ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > กรณีศึกษา 10 ปีห้วยคลิตี้ กระบวนจ่ายค่าชดเชย-ความจริงใจฟื้นฟูแหล่งน้ำจากสารตะกั่ว

กรณีศึกษา 10 ปีห้วยคลิตี้ กระบวนจ่ายค่าชดเชย-ความจริงใจฟื้นฟูแหล่งน้ำจากสารตะกั่ว

14 เมษายน 2013


จากกรณีบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ปล่อยน้ำเสียจากบ่อตะกอนหางแร่ที่มีสารตะกอนปนเปื้อนลงสู่ลำห้วยคลิตี้ทำให้ชาวบ้านคลิตี้เจ็บป่วย ต่อมาตรวจพบว่าน้ำในลำห้วยคลิตี้มีสารตะกั่วปริมาณสูง จึงสั่งไม่ให้ชาวบ้านใช้น้ำและจับสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้มาบริโภค “ชั่วคราว” เป็นเวลารวมเวลากว่า 10 ปีแล้ว (เพิ่มเติม)

ในคดีหมายเลขดำที่ 214/2557 ที่นายยะเสอะ นาสวนสุวรรณ กับพวก รวม 22 คน ยื่นฟ้องกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ต่อศาลปกครองฐานละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมาย และ/หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร ในการกำจัดมลพิษสารตะกั่วและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศของลำห้วยคลิตี้ และศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ คพ. ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้ง 22 ราย รายละ 177,199.55 บาท พร้อมทั้งฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้นั้น

นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และชาวบ้านคลิตี้
นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และชาวบ้านคลิตี้

ล่าสุด ในวันที่ 29 มีนาคม 2556 คพ. เดินทางไปหมู่บ้านคลิตี้ล่าง ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อจ่ายค่าชดเชยตามคำสั่งศาล พร้อมจัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับชาวบ้านเพื่อหาแนวทางฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ร่วมกัน

ปัญหาจากสารตะกั่วที่ คพ. ต้องฟื้นฟูมี 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ1.นำตะกอนดินในท้องน้ำที่ปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยขึ้นมาให้หมด และ 2.ย้ายตะกอนตะกั่วที่บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ตักขึ้นมาฝังกลบบริเวณริมลำห้วยคลิตี้จำนวน 8 หลุม ออกไป

ขั้นตอนการจ่ายเงินชดเชย

โดยปกติแล้ว การจ่ายค่าชดเชยตามคำสั่งศาลนั้น ผู้จ่ายเงินมักจะเอาเงินไปวางศาลมากกว่าจะมามอบให้ผู้เสียหายด้วยตนเอง แต่ คพ. เลือกมามอบให้ชาวบ้านที่คลิตี้ล่างพร้อมสื่อมวลชนประมาณ 30 คน โดยจ่ายเป็นเช็คเงินสด 22 ใบ แก่ชาวบ้านผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 คน ซึ่งชาวบ้านจะเดินออกมารับเช็คทีละคนตามที่ขานชื่อจากนายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดี คพ.

ชาวบ้านคลิตี้เซนชื่อก่อนรับเช็คชดเชยจากกรมควบคุมมลพิษ
ชาวบ้านคลิตี้เซ็นชื่อก่อนรับเช็คชดเชยจากกรมควบคุมมลพิษ

ในชีวิตประจำวันของชาวคลิตี้นั้นใช้แต่เงินสด ดังนั้น การให้ “เช็ค” จึงสร้างความลำบากให้ชาวคลิตี้มาก แม้ว่าภายหลังจะทราบว่าเช็คคืออะไร แต่ก็ต้องเดินทางกว่า 2 ชั่วโมง จากหมู่บ้านคลิตี้ล่างไปยังตัวอำเภอทองผาภูมิเพื่อเปิดบัญชีธนาคารเอาเช็คเข้า อีกทั้งขั้นตอนการรับทีละคนนี้ ผู้รับต้องยกมือไหว้ผู้ให้ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวบ้านไม่อยากทำ เนื่องจากเขาเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทำงานของรัฐ โดยศาลตัดสินแล้วว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ ฝ่ายที่ผิดคือ คพ. และค่าชดเชยดังกล่าวเป็นเงินที่เขาสมควรได้อยู่แล้ว ไม่ใช่เงินช่วยเหลือจากรัฐ

สิ่งที่ชาวคลิตี้ต้องการให้ คพ. ทำ คือ เอาเช็คทั้งหมดรวมกันแล้วให้ผ่านพระสงฆ์ทั้งหมดในครั้งเดียว หลังจากนั้นก็ทำพิธีกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่เสียชีวิตไปในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจเกิดจากสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ แล้วชาวบ้านจะนำเงินนั้นมาจัดสรรกันเองโดยแต่ละคนจะแบ่งเงินเป็น 2 ส่วน คือ เข้ากองกลางของหมู่บ้านและเก็บไว้ส่วนบุคคล แต่ผลที่ปรากฏคือ มีการทำพิธีสงฆ์ กรวดน้ำก่อน หลังจากนั้นทาง คพ. ก็ขานชื่อให้ชาวบ้านมารับเช็คทีละคนตามเดิม ซึ่งชาวบ้านหลายคนก็ไม่ยกมือไหว้อธิบดี แม้ว่าทุกครั้งอธิบดีจะยกมือไหว้ชาวบ้าน

ชาวบ้านคลิตี้กรวดน้ำให้ญาติที่เสียชีวิต
ชาวบ้านคลิตี้กรวดน้ำให้ญาติที่เสียชีวิต

เวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง ในการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันระหว่าง คพ., ชาวคลิตี้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในช่วงบ่ายของวันที่ 29 มีนาคม 2556 นั้น ยังไม่ได้ข้อสรุปแผนการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ว่าจะทำอย่างไร ซึ่งหลังจากวันนี้ ทาง คพ. จะแจ้งชาวบ้านเพื่อมาร่วมกันแสดงความคิดเห็นอีกครั้ง

ด้านองค์กรเอกชนที่ให้ความช่วยเหลือชาวคลิตี้มาตั้งแต่ต้นอย่างนายสุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (เอ็นลอว์-EnLAW) ทนายความผู้แทนคดี กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่ได้ยินคำ “ขอโทษ” ของหน่วยงานรัฐจากปากของอธิบดี คพ. ที่ขอโทษชาวคลิตี้ทุกคนแทนรัฐบาล สำหรับหน้าที่ของเอ็นลออว์ที่จะทำต่อไปคือ ร่วมมือกับภาคประชาสังคม ให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือชาวบ้าน ทำแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม รวมถึงผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาต่อไป

เช่นเดียวกับนายพลาย ภิรมย์ ผู้จัดการกรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องที่น่าสนใจคือ จะทำยังไงให้ชาวบ้านเข้าถึงสิทธิชุมชนและไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ประเด็นคลิตี้เป็นตัวอย่างสำคัญที่ทำให้เห็นปัญหาเรื่องอุตสาหกรรมกับสิ่งแวดล้อม และวันนี้ก็เป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ได้เห็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน และเป็นครั้งแรกที่ได้ยินว่า “ต้องฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้” ไม่ใช่ปล่อยฟื้นฟูตามธรรมชาติอีกแล้ว ด้านการร่วมฟังความคิดเห็นก็ต้องหาวิธีการสื่อสารที่ทำให้ชาวบ้านเข้าใจและตอบสนองได้ด้วย แต่สิ่งที่ยังขาดอยู่คือความรับผิดชอบของผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ก่อมลพิษแต่กลับไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อการฟื้นฟูแต่อย่างใด

ดินที่นำมาถมเป็นถนนบริเวณโรงแต่งแร่เป็นดินที่จากเหมืองตะกั่ว
ดินที่นำมาถมเป็นถนนบริเวณโรงแต่งแร่เป็นดินที่จากเหมืองตะกั่ว

สำหรับการทำงานฟื้นฟูต่อจากนี้ ต้องทำงานร่วมกันอย่างจริงใจ ด้านภาคประชาสังคมก็ตั้งคณะทำงานติดตามการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ซึ่งสนับสนุนให้เกิดการฟื้นฟูอย่างเต็มที่บนหลักการของเหตุผล โดยให้ประโยชน์ตกอยู่ที่ลำห้วยคลิตี้และประเทศไทยทั้งประเทศที่ใช้คดีนี้เป็นกรณีศึกษาที่สร้างความถูกต้อง ชัดเจน และเกิดความยุติธรรมในสังคมไทย

ในขณะที่ชาวบ้านคลิตี้พยายามบอกคพ.ว่า พวกเขาต้องการมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ อยากให้เอาตะกอนดินในท้องลำห้วยคลิตี้ตลอด 19 กิโลเมตร ขึ้นมาให้หมด เพราะทุกๆ ปีในฤดูน้ำหลากตะกอนดินจะฟุ้งกระจายทั้งลำห้วย ยิ่งทิ้งเอาไว้ชาวบ้านก็จะไม่ได้ใช้ประโยชน์จากลำห้วยไปอีกนาน แต่หากเอาตะกอนดินออกหมด สารตะกั่วจะฟุ้งครั้งสุดท้ายแล้วหมดไป สำหรับวิธีจัดการนั้นชาวคลิตี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะฟื้นฟูด้วยวิธีการใด

วิธีการต่างๆ ที่ชาวบ้านเคยเสนอกันเอง หรือที่นักวิชาการแนะนำมาก่อนหน้านี้ ล้วนเป็นวิธีการที่ชาวบ้านรู้สึกว่าไม่สามารถทำได้ อย่างการใช้เรือดูดตะกอนดินนั้นไม่เหมาะสม ทำไม่ได้เพราะลำห้วยแคบและมีฝายหรือน้ำตกกั้นเป็นระยะ หรือการใช้สารเคมีบางอย่างมาจับสารตะกั่วก็ไม่รู้จะทำได้อย่างไร ส่วนการใช้รถตักขุดลอกตะกอนดินตลอดลำห้วยคลิตี้โดยกินขอบตลิ่งเข้ามาด้านละ 2 เมตร จะทำลายต้นไม้ใหญ่เพื่อเปิดทางมายังลำห้วย รวมถึงต้นไม้ที่อยู่ริมห้วย อีกทั้งในท้องลำห้วยเต็มไปด้วยตอไม้ ท่อนไม้ขนาดใหญ่จำนวนมากตลอดลำห้วย และบางช่วงมีฝายหรือน้ำตกกั้นอยู่

ในขณะที่อธิบดี คพ. กล่าวว่า จะต้องเอาตะกอนดินขึ้นมา แต่คงไม่ทำตลอดทั้งลำห้วยคลิตี้ ต้องสำรวจก่อน หากจุดไหนตะกอนดินมีสารตะกั่วเกินเกณฑ์มาตรฐานก็จะกำจัดออก จุดไหนที่ไม่เกินก็ไม่ทำ ซึ่งจะเอาตะกอนดินออกด้วยวิธีไหนนั้นยังไม่ทราบ เพราะการตักลึกเกินไปก็ไม่ได้ เนื่องจากจะเจอสารตะกั่วเก่าที่สะสมมานานถึง 1,500 ปี ก็มี ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิชาการกำลังเป็นห่วงอยู่ แต่ต้องมาขอความเห็นจากชาวบ้านก่อน ก่อนจะไปทำแผนงานคร่าวๆ แล้วจะมาแจ้งให้ชาวบ้านทราบอีกครั้ง ดังนั้น หากไม่มีอุปสรรคใดๆ คาดว่าจะฟื้นฟูเสร็จภายใน 3 ปี และติดตามผลต่ออีก 1 ปี ซึ่งหากตรวจสอบแล้วพบว่าน้ำ ตะกอนดิน และสัตว์น้ำ ไม่เกินค่ามาตรฐาน ก็จะประกาศใช้ประโยชน์จากลำห้วยได้ตามเดิม

ทั้งนี้ ปัจจุบันทาง คพ. ยังไม่มีงบประมาณเพื่อมาฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ต้องรองบฯ จากปี 2557 แต่เวลา 3 ปี น่าจะเสร็จทัน โดยมีแผนเบื้องต้น คือ ตกผลึกเรื่องแนวทางการฟื้นฟู จำกัดขอบเขตการทำงาน สำรวจตะกอนแร่บนบกว่ามีจุดไหนที่เสี่ยงให้เกิดการรั่วซึมไหลลงลำห้วยอีกก็จัดการให้หมดก่อน ต่อมาก็สำรวจตะกอนสารตะกั่วที่อยู่ในลำห้วย หลังจากนั้นก็กำจัดตะกอนสารตะกั่วออก โดยติดตามตรวจสอบตลอดทุกๆ 3 เดือน จนกระทั่งฟื้นฟูเสร็จสิ้นอย่างน้อย 1 ปี

ส่วนเรื่องการติดตามตรวจสอบคุณภาพ นายรังสรรค์ ปิ่นทอง ผู้อำนวยการสำนักจัดการคุณภาพน้ำ คพ. กล่าวว่า ติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำ ตะกอนดิน สัตว์ในลำห้วย ได้แก่ ปลา กุ้ง และหอย และพืชผัก เช่น พริก ใบกะเพรา เป็นประจำทุกๆ 3 เดือน และติดประกาศให้ชาวบ้านทราบที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน ผลการตรวจล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม พบว่า น้ำ ปลา พืชผัก มีสารตะกั่วไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน สามารถบริโภคได้ แต่ตะกอนดินและหอยยังเกินเกณฑ์มาตรฐานอยู่ ส่วนการเก็บตัวอย่างครั้งล่าสุดในเดือนมีนาคม 2556 อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ซึ่งการตรวจสอบเช่นนี้จะดำเนินต่อไปจนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ

ด้านนายเนโท นาสวนนิวัฒน์ อายุ 66 ปี ชาวบ้านคลิตี้ กล่าวว่า ไม่เข้าใจว่าการติดประกาศผลการตรวจสอบปริมาณสารตะกั่วในลำห้วยของ คพ. นั้นมีความหมายอย่างไร แม้ทาง คพ. จะพยายามทำให้เข้าใจง่ายด้วยการเขียนเป็นภาษาไทย และใช้สัญลักษณ์ไม่ว่าจะเป็น สีแดง สีเหลือง สีเขียว หรือ เครื่องหมายผิด-ถูก เพื่อบ่งบอกว่าอันไหนกินได้หรือไม่ได้ เนื่องจากชาวบ้านคลิตี้ส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยงโปว์ แม้ว่าจะมีคนอ่านออกเขียนภาษาไทยได้ แต่ก็ไม่เข้าใจความหมายของข้อความนั้นนัก และไม่สามารถประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อชีวิตและสุขภาพของตนเองได้

สิ่งที่ชาวบ้านต้องการมากกว่าการติดประกาศคือ “คนอธิบาย” ว่าข้อความที่อยู่ในประกาศนั้นหมายความว่าอะไร รวมถึงข้อเสนอที่ทางรัฐจะให้เงินเพื่อช่วยค่าอาหารนั้น นายเนโทบอกว่าได้ก็ดี ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เฉยๆ ไม่เสียใจ อีกทั้งการฟื้นฟูที่กำลังจะเกิดขึ้นก็ยังไม่แน่ใจว่าสำเร็จหรือไม่ เพราะถ้าหาก คพ. ทำจริงๆ มีสัจจะ มีความเป็นธรรม และคิดว่าหมู่บ้านคลิตี้คือหมู่บ้านของเขา พยายามสื่อสารให้ชาวบ้านรู้เรื่อง เข้าใจวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชาวคลิตี้ และลงมือฟื้นฟูอย่างจริงจัง ก็อาจจะสำเร็จได้

ที่ผ่านมา คพ. เพียงนำประกาศมาติดไว้เป็นข้อมูลตัวเลข มีข้อความว่า ปลากินไม่ได้ น้ำกินไม่ได้ ฯลฯ แต่ไม่เคยมีคนมาอธิบาย จนวันนี้เขาบอกว่าปลากินได้ น้ำกินได้ เราก็ยังไม่แน่ใจว่าปลอดภัยหรือเปล่า อย่างคนภายนอกมาบอกว่าสารตะกั่วอันตราย ชาวบ้านก็ไม่รู้จักว่าหน้าตาเป็นยังไง จะระวังยังไง มีโทษอย่างไร ไม่เหมือนกับงูที่ชาวบ้านรู้จักและระวังได้

ชาวคลิตี้ตกปลาเพื่อมาทำอาหารในบ่อน้ำติดกับโรงแต่งแร่สารตะกั่ว
ชาวคลิตี้ตกปลาเพื่อมาทำอาหารในบ่อน้ำติดกับโรงแต่งแร่สารตะกั่ว

แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่ที่ตัวเราด้วยว่าจะกินหรือไม่ ตนอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เกิด ใช้น้ำ กินปลาในลำห้วยมาตลอด พอเขาบอกกินไม่ได้บางครั้งก็กลัว แต่บ้านอยู่ที่นี่ ดังนั้นจึงหนีไม่พ้นที่จะต้องใช้น้ำหรือกินปลาที่เขาห้าม มันจำเป็นต้องกินเพราะว่าไม่มีอะไรจะกิน ส่วนเรื่องน้ำตอนนี้ก็ปลอดภัยมากขึ้นเพราะมีโอ่งรองน้ำฝนกิน มีน้ำประปาภูเขาใช้ แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องตะกอนหินปูน

“แนวทางการฟื้นฟูลำห้วย ลำพังพวกเราชาวคลิตี้ล่างไม่รู้หรอกว่าจะทำยังไง หากไม่ประสานกับคนที่รู้ ที่มีปัญญา แล้วศึกษาด้านนี้มา เพราะเราก็คนชาวเขาชาวปลาย ถ้าจะให้เราเข้าใจ มั่นใจ ผลการกรวดน้ำ คพ. ก็ต้องเปรียบเทียบให้เราเห็นเลยว่าน้ำดื่มบรรจุขวดกับน้ำในลำห้วยนั้น เหมือนหรือต่างกันอย่างไร มีสารพิษใดบาง แต่การมาบอกลอยๆ ว่ากินได้แล้วอย่างนี้เราไม่แน่ใจ” นายเนโทกล่าว

ทั้งนี้ “การสื่อสาร” เป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นระหว่างหน่วยงานรัฐและชาวคลิตี้ ช่วงหนึ่งในเวทีเสวนา อธิบดีกล่าวว่า “ไม่รู้จะอธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจได้อย่างไรเพราะพูดภาษากะเหรี่ยงไม่เป็น” ในขณะที่ ผอ.สำนักจัดการคุณภาพน้ำ คพ. หัวเราะและไปพูดกับเจ้าหน้าที่รัฐคนหนึ่งว่า “สงสัยต้องทำประกาศเป็นภาษากะเหรี่ยง”

หรือหน่วยงานรัฐที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่จนประชาชนเดือดร้อน จะไม่พยายาม “สื่อสาร” เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

การดำเนินงานย้ายหลุมฝังกลบตะกอนดินริมห้วยคลิตี้

ในปี 2542-2543 บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ขุดลอกตะกอนดินขึ้นมาฝังกลบบริเวณริมลำห้วยระยะทาง 2.5 กิโลเมตร รวมทั้งหมด 8 หลุม ซึ่งชาวบ้านไม่เชื่อมั่นในความปลอดภัยและเกิดการรั่วไหลลงสู่ลำห้วยอีก เนื่องจากหลุมฝังกลบลาดชันลงสู่ลำห้วยประมาณ 10-20 องศา

ป้ายสัญญาว่าจ้างระหว่างกรมควบคุมมลพิษและบริษัท เบตเตอร์ เวิร์ด กรีน จำกัด (มหาชน)
ป้ายสัญญาว่าจ้างระหว่างกรมควบคุมมลพิษและบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน)
ดินตะกอนในหลุมฝังกลบ ดินที่ปนเปื้อนสารตะกั่วจะร่วนและสีต่างจากดินปกติ
ดินตะกอนในหลุมฝังกลบ ดินที่ปนเปื้อนสารตะกั่วจะร่วนและสีต่างจากดินปกติ

คพ. จึงว่าจ้างบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ให้ขนย้ายตะกอนดินจากหลุมดังกล่าวออกให้หมด โดยลงนามสัญญาว่าจ้างวันที่ 13 มีนาคม 2556 และเริ่มสัญญาตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2556 ถึง 11 กรกฎาคม เบื้องต้นวงเงินงบประมาณ 6,947,510 บาท สามารถขนย้ายได้เพียง 4 หลุม ซึ่ง ณ วันที่ 29 มีนาคม ทางบริษัทเริ่มขุดตะกอนในหลุมที่ 4 แล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จถึงกระบวนการกำจัดตะกอนดินปนเปื้อนสารตะกั่วในวันที่ 5 เมษายน 2556 โดยนำไปบำบัดและกำจัด ณ ศูนย์บริหารและจัดการกากอุตสาหกรรม จ.สระบุรี

นายศุภวัฒน์ คุณวรวินิจ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารการตลาด บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วิธีการขนย้ายตะกอนดินเริ่มจากขั้นตอนการเตรียมงาน นอกจากเตรียมวัสดุอุปกรณ์เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยของพนักงาน เช่น แทงก์น้ำ ชุดคลุม หมวก ผ้าปิดปาก และมีระบบระวังป้องกันฝุ่นโดยขึงสแลนด์รอบพื้นที่ปฏิบัติงานสูง 4 เมตร ใช้รถแม็คโครปรับแต่งพื้นที่แล้วตักตะกอนออกมาจากหลุมเดิมใส่กระบะรถบรรทุกสารตะกั่ว หลังจากขุดตะกอนขึ้นมาหมดแล้ว ทั้งทาง คพ. และบริษัทฯ จะตรวจสอบคุณภาพดินในหลุมว่าปลอดสารตะกั่วหรือไม่ แล้วเอาดินจากแหล่งอื่นมาใส่แทนตะกอนดินที่ขุดออกไป

การขนย้ายตะกอนดินปนเปื้อนสารตะกั่วออกจากหลุมฝังกลบ
การขนย้ายตะกอนดินปนเปื้อนสารตะกั่วออกจากหลุมฝังกลบ

ขั้นตอนการขนย้ายแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ขุดจากหลุมตะกอนเดิมแล้วไปพักไว้ที่บ้านห้วยเสือ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 40 กิโลเมตร ที่จุดพักนี้ก็จะป้องกันสารตะกอนไปปนเปื้อนกับสิ่งแวดล้อมโดยการขึงสแลนล้อมรอบพื้นที่สูง 4 เมตร และปูพื้นด้วย HDPE และเอาดินเหนียวทับด้านบน ก่อนที่จะเอาตะกอนสารตะกั่วไปวางทับ หลังจากนั้นจะมีรถบรรทุกมาขนตะกอนดินไปยังสระบุรี

ที่สระบุรี หลังจากผ่านกระบวนการตรวจสอบเอกสารขนย้ายสารพิษแล้ว ก็เข้าสู่กระบวนการปรับเสถียร โดยแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน คือ ทำลายความเป็นพิษ ปรับค่าความเป็นกรด-ด่าง และทำให้เป็นก้อนแข็งโดยผสมกับซีเมนต์ หลังจากนั้นก็นำไปใส่หลุมฝังกลบขนาด 300 ไร่ ของบริษัทฯ ซึ่งหลุมฝังกลบดังกล่าวเป็นแบบ secure landfill คือ การฝังกลบแบบปลอดภัย สำหรับของเสียอันตราย เป็นระบบที่มีความปลอดภัยสูง ซึ่งจะมีชั้นกันซึมรวม 9 ชั้น ก่อนใส่ขยะอัดก้อนแข็งเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม และมีระบบจัดการน้ำชะกากตามหลักวิชาการ

สถานที่พักตะกอนดินปนเปื้อนสารตะกั่วที่บ้านห้วยเสือ
สถานที่พักตะกอนดินปนเปื้อนสารตะกั่วที่บ้านห้วยเสือ
ผ้าเต้นท์คลุมกระบะขณะขนย้ายตะกอนดินปนเปื้อนสารตะกั่ว
ผ้าเต็นท์คลุมกระบะขณะขนย้ายตะกอนดินปนเปื้อนสารตะกั่ว

แต่จากสภาพพื้นที่ทำงาน มีหลายข้อที่บริษัทฯ ไม่ได้ปฏิบัติตามที่พูดไว้ เช่น สแลนที่ขึงรอบบ่อตะกอนดินในหลุมฝังกลบสูงประมาณ 1 เมตร และที่จุดพักตะกอนดินที่บ้านห้วยเสือสูง 2 เมตร ไม่ถึง 4 เมตรตามหลักข้างต้น อีกทั้งในขณะขนย้ายตะกอนดิน 3 หลุมแรกไปบ้านห้วยเสือนั้นชาวบ้านเล่าว่าไม่มีผ้าเต็นท์ปิดคลุมกระบะเวลาขนย้าย

สำหรับหลุมฝังกลบตะกอนดินเดิมที่เหลืออีก 4 หลุม ต้องรองบประมาณปี 2557 มาดำเนินการต่อไป นอกจากนี้ ที่กลางหมู่บ้านคลิตี้ยังมีตะกอนดินที่ขุดขึ้นมาจากลำห้วยอีกหนึ่งแห่ง ซึ่งจุดนี้ไม่ได้ฝังกลบเหมือน 8 หลุมดังกล่าว เพียงแต่ตักขึ้นมากองไว้บนพื้นเท่านั้น ซึ่งปริมาณของตะกอนดินปนเปื้อนสารตะกั่วจุดนี้มีมากกว่าตะกอนดินของทั้ง 8 หลุมรวมกันเสียอีก ทั้งนี้ ทาง คพ. เพิ่งทราบว่ามีตะกอนดินมาทิ้งที่กลางหมู่บ้านด้วย ซึ่งต้องดำเนินการฟื้นฟูเพิ่มอีกจุดหนึ่ง

ตะกอนดินปนเปื้อนสารตะกั่วที่กองทิ้งไว้กลางหมู่บ้านคลิตี้
ตะกอนดินปนเปื้อนสารตะกั่วที่กองทิ้งไว้กลางหมู่บ้านคลิตี้

นอกจาก คพ. จะต้องฟื้นฟูคลิตี้ที่หลุมฝังกลบตะกอนดินท้องน้ำทั้ง 8 หลุม และลำห้วยแล้ว ยังต้องหาทางฟื้นฟูสารตะกั่วในพื้นที่ที่บ่อตะกอนหางแร่พังทลายลงมาด้วย แต่ คพ. ยังสรุปไม่ได้ว่าจะกำจัดด้วยวิธีการใด โดยแจ้งว่าต้องศึกษาให้รอบคอบก่อน ทั้งนี้ จุดดังกล่าวเป็นจุดที่มีปริมาณสารตะกั่วสูงกว่า 2 หมื่นมิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และกระจายอยู่บนพื้นที่ในที่ดินของชาวบ้านทั้งที่ทำกินและที่อยู่อาศัย

อ่านเพิ่มเติม ถอดสรุปประสบการณ์คดีคลิตี้: กว่าจะมีคำพิพากษาคดีประวัติศาสตร์

ที่มาที่ไปบริษัทกำจัดขยะพิษ เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน

สำหรับบ่อขยะของบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ตำบลห้วยแห้ง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี มีปัญหาชาวบ้านต่อต้านมาตลอด ตั้งแต่เปิดกิจการในปี 2540 ทั้งเรื่องกลิ่นเหม็น ดินเสื่อมคุณภาพ และเสี่ยงต่อการปนเปื้อนในน้ำใต้ดิน ซึ่งมีความเสี่ยงว่าสารตะกั่วจากคลิตี้อาจปล่อยสู่ธรรมชาติในแหล่งอื่นได้

บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด ก่อตั้งเมื่อ 23 กรกฎาคม 2540 โดยนายสุวัฒน์ เหลืองวิริยะ และเปลี่ยนเป็นบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2548 โดยมีกรรมการ 9 คนรวมนาย สุวัฒน์ เหลืองวิริยะ ด้วย และมีผู้ถือหุ้นรวม 25 ราย

ในปี 2546 หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ เขียนข่าวเชิงวิเคราะห์ถึงปัญหาที่ชาวบ้านโดยรอบได้รับ โดยเฉพาะกรณีที่บริษัทปล่อยน้ำเสียจากบ่อขยะลงลำรางสาธารณะ และกรณีพนักงานของบริษัทป่วยเป็นโรคปอดอักเสบจากสารพิษแล้วถูกไล่ออก เพราะสารพิษที่ปลิวคลุ้งอยู่ในโรงงาน

จนกระทั่งปี 2551 คณะอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำ ชายฝั่ง แร่ และสิ่งแวดล้อม นำโดยนายวสันต์ พานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานอนุกรรมการ ลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหาตามตามคำร้องที่ ๕๗๒/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๗ ของนางนิตยา ปัตตะแวว ว่า โรงงานกำจัดขยะของบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ก่อให้เกิดมลพิษต่อชุมชน

ในรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน คณะอนุกรรมการสิทธิฯ เห็นว่า บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) มีการประกอบการซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน เนื่องจากมีข้อบกพร่องในการประกอบกิจการหลายครั้งมาโดยตลอด แม้จะมีการแก้ไขปรับปรุงมาเป็นลำดับแล้วก็ตาม แต่ยังเห็นว่าต้องมีการติดตามตรวจสอบโดยใกล้ชิด และสม่ำเสมอ โดยชุมชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ เพื่อรักษาสิทธิของชุมชนที่จะอยู่ในสภาพแวดล้อมปลอดภัยต่อสุขภาพอนามัย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

โดยข้อบกพร่องที่ยังปรากฏนั้น เช่น ไม่ปฏิบัติตามรายละเอียดในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยปิดคลุมบริเวณพื้นที่ที่ยังดำเนินการฝังกลบด้วยตาข่าย Geonet และปิดคลุมด้วยผ้าใบที่สามารถป้องกันการซึมของน้ำฝนลงสู่บ่อฝังกลบเพียงบางส่วนเท่านั้น และนำน้ำชะกากไปเก็บไว้ที่บ่อเก็บน้ำฝนปนเปื้อนบริเวณด้านหลังโครงการแทนการสูบน้ำชะกากไปบำบัดในระบบบำบัดน้ำเสียทางเคมี รวมทั้งนำกากอุตสาหกรรมที่มีการปนเปื้อนกากของเสียอันตรายฝังกลบในบ่อฝังกลบที่ 2 ซึ่งเป็นบ่อฝังกลบแบบถูกหลักสุขาภิบาล (Sanitary Landfill) เป็นต้น

ในเดือนมิถุนายน 2552 หน่วยศึกษาและเฝ้าระวังมลพิษทางน้ำ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงศึกษาแหล่งน้ำใต้ดินรอบบ่อขยะฝังกลบดังกล่าวใน 5 จุด คือ บ้านหนองปลาไหล หมู่ 8, บ้านหนองจอก หมู่ 6, บ้านกุดนกเปล้า หมู่ 8, บ้านบุใหญ่หมู่ 10 และบ้านห้วยแห้ง หมู่ 8 จากกรณีการปนเปื้อนสารพิษในแหล่งน้ำใต้ดินรอบบ่อขยะฝังกลบขยะอันตราย

พบว่า ยังไม่มีการปนเปื้อนในระดับรุนแรงหรือมีหลักฐานที่แน่ชัดว่ามีสารพิษรั่วไหลจากบ่อขยะสู่น้ำใต้ดิน แม้ว่าน้ำใต้ดินในบางจุดชาวบ้านใช้อาบแล้วกิดอาการคัน น้ำเกิดตะกอนแดง หรือเมื่อนำไปหุงข้าวแล้วบูดง่ายหากไม่ผ่านระบบกรองน้ำ

ลำห้วยคลิตี้จะฟื้นฟูด้วยวิธีการใด และใช้เวลานานแค่ไหน ยังเป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันหาข้อสรุปต่อไป และสารตะกั่วจากลำห้วยคลิตี้จะถูกกำจัดอย่างถูกวิธี หรือเพียงเคลื่อนที่ไปอยู่ที่อื่นอย่างไม่ปลอดภัยนั้น ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามด้วย