หลังจากที่ไทยพับลิก้าได้นำเสนอข่าวเหมืองทองคำของไทย โดยเฉพาะเหมืองทองคำของบริษัททุ่งคำ จำกัด ที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลยซึ่งอยู่บนภูทับฟ้าและมีไซยาไนด์ปนเปื้อน 6 หมู่บ้านโดยรอบจนชาวบ้านคัดค้านการขอประทานบัตรแปลงใหม่ และฟ้องศาลปกครองเพื่อเพิกถอนใบอนุญาตประทานบัตร รวมถึงสร้างกำแพงขวางถนนเพื่อให้ไม่ให้บริษัททุ่งคำ จำกัดขนส่งแร่ได้ โดยกำแพงดังกล่าวถูกทำลายมาแล้ว 2 ครั้งแต่ชาวบ้านก็สร้างกำแพงขึ้นมาใหม่จนทำให้บริษัททุ่งคำ จำกัดฟ้องร้องชาวบ้าน “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด” ทั้งแพ่งและอาญารวม 4 คดี
บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เริ่มกิจการทำเหมืองแร่ทองคำในปี 2549 ซึ่งกระบวนการการขออนุญาตทำเหมืองแห่งนี้มีขั้นตอนพิเศษต่างกับการขออนุญาตทำเหมืองของเอกชนรายอื่นๆ ที่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติพ.ศ. 2510
นั่นคือยืนขอ “อาชญาบัตร” หรือใบอนุญาตสำรวจแร่ต่อกระทรวงอุตสาหกรรม หลังจากนั้นเมื่อสำรวจแล้วพบว่ามีปริมาณแร่มากพอและคุ้มค่าที่จะทำเหมือง จึงยื่นขอ “ประทานบัตร” หรือใบอนุญาตทำเหมืองแร่ต่อกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อรอการอนุมัติ และเปิดดำเนินการเหมืองแร่ต่อไป
แต่สำหรับบริษัททุ่งคำ จำกัด ซึ่งมีบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ จำกัดเป็นบริษัทแม่นั้น เกิดจากการทำสัญญาฉบับหนึ่งตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2530 ที่ได้กำหนด ““นโยบายว่าด้วยการสำรวจและพัฒนาแร่ทองคำ” ซึ่งมีสาระสำคัญของนโยบายคือ กระทรวงอุตสาหกรรมจะส่งเสริมให้ภาคเอกชนสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำใน 2 กรณีคือ 1.ภาครัฐเปิดประมูลพื้นที่ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดพื้นที่เพื่อการพัฒนาเหมืองแร่ทองคำเป็นโครงการใหญ่ พร้อมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอสิทธิเป็นคราวๆ ไป 2.เอกชนขอสิทธิสำรวจโดยตรงด้วยการขออาญาบัตรพิเศษ โดยผู้ขอจะต้องเสนอผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐทั้งในขั้นตอนการสำรวจและการทำเหมือง และผู้ขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำจะต้องเป็นผู้ที่ขออาชญาบัตรพิเศษมาก่อน
และตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2532 ที่อนุมัติให้กระทรวงอุตสาหกรรมออกอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ อาชญาบัตรพิเศษและประทานบัตรสำหรับการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ ในท้องที่จังหวัดเลยและจังหวัดหนองคายและให้ยกเลิกนโยบายว่าด้วยการสำรวจและพัฒนาแร่ทองคำ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ
โดยแหล่งแร่ทองคำเชิงพาณิชย์ตามมติคณะรัฐมนตรี 2 แห่ง คือ 1.แหล่งแร่ทองคำที่ภูทับฟ้า ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด (ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2530 ข้อ1.) และ2.แหล่งแร่ทองคำในพื้นที่รอยต่อของจังหวัดพิจิตรและเพชรบูรณ์ ของบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด (ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2530 ข้อ2.)
วันที่ 5 พฤศจิกายน 2534 บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด และบริษัททุ่งคำ จำกัด ทำสัญญาว่าด้วยการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ กับกรมทรัพยากรธรณี ในพื้นที่แปลงที่ 4 พื้นที่น้ำคิว – ภูขุมทอง (พื้นที่อำเภอเมืองเลย วังสะพุง ท่าลี่ ภุเรือ และวังสะพุง พื้นที่ 545 ตารางกิโลเมตร)
วันที่ 31 ธันวาคม 2536 มีประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินบางแห่งในอำเภอเชียงคาน อำเภอเมืองเลย อำเภอนาแห้ว อำเภอภูเรือ อำเภอวังสะพุง อำเภอด่านซ้าย อำเภอภูหลวง อำเภอภูกระดึง และอำเภอผาขาวให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ทำให้พื้นที่บางส่วนที่บริษัททุ่งคำ จำกัดได้สิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ดังนั้นบริษัททุ่งคำ จำกัดจึงยื่นคำขอใช้ที่ดิน
ในเขตปฏิรูปที่ดิน
จากการสำรวจพบว่าบริเวณดังกล่าวมีทองคำสมบูรณ์มากพอที่จะพัฒนาเป็นเหมืองทองคำได้อยู่หลายแห่ง และมีความคุ้มค่าที่จะลงทุนจึงยื่นขอประทานบัตร จำนวน 6 แปลง พื้นที่ 1,308 ไร่ ปริมาณสำรองสินแร่ 1,037,457 เมตริกตัน ปริมาณโลหะทองคำ 5,161.44 กิโลกรัม จึงยื่นขอประทานบัตรจากกระทรวงอุตสาหกรรม โดยไดัรับอนุมัติเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2545
ต่อมาปฏิรูปที่ดินจังหวัดเลยมีหนังสือยินยอมให้บริษัททุ่งคำ จำกัดใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อใช้ในกิจการเหมืองแร่ทองคำ เลขที่ 1/2546 เลขที่ 2/2546 เลขที่ 3/2546 และเลขที่ 4/2546 บริเวณหมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 3 ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เนื้อที่รวม 369 ไร่ 3 งาน 17 ตารางวา มีกำหนด 10 ปี ซึ่งออกให้เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2546 โดยมีข้อกำหนดให้บริษัททุ่งคำ จำกัด ต้องชำระค่าตอบแทนการใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเท่ากับค่าภาคหลวงแร่
จนในปี 2549 บริษัททุ่งคำ จำกัด จึงเปิดกิจการเหมืองแร่ได้โดยระยะแรกเริ่มทำเหมืองบริเวณภูทับฟ้าก่อน
“หากเปรียบเทียบเหมืองทองคำที่เกิดขึ้นในชวงเวลาเดียวกัน บริษัทอัคราไม่นิ่ง จำกัด เป็นเหมืองที่เกิดจากระบบสัมปทานปกติพระราชบัญญัติแร่พ.ศ. 2510 แต่ของบริษัททุ่งคำ จำกัด มีสัญญาที่ครอบอาชญาบัตรและประทานบัตรเอาไว้ และทำสัญญาก่อนที่จะขอประทานบัตรด้วย ซึ่งในสัญญาเขียนชัดว่ารัฐต้องให้บริษัททุ่งคำ จำกัดจองพื้นที่ประมาณ 545 ตร.กม. เอาไว้ก่อน และต้องเอื้อประโยชน์ถึงที่สุดแก่บริษัททุ่งคำ จำกัดเพื่อให้เกิดเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งการที่มีสัญญานี้ครอบอยู่ ทำให้กระบวนการอนุมัติประทานบัตรของบริษัททุ่งคำ จำกัด ไม่รอบครอบรัดกุมมากนัก และส่งผลกระทบต่อการทำเหมืองต่อๆ มา ซึ่งไม่เข้าใจว่าทำไมบริษัททุ่งคำ จำกัดถึงไม่ใช้ระบบสัมปทานเดียวกับเหมืองแร่อื่นๆ” นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่กล่าว
นายสุรชัย ตรงงาม กรรมการและเลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)เคยให้ สัมภาษณ์ว่า”ปัญหาใหญ่ของบ้านเราคือ การไม่บังคับใช้กฎหมาย เรามีกฎหมายจำนวนมากที่พูดถึงวิธีการดูแลสิ่งแวดล้อม หรือพูดถึงกฎหมายที่หน่วยงานที่มีหน้าที่ควบคุม ตรวจสอบ การมอนิเตอร์ การเยียวยา ฯลฯ แต่การบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้ไม่มีประสิทธิภาพอย่างชัดเจน ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ พูดง่ายๆ ว่าตั้งแต่การควบคุมตรวจสอบก่อนออกใบอนุญาต การทำอีไอเอ หรือว่าอนุมัติอนุญาตแล้วมีกระบวนการติดตามให้เป็นไปตามมาตรการที่กฎหมายกำหนด หรือการปรึกษาทางวิชาการ อันนี้ก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน ในกรณีที่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมขึ้น การเยียวยาที่รวดเร็วและเป็นธรรมก็มีปัญหา อย่างกรณีของคลิตี้หรือมาบตาพุดจะเห็นชัดเจนเลยว่าเราขาดมาตรการเหล่านี้”