 9 ก.ย. 2556

กลุ่มผู้คัดค้านมองว่า การปรับขึ้นราคาแก๊สแอลพีจี (LPG) ภาคครัวเรือนครั้งนี้ไม่เป็นธรรม เพราะโครงสร้างราคาขายปลีก LPG ในประเทศมี 4 ราคา ตามที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) นำมาเผยแพร่ในหนังสือ “ความจริงวันนี้ของ LPG” ชี้แจงประชาชน โดยระบุว่า ธุรกิจปิโตรเคมีซื้อก๊าซ LPG ที่ราคา 22.30 บาท/กิโลกรัม (ไม่รวม VAT และกองทุนน้ำมันฯ) ขณะที่ครัวเรือน ขนส่ง และอุตสาหกรรมซื้อ LPG จากโรงกลั่นน้ำมัน 10.26 บาท/กิโลกรัม เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

มล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี อนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน วุฒิสภา เปิดเผยว่า ราคาที่ สนพ. ชี้แจงต่อประชาชนเป็นราคาซื้อ-ขายก๊าซที่หน้าโรงกลั่นน้ำมัน แต่ข้อเท็จจริงธุรกิจปิโตรเคมีซื้อ LPG จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากราคาถูกกว่า ปัจจุบันธุรกิจปิโตรเคมีใช้แหล่งก๊าซธรรมชาติ 3 แหล่ง คือ จากโรงแยกก๊าซ โรงกลั่นน้ำมัน และนำเข้าจากต่างประเทศ

ตัวเลขต้นทุนเนื้อก๊าซ LPG ที่ สนพ. และ ปตท. นำมาแสดงต่อประชาชน คือราคาซื้อ-ขายก๊าซ LPG ที่หน้าโรงกลั่นน้ำมัน 22.30 บาท/กิโลกรัม แต่ สนพ. และ ปตท. ไม่ได้พูดถึงราคาที่หน้าโรงแยกก๊าซ ที่ผ่านมาซื้อ-ขายกันที่ราคา 16.20 บาท/กิโลกรัม

ม็อบLPG

สำหรับตัวเลขต้นทุน LPG หน้าโรงแยกก๊าซเฉลี่ย 16.20 บาท/กิโลกรัม มล.กรกสิวัฒน์กล่าวว่า เป็นข้อมูลที่ได้มาจากนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. ทำหนังสือรายงานต่อประธานคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2556 ระบุว่าในช่วงเดือนกรกฎาคม 2555-มิถุนายน 2556 กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกับบริษัท ปตท. ซื้อ-ขาย LPG ในช่วงราคา 16.1-18 บาท/กิโลกรัม (ไม่รวม VAT และกองทุนน้ำมันฯ)

ขณะที่ข้อมูลของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล (PTTGC) รายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามแบบ 56-1 ปี 2555 ระบุว่า วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตโอเลฟินส์ เช่น อีเทน โพรเพน แอลพีจี และเอ็นจีแอล เป็นต้น PTTGC ซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ คิดเป็นสัดส่วน 98.16% ของปริมาณวัตถุดิบที่จัดหาทั้งหมด ดังนั้น การคำนวณราคาต้นทุน LPG ของธุรกิจปิโตรเคมีต้องใช้ราคาที่โรงแยกก๊าซเป็นสำคัญ ไม่ควรใช้ราคาที่หน้าโรงกลั่นน้ำมัน

เนื่องจากก๊าซที่ธุรกิจปิโตรเคมีใช้ 98% มาจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ จึงควรใช้ราคาจากโรงแยกก๊าซเป็นฐานในการคำนวณต้นทุน ที่ผ่านมาธุรกิจปิโตรเคมีในเครือ ปตท. ซื้อ-ขาย LPG กับโรงแยกก๊าซของ ปตท. ราคา 16.1-18 บาท/ต่อกิโลกรัม เมื่อนำไปคำนวณกับเงินนำส่งกองทุนน้ำมันฯ และ VAT ราคาขายปลีก หรือต้นทุนก๊าซที่แท้จริงของธุรกิจปิโตรเคมี น่าจะอยู่ที่ 18.30-20.33 บาท/กิโลกรัม หรือ เฉลี่ย 19.50 บาท/กิโลกรัม ไม่ใช่ 24.93 บาท/กิโลกรัม

ก่อนหน้านี้มีการประชุมคณะกรรมการ PTTGC ครั้งที่ 7/2555 เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2555 คณะกรรมการได้มีมติให้ปรับสูตรราคาซื้อ-ขาย วัตถุดิบปิโตรเคมีจากก๊าซธรรมชาติระหว่างบริษัท ปตท. กับ PTTGC พร้อมกับมีการขยายสัญญาในการจัดหา LPG จนถึงปี 2564 โดยการกำหนดสูตรราคาซื้อ-ขาย LPG ราคาใหม่อยู่ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบอยู่ในช่วง 70-130 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และอ้างอิงเงินลงทุนและค่าใช้จ่ายในการผลิตและจำหน่ายตามมาตรฐานสากล มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2555 เป็นต้นไป

สัญญาซื้อ-ขาย LPG

กล่าวคือ หากราคาน้ำมันดิบเคลื่อนไหวในช่วง 70-130 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ธุรกิจปิโตรเคมีจะซื้อ LPG ราคา 19.50 บาท/กิโลกรัม จนถึงปี 2563 ขณะที่ภาคครัวเรือน ขนส่ง อุตสาหกรรมซื้อ LPG ราคาตลาดโลก และนี่คือ “ความจริงของLPGที่ สนพ. และ ปตท. ไม่ได้พูดถึง”