ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 10 เหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งใหญ่สุดทั่วโลก-ปตท. แถลงข่าวแบบ”สดจากสนาม” ยันคราบน้ำมัน

10 เหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งใหญ่สุดทั่วโลก-ปตท. แถลงข่าวแบบ”สดจากสนาม” ยันคราบน้ำมัน

2 สิงหาคม 2013


ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่บริษัทในเครือ ปตท. เป็นตัวการทำให้เกิดเหตุน้ำมันดิบรั่วไหลเหมือนที่กำลังเกิดขึ้นใกล้ชายฝั่งมาบตาพุด จ.ระยอง ในขณะนี้ ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนสิงหาคม 2555 น้ำมันดิบหลายพันบาร์เรลจากแท่นขุดเจาะเวสต์ แอตลาส ของบริษัท พีทีทีอีพี ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.ส.ผ. ของไทย เกิดรั่วไหลทะลักลงสู่แปลงขุดเจาะน้ำมันดิบมอนทาราในทะเลติมอร์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย เป็นเวลานานเกือบ 10 สัปดาห์ ทำให้เกิดคราบน้ำมันลอยเป็นแพกินพื้นที่เกือบ 90,000 ตารางกิโลเมตร หนำซ้ำ คราบน้ำมันส่วนหนึ่งยังลอยถึงน่านน้ำของอินโดนีเซีย ทำให้ ปตท. ต้องจ่ายค่าชดเชยมูลค่ามหาศาลให้กับออสเตรเลียและอินโดนีเซียรวมแล้วร่วมแสนล้านบาท รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการกำจัดคราบน้ำมันในทะเลด้วย

แต่ครั้งนี้ปริมาณน้ำมันดิบที่รั่วไหลยังถือว่าน้อยนิดเมื่อเทียบกับ 10 เหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลครั้งใหญ่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งประกอบด้วย

1. ระหว่างสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรก เมื่อปี 2534 เกิดเหตุน้ำมันดิบของคูเวตมากถึง 240-336 ล้านแกลลอน รั่วไหลไหลลงสู่อ่าวเปอร์เซียครอบคลุมพื้นที่ใหญ่กว่าเกาะฮาวายเสียอีก ไม่นับรวมน้ำมันในบ่อน้ำมันที่ถูกเผาไปอีกราว 1-1.5 พันล้านบาร์เรล สาเหตุมาจากทหารอิรักที่ยาตราทัพบุกยึดคูเวตได้เปิดวาล์วบ่อน้ำมัน 600 บ่อ และท่อส่งน้ำมันระหว่างถอนทหารออกจากคูเวตเพื่อขัดขวางทหารอเมริกันไม่ให้ตีโต้เร็วเกินไปนัก กว่าจะดับไฟที่ลุกโชนเหนือบ่อน้ำมันได้ต้องใช้เวลานานถึง 10 เดือน

ในส่วนของการทำความสะอาดคราบน้ำมันนั้น กองกำลังพันธมิตรนำโดยสหรัฐฯ ได้ใช้ระเบิดสมาร์ทบอม์หยุดยั้งการรั่วไหลของน้ำมันจากท่อส่งน้ำมัน แต่การฟื้นฟูต้องชะลอออกไปชั่วขณะ จนกระทั่งสงครามยุติลงแล้ว ระหว่างนั้นได้วางทุ่นกักน้ำมัน (boom) เพื่อดักจับคราบน้ำมันซึ่งเกิดไฟลุกโชนกลางอ่าวเปอร์เซียเป็นวงกว้างขนาด 25 ไมล์ รวมทั้งใช้อุปกรณ์สกิมเมอร์ (skimmer) 21 ตัว เพื่อนำคราบน้ำมันไปเก็บในภาชนะที่เตรียมไว้บนเรือ และยังใช้รถบรรทุกดูดคราบน้ำมันไปทิ้งด้วย ทั้งหมดนี้สามารถกำจัดคราบน้ำมันได้ราว 58.8 ล้านแกลลอน

จากรายงานของยูเนสโกระบุว่า เหตุน้ำมันรั่วไหลที่อ่าวเปอร์เซียในครั้งนั้น ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและการประมงท้องถิ่นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น รายงานนี้สรุปด้วยว่าราวครึ่งหนึ่งของคราบน้ำมันได้ระเหยกลายเป็นไอ อีกราวหนึ่งในแปดได้รับการชำระล้าง อีกหนึ่งในสี่ซัดเข้าชายฝั่งของซาอุดีอาระเบีย

bp oil spill ที่มาภาพ : http://katysexposure.files.wordpress.com
แท่นขุดเจาะน้ำมัน “ดีพวอเทอร์ ฮอไรซอน” กลางอ่าวเม็กซิโก นอกชายฝั่งสหรัฐฯ ของบริษัท “บริติช ปริโตเลียม” หรือ “บีพี” บริษัทผลิตน้ำมันรายใหญ่สุดของอังกฤษ ได้เกิดระเบิดเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2553
ที่มาภาพ : http://katysexposure.files.wordpress.com

2. แท่นขุดเจาะน้ำมัน “ดีพวอเทอร์ ฮอไรซอน” กลางอ่าวเม็กซิโก นอกชายฝั่งสหรัฐฯ ของบริษัท “บริติช ปริโตเลียม” หรือ “บีพี” บริษัทผลิตน้ำมันรายใหญ่สุดของอังกฤษ ได้เกิดระเบิดเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2553 ขณะคนงานกำลังขุดเจาะน้ำมันที่ระดับความลึก 1,500 เมตร เป็นเหตุให้คนงานเสียชีวิตทันที 11 ราย บาดเจ็บ 17 ราย ขณะเดียวกัน ทำให้น้ำมันดิบรั่วไหลลงสู่อ่าวเม็กซิโกมาก ถึง 4.9 ล้านบาร์เรล กว่าจะสามารถอุดท่อขุดเจาะที่รั่วออกมาได้ ถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์การรั่วไหลของน้ำมันดิบครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ชายฝั่งของสหรัฐฯ ปนเปื้อนด้วยคราบน้ำมันดิบเป็นแนวยาว 1,728 กม. สร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศและอุตสาหกรรมประมงอย่างประเมินค่าไม่ได้ ทั้งปะการังและสัตว์ทะเลอย่างเต่าและนกหายากตายไปอย่างน้อย 8,000 ตัว และจนถึงขณะนี้ บริเวณแนวชายฝั่งรัฐเท็กซัส ลุยเซียนา มิสซิสซิปปี อลาบามา และฟลอริดา ยังคงต้องเผชิญกับปัญหาคราบน้ำมันตกค้างมาอยู่

บริษัทบีพีอ้างว่าได้ใช้เวลานาน 87 วัน ทำความสะอาดคราบน้ำมันทั้งหมดรวมทั้งกู้แท่นขุดเจาะที่จมใต้ทะเลด้วย โดยการทำความสะอาดคราบน้ำมันนั้น สิ่งแรกที่บริษัทบีพีเร่งดำเนินการก็คือการปิดรอยรั่วของบ่อน้ำมัน ซึ่งต้องใช้เวลานานหลายเดือนกว่าจะแล้วเสร็จ ระหว่างนั้น ก็มีการโปรยสารกระจาย (dispersant) อันเป็นสารเร่งจำกัดการแพร่กระจายของคราบน้ำมัน และกำจัดคราบน้ำมันบนผิวน้ำด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เรือตักคราบน้ำมัน การใช้ทุ่นลอยความยาวกว่า 5 ล้าน 5 แสนฟุตเพื่อดักจับและซับคราบน้ำมัน การใช้สารเคมีดูดซับน้ำมันโปรยลงผิวน้ำ หรือแม้แต่การเผาเพื่อกำจัดน้ำมัน ซึ่งยิ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผลการขุดคุ้ยของสื่อตะวันตกพบว่า ทั้งหมดนี้เป็นแค่ราคาคุยของบริษัทบีพี เพราะจนถึงขณะนี้ การกำจัดคราบน้ำมินดิบยังไม่แล้วเสร็จ

3. น้ำมันดิบทะลักจากบ่อน้ำมันอิกซ์ทอก-1 อ่าวกัมพาเช ประเทศเม็กซิโก เมื่อปี 2522 สาเหตุมาจากแท่นขุดเจาะเซดโค 135 เอฟ ของบริษัทน้ำมันเปเม็กซ์ของเม็กซิโกเกิดระเบิด ระหว่างขุดเจาะน้ำมันที่ความลึกใต้ทะเล 3600 เมตร ทำให้มีน้ำมันดิบรั่วไหลออกมาราววันละ 10,000-30,000 บาร์เรล และตลอดช่วง 10 เดือนหลังจากนั้น มีน้ำมันดิบราว 140 ล้านแกลลอน รั่วไหลไปยังอ่าวเม็กซิโก ทำให้พื้นที่ชายฝั่งจากรัฐเทกซัสไปจนถึงในเมกซิโกปนเปื้อนน้ำมันดิบเป็นคราบยาวถึง 261 กม.

สำหรับการทำความสะอาดคราบน้ำมัน เพื่อจะชะลอการรั่วไหลของน้ำมันดิบจากบ่อน้ำมันที่ได้รับความเสียหาย ตอนแรกมีการใช้โคลน แท่งเหล็กกล้า ลูกบอลเหล็ก และตะกั่ว หย่อนลงไปในบ่อน้ำมัน จากรายงานของเปเม็กซ์หรือการปิโตรเลียมเม็กซิโกเปิดเผยว่า ราวครึ่งหนึ่งของน้ำมันได้เกิดลุกไหม้ขณะทะลักขึ้นมาสู่ผิวน้ำ อีกหนึ่งในสามระเหยกลายเป็นไอ เปเม็กซ์ยังได้ว่าจ้างบริษัทหนึ่งให้โปรยและฉีดพ่นสารกระจาย ซึ่งเป็นสารเพิ่มการกระจายตัวของน้ำมัน อันจะช่วยให้จัดการน้ำมันดิบได้ง่ายขึ้น ด้วยวิธีนี้ทำให้ช่วยลดผลกระทบจากคราบน้ำมันที่ไหลเข้าฝั่ง

นอกจากนี้ยังได้วางทุ่นกักน้ำมัน เพื่อดักจับคราบน้ำมัน และอุปกรณ์สกิมเมอร์ เพื่อเก็บคราบน้ำมัน จะได้ปกป้องอ่าวและลากูนของเกาะปะการังที่อยู่รายรอบ กระนั้น ระบบนิเวศและสัตว์ทะเลก็ได้รับผลกระทบไม่ใช่น้อย ปริมาณของปลาและและปลาหมึกลดลงไปถึง 50-70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนปูในพื้นที่เกือบจะสูญพันธุ์จากมหาพิบัติภัยครั้งนี้

4. เรือบรรทุกน้ำมันแอตแลนติก เอมเพรส เกิดชนกับเรือบรรทุกน้ำมันอีกลำหนึ่งนอกชายฝั่งของตรินิแดดและโทเบโก บริเวณหมู่เกาะเวสต์ อินดีส์ เมื่อกลางปี 2522 ระหว่างเกิดพายุใหญ่พัดถล่มทะเลแคริบเบียน ทำให้น้ำมันดิบรั่วไหลมากเป็นประวัติการณ์ถึง 88.3 ล้านตัน หลังจากนั้นเรือบรรทุกน้ำมันแอตแลนติก เอมเพรส ได้เกิดไฟไหม้จนจมสู่ใต้ท้องทะเล มีลูกเรือเสียชีวิต 26 คน ขณะที่คราบน้ำมันเกือบ 90 ล้านตัน ลอยอยู่กลางทะเล

การทำความสะอาดคราบน้ำมันซึ่งเกิดเพลิงลุกไหม้ด้วยนั้น ใช้การโปรยสารกระจายเพื่อให้กำจัดน้ำมันได้ง่ายขึ้น โชคดีที่บริเวณชายฝั่งได้รับผลประทบน้อยมากจากอุบัติเหตุครั้งนี้

5. เกิดเหตุน้ำมันดิบที่บ่อน้ำมันแห่งหนึ่งในหุบเขาเฟอร์กานา หนึ่งในแหล่งขุดเจาะและกลั่นน้ำมันใหญ่ที่สุดของในอุซเบกิซสถาน ได้รั่วไหลเมื่อปี 2535 คิดเป็นปริมาณากถึง 87.7 ล้านตัน ถือเป็นการรั่วไหลของน้ำมันดิบบนผิวดินครั้งร้ายแรงที่สุด แต่ก็สร้างความเสียหายน้อยมาก เนื่องจากน้ำมันจะซึมสู่่พื้นดิน ทำให้ไม่ต้องลงแรงในการทำความสะอาดคราบน้ำมันเหล่านั้น

6. ระหว่างที่เกิดสงครามอิรัก-อิหร่าน เรือบรรทุกน้ำมันลำหนึ่งได้เกิดอุบัติเหตุชนแท่นขุดเจาะน้ำมันโนวรุซกลางอ่าวเปอร์เซียจนล้มเมื่อปี 2526 ทำให้น้ำมันดิบราว 80 ล้านแกลลอน ซึมจากใต้ทะเลสู่ผิวน้ำวันละประมาณ 1,500 บาร์เรล แต่เนื่องจากอยู่ในช่วงสงคราม กว่าจะซ่อมแซมแท่นขุดเจาะน้ำมันได้ต้องใช้เวลานานถึง 7 เดือน

ในส่วนของการทำความสะอาดคราบน้ำมันดิบ บริษัทนอร์ปอลของนอร์เวย์ใช้วิธีระเบิดและใช้อุปกรณ์สกิมเมอร์เพื่อเก็บคราบน้ำมันไปเก็บในภาชนะที่เตรียมไว้บนเรือ

7. ระหว่างที่เรือบรรทุกน้ำมันเอบีที ซัมเมอร์ ที่บรรทุกน้ำมันเต็มลำเรือกำลังมุ่งหน้าไปยังเมืองรอตเทอร์ดาม ในเนเธอร์แลนด์ ได้เกิดระเบิดระหว่างแล่นห่างจากชายฝั่งอังโกลา 900 ไมล์ เมื่อปี 2534 ทำให้น้ำมันดิบทั้งลำเรือราว 80 ล้านแกลลอน ไหลลงสู่ทะเลกินบริเวณกว้างถึง 80 ตารางไมล์ ก่อนที่เรือจะระเบิดครั้งสุดท้ายก่อนจมลงสู่ทะเลลึกในอีก 3 วันให้หลัง

ไม่มีใครยืนยันได้ว่ามีน้ำมันไหลลงสู่ทะเลหรือถูกเผาไหม้จำนวนเท่าใด โชคดีที่เกิดห่างจากชายฝั่งมาก ประกอบกับเกิดคลื่นลมแรงทำให้น้ำมันถูกพัดกระจัดกระจาย จนแทบไม่ส่งผลต่อระบบนิเวศ

8. เรือบรรทุกน้ำมันคาสติลโย เดอ เบลล์เวอร์ ซึ่งบรรทุกน้ำมันถึง 78.5 ล้านแกลลอน เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้นอกอ่าวซัลดานฮา ในแอฟริกาใต้ เมื่อปี 2521 แต่ก็ถูกปล่อยให้ลอยเท้งเต้งนอกชายฝั่งกระทั่งหักเป็นสองท่อนแล้วจมสู่ใต้ท้องทะเลลึกพร้อมน้ำมันที่เหลืออีกราว 110,000 ตัน จึงแทบไม่ส่งผลกระทบต่อนิเวศ ส่วนการทำความสะอาดนั้นใช้วิธีโปรยสารกระจายเพื่อช่วยให้จัดการน้ำมันได้ง่ายขึ้น

9. เรือบรรทุกน้ำมันขนาดยักษ์ อาโมโค คาดิซ ของบริษัทอาโมโค เกิดอุบัติเหตุชนกับหินโสโครกท่ามกลางพายุร้ายและทะเลคลั่ง ห่างจากฝั่งแคว้นบริตตานี ประเทศฝรั่งเศส ราว 5 กม. เมื่อกลางเดือน มี.ค. 2521 ระหว่างบรรทุกน้ำมันจำนวน 1.6 ล้านบาร์เรล จาก ซาอุดีอาระเบีย มุ่งหน้าสู่เนเธอร์แลนด์ ทำให้ตัวเรือหักเป็นสองท่อน น้ำมันดิบจำนวน 1.6 ล้านบาร์เรล รั่วไหลสู่ทะเล สร้างความเสียหายให้กับชายฝั่งฝรั่งเศสเป็นวงกว้าง การทำความสะอาดคราบน้ำมันประสบความล้มเหลวเนื่องจากสภาพอากาศเลวร้ายและคลื่นลมรุนแรง การโปรยสารกระจายช่วยให้จัดการน้ำมันได้ง่ายขึ้นไม่ถึง 3,300 ตัน ด้วยซ้ำไป นับเป็นภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงที่สุดของประเทศฝรั่งเศส ทำลายอุตสาหกรรมประมงและการเลี้ยงหอยออสเตอร์ในพื้นที่อย่างสิ้นเชิง

10. เรือบรรทุกน้ำมันโอเดสซีย์ของไลบีเรียซึ่งบรรทุกน้ำมันจากทะเลเหนือจนเต็มลำ เกิดอุบัติเหตุเรือหักกลางลำก่อนจะจมสู่ใต้ทะเลเมื่อปี 2521 ห่างจากชายฝั่งโนวาสโกเทีย ประเทศแคนาดา ราว 700 ไมล์ทะเล มีน้ำมันดิบรั่วไหลราว 43 ล้านแกลลอน แต่เนื่องจากอยู่ห่างจากชายฝั่งมาก คราบน้ำมันจึงพัดกระจัดกระจายโดยไม่ต้องมีปฏิบัติการเก็บกวาดคราบน้ำมันแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี สำนักรวบรวมสถิติโลกบางสำนักได้รวมเหตุการณ์อีกหลายเหตุการณ์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของมหาอุบัติภัยจากน้ำมันดิบรั่วไหลที่คนจดจำไม่มีวันลืม ประกอบด้วย

11. เรือบรรทุกน้ำมันเอ็กซอน วัลเดซ ของบริษัทเอ็กซอน โมบิล หรือเอสโซ ซึ่งบรรทุกน้ำมันราว 750,000 บาร์เรล จากอลาสกามุ่งหน้าไปยังแคลิฟอร์เนีย แต่เรือเกิดอุบัติเหตุชนกับแนวหินปะการังบริเวณช่องแคบพรินซ์ วิลเลียม นอกชายฝั่งอลาสกา เมื่อปี 2522 อันเนื่องจากความประมาทของกัปตันเรือ ทำให้มีน้ำมันดิบรั่วออกมา 250,000-750,000 บาร์เรล หรือบางกระแสว่ามากถึง 10.8 ล้านบาร์เรล ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้อาจจะไม่ใช่อุบัติเหตุน้ำมันรั่วไหลครั้งร้ายแรงที่สุดในโลก แต่เนื่องจากเกิดอุบัติเหตุขึ้นที่บริเวณช่องแคบพรินซ์ วิลเลียม ที่สามารถเข้ามาได้เฉพาะทางเฮลิคอปเตอร์และทางเรือเท่านั้น จึงสร้างความเสียหายบริเวณพื้นที่ชายฝั่งเป็นแนวยาว 2,100 กม. ครอบคลุมพื้นที่ทางทะเลราว 10,000 ตร.กม. ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลทั้งปลา แมวน้ำ และนกทะเลจำนวนมาก

12. เรือบรรทุกน้ำมันเพรสทีจ หนัก 77,000 ตัน เผชิญกับพายุหนักเมื่อปลายปี 2545 แต่รัฐบาลสเปน ฝรั่งเศส และโปรตุเกส ปฏิเสธไม่ยอมให้เทียบท่า เพราะกลัวว่าเรือจะล่ม แต่สุดท้ายเรือลำนี้ก็ล่มจริงๆ จากอุบัติเหตุน้ำมันถังหนึ่งจากทั้งหมด 12 ถัง ได้เกิดลุกไหม้กระทั่งเรือหักเป็นสองท่อนและจมลงสู่ก้นมหาสมุทร คราบน้ำมันจำนวน 20 ล้านแกลลอน ได้ลอยเป็นแพยาว สร้างความเสียหายให้กับชายฝั่งของสามประเทศ ซึ่งต้องช่วยกันทำความสะอาดคราบน้ำมันดิบนั้นด้วยอุปกรณ์ควบคุมและกำจัดคราบน้ำมันดิบ ทั้งด้วยวิธีวางทุ่นกักน้ำมันเพื่อดักจับคราบน้ำมัน และใช้อุปกรณ์สกิมเมอร์เพื่อนำคราบน้ำมันไปเก็บในภาชนะที่เตรียมไว้บนเรือ ตลอดจนอุปกรณ์ดูดซับน้ำมันอื่นๆ ทั้งที่ทำจากวัสดุสังเคราะห์ และที่มาจากธรรมชาติ

เตือนระวังข้อมูลไม่จริง

003_resize

แม้ว่า ปตท. และรัฐบาลจะแถลงว่าปริมาณน้ำมันดิบที่รั่วไหลมีแค่ 50,000-70,000 ลิตร แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ได้หาหลักฐานมาหักล้างจนมีแนวโน้มน่าเชื่อถือว่าปริมาณน้ำมันดิบที่รั่วไหลนั้นสูงกว่าที่แถลงไว้มาก

ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการจับผิดตัวเลขของบริษัทน้ำมันที่มักจะให้ข้อมูลต่ำกว่าความเป็นจริงเพื่อหวังผลทางจิตวิทยาและเพื่อลดความสูญเสียที่เกิดขึ้น ดังที่มีการจับโกหกบริษัทบีทีของอังกฤษที่อ้างว่ากำจัดคราบน้ำมันที่ชายฝั่งเม็กซิโกแล้วเสร็จแล้ว แต่ในความเป็นจริงยังมีปัญหาตกค้างอีกมาก

ก่อนหน้านี้ เมื่อปีที่แล้ว องค์การนิรโทษกรรมสากลหรือแอมเนสตี อินเตอร์เนชันแนล ก็ได้จับผิดและเปิดโปงผลการสอบสวนปัญหาการรั่วไหลของคราบน้ำมันหลายหมื่นบาร์เรลที่เมืองโบโด บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์เมื่อปี 2551 ของบริษัทเชลล์ บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ว่ามีข้อมูลไม่เที่ยงตรงทั้งในเรื่องของวันเวลาที่เกิดเหตุและปริมาณน้ำมันดิบที่รั่วไหลออกมา เพราะผลการพิสูจน์ที่หน่วยงานอิสระของแอมเนสตี อินเตอร์เนชันแนล และศูนย์เพื่อสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และการพัฒนา ได้รับพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นตามมานั้นเลวร้ายกว่าที่บริษัทเชลล์เคยยอมรับไว้มาก ประเมินปริมาณความเสียหายต่ำกว่าความจริงมาก โดยเฉพาะในส่วนของปริมาณน้ำมันที่รั่วไหล โดยรายงานการสอบสวนอย่างเป็นทางการของเชลล์อ้างว่ามีการรั่วไหลแค่ 1,640 บาร์เรล แต่จากการประเมินผลจากหน่วยงานอิสระพบว่าปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลทั้งหมดตลอดช่วง 72 วัน น่าจะมากถึง 103,000-311,000 บาร์เรล

นอกจากนี้ เชลล์ยังยืนกรานเป็นกระต่ายขาเดียวว่าการรั่วไหลของคราบน้ำมันที่เมืองโบโด มาจากการก่อวินาศกรรม แต่จากการตรวจสอบของคณะกรรมการอิสระได้ข้อสรุปว่ามาจากความบกพร่องและขาดความน่าเชื่อถือ ท้ายสุดเชลล์ก็ยอมรับในเวลาต่อมาว่าสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการปฏิบัติงานที่ผิดพลาดของบริษัทเอง

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเตือนว่า จากตัวอย่างที่เกิดขึ้น ทำให้ไม่ปักใจเชื่อข้อมูลของบริษัทน้ำมันเวลาแถลงถึงผลเสียหายที่เกิดขึ้น รวมไปถึงการประเมินผลกระทบทางนิเวศ เพราะมักจะต่ำกว่าเป็นจริงมาก ทางที่ดีจะต้องตั้งคณะกรรมการอิสระเข้ามาตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อประโยชน์ของชาวบ้านและประเทศชาติ

ปตท. แถลงข่าวสดจากสนาม

ปตท.เปรียบเทียบภาพถ่าย
ปตท. เปรียบเทียบภาพถ่าย

หลังจากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วในทะเลนอกชายฝั่งมาบตาพุด จังหวัดระยองของบริษัทพีทีที กลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC บริษัทในกลุ่มปตท. เมื่อเช้าวันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา 6 วันหลังเหตุการณ์ วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม2556 นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด พร้อมด้วยนายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ได้ออกมาแถลงข่าวเป็นครั้งแรกที่ห้องประชุมอาคาร 1 ชั้น 6 เวลา 15.00 น. พร้อมสื่อมวลชนจำนวนมากที่มารอฟังการแถลงข่าวครั้งนี้

ด้วยข้อมูล ภาพถ่าย ที่โพสต์ขึ้นโซเชียลมีเดียมากมาย และข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันภาพที่นำมาโพสต์หรือนำมาเผยแพร่ที่ต่อๆกัน อาจจะไม่ใช่ภาพที่เป็นจริงในปัจจุบัน จึงทำให้การแถลงข่าวครั้งนี้เป็นคล้ายบรรยากาศสดจากสนาม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในงานแถลงข่าว ทางบริษัท ปตท. ได้จัดเตรียมอุปกรณ์การสื่อสารที่ทันสมัย อาทิ จอมอนิเตอร์ขนาดใหญ่รอบห้อง จากนั้นนายไพรินทร์เริ่มแถลงข่าวโดยกล่าวคำขอโทษและแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าว และยืนยันว่าจะดำเนินการแก้ไขสถานการณ์อย่างจริงจัง พร้อมเปิดวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ถ่ายทอดสดจากอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง เพื่อให้สื่อมวลชนเห็นว่าขณะนี้หาดทรายและน้ำทะเลใกล้กลับคืนสู่สภาพปกติแล้ว

1 สิงหาคม2556 นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด พร้อมด้วยนายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ได้ออกมาแถลงข่าวเป็นครั้งแรก
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2556 นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด(ขวา)และนายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย(ซ้าย)
ได้ออกมาแถลงข่าวเป็นครั้งแรก

ปตท. แถลงข่าวน้ำมันรั่ว

ในระหว่างการถ่ายทอดสด นายไพรินทร์ได้บอกให้เจ้าหน้าที่ของบริษัทที่อยู่บนชายหาดอ่าวพร้าวเดินเข้ามาในกล้องสดๆ เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นการถ่ายทอดสดจริงๆ นอกจากนี้ยังสามารถดูภาพถ่ายทอดสดได้ตลอดเวลาผ่านทางเว็บไซต์ www.pttgcgroup.com พร้อมขอความเห็นใจจากสื่อมวลชนที่นำเสนอแต่ภาพที่ไม่ตรงกับความจริง จากนั้นได้นำเสนอเหตุการณ์ตั้งแต่เกิดเหตุจนถึงปัจจุบัน พร้อมแสดงรายละเอียดและภาพประกอบต่างๆ

นายไพรินทร์กล่าวต่อว่า ขณะที่เรือบรรทุกน้ำมันสัญชาติกรีซ กำลังถ่ายน้ำมันดิบผ่านทุ่นรับน้ำมันดิบไปยังโรงกลั่นได้ประมาณ 30 นาที ท่อส่งขนาด 16 นิ้ว ซึ่งเป็นท่อแบบอ่อนที่น้ำไม่สามารถเข้าไปได้เกิดการรั่วซึมขึ้น เมื่อเกิดเหตุวาล์วอัตโนมัติได้ตัดระบบการส่งน้ำมันโดยทันที และมีน้ำมันที่หลงเหลือในท่อหลุดออกมาประมาณ 50,000 ลิตร โดยท่อดังกล่าวเป็นเหล็กอย่างดีมีอายุการใช้งาน 5 ปี แต่บริษัทจะเปลี่ยนทุก 2 ปี เปลี่ยนครั้งล่าสุดเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้ทางบริษัทก็ยังสงสัยอยู่ว่าเกิดเหตุการณ์รั่วขึ้นมาได้อย่างไร

ภาพถ่ายดาวเทียมน้ำมันรั่ว

เรื่องภาพถ่ายผ่านดาวเทียมรูปคราบน้ำมันบริเวณกว้าง ที่ทำให้เกิดกระแสในสังคมสงสัยถึงปริมาณน้ำมันจริงๆ ที่รั่วไหล ว่าน่าจะมีจำนวนมากกว่าที่รายงานออกมา นายไพรินทร์ปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง เพราะเมื่อน้ำมันผสมกับน้ำทะเลแล้วน้ำมันจะเกิดการกระจายตัวออกในบริเวณกว้าง ทำให้ภาพที่ถ่ายออกมาเป็นอย่างที่เห็น

ส่วนสารเคมีที่ใช้ในการกำจัดน้ำมันเป็นสารที่ทำให้น้ำมันแตกตัวและจมลงเป็นอาหารของจุลินทรีย์ในทะเลและย่อยสลายไปในที่สุด โดยสารเคมีดังกล่าวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้รับมาตรฐานจากกรมควบคุมมลพิษและมาตรฐานสากล โดยจะต้องขออนุญาตจากกรมควบคุมมลพิษทุกครั้งที่ใช้ ส่วนเรื่องภาพถ่ายคราบน้ำมันบริเวณกว้างทางตอนเหนือเกาะเสม็ดของ Gistda ในวันที่ 29 กรกฎาคม นายไพรินทร์ตอบว่าเป็นภาพถ่ายที่แสดงความแตกต่างของอุณหภูมิบริเวณรอบข้างและไม่มีน้ำมันในบริเวณนั้น หรือถ้ามีก็เป็นเพียงแค่ฟิล์มบางๆ เท่านั้น และบอกด้วยว่าขณะเดินทางไปที่เกาะก็ผ่านบริเวณดังกล่าว พบว่าไม่มีคราบน้ำมันใดๆ ทั้งสิ้น (อ่านรายละเอียดเรื่องอุปกรณ์ที่ใช้กำจัดคราบน้ำมัน)

นายไพรินทร์กล่าวว่า หลังจากกำจัดน้ำมันจนเสร็จสิ้นด้วยวิธีการข้างต้นไปแล้ว ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปสำรวจและถ่ายภาพสัตว์และปะการังในทะเลว่าไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เมื่อช่วงค่ำของวันอาทิตย์ที่ 28 ก.ค. ได้รับรายงานว่ามีน้ำมันส่วนหนึ่งหลุดรอดเข้าไปบริเวณอ่าวพร้าวบนเกาะเสม็ดที่มีความยาว 300 เมตร โดยที่หาดอื่นบนเกาะไม่ได้รับผลกระทบทั้งที่เกาะเสม็ดมีความยาว 2 กิโลเมตร ซึ่งก็ยังเป็นที่สงสัยอยู่ว่าน้ำมันส่วนนี้หลุดรอดมาได้อย่างไร

“เรื่องการกำจัดคราบน้ำมันบนอ่าวพร้าวจะใช้วิธีดูดซับน้ำมันด้วยกระดาษ และตักทรายบางส่วนที่ปนเปื้อนออกไปทิ้ง ส่วนคราบน้ำมันที่เกาะอยู่บนก้อนหิน จะใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงฉีดทำความสะอาด และขอเวลาอีก 2-3 วัน เพื่อทำให้หาดกลับมาเป็นเหมือนเดิม”

พร้อมกับตอบคำถามที่ว่า ทำไมบริษัทถึงทำงานล่าช้า เนื่องจากการขนย้ายเครื่องจักรในการกำจัดคราบมีความลำบากเพราะทางกรมอุทยานไม่อนุญาตให้สร้างถนนบนเกาะเสม็ดและมีทางลาดชันเยอะ

ด้านการประเมินความเสียหาย บริษัทยอมรับว่าส่งผลกระทบกับการท่องเที่ยวและผู้คนในแถบนั้นแน่นอน เพียงแต่ยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน มีแต่ตัวเลขอ้างอิงจากบริษัท Morgan Stanley ที่คาดการณ์ความเสียหายไว้ประมาณ 8-65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ทาง PTTGC ได้ทำกรมธรรม์ไว้ในวงเงิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หากมีค่าเสียหายที่เกินจากวงเงินดังกล่าวทางบริษัทก็ยินดีจะชดใช้ค่าเสียหาย โดยจังหวัดระยองจะเป็นตัวกลางในการร้องทุกข์ของผู้เสียหาย หากมีการเสียหายเกิดขึ้นจริงและมีหลักฐานทางบริษัทก็ยินดีจะชดใช้ค่าเสียหายให้เลยโดยไม่ต้องรอประกัน เนื่องจากอาจจะเกิดความล่าช้าได้ นอกจากนี้ยังกล่าวถึงนักท่องเที่ยวที่จะมาเกาะเสม็ดว่าไม่ต้องเป็นห่วง เนื่องจากหาดอื่นๆ บนเกาะไม่ได้รับผลกระทบ และอ่าวพร้าวก็กำลังกลับคืนสู่สภาพเดิม ส่วนรีสอร์ทที่อยู่บนอ่าวพร้าว ทางบริษัทได้ทำการจองห้องไว้เต็มจนถึงสิ้นเดือนแล้ว