ThaiPublica > เกาะกระแส > ดีเอสไอส่ง ป.ป.ช.ไต่สวนปม “ฮั้วประมูล” โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

ดีเอสไอส่ง ป.ป.ช.ไต่สวนปม “ฮั้วประมูล” โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

20 เมษายน 2021


พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ

ดีเอสไอสรุปสำนวนส่ง ป.ป.ช.ไต่สวน “ผู้ว่า รฟม.-คณะกรรมการคัดเลือก ม.36” กรณีแก้ไข TOR โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – สุวินทวงศ์ เข้าข่าย พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือไม่?

ตามที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา อุปนายกและเลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ปฏิบัติหน้าที่นายกสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นเรื่องร้องขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)พิจารณารับกรณีกล่าวหาว่ามีการกระทำความผิดทางอาญาของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ/หรือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในโครงการการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเอกสารประกวดราคาใหม่ (TOR) หลังจากที่มีการขายซองประกวดราคาไปแล้ว อันเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งน่าเชื่อว่าจะมีการกีดกันการเสนอราคา (ฮั้วประมูล) อันอาจเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 เป็นคดีพิเศษ ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 โดย พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มอบหมายให้ ร้อยตำรวจเอก สุรวุฒิ รังไสย์ ผู้อำนวยการกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ดำเนินการสืบสวนตามมาตรา 23/1 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 เพื่อพิจารณาว่าการกระทำดังกล่าวมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะรับสืบสวนสอบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 หรือไม่

กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงได้แสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานทั้งหลายเพื่อหารายละเอียด โดยให้บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้าให้ข้อมูลและรายละเอียดโดยทั่วถึง ประกอบด้วย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) , สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) , สำนักงบประมาณ , บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ “BTCS” , บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562

ภายหลังการสืบสวนเสร็จสิ้นแล้ว คณะพนักงานสืบสวนได้พิจารณาเห็นว่า “การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (16) ประกอบพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ หรือ หน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 3 ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่และความผิด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 11 และมาตรา 12 ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ในการไต่สวนและวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2561 มาตรา 4 และมาตรา 172 ประกอบพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 14 วรรคสอง (1)”

อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เห็นชอบให้ส่งสำนวนการสืบสวนและเอกสารประกอบรวม 1,940 แผ่น ไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการไต่สวนและวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2561

กรณีดังกล่าวเป็นคดีเกี่ยวข้องโดยตรงในการจัดทำโครงการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะของภาครัฐให้กับประชาชนของรัฐบาล และเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจอย่างกว้างขวาง เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งเมื่อการสืบสวนเสร็จสิ้นแล้ว กรมสอบสวนคดีพิเศษจะเผยแพร่ผลการดำเนินการให้กับประชาชนได้รับทราบความคืบหน้าต่อไป

อ่านแถลงข่าวกรมสอบสวนคดีพิเศษที่นี่

  • ไทม์ไลน์ข้อเท็จจริง กรณีพิพาทประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม”