ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สตง. คาใจดึงดีเอสไอสอบ สคร. เลือกมูลนิธิ IRDP ประเมินผลงานรัฐวิสาหกิจ ขัดโปร่งใส กำกับเอง-ตรวจสอบเอง

สตง. คาใจดึงดีเอสไอสอบ สคร. เลือกมูลนิธิ IRDP ประเมินผลงานรัฐวิสาหกิจ ขัดโปร่งใส กำกับเอง-ตรวจสอบเอง

29 กันยายน 2013


จากกองเล็กๆสังกัดกรมบัญชีกลาง “สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ” (สคร.) ถูกยกฐานะเป็นหน่วยงานระดับกรมเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2545 ทำหน้าที่กำกับ ดูแล และติดตามประเมินผลทำงานรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล

ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมาไม่ค่อยมีข่าวมากนัก จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ มีเจ้าหน้าที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มาสอบปากคำข้าราชการ สคร. ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการคัดเลือกบริษัทประเมินผลรัฐวิสาหกิจ ทำเอาข้าราชการที่นี่เกิดอาการหวาดหวั่นกันไปตามๆ กัน

จัดกลุ่มรัฐวิสาหกิจเข้าสู่ระบบการประเมินผล

ทั้งนี้ เกิดจากสัญญาว่าจ้างบริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น (TRIS) ที่ปรึกษาประเมินผลงานรัฐวิสาหกิจ 55 แห่ง สิ้นสุดเดือนกันยายน 2555 สคร. จัดให้มีการประกวดราคาว่าจ้างบริษัทมาประเมินผลงานรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ 19 ราย ที่จะต้องเข้าสู่ระบบการประเมินผลรูปแบบใหม่ตามนโยบายของกระทรวงการคลัง (State Enterprise Performance Appraisal) หรือที่เรียกว่า “SEPA” ขณะนั้นมีบริษัทที่ยื่นซองเข้ามา 3 ราย ได้แก่ มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.), มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์กรภาครัฐ (IRDP) และ บริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น (TRIS)

รัฐวิสาหกิจ

ผลการประกวดราคาครั้งนั้น มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์กรภาครัฐ (IRDP) เป็นผู้ชนะประมูล หลังจากทำสัญญาว่าจ้างมูลนิธิ IRDP เสร็จเรียบร้อย สคร. ได้ส่งเรื่องให้ สตง. ตรวจตามระเบียบราชการ ปรากฏว่า สตง. ชี้ประเด็นว่า เหตุใดคณะกรรมการคัดเลือกของ สคร. ให้คะแนน IRDP ชนะ สวค. และทริสอย่างขาดลอย ทั้งๆ ที่มูลนิธิ IRDP เป็นบริษัทประเมินผลน้องใหม่ ไม่เคยมีประสบการณ์ และไม่มีผลงานประเมินผลรัฐวิสาหกิจมาก่อน สคร. มีหลักเกณฑ์การให้คะแนนอย่างไร

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest) หากดู “โครงสร้างมูลนิธิ IRDP” มีคณะกรรมการ 7 คน มีผู้บริหารระดับสูงกระทรวงการคลัง ซึ่งมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ นั่งเป็นกรรมการ 4 คน ได้แก่ นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานบอร์ด, นายประสงค์ พูนธเนศ ผู้อำนวยการ สคร., นางพรรณขนิตตา บุญครอง รองผู้อำนวยการ สคร., นางญาใจ พัฒนสุขวสันต์ รองผู้อำนวยการ สคร. ส่วนกรรมการที่เหลือ 3 คน คือ นายสมพล เกียรติไพบูลย์, นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก ส่วน ดร.วรภัทร โตธนะเกษม เกษียณจากทริสนั่งในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ มูลนิธิ IRDP

รายได้ IRDP

สำหรับแหล่งที่มีของรายได้ มูลนิธิ IRDP มี 3 ช่องทาง คือ 1. รับจ้างประเมินผลงานรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ 19 แห่ง 2. จัดหลักสูตรฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของรัฐ ล่าสุดเปิดหลักสูตร “ก้าวสู่ CEO รุ่นที่ 1” เก็บค่าเล่าเรียนกับผู้เข้ารับการอบรม 98, 000 บาทต่อราย มีผู้เข้ารับการอบรมทั้งหมด 60 คน และ 3. มีรายได้จากการรับจ้างทำวิจัยและให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานรัฐ ผลงานที่ผ่านมาคือ เป็นที่ปรึกษา สคร. ยกร่างพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานในกำกับดูแลของ สคร.

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า ก่อนที่จะมีการจัดตั้งมูลนิธิ IRDP มีอดีตผู้อำนวยการ สคร. เคยทักท้วง ไม่เห็นด้วยที่จะให้ สคร. ตั้งมูลนิธิที่มีผู้บริหารระดับสูงของ สคร. นั่งเป็นกรรมการ หารายได้กับหน่วยงานในกำกับดูแล ถือว่ามีผลประโยชน์ขัดแย้ง การประเมินผลงานรัฐวิสาหกิจ ควรใช้บริการหน่วยงานเป็นกลาง ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียหรือให้คุณให้โทษกับรัฐวิสาหกิจที่ถูกประเมิน อย่างเช่น สวค. หรือทริสซึ่งไม่มีอำนาจในการอนุมัติแผนการลงทุนหรือแผนฟื้นฟูของรัฐวิสาหกิจ

หน่วยงานที่ถูกประเมิน

“ตอนนี้มูลนิธิ IRDP ขาดนักวิเคราะห์เขียนเปเปอร์ประเมินผลรัฐวิสาหกิจทั้ง 19 แห่ง ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่างานประเมินผลงานรัฐวิสาหกิจเป็นเรื่องยาก รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งมีลักษณะเฉพาะ และมีความซับซ้อน ต่อให้จบปริญญาโท ปริญญาเอก ถ้าไม่ได้เรียนทางด้านนี้มาโดยตรง หรือไม่มีประสบการณ์ ไม่สามารถเขียนเปเปอร์ประเมินผลได้ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีนักวิเคราะห์ลาออกและเปิดรับสมัครนักวิเคราะห์อย่างต่อเนื่อง ทาง สคร. แก้ปัญหาโดยการส่งข้าราชการ สคร. ที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจเป็นรายสาขา (account officer) ไปช่วยมูลนิธิ IRDP เขียนเปเปอร์ โดยไม่ได้ค่าตอบแทนใดๆ บังเอิญข้าราชการที่ถูกส่งไปช่วยงานมูลนิธิไปทราบข่าวว่านักวิเคราะห์ของมูลนิธิรับเงินเดือนละ 1 แสนบาท มากกว่าเงินเดือนข้าราชการ 3-4 เท่าตัว แต่ทำงานไม่ได้ตามเป้าหมาย จึงเกิดความไม่พอใจ บ่นกับเพื่อนร่วมงาน ข่าวหลุดไปถึงผู้บริหารใน สคร. ข้าราชการรายนั้นจึงถูกเรียกมาว่ากล่าวตักเตือน” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า หลังจากที่ สคร. ถูก สตง. และดีเอสไอมาตรวจสอบ สถานการณ์ล่าสุดคือ นักวิเคราะห์มูลนิธิ IRDP ลาออกเกือบหมด พนักงานที่เหลืออยู่ส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารระดับสูงกับพนักงานฝ่ายธุรการ ยังไม่ทราบว่าจะไปจ้างนักวิเคราะห์ที่ไหนมาเขียนเปเปอร์ประเมินผลรัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ยังมีรัฐวิสาหกิจหลายแห่งไม่จ่ายเงินค่าจ้างให้กับมูลนิธิ IRDP เพราะไม่พอใจผลงานการประเมิน

เดิมที สตง. จะส่งเรื่องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่เนื่องจาก ป.ป.ช. มีงานจำนวนมาก จึงส่งข้อมูลไปให้ดีเอสไอ ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าดีเอสไอจะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่

ผู้อำนวยการ สคร. แจงทุกข้อกล่าวหา

หลังเกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ สตง. และดีเอสไอ เข้าตรวจกระบวนการคัดเลือกบริษัทประเมินผลรัฐวิสาหกิจของ สคร. ผู้สื่อข่าวได้สอบถามนายประสงค์ พูนธเนศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)ว่ากรณีที่ สคร. เป็นหน่วยงานกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจถูกกล่าวหาว่าจัดตั้งมูลนิธิขึ้นมารับงานรัฐวิสาหกิจประเมินผลงาน ถือว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนขัดกับหลักธรรมาภิบาลหรือไม่

นายประสงค์ชี้แจงว่า “ไม่ขัดกับหลักธรรมาภิบาล และไม่ถือว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะ สคร. ไม่ได้เป็นเจ้าของมูลนิธิ ไม่มีผู้ถือหุ้น เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร แต่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานมูลนิธิ คล้ายกับมูลนิธิของภาคเอกชนทั่วๆ ไป โครงสร้างองค์กรไม่แตกต่างจาก สวค. และทริส โดยมูลนิธิไม่ได้รับงานเฉพาะรัฐวิสาหกิจเท่านั้น ภาคเอกชนก็รับ แต่ภารกิจหลักคือประเมินผลรัฐวิสาหกิจ 2 ปีผ่านมา คาดว่าจะมีรายได้ 14 ล้านบาท แต่ตอนนี้เพิ่งได้รับเงินจริงแค่ 2 ล้านบาท ข้าราชการที่ไปนั่งเป็นบอร์ดรับเบี้ยประชุมครั้งละ 1,000 บาท และที่สำคัญ ไม่มีผลประโยชน์อื่นใด”

ทั้งนี้ ที่มาของมูลนิธิ IRDP นั้น เดิมที สคร. ไปจ้าง สวค. มาประเมินผลงานรัฐวิสาหกิจ ต่อมามีการจัดตั้งบริษัททริส จึงจ้างทั้ง สวค. และทริสมาประเมินผลรัฐวิสาหกิจ แต่ระยะหลังไม่ได้จ้าง สวค. เพราะ สวค. ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อประเมินผลรัฐวิสาหกิจ จึงเหลือทริสเพียงรายเดียวที่รับงานประเมินผลรัฐวิสาหกิจ 55 แห่ง ต่อมาปลัดกระทรวงการคลังมีความเห็นว่า สคร. ควรสร้างบริษัทประเมินผลรัฐวิสาหกิจรายใหม่ขึ้นมาเพื่อเป็นตัวเปรียบเทียบ

ก่อนที่จะมีการจัดตั้งมูลนิธิ IRDP สคร. ได้มีการจัดกลุ่มรัฐวิสาหกิจตามคุณภาพแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่ม A B C D ต่อมามีนโยบายจากกระทรวงการคลังมาว่าให้นำรัฐวิสาหกิจกลุ่ม A และ B จำนวน 19 แห่ง เข้าสู่ระบบการประเมินผลแบบใหม่ (SEPA) ส่วนรัฐวิสาหกิจที่คุณภาพไม่ถึงเกณฑ์ กลุ่ม C และ D ให้ใช้ระบบการประเมินผลแบบเดิม

“การจัดซื้อจัดจ้างบริษัทประเมินผลรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 กลุ่ม สคร. จัดให้มีการประกวดราคา โดยเราไม่ได้คัดเลือกรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่แล้วโยนงานไปให้ IRDP หลังจากที่มูลนิธิ IRDP ผู้ชนะการประกวดราคา ก็ทำสัญญาว่าจ้างและส่งให้ สตง. ตรวจสอบตามระเบียบราชการ ปรากฏว่ามีคนไปร้องเรียนดีเอสไอ ขอให้เข้ามาตรวจสอบการประกวดการราคา โดยเฉพาะกรณีการให้คะแนนมูลนิธิ IRDP เป็นผู้ชนะการประมูล ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกมีรายละเอียดชัดเจนให้การต่อ สตง. และดีเอสไอไปหมดแล้ว ซึ่งผมไม่คิดว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน โครงสร้างของมูลนิธิ IRDP มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานเหมือนกับ สวค. และ TRIS” นายประสงค์กล่าว

นายประสงค์ พูนธเนศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)
นายประสงค์ พูนธเนศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)

กรณีที่ สตง. ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดคณะกรรมการคัดเลือกให้คะแนน IRDP ชนะ สวค. และทริสทั้งๆ ที่ไม่มีประสบการณ์หรือผลงาน นายประสงค์ชี้แจงว่า “จะพูดว่าไม่มีประสบการณ์ก็ไม่ถูกนัก ดร.วรภัทรเป็นผู้วางรากฐานบริษัท ทริส มา เป็นกรรมการผู้จัดการมูลนิธิ IRDP ส่วนรองกรรมการผู้จัดการทั้ง 2 คนก็มาจากทริส พนักงานส่วนใหญ่ที่ทำงานที่มูลนิธิ IRDP ก็มาจากทริสสามารถประเมินผลงานรัฐวิสาหกิจ ตอนที่ดร.วรภัทรทำงานอยู่ที่ทริส รับเงินเดือนมากกว่าที่นี่มาก หลังจากที่ ดร.วรภัทรปลดเกษียณ ผมก็ไปขอร้องให้มาช่วยงานที่นี่”

ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่ามีผู้บริหารระดับสูง สคร. ให้ข้าราชการ สคร. มาช่วยงานมูลนิธิ IRDP “ผมขอปฏิเสธว่าไม่จริง รองกรรมการผู้จัดการของ IRDP ทั้ง 2 คนมาจากทริส สามารถที่จะเขียนเปเปอร์ประเมินผลงานของรัฐวิสาหกิจได้อยู่แล้ว แต่นักวิเคราะห์บางคนอาจจะทำไม่ได้ ก็ต้องพัฒนากันไป ขณะนี้เราก็จ้างที่ปรึกษามาช่วยฝึกอบรมพนักงาน ปัญหาของที่มูลนิธิ IRDP คือ พนักงานเข้ามาแล้วก็ลาออกไป”

“ขณะที่ สคร. เป็นหน่วยงานกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ก็ต้องพัฒนาข้าราชการของเราเหมือนกัน ทำไมต้องยืมจมูกของมูลนิธิ IRDP หรือทริสหายใจ คนจะเก่งต้องลงภาคสนามจริง ผมจึงส่งข้าราชการ สคร. ไปช่วยกำกับดูแลงานในมูลนิธิ IRDP ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การประเมินของ สคร. แต่ไม่ได้ส่งให้ไปทำงานแทนนักวิเคราะห์ที่นั่น ข้าราชการที่ สคร. ส่วนใหญ่มีฐานะดี การศึกษาสูง ไม่เคยถูก สตง. และดีเอสไอตรวจสอบจึงกลัว ผมก็บอกข้าราชการ สคร. ว่า อย่าท้อ เราไม่มีผลประโยชน์อะไร มูลนิธิ IRDP มีรายได้จากการประเมินผลรัฐวิสาหกิจ 19 แห่งปีละ 14 ล้านบาท แต่มีรายจ่ายเดือนละ 2 ล้านบาท ดังนั้น เพื่อความอยู่รอดของมูลนิธิก็ต้องไปรับงานภายนอก เช่น จัดสัมมนา รับทำงานวิจัย สคร. ไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ เงินก็ไม่ได้ แต่เราอยากมีตัวเปรียบเทียบ”

ตอนนี้ตนได้หารือกับ สตง. และดีเอสไอเรียบร้อยแล้ว เดิมมีคนไปร้องเรียนว่า สคร. ไปจ้างมูลนิธิ IRDP โดยไม่เปิดประมูล แต่ข้อเท็จจริงคือ เปิดประมูล และมีการเปิดเผยข้อมูลทุกอย่าง ยืนยัน สคร. ไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ จากมูลนิธิ สักบาทสักสลึงก็ไม่มี