ThaiPublica > คนในข่าว > “สุรชัย ตรงงาม” นักกฏหมายสาธารณะกับเส้นทางการต่อสู้คดีสิ่งแวดล้อม

“สุรชัย ตรงงาม” นักกฏหมายสาธารณะกับเส้นทางการต่อสู้คดีสิ่งแวดล้อม

7 กรกฎาคม 2013


นายสุรชัย ตรงงาม ทนายความคดีห้วยคลิตี้
นายสุรชัย ตรงงาม ทนายความคดีห้วยคลิตี้

คดีคลิตี้ที่ฟ้องร้องมานานร่วม 10 ปี กว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า กรมควบคุมมลพิษ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ต้องชดเชยค่าเสียหายให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสารตะกั่ว นับเป็นความพยายามที่สัมฤทธิ์ผลของผู้เกี่ยวข้องในการเรียกร้องความเป็นธรรม

หากคิดในแง่เม็ดเงินที่ได้รับการชดเชย อาจไม่สามารถเยียวยาชีวิตและแหล่งทำมาหากินที่เสียไปของประชาชนได้ ความเสียหายของทรัพยากรทั้งแหล่งน้ำและดิน เป็นการตัด “โอกาส” การใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยของประชาชนทั้งๆ ที่สามารถป้องกันได้ แต่กลับต้องสูญเสียไปเพราะการละเลยในหน้าที่ที่พึงรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งของภาคเอกชนที่เข้าไปตั้งโรงงาน และหน่วยงานของภาครัฐในการกำกับดูแลที่ดี

ด้วยภัยที่คุกคามอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาคประชาชนและหน่วยงานอาสา สร้างเครือข่ายพันธมิตรเพื่อเรียกร้องความโปร่งใส ความเป็นธรรม“Enlaw”เป็นอีกหนึ่งองค์กรกฏหมายที่บุกเบิกช่วยเหลือประชาชนในคดีสิ่งแวดล้อม “สุรชัย ตรงงาม” กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ซึ่งเป็นผู้ผลักดันให้คดีคลิตี้เดินมาสู่เส้นทางฝันที่เป็นจริง ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวไทยพับลิก้า ถึงขบวนการขับเคลื่อน แนวคิด และอุปสรรคในการต่อสู้

ไทยพับลิก้า : จุดเริ่มต้นของมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

งานนักกฎหมายเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่เดิมมักเริ่มมาจากงานด้านสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก ซึ่งผมเองก็ได้ร่วมงานในสมัยคุณสมชาย หอมลออ เป็นประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ และมีโอกาสได้ทำคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

ผมเข้าใจว่าองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมของไทยหรือองค์กรพัฒนาเอกชนเห็นว่า จำเป็นต้องมีองค์การด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมเข้ามาสนับสนุนการดำเนินการคดี ทำให้เกิดเอ็นลอว์ขึ้นมา เริ่มจากทำเพียงคนเดียวคือคุณสมชาย หอมลออ แล้วก็ค่อยๆ ขยายองค์กรมาเรื่อยๆ จนตอนนี้เรากลายเป็นมูลนิธิแล้ว

วัตถุประสงค์หลักๆ ขององค์กรคือ 1. ต้องการสร้างการใช้กฎหมายเพื่อเสริมความเข้มแข็งของภาคสังคมและชุมชน เพราะเราก็มีพื้นฐานความเชื่อว่า ความเข้มแข็งของชุมชนจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ผลทางกฎหมายก็เป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน

2. ผลทางกฎหมายทำให้พบปัญหาทางกฎหมายของประเทศไทยว่า มีการบังคับใช้มากน้อยเพียงใด มีอุปสรรคอะไรบ้าง และถ้ากฎหมายมีไม่เพียงพอ ก็จะต้องขับเคลื่อนนโยบายหรือแก้ไขกฎหมายอะไรบ้าง

3. คำพิพากษาหรือกระบวนการทางกฎหมายของศาล จะสร้างบรรทัดฐานการคุ้มครองสิทธิของชุมชน ทั้งการที่เราเข้าไปดำเนินการ และการสานต่อเรื่องปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมผ่านกลไกทางกฎหมาย เมื่อทำงานมาเรื่อยๆ ก็เกิดวัตถุประสงค์ที่ 4.การสร้างนักกฎหมายรุ่นใหม่ๆ มาทำงานด้านสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น

ไทยพับลิก้า : มาทำงานนี้เพราะความสนใจส่วนตัวหรือเหตุผลอื่น

งานด้านสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งของงานด้านสิทธิมนุษยชน เราคิดจากฐานตรงนี้ จริงๆ แล้วไม่ได้เริ่มจากความเชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม แต่เราเริ่มจากเรื่องความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายปกครองมากกว่ากฎหมายมหาชน แล้วจากความเชี่ยวชาญตรงนี้ก็เห็นว่าสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ และสามารถขับเคลื่อนโดยใช้กฎหมายปกครองได้ และการแก้ไขปัญหาไม่ได้จบอยู่ที่การเยียวยาเฉพาะรายที่ฟ้อง และอาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายหรือระเบียบที่มีผลกระทบในวงกว้างมากกว่า จากตรงนี้จึงได้เข้ามาทำงาน ได้เรียนรู้

ไทยพับลิก้า : อะไรที่รู้สึกว่าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายมากที่สุด

สำหรับตรงนี้ยังไม่มีอะไรที่เด่นชัดเท่าไหร่ เพราะตั้งแต่ปี 2544 ที่ทำงานมาเพิ่งมีผลคำพิพากษาถึงที่สุดในปี 2555 คือคดีคลิตี้ กระบวนการยุติธรรมใช้เวลายาวนานมาก ถ้าหากหวังจะเอาผลคำพิพากษามารณรงค์คงไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นในระหว่างทางและพยายามเข้าไปผลักดันบ้างก็มี เช่น สิทธิในกระบวนการ สำคัญเช่นเดียวกับสิทธิในเชิงเนื้อหา ซึ่งสิทธิในเชิงกระบวนการ อาทิ สิทธิด้านการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร สิทธิในการรวมกลุ่ม สิทธิในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการชุมนุม ฯลฯ นั่นเป็นเรื่องที่สำคัญ

“ผมคิดว่าประเทศไทยยังไม่ได้ทำเรื่องนี้เท่าไหร่ คือยังไม่มีหลักเกณฑ์หรือกฎเกณฑ์ที่เสริมสร้างการมีส่วนร่วมหรือสิทธิในเชิงกระบวนการอย่างเข้มแข็งจริงๆ แต่จะเป็นในเชิงรูปแบบหรือวิธีการ”

อีกอย่างที่พบคือ ปัญหาเรื่องการเยียวยาความเสียหาย ไม่ว่าในคดีคลิตี้ หรือโคบอลต์ 60 นั้น ส่วนใหญ่งานคดีด้านกฎหมายมักจะเริ่มจากเรื่องเยียวยา ต่างกับการฟ้องเพื่อการป้องกัน ซึ่งมีน้อย ดังนั้น ระบบในศาลยุติธรรมส่วนใหญ่จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายมาโดยตลอดจนกระทั่งมีศาลปกครองขึ้นมา จึงเกิดการฟ้องปกครองในเรื่องขอให้เพิกถอนกฎ หรือขอให้หน่วยงานรัฐปฏิบัติหน้าที่ นี่คือรูปแบบการฟ้องใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมา

นายสุรชัย ตรงงาม ทนาย"คดีคลิตี้"
นายสุรชัย ตรงงาม

ไทยพับลิก้า : เรื่องการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร แม้จะมี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ แต่กระบวนการเข้าถึงข้อมูลก็ยังน้อยอยู่ใช่ไหม

ตามกฎหมายก็รองรับ แต่โดยกระบวนการ ขั้นตอนปฏิบัติ เราพบว่าหลักการ “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นรอง” นั้นจริงบ้างไม่จริงบ้าง ตามพื้นที่และหน่วยงานของรัฐ แม้จะมีคณะกรรมการวินิจฉัยข้อมูลข่าวสาร เมื่อชาวบ้านใช้สิทธิอุทธรณ์ในกรณีไม่เปิดเผยข้อมูล คณะกรรมการก็อาจจะวินิจฉัยว่าให้เปิด แต่ทางบริษัทคู่กรณีที่ชาวบ้านฟ้อง อาจจะไปฟ้องคดีและขอคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้เปิดเผยข้อมูล ซึ่งศาลก็คุ้มครองชั่วคราว เช่น กรณีคดีโรงไฟฟ้าที่หนองแซง เป็นต้น

กระบวนการเหล่านี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ผมคิดว่า จริงอยู่ที่เรามีกฎหมายคุ้มครองสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร แต่รูปแบบดังกล่าวจะตอบว่าอะไร ผมคิดว่ามันสะท้อนให้เห็นกลไกบางเรื่องที่ยังไม่เป็นธรรม เพราะกระบวนการทั้งหมดยังไม่เอื้อให้ประชาชนหรือชุมชนเข้าถึงสิทธิเรื่องข้อมูลข่าวสารได้ แปลว่ากลไกต้องเกิดการผิดเพี้ยนบางอย่าง เพราะทุกอย่างนั้นต่างฝ่ายต่างทำไปตามระบบทั้งหมด แต่ก็ยังไม่สามารถดูข้อมูลนั้นได้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด ทั้งๆ ที่เรื่องข้อมูลข่าวสารมีความสำคัญกับช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งด้วย หากได้ข้อมูลทั้งหมดมาเมื่อทุกอย่างแล้วเสร็จมันก็หมดความหมาย

“นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งซึ่งผมคิดว่าเป็นสิทธิเชิงกระบวนการเกี่ยวกับเรื่องการสนับสนุนสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมเชิงเนื้อหา สิทธิในที่ดิน หรือสิทธิการได้ประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติ ที่มันยังไม่เป็นจริง”

หรือหากพูดในเชิงคดี สิ่งที่เราคุยอยู่เสมอคือ เวลาที่เราคุยกับชาวบ้าน ชาวบ้านมักพูดว่าไม่มีส่วนร่วมเลย ไม่ค่อยได้รับฟังเขา แต่เราก็พบว่าสิทธิในเชิงกระบวนการ เช่น มีการรับฟังความคิดเห็นไหม มีการทำประชาพิจารณ์หรือเปล่า ฯลฯ นั้นแทบจะไม่เป็นประเด็นในเชิงคดี พูดง่ายๆ คือแทบไม่มีคดีไหนที่บอกว่าการรับฟังไม่ชอบ แล้วนำไปสู่การเพิกถอนโครงการ ผมไม่เคยเห็นเลย ซึ่งเราวิเคราะห์ว่าระบบทั้งหมดมีปัญหา ไม่ใช่ว่าศาลมีปัญหา เพราะประเทศไทยไม่มีกฎหมายที่กำหนดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การรับฟังความคิดเห็นอย่างชัดเจน คือเราไม่มีหลักที่เป็นแกนกลางสำหรับใช้ในทุกเรื่อง ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับกฎหมายแต่ละเรื่องไป เช่น พ.ร.บ.แร่ใช้กับเหมืองแร่ พ.ร.บ.โรงงานใช้กับโรงงานต่างๆ ทำให้ขาดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน เมื่อไม่ชัดเจนศาลก็อาจจะไม่เข้ามาตรวจสอบในเรื่องนี้ หรือการตรวจสอบนั้นไม่ได้วางเกณฑ์อะไรที่กระตุ้นให้หน่วยงานรัฐออกเกณฑ์แบบนี้ออกมา

หากเราเทียบคดี 76 โครงการมาบตาพุด อันนั้นฟ้องว่าไม่มีการปฏิบัติตามเกณฑ์ ตามมาตรา 66 วรรค 2 ตามรัฐธรรมนูญ ผลที่ออกมาเราจะชอบหรือไม่อย่างไร แต่ผลอย่างหนึ่งที่ชัดเจนคือ เร่งให้หน่วยงานรัฐออกเกณฑ์มาทั้งๆ ที่เขาละเลยและเพิกเฉยไม่ออกเกณฑ์ให้ต้องปฏิบัติ ต้องมีองค์กรอิสระ เขาก็ต้องไปดำเนินการให้มีองค์กรอิสระแม้จะชั่วคราวก็ยังดี

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้องค์กรอิสระชั่วคราวหมดอายุไปแล้ว กฎหมายยังไม่มีรองรับ ก็ยังไม่ทำอะไร

อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องตามต่อ สิ่งที่สะท้อนคือ ไม่มีเกณฑ์ทางกฎหมาย เมื่อไม่มีเกณฑ์ กระบวนการยุติธรรมก็ไม่ได้ประโยชน์ ก็ต้องพยายามผลักดันให้เกิดการสร้างเกณฑ์

ไทยพับลิก้า : อย่างเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน ใครจะต้องเป็นผู้ออกเกณฑ์ตรงนี้

ผมก็ไม่แน่ใจ แต่ถ้าคิดตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติข้าราชการปกครอง ซึ่งเป็นกฎหมายกลางของหน่วยงานรัฐทั้งหมดนั้นสามารถออกได้ แต่ส่วนเกณฑ์การรับฟังความคิดเห็นหรือเกณฑ์การมีส่วนร่วมของประชาชนเกี่ยวกับการดำเนินโครงการต่างๆ ของรัฐที่อาจจะมีปัญหา ก็อาจจะออกในลักษณะของเกณฑ์กลาง คือ เป็นมาตรฐาน เช่น อาจจะบอกว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคือใคร จะมีวิธีการแบบไหน ต้องให้ข้อมูลเขาก่อน มีวิธีการสนับสนุนที่ชาวบ้านเข้าถึงข้อมูล สามารถมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง ส่วนหน่วยงานต่างๆ จะออกเกณฑ์ของตนเอง ก็เป็นสิทธิของแต่ละหน่วยงาน แต่ต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานเกณฑ์กลาง เพราะบางหน่วยงานมีกระบวนการทำงานแยกย่อยมาก เช่น การทำเหมืองแร่ การทำเหมืองใต้ดินตาม พ.ร.บ.แร่ อาจต้องซับซ้อนกว่า เพราะมีผลกระทบมากกว่า หรือโครงการที่มีความรุนแรงอาจจะต้องทำประชาพิจารณ์ก่อน เป็นต้น

สำหรับหน่วยงานที่ต้องเป็นคนทำ ผมว่ารัฐบาล ซึ่งสามารถเลือกให้หน่วยงานไหนทำก็ได้ เมื่อเกณฑ์ออกมาแล้วก็เป็นเรื่องที่รัฐต้องนำมาใช้ ถ้าหากหน่วยงานไหนมีมาตรฐานที่สูงกว่าเกณฑ์กลางก็ใช้เกณฑ์นั้นไป ไม่จำเป็นว่าต้องยึดเฉพาะเกณฑ์กลาง

ไทยพับลิก้า : รู้สึกว่าปัญหาอยู่ที่ช่องโหว่ของกระบวนการ

จริงๆ แล้วปัญหาใหญ่ของบ้านเราคือ การไม่บังคับใช้กฎหมาย ผมพูดตลอดว่าปัญหาคือ เรามีกฎหมายจำนวนมากที่พูดถึงวิธีการดูแลสิ่งแวดล้อม หรือพูดถึงกฎหมายที่หน่วยงานที่มีหน้าที่ควบคุม ตรวจสอบ การมอนิเตอร์ การเยียวยา ฯลฯ แต่การบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้ไม่มีประสิทธิภาพอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ พูดง่ายๆ ว่าตั้งแต่การควบคุมตรวจสอบก่อนออกใบอนุญาต การทำอีไอเอ หรือว่าอนุมัติอนุญาตแล้วมีกระบวนการติดตามให้เป็นไปตามมาตรการที่กฎหมายกำหนด หรือการปรึกษาทางวิชาการ อันนี้ก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน ในกรณีที่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมขึ้น การเยียวยาที่รวดเร็วและเป็นธรรมก็มีปัญหา อย่างกรณีของคลิตี้หรือมาบตาพุดจะเห็นชัดเจนเลยว่าเราขาดมาตรการเหล่านี้

การไม่บังคับใช้กฎหมายทำให้เกิดปัญหา 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ 1. เราไม่มีทางรู้ว่ากฎหมายที่มีอยู่บังคับใช้ได้จริงแค่ไหน เพราะไม่เคยบังคับใช้เลย 2. เมื่อไม่มีการบังคับใช้เราจึงไม่เห็นว่า การแก้ไขปัญหาต้องนำสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือการผลักดันกฎหมายอะไร

ไทยพับลิก้า : ในฐานะที่คุลกคลีในแวดวงนี้อยู่ ผู้ที่เกี่ยวข้องฝ่ายรัฐบาลให้ความสนใจตรงนี้มากน้อยแค่ไหน

เรื่องนี้เป็นปัญหาหนึ่งคือ เวลาที่เราคุยกับคนต่างชาติ คำถามแรกที่เขาถามคือ คุณคิดว่ารัฐบาลคุณมีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมยังไง นักการเมืองไทยมีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมยังไง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมรู้สึกว่า เออ.. เราไม่เคยคิดมาก่อนเลย เพราะบ้านเราไม่ว่ารัฐบาลไหนขึ้นมา ก็ไม่เคยมีนโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน เรายังมีนักการเมืองที่เน้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจและไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม หรือมีนโยบายที่ชัดเจนแตกต่างกันให้เราเลือก ตรงนี้ก็เป็นปัญหาของกระบวนการที่เราจะขับเคลื่อนให้นักการเมืองคิดเรื่องนโยบายทางกฎหมายมากขึ้น

ฉะนั้น คำถามที่ว่าเขาตระหนักไหม ที่ผ่านมาผมว่าการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานรัฐเองก็มีปัญหา ผมว่าคนที่กำกับในเชิงบริหารก็คือฝ่ายการเมืองเอง ก็ไม่ได้สนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยดูจากแผนงานหรือนโยบายของพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องหรือของรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง

นายสุรชัย ตรงงาม
นายสุรชัย ตรงงาม

ไทยพับลิก้า : หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงต้องทำหน้าที่

ใช่ครับ ในต่างประเทศการปฏิบัติตามกฎหมายเป็นเรื่องสำคัญมาก เช่น ญี่ปุ่น หากมีกฎหมายมาต้องบังคับใช้ ต้องปฏิบัติตาม นั่นหมายความว่ามันมีระบบของมันที่จะเคลื่อนไปควบคุมดูแลตามสมควร มีปัญหาแล้วจึงเข้ามาสู่กระบวนการตรวจสอบของศาลซึ่งเป็นปลายน้ำ แต่ในประเทศไทยมีปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ทุกคนจึงคิดว่าศาลเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่น่าจะมีประสิทธิภาพหรือมีคุณภาพมากที่สุด จึงทำให้เกิดกลไกทางกฎหมายเรื่องการฟ้องร้องมากขึ้น ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย

ข้อดีคือประชาชนตื่นตัวที่จะลุกขึ้นมาใช้สิทธิ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี มันอยู่ที่ว่ากระบวนการใช้สิทธินั้นประชาชนได้เรียนรู้การใช้สิทธิของตนเองอย่างไร เพราะว่ามันไม่ได้จบที่คำพิพากษา คดีคลิตี้เป็นตัวอย่างว่าพิพากษาสูงสุดแล้วก็ยังไม่จบ เราต้องไปบังคับคดีต่อว่า ขบวนการฟื้นฟูธรรมชาติทำอะไร อย่างไร

ส่วนหนึ่งที่สรุปอย่างนี้ คือกรณีคลิตี้ สุดท้ายแล้วกระบวนการยุติธรรมก็เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขเยียวยาเฉพาะเรื่อง รวมถึงการควบคุมตรวจสอบ หรือมีลักษณะที่ส่งผลในวงกว้างมากขึ้นให้หน่วยงานเห็นแนวทางในการปฏิบัติที่ถูกต้อง คุ้มครองสิทธิของประชาชน แต่ก็ต้องยอมรับว่าคำพิพากษาหรือกระบวนการทางศาลไม่ได้ตอบปัญหาทุกเรื่อง แต่หน่วยงานรัฐที่ต้องควบคุม ดูแล ตรวจสอบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ จะปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายได้อย่างไร รวมถึงว่า ถ้าการทำงานยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ต้องมีกลไกทางนโยบาย ทางกฎหมายใหม่ๆ ที่จะมาแก้ไขปัญหา อย่างเช่นกรณีคลิตี้ ชาวบ้านคงไม่ต้องมาฟ้องร้องต่อศาล หากหลังเกิดการปนเปื้อนแล้วมีหน่วยงานเข้าไปรับผิดชอบดูแล มีเงินกองทุนเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหา แล้วกองทุนนี้ก็ตามไล่บี้เอาว่าใครบ้างที่ต้องรับผิดชอบปัญหานี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นก็จะแก้ไขได้เร็วกว่านี้

แต่ว่าปัจจุบันยังไม่มีกลไกแบบนี้ ทำให้สุดท้ายประชาชนต้องมาใช้กระบวนการศาล และกระบวนการศาลก็ไม่ได้ไปตรวจสอบ สุดท้ายศาลก็ไม่ได้ไปทำแทนฝ่ายปกครอง ก็กลับมาตั้งต้นใหม่ว่า แล้วจะฟื้นฟูยังไง มันก็เหมือนว่า ที่ผ่านมาคือการทบทวนแล้วก็บอกว่าต้องฟื้นฟูนะ แต่ก็ไม่รู้ว่าต้องทำยังไงต่อ

ดังนั้น กระบวนการนี้ต้องเริ่มตั้งแต่ต้นครับ ไม่ใช่ว่ามาฟ้องศาลแล้วค่อยเริ่มกันใหม่ ประชาชนไม่มีทางเลือก การฟ้องก็เป็นการควบคุมตรวจสอบ เพื่อให้หน่วยงานรัฐเห็นปัญหาของตัวเอง แล้วกลับมาแก้ไข

ไทยพับลิก้า : ที่จริงไม่จำเป็นต้องใช้ประชาชนมาฟ้อง เป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่ต้องทำตั้งแต่แรก

ใช่ครับ ต้องมารอให้คนกลางมาสั่ง เพราะเวลาเราลงพื้นที่ไปประชุมกับพวกเหมืองหลายๆ ที่ สิ่งหนึ่งที่เขาพูดแล้วผมคิดว่าถูกต้องก็คือ ตราบใดที่หน่วยงานรัฐยังไม่มีคำตอบเรื่องการแก้ไขปัญหา ทั้งที่เป็นข้อเท็จจริงที่ต้องวินิจฉัยก่อนที่จะอนุมัติอนุญาตให้ตั้งโรงงาน คุณต้องชั่งน้ำหนักว่า การอนุญาตให้คนมาทำเหมืองนั้นคุ้มทุนไหม ไม่ใช่หยุดอยู่แค่ค่าภาคหลวง แต่ต้องดูว่า การตัดสินใจแบบนี้จะทำให้เกิดผลกระทบที่ต้องแก้ไขเยียวยายังไง ถ้าเยียวยาแล้วจะยากยังไง พูดง่ายๆ คือ ถ้ายังแก้ไขปัญหาตัวเองไม่ได้ ก็ไม่ต้องมาพูดเรื่องการอนุญาตหรือการเปิดเหมืองใหม่ เพราะว่าคุณไม่มีทางออก ไม่มีทางแก้ไข ดังนั้น ชาวบ้านก็มีสิทธิตั้งคำถามว่า แล้วทำไมเขาต้องมาเสี่ยง เพราะชีวิตไม่มีหลักประกันด้านสิ่งแวดล้อมมากมาย

ไทยพับลิก้า : 10 กว่าปีที่ผ่านมา คดีฟ้องร้องต่อศาลมีมากขึ้นแค่ไหน

ถ้าเป็นสถิติจำนวนตัวเลขคงไม่มี แต่ต้องบอกว่าคดีที่เกิดขึ้นจะมีหลายประเภท การใช้สิทธิของชาวบ้านหลังจากมีศาลปกครองเกิดขึ้น ก็มีกลไกทำหน้าที่ใหม่ๆ ที่ทำให้ชาวบ้านลุกขึ้นมาฟ้องร้องนอกเหนือจากฟ้องที่ศาลยุติธรรมจากเรียกร้องค่าเสียหาย ค่าเยียวยา ก็เข้ามาสู่ยุคการฟ้องเชิงตรวจสอบโครงการ พูดถึงเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชน ว่าโครงการนี้มีส่วนร่วมจริงไหม มีความปลอดภัยจริงไหม ผมว่ามีแนวโน้มที่จะฟ้องในเชิงระงับโครงการที่เขาไม่มั่นใจหรือขาดการตรวจสอบหรือมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง หรือที่ผมเรียกกันเองว่า “ฟ้องในเชิงป้องกัน” มากขึ้น คือไม่ต้องรอให้โครงการเกิดชาวบ้านก็ฟ้องร้องให้ตรวจสอบก่อน ซึ่งการเกิดขึ้นของศาลปกครองทำให้มีคดีฟ้องร้องแบบนี้มาก แต่อย่างไรก็ตาม การฟ้องร้องค่าเยียวยาความเสียหายก็ยังคงอยู่ เพียงแต่อาจจะพิสูจน์ยากกว่าในการพิจารณาค่าเสียหายรายบุคคล

อย่างที่สองคือ เมื่อชาวบ้านมาใช้สิทธิ ก็จะพบปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก เราไม่ต้องพูดถึงปัญหาอิทธิพลเถื่อน และกระบวนทางกฎหมายเองชาวบ้านก็โดนฟ้องร้องจำนวนมากตรงนี้ เราจะเรียกเป็นคดีด้านสิ่งแวดล้อมได้ไหม ในนิยามของศาลอาจจะไม่ได้หมายความอย่างนี้

อย่างคดีที่เราทำอยู่ก็จะพบว่า เวลาที่ชาวบ้านฟ้องคดีหลัก เช่น ฟ้องเพื่อป้องกันชุมชนของตนเอง หรือฟ้องเพิกถอน จากนั้นจะมีคดีอื่นๆ ที่ตามมาจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะคดีอาญา คดีแพ่ง อย่างคดีที่หนองบัวลำภูู ชาวบ้านฟ้องคดีปกครองเพื่อเพิกถอนใบอนุญาตการใช้ป่าเพื่อทำเหมืองหิน ซึ่งข้อเท็จจริงพบว่ามีการปลอมแปลงเอกสารเกี่ยวกับขออนุญาตใช้ แล้วทางสภาทนายความก็ไปฟ้องคดีอาญาเรื่องการใช้เอกสารปลอม ปรากฏว่าปัจจุบันกลุ่มธุรกิจที่ประกอบกิจการดังกล่าวเขาก็ฟ้องกลับชาวบ้านข้อหาแจ้งความเท็จ เห็นไหมครับว่าจะมีการตอบโต้

ตรงนี้คือชาวบ้านในคดีสิ่งแวดล้อมที่พูดถึง นอกจากคดีที่อยู่ในนิยามของศาลที่ว่า คดีเกี่ยวกับการฟ้องร้องด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว สิ่งที่ชาวบ้านเผชิญอยู่ก็คือ คดีอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับคดีสิ่งแวดล้อมซึ่งก็มีผลกับชาวบ้านโดยตรง เช่น คดีอาญา คดีหมิ่นประมาท ฯลฯ คือการใช้สิทธิของชาวบ้านนำไปสู่ผลอื่นๆ นอกจากผลร้ายในเชิงการถูกคุกคามข่มขู่โดยอำนาจเถื่อน ยังมีการใช้อำนาจทางกฎหมายมาปัดป้องให้ชุมชนรู้สึกไม่มั่นใจในการใช้สิทธิหรือการมีส่วนร่วมมากขึ้น นี่คือคดีทางสิ่งแวดล้อมที่มีมากขึ้น แล้วยังมีมากขึ้นกว่าคดีหลักด้วย ในอัตราประมาณ 1:10

สุรชัย ตรงงาม

ถามว่าชาวบ้านท้อไหม ชาวบ้านกังวลใจแน่นอน แล้วก็เป็นภาระกับองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายจำนวนมาก สภาทนายความต้องให้ความช่วยเหลือและใช้จ่ายตรงนี้ค่อนข้างสูง มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมก็ต้องสนับสนุน เพราะว่าสิ่งที่ชุมชนหรือแกนนำถูกดำเนินคดีก็สืบเนื่องจากการใช้สิทธิด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่าเรายังไม่มีมาตรการป้องกันการใช้สิทธิพิจารณา

คือกระบวนการเรามีปัญหามาก นอกจากสิทธิในเชิงเนื้อหา เราก็ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายด้วย สิทธิในกระบวนการเอง นอกจากไม่ได้รับแล้วยังโดนสวนกลับ และไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างแท้จริง ตัวอย่างเช่น คดีที่บางสะพาน ชาวบ้านเข้าไปเก็บขี้เหล็กจากข้างๆ โรงงาน เพราะต้องการเอาไปตรวจดูว่ามีผลกระทบอะไรไหม ก็โดนแจ้งข้อหาลักทรัพย์ 25 บาท กรณีอย่างนี้ศาลรับฟ้องได้ไง มันไม่ควรจะฟ้องได้ แต่ศาลก็ยกฟ้อง ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างฎีกา

คดีอย่างนี้ควรจะให้ฟ้องไหม ควรรับฟ้องไหม ควรจะมีกลไกมากลั่นกรองก่อนฟ้องก่อนไหม เพราะเกิดการแกล้งกันแบบนี้ สมมติชาวบ้านไม่เข้มแข็งก็คงเลิกไป ทางเจ้าของโรงงานเขามีเงินก็สามารถจ้างนักกฎหมายมาฟ้องเองเลย โดยไม่ต้องแจ้งความผ่านกระบวนการตำรวจก่อน ดังนั้นจะทำอย่างไรให้เกิดกระบวนการกลั่นกรองไม่ให้ชาวบ้านถูกแกล้งง่ายๆ เกินไป

แต่ไม่ได้บอกว่าฝ่ายบริษัทไม่มีสิทธิฟ้องใดๆ เขาสามารถใช้ได้เต็มที่ เพียงแต่การใช้สิทธินั้นต้องถูกกลั่นกรองไม่ให้เกิดการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต แล้วนำไปสู่กลั่นแกล้งเพื่อไม่ให้ชุมชนมีส่วนร่วมด้านสิ่งแวดล้อม นี่คือตัวอย่างที่ชุมชนกำลังเจอแล้วผมคิดว่าเป็นงานด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจำนวนมาก ที่เกิดควบคู่ไปกับการตื่นตัวของชุมชนในการใช้สิทธิด้านสิ่งแวดล้อม

ไทยพับลิก้า : ในแง่ของชุมชนเองตอนนี้เข้มแข็งใช่ไหม ในการหาข้อมูลต่างๆ เพื่อลุกขึ้นมาต่อสู้

ก็ตื่นตัวครับ ความเข้มแข็งคือเขาตื่นตัวที่จะรวมตัวเป็นกลุ่มเข้ามาใช้สิทธิในแบบต่างๆ มากขึ้น แต่ผมคิดว่าการเข้าถึงข้อมูล เข้าถึงความรู้นั้น หลายเรื่องต้องยอมรับว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องแต่ทางกฎหมายล้วนๆ อย่าง ชาวบ้านท่าศาลา ต้องการรู้รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ว่ามีการตรวจสอบหรือหลักประกันเพื่อไม่ให้เขาได้รับผลกระทบเมื่อเกิดโครงการขึ้นมาเพียงพอแล้วหรือไม่ ถามว่าชาวบ้านจะตรวจสอบโดยใช้ความรู้ของตนแค่นั้นพอไหม บางครั้งเป็นเรื่องเทคนิค ต้องไปแสวงหากับผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ซึ่งกรณีท่าศาลาก็อาจมีนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน เข้าไปร่วมสนับสนุน มีสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เข้าไป แต่สำหรับพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่มีใครเข้าไปหรือไม่เป็นที่รู้จัก จะมีใครเข้าไปช่วยสนับสนุนการเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้แก่ชาวบ้าน ซึ่งผมว่าเป็นข้อจำกัดมาก

ดังนั้นเขาตื่นตัวก็จริงแต่ยังขาดการสนับสนุนในรูปแบบของเครื่องมือที่จะเข้าถึงการใช้สิทธิได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง เช่น การมีนักวิชาการมาร่วมตรวจสอบ มีนักกฎหมายมาให้คำแนะนำเรื่องการใช้สิทธิ การติดตามกระบวนการยุติธรรม

เราพบว่าชาวบ้านตื่นตัวมาก แต่การตื่นตัวนั้น หลายครั้งก็ยังขาดระบบ สิ่งที่เราเน้นมากในเบื้องต้นคือ ชาวบ้านจะทวงถามด้วยวาจาหรือก็พบว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะเป็นวาจาก็ลอยไปลอยมา จับต้องไม่ได้ ตอนทวงถามก็ไม่รู้ไปคุยกันที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร สิ่งที่เราบอกก็คือว่าต้องเป็นเอกสารนะ และต้องไปติดตามด้วย และเพื่อให้เขาตอบมาเป็นหลักฐาน เวลาคนอื่นมาดูก็จะความคืบหน้าการตอบโต้ที่ชัดเจน

ไทยพับลิก้า : ควรมีเครือข่ายภาคีที่เชื่อมโยงกันชัดเจนไหม

ผมว่ารัฐควรมีมาตรการนี้ให้เลยครับว่าจะทำยังไงเพื่อให้มีกลไกเข้ามา เช่น เรื่องที่สำคัญอย่างการทำเหมืองแร่ใต้ดิน มีกฎหมายเขียนว่า ในกระบวนการตรวจสอบ ต้องสามารถให้ชาวบ้านไปว่าจ้างนักวิชาการมาช่วยตรวจสอบได้ ซึ่งกลไกแบบนี้จะสนับสนุนให้ชาวบ้านใช้สิทธิได้มากขึ้น เป็นสิ่งที่ต้องมี นอกเหนือจากที่ต้องมีเครือข่ายภาคประชาสังคมมากขึ้นแล้ว ตรงนี้ก็จะเป็นสิ่งที่ช่วยได้ แต่ผมคิดว่าสิ่งที่เราต้องการคือมีเชิงระบบเข้ามา ว่าเป็นไปได้ไหมที่จะมีกองทุนสิ่งแวดล้อม นอกจากการให้เงินเพื่อบำบัดน้ำเสีย ซึ่งกองทุนสิ่งแวดล้อมนี้จะมีบทบาทมาสนับสนุน เช่น ให้ความรู้กับชาวบ้านที่ร้องขอในเรื่องที่จำเป็นด้านงบประมาณที่จะช่วยตรวจสอบโครงการใหญ่ที่มีผลกระทบ ซึ่งตอนนี้ยังไม่เห็นเรื่องแบบนี้เลย ทุกอย่างก็เป็นไปตามยถากรรม

แต่เราก็ยังมีหวังครับแม้ว่าปัญหาจะเยอะ ผลคำพิพากษาแม้ว่าจะมาช้า แต่ก็ยังดีกว่าไม่มาเลย อย่างคดีท่อก๊าซ ก็แสดงก็ให้เห็นว่า แม้โครงการจะเกิดขึ้นมาหมดแล้วแต่ก็ตอบโจทย์ชาวบ้านได้ว่า สิ่งที่เขาทำมานั้นถูกต้อง คิดว่าตรงนี้มีค่ากับชาวบ้านมาก เพราะเขาจะถูกตราหน้าเสมอว่าเป็นคนที่มีปัญหา ขัดขวางการพัฒนา เป็นพวกใช้ความรุนแรง แต่คำพิพากษาก็เป็นตัวบอกว่าสิ่งที่เขาทำนั้นถูก เพียงแต่กว่าจะรู้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นถูกโครงการก็ไปไกลแล้ว เขาควรจะต้องมีส่วนร่วมมากกว่านี้ แต่กลับต้องมาสู้คดี มันไม่ได้มีเฉพาะคดีนี้หรือคดีปกครองเท่านั้น เพราะชาวบ้านก็โดนรัฐฟ้องข้อหาชุมนุมมั่วสุมเกินกว่า 10 คน ทำร้ายร่างกาย ฯลฯ เต็มไปหมด ซึ่งตรงนั้นเป็นอุปสรรคที่ทำให้การใช้สิทธิของชาวบ้านที่จะมีส่วนร่วมด้านสิ่งแวดล้อมหยุดไป

แต่อย่างไรก็ดี ก็เห็นว่าการเกิดขึ้นของแผนกคดีส่งแวดล้อมของศาลฎีกานั้น เป็นแนวโน้มในกระบวนการยุติธรรมรูปแบบหนึ่งที่สำคัญ ผลของคำพิพากษาคลิตี้ ถึงที่สุดหรือคดีท่อก๊าซ ก็ชี้ให้สังคมได้เห็นว่า 1. เยียวยาเฉพาะเรื่องได้ตามสมควร 2. หลักการบางเรื่องของคดีด้านสิ่งแวดล้อม 3. การบริหารงานของรัฐ 4. สื่อสารต่อสาธารณะให้เห็นปัญหาของสังคมที่ต้องใช้กระบวนการทางกฎหมายเข้าไปแก้ไขได้อย่างไร ซึ่งจะเห็นว่าการคลี่คลายเป็นแบบนี้และมีแนวโน้มที่ดีมากขึ้น เมื่อรวมกับเรื่องที่ชาวบ้านตื่นตัวแล้ว หากมีประสิทธิภาพ ก็น่าจะนำไปสู่การเรียนรู้ร่วมกันของกระบวนการยุติธรรม แล้วนำไปสู่การขับเคลื่อนของสังคมที่จะนำกลไกไปสู่การตรวจสอบนักการเมือง หรือผลักดันกลไกให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากการใช้กลไกทางกระบวนการยุติธรรม

ไทยพับลิก้า : แผนกคดีสิ่งแวดล้อมมีประโยชน์อย่างไรบ้าง

การตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมเป็นแนวโน้มที่ดีว่า 1. พยายามสร้างความชำนาญพิเศษขึ้นมาเฉพาะเรื่อง เพราะคดีด้านสิ่งแวดล้อมมีลักษณะแตกต่างจากคดีทั่วไป เนื่องจากไม่ได้เกี่ยวข้องแค่ด้านกฎหมาย แต่เกี่ยวข้องกับความรู้ทางเทคนิคหรือทางวิทยาการต่างๆ ที่ต้องมีนักวิชาการมาเกี่ยวข้องด้วย มุมมองของผู้ที่เกี่ยวข้องก็อาจจำเป็นต้องเรียนรู้บางเรื่องโดยเฉพาะ เช่น มุมมองเกี่ยวกับเรื่องไฟตก ไฟดับ หรือพลังงาน ว่าเป็นอย่างไร ไม่ใช่ว่า กฝผ. พูดอะไรก็ดูท่าว่าจะเป็นอย่างนั้น ผมก็คาดหวังว่าการตั้งแผนกคดีจะสร้างความชำนาญเฉพาะด้าน รวมถึงการพูดคุย ถกเถียง ทัศนคติ เรื่องพลังงาน เรื่องสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น

2. เชื่อมโยงเรื่องวิธีพิจารณาหรือแนวทางการดำเนินคดีด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งควรมีวิธีพิจารณาที่ต่างจากวิธีพิจารณาคดีทั่วๆ ไป เป็นสิ่งที่ควรต้องปรับ เช่น ทำอย่างไรให้พิจารณาคดีได้รวดเร็ว เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพกว่านี้ ระยะเวลาของคดี 9 ปีอย่างกรณีคลิตี้ไม่ควรเกิดอีกแล้ว ซึ่งก็เห็นว่าในช่วงปีที่ผ่านมา คดีสิ่งแวดล้อมในศาลชั้นต้นก็ตัดสินเร็วขึ้น ก็เห็นความตั้งใจของศาล

3. สร้างความร่วมมือและองค์ความรู้ด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมออกมา และสามารถสร้างความร่วมมือของคนในกระบวนการยุติธรรมหลายๆ ส่วน เราไม่ได้พูดถึงกระบวนการทางศาล ซึ่งกระบวนการพิจารณาต่างคนต่างทำหน้าที่ แต่ข้างนอกศาลนั้นเป็นไปได้ไหมที่จะมีแนวโน้มที่จะมาร่วมมือกันในทางวิชาการ พูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหากัน ว่าคนในกระบวนการยุติธรรมมีความเห็นอย่างไร ควรต้องปรับเปลี่ยนอย่างไรเพื่อให้วิธีพิจารณาคดีด้านสิ่งแวดล้อมนั้นมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ สามารถตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนและประชาชนได้อย่างแท้จริง ผมคิดว่าแผนกคดีสิ่งแวดล้อมกำลังจะมีบทบาทอย่างนี้ ซึ่งถ้าเราไปคาดหวังในศาลระบบทั่วไปซึ่งพิจารณาคดีเยอะมาก อาจเป็นเรื่องที่ยาก

นายสุรชัย ตรงงาม

ไทยพับลิก้า : ถือว่ามีความหวังไหม

มีครับ ผมว่าก็มีแนวโน้มที่ดี เมื่อเราพูดถึงการตื่นตัวของชุมชนที่มากขึ้น กลไกที่เริ่มจะเปิดโอกาสมากขึ้น กลไกการตรวจสอบในกระบวนการยุติธรรมที่มีแนวโน้มที่จะพัฒนาหรือมองถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งก็เป็นแนวโน้มที่คิดว่าเป็นไปได้ ทางเอ็นลอว์ก็พยายามที่จะเข้าไปสนับสนุนคดีที่จะสามารถสะท้อนปัญหาเชิงนโยบายทางกฎหมายได้ นอกจากการเยียวยาเฉพาะเรื่อง

สิ่งที่เราเคยเรียกร้องอย่างหนึ่งคือ อย่างกรณีข้อมูลข่าวสาร หากไม่ให้ดูใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หน่วยงานราชการต้องโดนแล้ว เพราะไม่มีเหตุอันใดที่จะไม่ให้ แต่ว่าปัจจุบันก็ยังมีการไม่ให้อยู่ และการไม่ให้นั้นก็ไม่มีผลอะไร อย่างมากก็คือไปอุทธรณ์ขอข้อมูลข่าวสาร ถ้าไม่พอใจก็ไปฟ้องศาล

ไทยพับลิก้า : จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เห็นพัฒนาการอะไรของคดีสิ่งแวดล้อมบ้าง

อย่างเรื่องกระบวนการยุติธรรม ในการฟ้องคดีเดิมก็จะเป็นการฟ้องเรื่องการเยียวยาเรียกค่าเสียหายเป็นหลัก หลังจากเกิดรัฐธรรมนูญปี 2540 และเกิดกลไกใหม่ เช่น ศาลปกครอง ก็ทำให้การฟ้องร้องคดีนอกจากการเยียวยาแล้วก็ฟ้องในเชิงการป้องกันหรือฟ้องให้หน่วยงานรัฐเข้าไปปฏิบัติหน้าที่มากขึ้นเกี่ยวกับด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็เป็นผลพวงจากปัญหาการไม่บังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานรัฐไทย

สอง ชุมชนตื่นตัวในลักษณะของการป้องกันมากขึ้น แต่เราก็พบว่าการใช้สิทธิมีข้อจำกัดจำนวนมาก บางครั้งการใช้สิทธิก็ถูกตอบโต้จากผู้ที่เกี่ยวข้องผ่านทั้งอำนาจเถื่อนและอำนาจตามกฎหมาย จนทำให้ชุมชนหวั่นเกรงหรือไม่สามารถใช้สิทธิได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง อย่างกรณีคุณจินตนา แก้วขาว ต้องจำคุกโดยไม่รอลงอาญาก็เป็นแนวโน้มหนึ่งที่แสดงเห็นถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรมในมุมมองต่อผู้ที่ลุกขึ้นมาปกป้องชุมชน คือเราไม่ได้เถียงว่าคุณหน่อยทำจริงหรือไม่ ตรงนั้นเป็นข้อมูลทางคดีที่ต้องมาว่ากล่าวกัน แต่อย่างน้อยสิ่งที่เขาลุกขึ้นมาต่อสู้เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะไม่ใช้ประโยชน์ส่วนตัว ในทางกฎหมายคือไม่ได้มีเจตนาเลวร้าย แต่ประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งเหตุแบบนี้ไม่เป็นเหตุในการรอการลงโทษได้อย่างไร ก็เป็นตัวอย่างที่ทำให้เราเห็นว่าแนวโน้มมันมีการตื่นตัวขึ้นก็จริง แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือชุมชนถูกกระทำจากผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ก็ทำให้หลายชุมชนไม่สามารถใช้สิทธิได้เต็มที่

อย่างกรณีท่อก๊าซก็เห็นได้ชัดเจนว่า ชาวบ้านสามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่ต้น หลังการชุมนุมแล้วถูกดำเนินคดี ชาวบ้านต้องวุ่นกับการต่อสู้คดีของตัวแล้วมาฟ้องร้องต่อศาล ก็ทำให้กระบวนการเข้าไปตรวจสอบ กลไกการมีส่วนร่วมของชุมชนไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่หรือมีประสิทธิภาพ เราก็จะพบว่าการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในเชิงกระบวนการมีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่เชิงเนื้อหาก็ยังไม่บรรลุผลเท่าไหร่ แม้แต่ในกระบวนการยุติธรรมเองก็ยังไม่ได้เข้าไปแก้ไขสิทธิส่วนนี้อย่างชัดเจน เมื่อรวมกับที่ชาวบ้านถูกดำเนินคดีแล้วจึงกลายเป็นข้ออ่อนที่ทำให้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนด้านสิ่งแวดล้อมไม่มีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่

แต่ก็ดีที่มีแผนกคดีสิ่งแวดล้อม รวมถึงชาวบ้านใช้สิทธิทางศาลมากขึ้น ก็เห็นแนวโน้มเรื่องพัฒนาการของกระบวนการยุติธรรมที่จะเข้ามารองรับการคุ้มครองสิทธิ เพียงแต่ว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น เราก็ต้องพยายามผลักดันให้กระบวนการหรือกลไกนี้สามารถตอบสนอง ป้องกัน ควบคุม ตรวจสอบ

สุดท้ายไม่ใช่ว่าถนนทุกสายนำไปสู่การฟ้องร้องศาล แต่ต้องกลับมาสู่การผลักดันทางนโยบาย ทางกลไก ว่าพรรคการเมืองหรือรัฐบาลควรต้องมีนโยบายที่ชัดเจนด้านสิ่งแวดล้อม ควรต้องมีกลไกอะไรเพิ่มเติมเพื่อควบคุมดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น คือสร้างกลไกใหม่ๆ เพื่อมาแก้ไขปัญหาเดิมๆ

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ก็มีความพยายามที่จะแก้กฎหมายส่วนนี้มากขึ้น ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจว่าจะสำเร็จไหม ก็ต้องรอความร่วมมือกับทุกฝ่าย

สุดท้าย การเสริมสร้างให้ชุมชนเข้มแข็งเป็นทิศทางที่เป็นเป็นหลักประกันความยั่งยืนของการผลักดันเรื่องกฎหมายสิ่งแวดล้อม และการที่กระบวนการยุติธรรมมีทุกฝ่ายมาปรึกษาหารือกันก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีที่จะมาขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันทางกฎหมาย หรือการแก้ไขกระบวนการพิจารณาให้สอดคล้องและเป็นธรรมมากขึ้น ก็จะเป็นเรื่องที่ดี ตรงนี้ก็จะยึดโยงไปถึงเรื่องที่ว่า ในสถาบันการศึกษาเองอาจจะต้องมีบทบาทเข้ามาเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น เพราะปัจจุบันเราไม่เห็นบทบาทของสถาบันการศึกษามากนัก ผมหวังให้เรามีนิติสิ่งแวดล้อมราษฎร หรือนิติราษฎรสิ่งแวดล้อมบ้าง เพราะสังคมมักจะมีหัวหอกพูดเรื่องกฎหมายทางการเมืองมาก แต่แทบจะไม่มีใครมาพูดเรื่องกฎหมายสิ่งแวดล้อมในเชิงวิชาการ

ถ้าไปดูในกฎหมายสิ่งแวดล้อมของไทยก็เป็นเรื่องน่าแปลกใจนะ เพราะกฎหมายสิ่งแวดล้อมเป็นวิชาเลือกในมหาวิทยาลัย แต่จะบังคับเรียนกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญาเป็นหลัก เท่าที่ผมรู้มีเพียงคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่บังคับเรียน อาจเพราะเพิ่งมีคณะได้ไม่นาน แล้วคิดว่ากฎหมายสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ทุกคนควรได้เรียน ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าเป็นทิศทางที่เราต้องผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันมากขึ้น

ไทยพับลิก้า : ตั้งแต่ทำงานมีกรณีไหนที่ประทับใจบ้างไหม

คดีคลิตี้ เพราะว่ามีลักษณะเฉพาะหลายเรื่องที่น่าสนใจ ก็เป็นคดีตัวอย่างเกี่ยวกับเรื่องการเยียวยาความเสียหาย คำพิพากษาของคดีคลิตี้เอง แม้ว่าจะเป็นชัยชนะที่ศาลสั่งให้กรมควบคุมมลพิษไปทำอะไร แต่อีกด้านหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่หมักหมมมาอย่างยาวนานของหน่วยงานรัฐที่ไม่ทำงาน เพราะถ้าทำงานเรื่องคงไม่มาถึงป่านนี้ คำพิพากษาก็เป็นมุมกลับที่ทำให้เราเห็นว่าการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะเรื่องการเยียวยาความเสียหาย เป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย แล้วผลของคดีนี้จะกลับไปคิดในเชิงมาตรการต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้น นอกจากการฟื้นฟูลำห้วย ก็เป็นประเด็นที่ทำให้คดีคลิตี้มีนัยสำคัญในทางสิ่งแวดล้อม เรียกว่าเป็นกฎหมายสิ่งแวดล้อมอันหนึ่งที่ทำให้เราเห็นว่ากลไกที่พยายามจะเข้ามาตรวจสอบการไม่บังคับใช้กฎหมาย สะท้อนให้เห็นปัญหาความไร้ประสิทธิภาพ การขาดหลักประกันของชุมชนกรณีได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นอย่างไรในกระบวนการยุติธรรม เพื่อที่จะกลับไปดูว่าเราจะแก้ไขระบบแบบนี้อย่างไร

ห้วยคลิตี้ล่าง

ไทยพับลิก้า : พูดแบบนี้อยากให้ใครได้ยินไหม

ในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐก็อยากให้ปฏิบัติหน้าที่ให้จริงจังกว่านี้ ผมก็เคยเสนอกรมควบคุมมลพิษ(คพ.)ว่า คำพิพากษานั้นซ่อนไว้หลายเรื่อง เช่น คพ. ละเลยการทำแผนล่วงหน้า ทำไห้ก่อเกิดปัญหานี้ มันกำลังจะบอกว่า ในกิจการอื่นๆ ที่อุตสาหกรรมจะทำ มีแผนล่วงหน้าหรือยัง มิฉะนั้นก็แปลว่า คพ. จะละเลยอีก แล้วยังมีการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมอีกมาก ที่ศาลตัดสินแล้วว่าเป็นหน้าที่ของ คพ. แล้ว คพ. จะทำเรื่องนี้อย่างไร ผมคิดว่า คพ. ต้องกลืนเลือดตัวเอง อาศัยโอกาสนี้ว่าจะพัฒนางานของตนอย่างไร ขยายแผนงานของตนเพื่อรองรับภารกิจที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ แล้วการขยายแผนหรือภารกิจเหล่านี้ คพ. ก็ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมกับภาคประชาสังคมต่างๆ เพราะ คพ. ไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเองทั้งหมด ถือเป็นโอกาสดีที่ คพ. ต้องเปิดตัวเองออกมา ขยายงานออกมามีส่วนร่วมกับภาคประชาสังคม ไม่มีทางเลือกอื่นใด ผมคิดว่าอย่างนี้ แล้ว คพ. คิดกับเรื่องนี้อย่างไร

การที่เราฟ้อง คพ. ก็ไม่ใช่ว่าโกรธเคืองอะไรเป็นการส่วนตัว เราต้องการให้ระบบเดินหน้าไปในทิศทางที่ควรจะเป็นตามกฎหมาย นี่คือโจทย์ที่อยากจะฝาก คพ. ไว้ อีกส่วนหนึ่งคือฝ่ายทางการเมืองหรือฝ่ายนโยบายก็ต้องมีทิศทางแนวโน้มทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนขึ้น คือต้องเข้ามากำกับ บริหารหน่วยงานรัฐมากขึ้น ส่วนฝ่ายกระบวนการยุติธรรมเองผมว่าก็ต้องมีความร่วมมือ และพิจารณาคดีให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ รวมทั้งมีการป้องกันไม่ให้ชุมชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ได้รับผลกระทบหรือถูกกลั่นแกล้งโดยไม่เป็นธรรม เพื่อทำให้เขาไม่สามารถใช้สิทธิในการส่วนร่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การออกเกณฑ์ต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อมในเชิงกระบวนการนั้นจำเป็นต้องทำ ผมเน้นไปเลยที่มาตรา 57 ตามรัฐธรรมนูญ เรื่องการให้ข้อมูล การรับฟังความคิดเห็น การดำเนินโครงการที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่จำเป็นต้องร้ายแรงหากมีผลกระทบก็ต้องมีกระบวนการ ซึ่งตรงนี้ถ้าเราไปดูในมาตรา 67 วรรค 2 ในบทเฉพาะกาลคือหมวดที่ต้องออกกฎหมายภายใน 1 ปี ทำไมตอนนี้ยังไม่ออก ทำนองเดียวกัน ทำไมจะเกิดแบบมาตรา 67 วรรค 2 ไม่ได้ สมมติไม่ฟังก์ชั่นจริงๆ ก็อาจมีการฟ้องร้องเพื่อให้ศาลเข้าไปตรวจสอบ เพื่อบอกว่าเกณฑ์แบบนี้ทำไม่ได้ หรือยังไม่มีเกณฑ์แบบนี้ เพื่อให้หน่วยงานรัฐต้องรีบออกเกณฑ์แบบนี้ออกมา

ปัญหาอีกอย่างคือการให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านกฎหมายจะมากขึ้น ผมคิดว่าองค์กร หรือสภาทนายความที่จะมาช่วยในด้านนี้ยังไม่เพียงพอ การสนับสนุนจากรัฐยังไม่มี ผมเคยได้ยินว่าในต่างประเทศถึงขั้นที่ว่า ต้องมีการสนับสนุนของรัฐอย่างจริงจังแก่องค์กรที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านกฎหมาย ในที่นี่ไม่ได้หมายถึงเอ็นลอว์ แต่อาจจะเป็นใครก็ได้ที่จะมาทำเรื่องนี้ ก็ต้องมีกลไกที่เข้ามาสนับสนุน ซึ่งเรายังไม่เห็นตรงนี้ ที่ผ่านมาประชาชนต้องพยายามช่วยเหลือตนเอง หรือผ่านสภาทนายความ ซึ่งก็มีไม่เพียงพอ

ไทยพับลิก้า : ค่าใช้จ่ายในการฟ้องคดีมากแค่ไหน

ขึ้นอยู่กับว่าเป็นเรื่องอะไร หากว่าเป็นเรื่องทางเทคนิคที่ต้องตรวจสอบ อย่างกรณีคลิตี้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามีการปนเปื้อนมากแค่ไหนนั้น ก่อนที่จะเสนอการแก้ไขก็ต้องไปตรวจก่อน เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการตัดสินใจ ซึ่งค่าใช้จ่ายตรงนี้จะเอามาจากไหน? ที่ผ่านมาเราขอความอนุเคราะห์จากนักวิชาการ นักวิชาการก็พยายามไปหาทุนมาช่วย ซึ่งจะได้ หรือไม่ได้ ก็แล้วแต่ยถากรรม ซึ่งไม่ควรปล่อยให้เป็นอย่างนี้ มันควรมีระบบที่มารองรับเรื่องดังกล่าว ให้ชาวบ้านเข้าถึงกระบวนการใช้สิทธิพอสมควร

ส่วนเรื่องค่าธรรมเนียมศาล ในศาลปกครองนั้นมีเฉพาะเรื่องค่าเสียหายอย่างเดียว แต่เราคิดแค่ค่าธรรมเนียมอย่างเดียวไม่ได้ เพราะการที่ชาวบ้านมาใช้สิทธินั้น เขาต้องเสียเวลาทำมาหากิน ค่าเดินทางมาศาล ค่าดำเนินการต่างๆ เขาก็ต้องเสียโอกาสหลายเรื่อง ด้านค่าธรรมเนียมศาล ศาลก็อาจจะยกเว้นให้ แต่ก็เยียวยาได้แค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ปัญหาคือชาวบ้านยังมีค่าใช้จ่ายส่วนอื่นจำนวนมาก นี่หมายถึงกรณีที่ชาวบ้านได้รับความช่วยเหลือด้านทนายความนะ ถ้าหากต้องจ้างทนายก็ต้องเสียค่าวิชาชีพทนายความอีก ซึ่งเป็นเงินมิใช่น้อย รวมแล้วมีมูลค่าสูงเกินกว่าที่ชาวบ้านจะมาใช้สิทธิได้ แค่ 9 ปีของคดีคลิตี้ผมว่า ไม่รู้จะคิดมูลค่าอย่างไร มันประเมินค่าไม่ได้ แค่เรื่องระยะเวลาก็แย่แล้ว ดังนั้น เป็นไปได้ที่หลายคดีเลือกที่จะไม่ใช้สิทธิฟ้องคดี คือการใช้สิทธิของชุมชนมีต้นทุน ต้องเสียสละ และต้องอาศัยความเข้มแข็ง การต่อสู้ที่ยาวนานกว่าจะได้รับผล เราจะให้ชุมชนต้องไปแบกรับภาระตรงนี้ไหม หรือมีกลไกใดเข้ามาแก้ไข นี่คือโจทย์ใหญ่ที่เราต้องทำ

ตอนนี้ยังคุยกันอยู่ว่า การฟ้องคดีในลักษณะตอบโต้อาจต้องมีมากขึ้น และตรงนี้จะใช้ทุนเยอะ ก็ต้องเลือกกรณีที่เห็นว่ากระทำผิดหรือละเลยหน้าที่จริงๆ มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่าแกล้งเจ้าหน้าที่ หรือฝ่ายเจ้าของธุรกิจที่ทำงานผิดพลาดก็ต้องโดน แต่เรายังไม่เห็นกลไกการเอาผิดผู้ก่อมลพิษที่ชัดเจน ผู้ก่อมลพิษจึงไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ก็มีผลสะท้อนว่าเขาไม่จำเป็นต้องปรับปรุงกระบวนการผลิตใดๆ จะทิ้งขยะหรือของเสียที่ไหนก็ได้ หากถูกจับได้ก็เสียค่าปรับไปก็จบ

นายสุรชัย ตรงงาม ทนายความคดี "ห้วยคลิตี้"
นายสุรชัย ตรงงาม ทนายความคดี “ห้วยคลิตี้”

อย่างกรณีโคบอลต์ 60 ผ่านมา 12 ปีแล้ว ปัจจุบันอยู่ในศาลฎีกา ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้กมลสุโกศล รับผิดชอบแค่หลักแสนบาทเท่านั้น แต่เนื่องจากเป็นคดีแรกที่ศาลปกครองตัดสินแล้ว ศาลให้รับผิดชอบเต็มจำนวนประมาณ 5-6 ล้านบาท เป็นค่าเสียหายที่ชาวบ้านได้รับบาดเจ็บทางสุขภาพอนามัยหรือตาย แต่เมื่อมาฟ้องศาลแพ่ง ศาลบอกความเสียหายมีจำนวนเดียว ดังนั้นจึงหักออกจากที่ได้รับจากรัฐไปแล้ว ดังนั้น เมื่อรัฐจ่ายไปแล้ว 5-6 ล้าน เอกชนจึงเหลือจ่ายแค่หลักแสน ถามว่าหลักการจ่ายของผู้ก่อมลพิษอยู่ไหน แล้วทำไมรัฐต้องรับผิดชอบมากกว่า คือละเมิดทั้งคู่ หน่วยงานรัฐละเมิดควบคุมไม่ดี เอกชนก็ละเมิดจัดเก็บไม่ดีก่อให้เกิดปัญหา แต่เมื่อแยกฟ้องกันตามระบบศาลไม่มีการชี้ว่าใครควรรับผิดตามสัดส่วนเท่าใด ปรากฏว่ารัฐจ่ายก่อน เอกชนเลยได้ประโยชน์ไป แบบนี้มันไม่ถูก จะเห็นว่ากลไกเรามีปัญหา หลังๆ มาอย่างในคดีซานติก้าผับ ศาลจึงตัดสินให้รัฐจ่ายร้อยละ 20 เอกชนร้อยละ 80

ปัจจุบันผมยังข้องใจว่าทำไมกมลสุโกศล จ่ายแค่นี้ ทั้งๆ ที่ศาลพิพากษาว่าละเมิด จัดเก็บไม่ดี เมื่อรับผิดน้อยแล้วเขาจะปรับปรุงกระบวนการทำไม ปัจจุบันเขาก็ยังประกอบกิจการค้าเครื่องมือทางการแพทย์ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าผลของคดีนี้จะทำให้เขาเห็นเป็นแบบอย่าง และต้องลงทุนทางการผลิตไม่ให้เกิดปัญหาอีก แต่เขากลับไม่ต้องรับผิดชอบอะไร การตรวจสอบของภาคประชาสังคมเองก็อาจจะมีน้อย อย่างนี้ทำไมไม่มีใครตั้งคำถามกับบริษัทที่ทำให้เกิดความเสียหายบ้าง แม้ว่าจะเกิดปัญหาร้ายแรงขนาดนี้ แต่เจ้าของบริษัทก็ยังเปิดตัวขายเครื่องมือทางการแพทย์ในโรงพยาบาลต่างๆอยู่

ช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่คำพิพากษากลุ่มคดีสิ่งแวดล้อมกำลังทยอยออก หลังจากรอกันมา 8-9 ปี เราก็ฟ้องล่วงหน้าไปก่อน คิดไปก่อนว่าจะเกิดอะไรขึ้น ไม่รู้ว่าผลจะออกตามคาดหมายไหม แต่คิดว่าก็เป็นไปตามที่เราอยากจะให้มันมีผลสะเทือนสังคมพอสมควร สื่อก็ช่วยทำเรื่องนี้ให้เป็นประเด็นสาธารณะมากขึ้น เพราะทนายความมีข้อจำกัดเรื่องการพูดต่อสาธารณะมาก ไม่รู้ว่าจะสื่อสารอย่างไร มีเว็บไซต์ก็ไม่ค่อยได้ลงข่าวเท่าไหร่

ไทยพับลิก้า : ที่จริงข้อมูลข่าวสารแต่ละองค์กรนั้นเปิดเผยให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบได้โดยไม่ต้องลงทุนเยอะ อยู่ที่นโยบายของแต่ละหน่วยงานว่าข้อมูลไหนที่จะให้ประชาชนเข้าถึง อาจจะบนเว็บไซต์ขององค์กรก็ได้ แต่กลับหายากมาก

ปัญหาคือข้อมูลที่เขาเผยแพร่เราไม่อยากรู้ แต่ข้อมูลที่เราอยากรู้เขาไม่เผยแพร่

ไทยพับลิก้า : ที่จริงเป็นข้อมูลเปิดเผยอยู่แล้ว

ถูกครับ ลักษณะแบบนี้ก็ต้องมีเกณฑ์ว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่ไม่สมควร เกินกว่าเหตุมากมาย ไม่ได้พูดถึงการตีความที่ยังก้ำกึ่งนะ อันนั้นไม่ว่ากัน แต่ที่มันเห็นแนวชัดเจนแต่ยังมาปฏิบัติตามนั้นต้องมีความรับผิดอันใดอันหนึ่งขึ้นมา ตรงนี้ถ้าจะบอกให้ชาวบ้านไปใช้สิทธิฟ้องศาล ทำได้ครับ แต่ใช้เวลานานมาก อย่างคดีท่อก๊าซ 10 กว่าปีแล้วยังพิสูจน์กันอยู่เลย การเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐไม่ใช่เรื่องง่ายนะ เป็นเรื่องลงทุนมากมหาศาล และจะมีคดีสวนกลับอยู่เรื่อยๆ ประเด็นของผมในเรื่องนี้คือ ทำยังไง เมื่ออำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ ละเมิดหรือฝ่าฝืนกฎหมายอย่างชัดแจ้ง ที่ภาษากฎหมายเรียกว่า จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ต้องมีความรับผิดเกิดขึ้นมา ซึ่งผมว่าตรงนี้เรายังไม่มี ไปถามชาวบ้านหลายที่ก็มักจะพูดว่า แค่นี้เองเหรอ ไม่ต้องรับผิดเลยหรอ ในกรณีที่เขาแพ้ ก็คือกลับไปปฏิบัติหน้าที่ตามเดิม