ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > โครงการบริหารจัดการน้ำไม่ล้ม คลังลงนามสัญญา 4 แบงก์ กู้เงิน 3.24 แสนล้านบาท เรียบร้อยแล้ว

โครงการบริหารจัดการน้ำไม่ล้ม คลังลงนามสัญญา 4 แบงก์ กู้เงิน 3.24 แสนล้านบาท เรียบร้อยแล้ว

28 มิถุนายน 2013


เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2556 ศาลปกครองกลางพิพากษาให้รัฐบาลนำแผนการลงทุนบริหารจัดการน้ำวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท กลับไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไป พร้อมกับทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 วรรค 2 และมาตรา 67 วรรค 2 ก่อนลงนามในสัญญาว่าจ้างบริษัทเอกชน

ในวันเดียวกัน นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ลงนามในสัญญาเงินกู้แบบมีระยะเวลา (term loan) เป็นครั้งที่ 2 วงเงิน 324,606 แสนล้านบาท กับธนาคารพาณิชย์ใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทย โดยคิดอัตราดอกเบี้ย FDR+1.83% ต่อปี หรือประมาณ 3.82% ต่อปี

โดยก่อนหน้านี้ สำนักข่าวไทยพับลิก้านำเสนอข่าว โครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท เข้าข่ายฮั้ว-ขัด รธน. หรือไม่-เบิกเงินล่วงหน้า 4 หมื่นล้าน ต้นเหตุเด้ง “สุภา ปิยะจิตติ” ซึ่งหลังจากมีการโยกย้ายในกระทรวงการคลัง นายพงษ์พาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ที่มารับผิดชอบแทนนางสาวสุภาก็ลงนามในสัญญาเงินกู้ตามกรอบ พ.ร.ก.เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งต้องกู้เงินภายในวันที่ 28 มิถุนายน 2556 หากไม่มีการกู้เงินในวันดังกล่าวโครงการนี้ก็ต้องล้มไป

แผนการกู้เงิน

นายพงศ์ภาณุเปิดเผยว่า การลงนามในสัญญาเงินกู้กับธนาคารพาณิชย์ครั้งนี้ เพื่อให้ พ.ร.ก.เงินกู้วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท มีผลบังคับใช้ตามกฏหมายนับตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2556 เป็นต้นไป กระทรวงการคลังยืนยันว่าได้ดำเนินการตามกฏหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ก่อนที่ตนจะลงนามในสัญญาเงินกู้กับธนาคาร รายละเอียดของทุกโครงการได้ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีและสำนักงบประมาณแล้ว ซึ่งเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารโครงการและการใช้จ่ายเงินกู้ เพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 โดยเฉพาะในระเบียบฯ ข้อ 15 (1) และ (2)

หลังจากที่โครงการได้ผ่านขั้นตอนของการทำประชาพิจารณ์และจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามกฏหมายแล้ว ก่อนที่จะทำสัญญาว่าจ้างบริษัทเอกชนในขั้นตอนนี้ ต้องเป็นไปตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้างของกรมบัญชีกลาง และที่สำคัญต้องประกาศรายละเอียดของราคากลางก่อนทำสัญญาว่าจ้างบริษัทเอกชน ส่วนการเบิกจ่ายเงินกู้และการคืนเงินกู้ส่วนที่เหลือจ่ายจะผ่านระบบการเบิกจ่ายเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (GFMIS)

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายจ่ายและหนี้สิน
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายจ่ายและหนี้สิน

“การลงนามในสัญญาเงินกู้ครั้งนี้ ยืนยันว่าไม่ได้กู้เงินมากองไว้ หากยังไม่มีการเบิกจ่ายเงินกู้ ธนาคารจะยังไม่คิดดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมใดๆ กับกระทรวงการคลัง แต่ถ้าเริ่มเบิกจ่ายเงินกู้เมื่อไหร่ แบงก์ถึงเริ่มคิดดอกเบี้ย และต้องเริ่มจัดสรรงบประมาณมาชำระหนี้แบงก์ให้เสร็จสิ้นภายใน 4 ปี” นายพงษ์ภาณุกล่าว

ก่อนหน้านี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ลงนามในสัญญาเงินกู้แบบ term loan ครั้งแรก วงเงิน 25,393 ล้านบาท กับธนาคารของรัฐ 2 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทยและธนาคารออมสิน จากข้อมูล ณ วันที่ 21 มิถุนายน 2556 สบน. ได้เบิกจ่ายเงินกู้จากธนาคารมาแล้ว 12,750 ล้านบาท และจัดสรรเงินกู้ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการทั้งหมด 9 โครงการ รวมเป็นเงิน 11,735 ล้านบาท ดังนี้

1. โครงการตามแผนฟื้นฟูการอนุรักษ์ป่าและดิน การทำฝาย เบิกจ่ายเงินไปแล้ว 929.84 ล้านบาท
2. โครงการตามแผนการป้องกันโครงการตามแผนการป้องกันปัญหาอุทกภัยระยะเร่งด่วน ดำเนินการในพื้นที่ฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตกของแม่น้าเจ้าพระยา เบิกจ่ายแล้ว 7,857.78 ล้านบาท
3. โครงการประตูระบายน้ำ/สถานีสูบน้ำกึ่งถาวรปากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ เบิกจ่าย 163.14 ล้านบาท
4. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำบริเวณประตูระบายน้ำบางโฉมศรี เบิกจ่าย 153.63 ล้านบาท
5. งานปรับปรุงคันคลองเชียงรากน้อยด้านทิศใต้ ช่วงที่ 1 และช่วงที่ 2 เบิกจ่าย 272.87 ล้านบาท
6. โครงการปรับปรุงระบบเขื่อนป้องกันอุทกภัยนิคม/สวน/เขต อุตสาหกรรม จำนวน 6 แห่ง เบิกจ่าย 1,814.19 ล้านบาท
7. โครงการจัดหา/จัดทำเครื่องสูบน้า เครื่องผลักดันน้า และส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอทดแทนของเดิมที่ชำรุดเสียหาย/หมดอายุการใช้งาน และรายการที่ขอเพิ่มเติม เบิกจ่าย 19.85 ล้านบาท
8. โครงการป้องกันน้ำท่วมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เบิกจ่าย 128.09 ล้านบาท
9. แผนพัฒนาประสิทธิภาพการเก็บและการระบายน้ำในพื้นที่รับน้ำนองในพื้นที่ 11 จังหวัด เพื่อดำเนินการโครงสร้างพื้นฐานในระยะเร่งด่วน เบิกจ่าย 395.45 ล้านบาท

หมายเหตุ: อ่านรายละเอียดแผนการกู้เงินตาม พ.ร.ก.น้ำ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท