เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2559 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีจัดงานเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ “กรณีค่าโง่คลองด่าน-หยุดความเสียหายของชาติ” เพื่อหาแนวทางในการยุติการจ่ายเงิน “ค่าโง่” ฐานผิดสัญญา ในการดำเนินโครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียในเขตควบคุมมลพิษพื้นที่ จ.สมุทรปราการ (คลองด่าน) ให้กับกิจการร่วมค้า NVPSKG ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด (ที่ตัดสินตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการอีกทีหนึ่ง) หลังจากมีคำพิพากษาจากศาลยุติธรรมในหลายคดีที่ระบุว่าโครงการนี้มีการทุจริตอย่างเป็นระบบ โดยการร่วมมือกันระหว่างนักการเมือง ข้าราชการ นักวิชาการ ไปจนถึงเอกชน
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีมติเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 ให้จ่ายค่าโง่ในโครงการคลองด่าน ให้กับกิจการร่วมค่า NVPSKG รวมมูลค่ากว่า 9,600 ล้านบาท โดยแบ่งจ่ายเป็น 3 งวด งวดแรก จ่าย 40% โดยจ่ายไปแล้วเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2558 งวดที่สอง จ่าย 30% โดยจะต้องจ่ายภายในวันที่ 21 พฤษภาคม 2559 และงวดสุดท้าย จ่าย 30% โดยจะต้องจ่ายภายในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2559
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 พ.ต.อ. สีหนาท ประยูรรัตน์ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้ออกมาเปิดเผยว่า คณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติอายัดสิทธิ์ในการเรียกร้องเงินค่าโง่จากโครงการคลองด่าน ของกิจการร่วมค้า NVPSKG ที่เหลืออีก 2 งวด รวมเป็นเงินกว่า 4,700 ล้านบาท และ 32 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากพบว่าผู้เกี่ยวข้องมีพฤติการณ์ทุจริตและแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
ขณะที่สำนักข่าวอิศรารายงานว่า รัฐบาลเตรียมยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองพิจารณาคดีนี้ใหม่ โดยยึดแนวคำพิพากษาของศาลฎีกา ที่ตัดสินให้รัฐไม่ต้องจ่ายค่าโง่ในโครงการก่อสร้างทางด่วนบางนา-บางพลี-บางปะกง มูลค่า 6,200 ล้าน ให้กับเอกชน เพราะโครงการดังกล่าวมีการทุจริต ทำให้สัญญาที่ทำไว้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการเสวนาวิชาการที่จุฬาฯ มีทั้งตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน สื่อมวลชน และภาคประชาสังคม ซึ่งเนื้อหาในการเสวนามีทั้งเล่าเบื้องหลังการต่อสู้คดีคลองด่านของภาครัฐที่มีคำถามว่าภาครัฐได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่หรือไม่ รวมไปถึงการหาแนวทางในการไม่ต้องจ่ายค่าโง่ด้วยการยื่นให้ศาลปกครองหยิบคดีนี้ขึ้นมาพิจารณาใหม่
ยื่นศาลปกครองพิจารณา “คดีคลองด่าน” ใหม่แล้ว
นายอภิชัย ชวเจริญพันธ์ อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ในฐานะผู้ลงนามในคำสั่งยกเลิกสัญญาโครงการคลองด่านกับกิจการร่วมค้า NVPSKG เมื่อปี 2546 กล่าวว่า หลังจากตนเข้ารับตำแหน่งอธิบดี คพ. ได้เพียง 1 วัน นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในขณะนั้น ก็ส่งข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาของโครงการนี้ที่ให้ทีมรวบรวมพร้อมความเห็นขอให้ยกเลิกสัญญามาให้ตนพิจารณา เนื่องจาก “บริษัท นอร์ธเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด” ที่เป็นเอกชนรายเดียวที่มีประสบการณ์ในการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียตามทีโออาร์ของโครงการ ได้ถอนตัวออกจากกิจการร่วมค้า NVPSKG ก่อนที่จะเซ็นสัญญากับ คพ.
“ถือเป็นความกดดันอย่างมากที่หลังจากรับตำแหน่งเพียงวันเดียวก็ถูกขอให้ยกเลิกสัญญาโครงการที่มีมูลค่ากว่า 23,000 ล้านบาท แต่ถึงอย่างไรก็ต้องทำ เพราะข้อมูลทุกอย่างมันชัดเจนมาก ว่าการที่บริษัทนอร์ธเวสต์ฯ ถอนตัว ทำให้สาระสำคัญของสัญญาเปลี่ยนไป นอกจากนี้ ยังไม่ยื่นฟ้องกิจการร่วมค้า NVPSKG กับตำรวจ ฐานฉ้อโกงด้วย 3-4 ครั้ง” นายอภิชัยกล่าว
นายอภิชัยกล่าวว่า แต่ในเวลาต่อมา นายประพัฒน์ ตนและผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ กลับถูก ทส. ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด เพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการยกเลิกโครงการคลองด่าน โดยยึดเอาคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ตัดสินตามคำชี้ขาดของอนุญาโตฯ ที่ให้ คพ. จ่ายเงินงวดที่เหลือในสัญญา อีก 4 งวด แก่กิจการร่วมค้า NVPSKG มาเป็นฐานในการเอาผิด ซึ่งเมื่อเดือนมีนาคม 2559 นายประพัฒน์ ตน และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ไปยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองหยิบคดีนี้ขึ้นมาพิจารณาใหม่ เนื่องจากมี “พยานหลักฐานใหม่” เป็นคดีพิพากษาของศาลอาญาชั้นต้น ที่ให้จำคุกนายปกิต กิระวานิช อดีตอธิบดี คพ. (ผู้เซ็นสัญญาให้กิจการร่วมค้า NVPSKG ได้ทำโครงการคลองด่าน เมื่อปี 2540 ทั้งที่บริษัทนอร์ธเวสต์ฯ ถอนตัว) กับพวก เป็นเวลา 20 ปี ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) มาตรา 157 ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอฟังคำสั่งของศาลปกครองว่าจะหยิบคดีนี้ขึ้นมาพิจารณาใหม่หรือไม่
ข้องใจรัฐสู้เต็มที่หรือไม่ – เปิด 3 วิธีพลิกคดี ไม่ต้องจ่าย “ค่าโง่”
ด้านนายณกฤช เศวตนันทน์ อดีตที่ปรึกษากฎหมายของ คพ. ซึ่งเป็นผู้ทำสำนวนฟ้องกิจการร่วมค้า NVPSKG ฐานฉ้อโกง หลังรู้ว่าบริษัทนอร์ธเวสต์ฯ ถอนตัวตั้งแต่ก่อนเซ็นสัญญากับ คพ. ได้กล่าวตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการต่อสู้คดีคลองด่านทั้งหมดของภาครัฐ โดยเฉพาะ ทส. และ คพ. ว่าทำอย่างเต็มที่แล้วจริงหรือไม่ โดยตั้งข้อสังเกตไว้ถึง 6 ประการ
- หลังจากนายประพัฒน์พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ทส. และนายอภิชัยพ้นจากตำแหน่งอธิบดี คพ. ปรากฏว่ามีการเปลี่ยนตัวบริษัทเอกชนที่ถูกว่าจ้างให้มาฟ้องกิจการร่วมค้า NVPSKG ขณะที่การดำเนินคดีคลองด่านก็ไม่เต็มที่เหมือนเดิม สะท้อนว่าเมื่อการเมืองและนโยบายเปลี่ยน เรื่องคดีความก็ได้รับผลกระทบไปด้วย
- หลังจากศาลแขวงดุสิตมีคำตัดสินในคดีอาญาว่า กิจการร่วมค้า NVPSKG มีความผิดฐานฉ้อโกงจริง เมื่อปี 2552 น่าสงสัยว่าเหตุใด คพ. ถึงไม่ฟ้องคดีแพ่งตามไปด้วย เพราะหากฟ้องตามไปเชื่อว่าจะมีคำตัดสินในคดีแพ่งไปสู้คดีในศาลปกครองแล้ว
- กว่าที่อนุญาโตฯ จะมีคำชี้ขาดให้ คพ. จ่ายเงินค่างวดโครงการคลองด่านที่เหลือให้กับกิจการร่วมค้า NVPSKG ก็ปี 2554 น่าสงสัยว่า นิติกรของ คพ. ได้นำคำตัดสินของศาลแขวงดุสิตไปยื่นให้อนุญาโตฯ ได้ประกอบการพิจารณาคดีด้วยหรือไม่ เพราะแม้ภายหลังศาลอุทธรณ์จะพิพากษากลับยกฟ้อง แต่ก็เกิดขึ้นหลังจากอนุญาโตฯ มีคำชี้ขาดไปแล้ว
- พอ คพ. แพ้ในชั้นอนุญาโตฯ ปรากฎว่า กิจการร่วมค้า NVPSKG ก็ไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองต่อ คำถามก็คือ ทำไมไม่ฟ้องต่อศาลแพ่ง ส่วนตัวมองว่าเพราะกิจการร่วมค้า NVPSKG ต้องการเลี่ยงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ อาญา) มาตรา 46 ที่ระบุว่า การพิจารณาคดีแพ่งให้ยึดข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีอาญา
- คำพิพากษาของศาลปกครอง กรณีบริษัทนอร์ธเวสต์ฯ ถอนตัว แย้งกับคดีพิพากษาของศาลแขวงดุสิต จึงน่าสนใจว่า กรณีนี้นิติกรของ คพ. และอัยการ ทำงานอย่างไร
- ในคำพิพากษาของศาลอาญา ที่ให้จำคุกนายปกิตกับพวก เป็นเวลา 20 ปี ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ได้พูดด้วยว่า สัญญาที่ คพ. ทำกับกิจการร่วมค้า NVPSKG ในโครงการคลองด่านไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำถามก็คือ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ คพ. จะยึดคำพิพากษาในคดีนี้ไปฟ้องแพ่งกับกิจการร่วมค้า NVPSKG หรือยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้เอาผิดกับกิจการร่วมค้า NVPSKG ในฐานะผู้สนับสนุนให้นายปกิตกับพวกกระทำความผิด
“ส่วนแนวทางจะไม่ต้องจ่ายค่าโง่มีหรือไม่ ส่วนตัวเห็นว่าทำได้ 3 วิธี หนึ่ง หากศาลฎีกาตัดสินว่ากิจการร่วมค้า NVPSKG มีความผิดฐานฉ้อโกงจริง วิธีนี้จะทำให้ไม่ต้องจ่ายค่าโง่ เพราะคดีแพ่งกับคดีอาญาจะมาคู่กัน สอง หากศาลปกครองยอมหยิบคดีนี้ขึ้นมาพิจารณาใหม่ตามคำร้องของนายประพัฒน์กับพวก ก็อาจไม่ต้องจ่ายค่าโง่หากศาลปกครองตัดสินต่างไปจากเดิม และสาม หาก คพ. นำคำพิพากษาคดีนายปกิตกับพวกไปฟ้องแพ่งกับกิจการร่วมค้า NVPSKG ก็อาจจะทำให้ไม่ต้องจ่ายค่าโง่” นายณกฤชกล่าว
สรุป 5 บทเรียน ชี้กระบวนการยุติธรรมไร้ประสิทธิภาพ
นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวสรุปบทเรียนจากโครงการคลองด่านว่ามีด้วยกันอย่างน้อย 5 ข้อ ประกอบด้วย 1. การจัดการสิ่งแวดล้อมของภาครัฐไทยไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานการศึกษาทางวิชาการ มีรายงานกี่ฉบับเมื่อถึงเวลาตัดสินใจก็โยนทิ้งหมด 2. การใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมากไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา 3. คดีนี้เป็นการคอร์รัปชันเชิงนโยบายที่สมบูรณ์แบบที่สุดโครงการหนี่ง ทั้งภาครัฐ ข้าราชการ นักวิชาการ และภาคเอกชน ต่างให้ความร่วมมือฮั้วอย่างพร้อมเพรียงกัน 4. การต่อสู้และตรวจสอบจากภาคส่วนต่างๆ ของสังคมจะต้องอาศัยความร่วมมือกัน จะทำงานแค่ภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งไม่ได้ และ 5. กระบวนการยุติธรรมของภาครัฐยังมีข้อจำกัดมากมาย ขาดอิสระในการทำงาน และบางครั้งตรวจสอบอะไรไม่ได้เลย
นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา สื่อมวลชนผู้เชี่ยวชาญการทำข่าวสืบสวน กล่าวว่า คดีคลองด่าน ช่วยสะท้อนว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยไร้ประสิทธิภาพมากๆ เพราะหลังจาก ป.ป.ช. ได้ชี้มูลคดีนี้ไปเมื่อปี 2550 (คดีคลองด่าน ป.ป.ช. แยกสำนวนพิจารณาเป็น 2 กรณี กรณีที่ดิน ชี้มูลปี 2550 กรณีโครงการ ชี้มูลปี 2554) ปรากฏว่า แทนที่อัยการจะส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะมีนายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหา แต่ปรากฏว่าอัยการกลับแยกฟ้องศาล นำผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นอดีตข้าราชการกรมที่ดินไปฟ้องศาลอาญาปกติ ซึ่ง ป.ป.ช. ก็โต้แย้ง แต่อัยการก็ไม่ยอม กว่าที่จะศาลจะชี้เป็นการฟ้องผิดศาล คดีก็วนไปวนมาจนหมดอายุความ ที่สุดก็เลยเอาผิดนายวัฒนาได้เพียงคนเดียว โดยศาลฎีกาฯ ได้ตัดสินให้จำคุกเป็นเวลา 10 ปี
“แต่ปัจจุบัน นายวัฒนาก็ยังไม่ถูกนำตัวมาลงโทษ ยังคงเสวยสุขอยู่ที่ไหนสักแห่ง เพราะไม่มีหน่วยงานรัฐไหนมาเป็นเจ้าภาพในการติดตามนายวัฒนามาเข้าคุก” นายประสงค์กล่าว
นางดาวัลย์ จันทรหัสดี ผู้แทนกลุ่มเรารักคลองด่าน จ.สมุทรปราการ ภาคประชาสังคมที่ต่อสู้คดีคลองด่านอย่างแข็งขัน กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้ให้บทเรียนอะไรเลย เพราะคนที่ร่วมกันทุจริตก็ยังอยู่ดี แถมยังมีการทุจริตซ้อนการทุจริตอีกชั้น นั่นคือการทุจริตการตรวจสอบ เพราะคนทำหน้าที่กลับเกี่ยวข้องกับผู้ถูกกล่าวหาในโครงการ เช่น อดีตรัฐมนตรีบางคนที่มีนามสกุลเดียวกับภาคเอกชนที่ถูกกล่าวหา หรือในช่วงที่มีการตรวจสอบหนักๆ ในวุฒิสภา ก็เคยมีความพยายามล็อบบี้ตนให้ถอนคำร้องที่ยื่นไว้กับ ป.ป.ช. แต่ตนไม่ยอม
“อยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันหาว่าคดีคลองด่านยังสามารถฟ้องได้ที่ไหนอีกบ้าง คดีนี้เริ่มเมื่อปี 2540 ต่อให้ข้อหาที่มีโทษหนักที่สุดก็มีอายุความแค่ 20 ปี คืออยู่ได้จนถึงปี 2560 เท่านั้นก็จะหมดอายุความแล้ว ไม่อยากให้เรื่องนี้จบแล้วจบเลย แต่อยากให้นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในอนาคตด้วย” นางดาวัลย์กล่าว