ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > การคืนรางวัลลูกโลกสีเขียวกับ 7 ปี “ปตท.” กวาดแชมป์รางวัลธรรมาภิบาล-CSR-สิ่งแวดล้อม

การคืนรางวัลลูกโลกสีเขียวกับ 7 ปี “ปตท.” กวาดแชมป์รางวัลธรรมาภิบาล-CSR-สิ่งแวดล้อม

11 สิงหาคม 2013


เหตุการณ์น้ำมันรั่วในทะเลของกลุ่มบริษัท ปตท. ที่เป็นข่าวใหญ่ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนสิงหาคม 2555 น้ำมันดิบหลายพันบาร์เรลจากแท่นขุดเจาะเวสต์ แอตลาส ของบริษัท พีทีทีอีพี ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.ส.ผ. ของไทย เกิดรั่วไหลทะลักลงสู่แปลงขุดเจาะน้ำมันดิบมอนทาราในทะเลติมอร์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย เป็นเวลานานเกือบ 10 สัปดาห์ กินพื้นที่เกือบ 90,000 ตารางกิโลเมตร และคราบน้ำมันส่วนหนึ่งยังลอยถึงน่านน้ำของอินโดนีเซีย ทำให้ ปตท. ต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับออสเตรเลียและอินโดนีเซียรวมแล้วร่วมแสนล้านบาท รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการกำจัดคราบน้ำมันในทะเลด้วย

ที่มาภาพ : http://www.matichon.co.th
ที่มาภาพ: http://www.matichon.co.th

ล่าสุดเป็นเวลาสองสัปดาห์แล้วหลังจากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่ว ห่างชายฝั่งมาบตาพุด ในวันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม ของบริษัท ปตท. โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หนึ่งในเครือ ปตท. ดูเหมือนว่าจนถึงตอนนี้สถานการณ์ที่อ่าวพร้าวจะคลี่คลายลงแล้วในสายตาของสาธารณะชนแต่ยังมีคำถามอีกมากที่ยังคงเป็นที่สงสัยถึงตอนนี้ ซึ่งหลักๆ เป็นคำถามถึงความโปร่งใสและธรรมภิบาลของกลุ่ม ปตท. รวมถึงตั้งข้อสังเกตเรื่องภาพลักษณ์ด้านการทำประโยชน์เพื่อสังคมและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของบริษัท จึงมีกลุ่มที่ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว จากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จำนวน 13 คน ได้เดินทางมาคืนรางวัลลูกโลกสีเขียว เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2556

รางวัลเกียรติยศระดับโลก“Platts Global Energy Awards 2012” พีทีที โกลบอล เคมิคอล ได้รับรางวัลชนะเลิศ Global Energy Awards สาขา Stewardship Award Winner - Corporate Social Responsibility จาก Platts ใน ‘โครงการฟื้นป่า รักษ์น้ำ เขาห้วยมะหาด’ที่มาภาพ : http://www.manager.co.th
บริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล ได้รับรางวัลชนะเลิศ Global Energy Awards สาขา Stewardship Award Winner – Corporate Social Responsibility จาก Platts ใน ‘โครงการฟื้นป่า รักษ์น้ำ เขาห้วยมะหาด’
ที่มาภาพ: http://www.manager.co.th
ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) รับรางวัล Asian Corporate Director Recognition Awards 2012 จากนิตยสาร Corporate Governance Asia ในฐานะผู้นำองค์กรและกรรมการของบริษัทจดทะเบียนของไทยที่มีผลงานโดดเด่นในการบริหารองค์กรให้ก้าวหน้าอย่างมีประสิทธิภาพควบคู่กับการส่งเสริมธรรมภิบาล พร้อมกันนี้ ปตท.ยังได้รับรางวัลCorporate Governance AsiaRecognition Awards 2012 ต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 7 จากนิตยสารเดียวกัน ที่มาภาพ : http://www.thailandindustry.com
ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) รับรางวัล Asian Corporate Director Recognition Awards 2012 จากนิตยสาร Corporate Governance Asia ในฐานะผู้นำองค์กรและกรรมการของบริษัทจดทะเบียนของไทยที่มีผลงานโดดเด่นในการบริหารองค์กรให้ก้าวหน้าอย่างมีประสิทธิภาพควบคู่กับการส่งเสริมธรรมภิบาล พร้อมกันนี้ ปตท.ยังได้รับรางวัลCorporate Governance AsiaRecognition Awards 2012 ต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 7 จากนิตยสารเดียวกัน
ที่มาภาพ : http://www.thailandindustry.com

ขณะที่บริษัท ปตท.ได้รับรางวัลแห่งความสำเร็จในด้านธรรมภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับประเทศและระดับโลกตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 ถึง พ.ศ.2554 จำนวนมาก (ดังรายละเอียดในตาราง)

และในปี 2555 สำนักข่าวไทย รายงานว่า นางพุทธชาด มุกดาประกร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สื่อสารองค์กร และกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยถึงผลสำรวจล่าสุดของนิตยสารคอร์ปอเรต กอฟเวอร์แนนซ์ เอเชีย(Corporate Governance Asia) ซึ่งเป็นนิตยสารด้านธุรกิจและธรรมาภิบาลชั้นนำในต่างประเทศว่า ปตท.ได้รับคะแนนการคัดเลือกให้ได้ 6 รางวัล ประกอบด้วย 3 รางวัลประเภทบุคคล ได้แก่รางวัลซีอีโอยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย (Asia’s Best CEO) ซึ่งมอบให้แก่ ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. รางวัลซีเอฟโอยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย (Asia’s Best CFO) ซึ่งมองให้แก่ นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน ปตท. รางวัลนักลงทุนสัมพันธ์ยอดเยี่ยม (Best Investor Relations Professional : Thailand) ซึ่งมอบให้แก่ นางสาวพรรณนลิน มหาวงศ์ธิกุล ผู้จัดการฝ่ายบริหารการเงิน ปตท. และ 3 รางวัลประเภทองค์กร ได้แก่ รางวัลเว็บไซต์ หรือการโปรโมตข่าวสารนักลงทุนสัมพันธ์ยอดเยี่ยม (Best Investor Relations Website / Promotion) รางวัลบริษัทไทยด้านนักลงทุนสัมพันธ์ยอดเยี่ยม (Best Investor Relations Companies : Thailand) และรางวัลความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมยอดเยี่ยม (Best Environmental Responsibility) โดยปตท.ได้รับทั้ง 6 รางวัลในช่วงระยะเวลา 2 ปีติดต่อกัน

 สำนักข่าวไทยพับลิก้า รวบรวม
สำนักข่าวไทยพับลิก้า รวบรวม

และล่าสุดข่าวบอร์ด PTTGC นัดพิเศษถก 4 ชม. คำตอบระบบวาล์วเป็น “manual” ไม่อัตโนมัติตามที่แถลงข่าว – สั่งเปลี่ยนท่อใหม่ทั้งหมด เป็นอีกคำถามที่บริษัทปตท.ต้องตอบใหม่

จดหมายเปิดผนึกของ สว.สุรจิต ชิรเวทย์ เรื่องการคืนรางวัลลูกโลกสีเขียวแก่ ปตท.

ข้อมูลจากเฟซบุ๊กSurajit Chirawate

เรียน คณะกรรมการและคณะทำงานสถาบันลูกโลกสีเขียว

เมื่อเกิดเหตุการณ์การขนถ่ายน้ำมันดิบรั่วไหลทางเรือและทางท่อส่งในทะเล เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ภายใต้ความรับผิดชอบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) อันเป็นบริษัทลูกของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยบริษัทแม่เป็นของรัฐ บริษัทลูกเป็นเอกชน ซึ่งบริษัทแม่ถือหุ้นมากกว่าเอกชนรายอื่น ท่าทีทั้งของบริษัทแม่และบริษัทลูกที่มีความคลุมเครือต่อข้อมูลความชัดเจนโปร่งใสในเรื่องผลประโยชน์ และผลกระทบต่อทรัพยากรระบบนิเวศ และประชาชน ได้ก่อให้เกิดความกังขาขึ้นอย่างกว้างขวาง ซึ่งแม้มิได้เกิดเหตุการณ์นี้ก็มีข้อกังขากันตลอดมาเป็นเวลานานแล้วว่า กลุ่มบริษัททั้งหมดของ ปตท.ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อการพึ่งพาตนเองของชาติในด้านพลังงาน เพื่อการถ่วงดุลกับบรรดาบริษัทน้ำมันข้ามชาติอื่นๆ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติไม่ให้เกิดการผูกขาดหรือแสวงหาผลกำไรอย่างไม่เหมาะสมนั้นในความเป็นจริงแล้ว เส้นแบ่งเจตนารมณ์ของบริษัทอยู่ตรงไหนระหว่างความมั่นคงมั่งคั่งของชาติกับความมั่นคงมั่งคั่งของกลุ่มบริษัท ปตท.เอง

ผมในฐานะคนไทย ในฐานะผู้เคยได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวประเภทบุคคลเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๔๙ และในฐานะสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสมุทรสงคราม และคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ย่อมต้องตั้งคำถามในใจตัวเอง เพื่อให้มีความสบายใจ ให้ตนเองสามารถเป็นพยานให้ตัวเองได้

ในฐานะคนไทย เรามีสิทธิและหน้าที่ในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา การได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครองส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพหรือคุณภาพชีวิตของตน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๗

ในฐานะผู้เคยได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวประเด็นนี้เป็นข้อลำบากยากใจของพวกเราที่เคยได้รับรางวัล ซึ่งมิใช่ความลำบากยากใจในความหมายหรือคุณค่าของรางวัล เพราะเราทำงานอนุรักษ์ด้วยความคารวะต่อธรรมชาติจากภายในใจของเราเอง เอาตัวเราเองเป็นพยาน รู้เอง ปฏิบัติเอง ทุกข์เองสุขเอง อบอุ่นหรือร้อนก็อยู่ในใจของเราเอง เมื่อสถาบันลูกโลกสีเขียวมอบรางวัลให้แก่เรา เราก็ขอบคุณในสิ่งที่สถาบันฯ ได้พยายามกระทำในขอบเขตที่กว้างขวางหลายระดับทั้งบุคคล ชุมชน และเยาวชน

ความลำบากยากใจนั้นอยู่ตรงที่ต้องแยกแยะว่า ผมมิได้สงสัยในเจตนารมณ์ของสถาบันลูกโลกสีเขียว โดยเฉพาะการที่ท่านอานันท์ ปันยารชุนดำรงตำแหน่งเป็นประธานสถาบันและเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณารางวัลนั้น ย่อมเป็นหลักประกันความเป็นอิสระในการดำเนินงานที่น่าเชื่อถือเรายอมรับความเป็นสถาบันที่ดี และการดำเนินการที่เป็นอิสระ แต่สถาบันนี้ได้รับการสนับสนุนกองทุนดำเนินการจาก ปตท. ที่แม้เป็นไปด้วยเจตนารมณ์ที่ดีเช่นกัน แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่กระทบกับสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรงครั้งนี้ กลับมีท่าทีที่น่ากังขาต่อความจริงใจของบริษัทที่เป็นของคนไทยเอง เราไม่เชื่อว่าเมื่อเป็นนิติบุคคลแล้วจะต้องไร้ใจ หรือมิใช่เป็นองค์กรที่ไม่เกี่ยวข้องกับคน

ผมเป็นคนไทยเล็กๆ คนหนึ่งที่บังเอิญไปเกี่ยวข้องกับการได้รับรางวัลภายใต้การสนับสนุนของบริษัท ไปรับรางวัลที่สำนักงานใหญ่ของบริษัท ซึ่งสุดที่จะกล่าวได้ว่าบริษัทไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ ในความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

หลักกฎหมายตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ระบุว่าผู้ใดก่อให้เกิดมลพิษผู้นั้นต้องรับผิดชอบ คือต้องรับผิดชอบทั้งหมดเต็มจำนวนตามความเสียหายจริง มิได้ใช้หลักกฎหมายแพ่งที่จะต้องไปพิสูจน์ในเรื่องประมาทเลินเล่อหรือเหตุสุดวิสัย บริษัทไม่ควรมีท่าทีที่ไม่ชัดเจนโดยแม้ไม่ต้องพิจารณาในแง่คุณธรรมจริยธรรมเลย แต่บริษัทที่ใหญ่โตที่สุดนี้ย่อมต้องรู้หลักกฎหมายที่กำกับการดำเนินธุรกิจที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพเมื่อท่าทีของบริษัทลูกและบริษัทแม่ไม่ชัดเจนในเรื่องข้อเท็จจริง การแสดงความรับผิดชอบ และความกล้าหาญในการที่จะเปิดเผยและกระทำในสิ่งที่ควรทำด้วยความห่วงใยต่อประชาชนและทรัพยากรของชาติที่จะได้รับผลกระทบก่อนผลกระทบต่อบริษัท ซึ่งมิใช่เป็นเอกเทศแปลกแยกจากผลประโยชน์ของชาติและประชาชน

ด้วยความเกี่ยวพันทั้งโดยตรงและโดยอ้อมที่ไม่อาจแยกขาดจากกัน ระหว่างสถาบันลูกโลกสีเขียว ผู้รับรางวัล และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จิตใจของปุถุชนเช่นเราสุดจะเข้าใจได้ว่า เราจะรักษาทรัพยากรสิ่งแวดล้อม รักษาสถาบันลูกโลกสีเขียว โดยละเลยมองข้ามท่าทีดังกล่าวของ ปตท. ไปได้อย่างไร

ดังนี้ผมจึงเห็นด้วยกับการส่งสัญญาณเชิงสัญลักษณ์ของกลุ่มคนที่เคยได้รับรางวัล ที่แสดงออกด้วยการคืนรางวัลลูกโลกสีเขียว และผมขอส่งคืนรางวัลลูกโลกสีเขียว

ประการสุดท้าย ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งอยู่ในคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ซึ่งมีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการตรวจสอบฝ่ายบริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีหน้าที่กำกับดูแลผลประโยชน์ของรัฐและประชาชนเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะได้ปลอดโปร่งใจจากความเกี่ยวพันใดๆ โดยผมยังคงให้ความเคารพเชื่อถือต่อสถาบัน ต่อท่านประธานและคณะกรรมการ ในการปฏิบัติหน้าที่ศึกษาตรวจสอบเหตุการณ์นี้ผมก็จะกระทำไปตามข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายที่จะใช้อ้างอิงในฐานะคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา

ขอแสดงความนับถือ
สุรจิต ชิรเวทย์
๗ สิงหาคม ๒๕๕๖