แม้ว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จะเข้ายึดทรัพย์นายศุภชัย ศรีศุภอักษร และพวกไปแล้ว สำนักข่าวไทยพับลิก้ายังคงติดตามความเคลื่อนไหวของสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกหนี้สมาชิกสมทบ ทั้ง 27 ราย ซึ่งมียอดกู้กว่า 12,000 ล้านบาท ซึ่งกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ตรวจสอบพบความผิดปกติของการปล่อยเงินกู้ของสหกรณ์ โดยสำนักข่าวไทยพับลิก้าได้นำเสนอไปแล้วทั้งข่าวเปิดลูกหนี้ 27 ราย สหกรณ์คลองจั่น มูลหนี้กว่า 1 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำธุรกิจ และ ข่าวเจาะ 27 ลูกหนี้สมทบ ความผิดปกติเงินกู้หมื่นล้าน สหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น (1)
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการปล่อยกู้ให้แก่บริษัท รัฐประชา จำกัด เลขทะเบียนนิติบุคคล 0405551000351 กู้เงินจากสหกรณ์คลองจั่น 594 ล้านบาท วันที่จดทะเบียนก่อตั้งบริษัท 18 เมษายน 2551 สถานะทางบัญชี-ยังดำเนินกิจการอยู่ ลักษณะกิจการ-ค้าที่ดิน, จัดสรรที่ดิน, บ้านจัดสรร
บริษัทมีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท จำนวน 1 แสนหุ้น ราคาหุ้นละ 100 บาท มีกรรมการ 1 คน ได้แก่ นายวัฒน์ชานนท์ นวอิสรารักษ์ (ดูโครงสร้างผู้ถือหุ้น)
จากการตรวจสอบงบการเงินของบริษัทในปี 2552-2554 พบความเคลื่อนไหวดังนี้
ปี 2552 ผู้สอบบัญชีบริษัท นางสาวปิยะกุล ล้อปิยะกุล งบดุลปี 2552 และงบกำไรขาดทุนปี 2552
ปี 2553 ผู้สอบบัญชีบริษัท นาวาอากาศเอกเอกศิริชัย รอดบุญพา งบดุลปี 2553 และงบกำไรขาดทุนปี 2553
ปี 2554 ผู้สอบบัญชีบริษัท นางสาวปิยะกุล ล้อปิยะกุล งบดุลปี 2554 และงบกำไรขาดทุนปี 2554
บริษัทนี้ตั้งอยู่ที่ 54 ถนนเทพนิมิต หมู่ที่ 4 ตำบลมหาสวัสดิ์ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170 (สัญญากู้เงินบริษัทรัฐประชา)
จากการลงพื้นที่โดยใช้เวลาเดินทางจากมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ประมาณครึ่งชั่วโมง ที่ตั้งบริษัทเป็นที่เดียวกับหมู่บ้านจัดสรรชื่อ “รัฐประชาธานี” โดยในละแวกเดียวกันมีหมู่บ้านจัดสรรอีกหลายแห่ง และด้านหน้าหมู่บ้านมีอาคาร 1 ชั้น ติดป้ายบริษัท รัฐประชา จำกัด และมูลนิธิรัฐประชา ภายในสำนักงานไม่มีคนอยู่ เมื่อสอบถามคนในพื้นที่ทราบว่า อาคารดังกล่าวเป็นสำนักงานขายหมู่บ้านรัฐประชาธานี และยังเป็นที่ตั้งร่วมของบริษัทอื่นๆ แต่ปัจจุบันบริษัททั้งหมดในสำนักงานย้ายไปที่ตลาดรัฐประชามาร์เก็ต ซึ่งตั้งภายในตลาดสนามหลวง 2 ทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ตั้งแต่ช่วงน้ำท่วมใหญ่ 2554
ประตูทางเข้าสำนักงานขายหมู่บ้าน พบว่ามีชื่อและโลโก้บริษัท 9 ชื่อ ที่อยู่ในเครือรัฐประชากรุ๊ป ได้แก่ 1. สหกรณ์เครดิตยูเนียนรัฐประชา จำกัด 2. มูลนิธิรัฐประชานุเคราะห์ 3. บริษัท ไชน่า-ไทย ปิโตรเลียม คอร์ปอเรชั่น จำกัด 4. บริษัท สยาม กรีนแกรนิต จำกัด 5. บริษัท ขอนแก่นกระดาษ คราฟ จำกัด 6. บริษัท รัฐประชา จำกัด 7. บริษัท บริบาลรัฐประชา จำกัด 8. บริษัท จีแอลโอดับบลิว ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด 9. บริษัท เหรียญทอง ทรัพย์ยืนยง จำกัด ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นของไทยพับลิก้าพบว่า นิติบุคคลทั้งหมดเกี่ยวข้องกับนายวัฒน์ชานนท์ นวอิสรารักษ์ ในฐานะเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการบริหาร
จากการตรวจสอบรายงานประจำปีของสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2552–2555 พบว่าในส่วนเงินลงทุนระยะสั้น (ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี) สหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินจากสหกรณ์เครดิตยูเนียนรัฐประชาในปี 2552 จำนวน 1,220 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6.5 (รายงานปี2552) ในปี 2553-2554 จำนวน 1,000 ล้านบาท (รายงานปี 2553 และ 2554) ส่วนในปี 2555 ไม่ปรากฏยอดดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์เครดิตยูเนียนรัฐประชา จากกรมส่งเสริมสหกรณ์ (ดูเอกสาร) พบว่า มีนายวัฒน์ชานนท์ นวอิสรารักษ์ เป็นผู้ก่อตั้งและประธานดำเนินการสหกรณ์ เดิมใช้ชื่อว่าสหกรณ์บริการชุมชน รัฐประชา จำกัด ก่อตั้งเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2552 ต่อมาจดทะเบียนเปลี่ยนประเภทเป็นสหกรณ์เครดิตยูเนียนรัฐประชา เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2552 อีกทั้งที่ตั้งสหกรณ์ตามเอกสารยังเป็นที่เดียวกับบริษัท รัฐประชา จำกัด ซึ่งจากข้อมูลรายงานปี 2552 ของสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นข้างต้น ชี้ว่าสหกรณ์ฯ รัฐประชาออกตั๋วสัญญาใช้เงินมากกว่า 1,000 ล้านบาท ให้กับสหกรณ์ฯ คลองจั่น ในปีที่ก่อตั้งสหกรณ์
ในขณะที่เมื่อตรวจสอบเอกสารจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ที่ระบุว่า ในปี 2555 มีการบันทึกลดหนี้ของสหกรณ์เครดิตยูเนียนรัฐประชาจำนวน 1,000 ล้านบาท และปล่อยเงินกู้พิเศษในวันเดียวกัน 1,093 โดยที่สัญญาเงินกู้ไม่ลงลายมือชื่อผู้กู้ อีกทั้งไม่มีการจำนองหลักทรัพย์เพื่อคํ้าประกันเงินกู้ และหนังสือถึงอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ของอดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ระบุว่าทุนดำเนินการของสหกรณ์ฯ รัฐประชาในปี 2552 มีเพียง 8 แสนกว่าบาท เท่านั้น และไม่มีหนังสือค้ำประกันตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว
ส่วนสัญญากู้เงินระหว่างสหกรณ์ฯ รัฐประชากับสหกรณ์ฯ คลองจั่น (สัญญากู้เงินสหกรณ์รัฐประชา) ซึ่งทำสัญญาในวันที่ 1 มีนาคม 2555 (นายศุภชัยยังดำรงตำแหน่งประธานฯ ชุดที่ 27) เป็นจำนวนเงิน 1,093 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 8.5 ต่อปี ปรากฏว่าในเอกสารสัญญามีการระบุชื่อนายวัฒนชานนท์ นวอิสรารักษ์ ในฐานะประธานดำเนินการสหกรณ์ฯ รัฐประชา ลงนามแต่ไม่มีการลงนามและตราประทับของสหกรณ์
แหล่งข่าวในสหกรณ์ฯ คลองจั่นกล่าวว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินของสหกรณ์ฯ รัฐประชา เป็นตั๋วระยะสั้น คือ มีระยะเวลาถือตั๋วไม่เกิน 1 ปี เมื่อสิ้นปีก็จะต้องทำสัญญาซื้อ-ขายตั๋วใหม่พร้อมชำระดอกเบี้ยที่ค้าง ส่วนสัญญาล่าสุด สหกรณ์ฯ รัฐประชาแปลงตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 1,000 ล้านบาท รวมดอกเบี้ยอีกประมาณ 93 ล้านบาท เป็นเงินกู้ โดยให้บริษัท รัฐประชา จำกัด ซึ่งเป็นสมาชิกสมทบของสหกรณ์ฯ คลองจั่นเป็นผู้กู้แทน (สหกรณ์ด้วยกันไม่สามารถเป็นสมาชิกกันเองได้ จึงไม่สามารถทำสัญญากู้เงินระหว่างกันได้) ดังนั้น เมื่อรวมกับยอดกู้เดิมของบริษัท รัฐประชา จำกัด บริษัทนี้เพียงแห่งเดียวกู้เงินไปทั้งหมด 1,687 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ตั๋วสัญญาใช้เงินของสหกรณ์ฯ รัฐประชาไม่มีในบันทึกในรายงานการประชุมปี 2555
สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้รวบรวมบันทึกการประชุมใหญ่ตั้งแต่ปี 2552-2554 ซึ่งในบันทึกการประชุมมีสมาชิกถามประธาน (นายศุภชัย ศรีศุภอักษร) ในประเด็นเงินลงทุนในสหกรณ์ฯ รัฐประชา โดยในปี 2552 นายศุภชัยตอบสมาชิกว่า “ดอกเบี้ยค้างรับยังไม่ถึงกำหนดชำระ และการลงทุนในสหกรณ์ฯ รัฐประชาให้ผลตอบแทนแน่นอนกว่าการลงทุนในหุ้นกู้และพันธบัตร” (รายงานประจำปี 2553)
ในคำถามเดียวกันในปี 2553 นายศุภชัยตอบสมาชิกว่า “สหกรณ์ฯ รัฐประชาขายตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อนำไปสร้างตลาด กทม.2″ (รายงานประจำปี 2554)
และในปี 2554 นายศุภชัยตอบสมาชิกว่า “ตั๋วสัญญาใช้เงินของสหกรณ์ฯ รัฐประชา ซึ่งเป็นสหกรณ์พันธมิตรที่ให้บริการ ปัจจุบันตั๋วนี้ได้มีการชำระแล้ว และบางส่วนก็เปลี่ยนเป็นหนี้เงินกู้ยืม โดยใช้ที่ดินค้ำประกัน”
ส่วนหมู่บ้านรัฐประชาธานี มีพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 100 ไร่ แต่เมื่อสอบถามผู้อยู่อาศัยในหมู่บ้าน ทราบว่ามีบ้านสร้างเสร็จจริงประมาณ 60 หลัง และมีผู้อยู่อาศัยเพียงราว 30 หลัง เท่านั้น
นางบุญพาสน์ ทองสวัสดิ์วงศ์ ผู้อำนวยการสำนักตรวจบัญชีสหกรณ์ที่ 10 ในฐานะที่รับผิดชอบตรวจบัญชีในพื้นที่จังหวัดนครปฐม กล่าวว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ไม่สามารถปิดบัญชีสหกรณ์เครดิตยูเนียนรัฐประชามา 3 ปีแล้ว เนื่องจากไม่มีการส่งงบการเงิน ไม่มีเอกสารให้ตรวจสอบ เมื่อลงพื้นที่ตามที่แจ้ง พบว่าเป็นที่เดียวกับสำนักงานขายหมู่บ้านรัฐประชาธานี ไม่มีเจ้าหน้าที่สหกรณ์ พบแต่แม่บ้านเฝ้าสำนักงานคนเดียว จึงไม่มีหลักฐานว่าสหกรณ์ฯ รัฐประชาขายตั๋วสัญญาให้กับสหกรณ์ฯ คลองจั่น แต่ทราบว่า มีหลักฐานที่ประธานดำเนินการสหกรณ์ฯ รัฐประชาไปเซ็นรับเงินกับสหกรณ์ฯ คลองจั่น
ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบตลาดรัฐประชามาร์เก็ต ในบริเวณตลาดสนามหลวง 2 ที่มีการระบุว่าบริษัทในเครือรัฐประชาย้ายสำนักงานมาที่นี่ พบว่าตลาดดังกล่าวดำเนินการโดยบริษัท จีแอลโอดับบลิว ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด ซึ่งได้รับสัมปทานจากกรุงเทพมหานครอีกทีหนึ่ง จากการสอบถามผู้ค้าในบริเวณใกล้เคียงทราบว่า ที่ดินกว่า 6 ไร่ ของตลาดนี้เคยถูกทิ้งเป็นเวลาหลายปี ไม่สามารถก่อสร้างได้เสร็จ เนื่องจากผู้ประมูลสัมปทานมีปัญหาด้านการเงิน จนเพิ่งก่อสร้างตลาดเสร็จเมื่อประมาณต้นปี 2555 โดยเปิดให้ผู้ค้ารายย่อยขายสินค้า แต่เมื่อหมดช่วงให้เช่าฟรี 2 เดือน ก็ปิดตัวลง โดยเจ้าของตลาด คือนายวัฒน์ชานนท์ นวอิสรารักษ์ ยังเป็นผู้จัดแข่งขันมวยในชื่อศีกรัฐประชากรุ๊ป ในฐานะประธานมูลนิธิรัฐประชา
สำหรับบริษัท จีแอลโอดับบลิว ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด เลขทะเบียนนิติบุคคล 0105548053832 จดทะเบียนวันที่ 20 เมษายน 2548 มีทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท มีนายวัฒน์ชานนท์ นวอิสรารักษ์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และกรรมการบริหาร มีประวัติการเพิ่มทุนวันที่ 25 พฤษภาคม 2552 จาก 50 ล้านเป็น 500 ล้านบาท
ด้านเจ้าหน้าที่สำนักงานตลาดรัฐประชามาร์เก็ตกล่าวว่า ตลาดมีแผนจะเปิดช่วงเดือนกันยายนนี้ แต่ไม่เปิดให้ผู้ค้ารายย่อยเช่า เพราะกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เซ้งเหมาทั้งตลาดเพื่อทำเป็นศูนย์จำหน่ายสินค้าโอทอปถาวร
เกาะติดความเคลื่อนไหวสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น
วันที่ 12 กรกฎาคม 2556 ศาลแพ่งมีคำพิพากษา คดีเรียกทรัพย์คืน มูลค่า 391 ล้านบาท เลขที่คดีดำ 728/2556 ซึ่งมีโจทก์คือสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น จำเลยมี 3 ราย คือ นายศุภชัย ศรีศุภอักษร,บริษัทเอสพีวี โฮม2 และนายบรรลือ กองไชย โดยอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องคดีได้ ตามมติคณะกรรมการชุดที่ 29 โดยที่ทนายจำเลยทั้ง 3 ราย ไม่คัดค้านการถอนฟ้อง ซึ่งรวมคดีที่คณะกรรมการชุดที่ 29 มีมติถอนฟ้องคดีที่คณะกรรมการชุดที่ 28 ฟ้องนายศุภชัย ศรีศุภอักษร และพวก ในนามสหกรณ์ฯ คลองจั่น มีทั้งหมด 4 คดี ได้แก่ คดีอาญา 1240, 1241/2556 และ คดีแพ่ง 728, 1260/2556
วันที่ 13 กรกฎาคม 2556 ช่วงคํ่า สมาชิกได้รับแจ้งทาง SMS เรื่องเลื่อนการถอนเงินจากวันที่ 16 กรกฎาคม 2556ซึ่งนายศุภชัยเคยสัญญาเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2556 โดยกล่าวอ้างการยึดและอายัดทรัพย์นายศุภชัยเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2556 ทำให้ผู้ที่จะให้สหกรณ์กู้ซึ่งตกลงกันแล้วยกเลิกการเซ็นสัญญา
นายกิตติก้อง คุณาจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะผู้รับผิดชอบหลักคดีสหกรณ์ฯ คลองจั่น กล่าวว่า คดีที่มีการถอนฟ้องทั้งหมด หากเป็นคดีอาญา สมาชิกสามารถมาร้องเรียนกับดีเอสไอ เพื่อให้ดำเนินการฟ้องร้องแทนได้ หากข้อร้องเรียนเข้าเงื่อนไขคดีพิเศษทางด้านการแจ้งข้อกล่าวหาอาญาของดีเอสไอ เนื่องจากต้องทำงานร่วมกับอัยการซึ่งต้องรอส่งชื่อมาก่อน แต่น่าจะแจ้งข้อกล่าวหาภายในสัปดาห์นี้ได้
ส่วนเรื่องการยื่นขอคุ้มครองสิทธิที่ดีเอสไอ ขอแก้ข่าวว่าไม่จำเป็นต้องรีบลงชื่อตอนนี้ เพราะสหกรณ์ไม่ได้จะล้ม มีปัญหาแค่ตัวผู้บริหารเท่านั้น และทรัพย์สินที่ยึดมา ถ้าศาลพิพากษาให้ยึดถาวรแล้ว ก็ต้องส่งคืนให้กับสหกรณ์ เพราะเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ถูกยักยอกไป
นายสุรพล พงษ์เมธีอภิชัย เลขานุการกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมต้องดูแลสหกรณ์ทั่วประเทศกว่า 8,000 แห่ง จึงอาจดูแลได้ไม่ทั่วถึงทุกที่ ส่วนการบังคับใช้มาตรา 22 ตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ฯ คิดว่าไม่น่าจะใช้ แต่ไม่กล้ายืนยันเพราะตนเองไม่ใช่ผู้ตัดสินใจ และไม่ทราบรายละเอียดลึกๆ ในสหกรณ์คลองจั่น จึงตอบได้แค่ตามหลักการว่า ตามรัฐธรรมนูญเราไม่สามารถตัดสินว่าใครเป็นผู้กระทำความผิดจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา แค่ถูกฟ้องหรือถูกกล่าวหาจะยังดำรงตำแหน่งกรรมการสหกรณ์ได้เหมือนเดิม
ล่าสุด นายศุภชัยเลื่อนการเข้าชี้แจงกับเจ้าหน้าที่ ปปง. จากเดิมเคยประกาศออกข่าวว่าวันที่ 16 กรกฎาคม 2556 จะเข้าชี้แจง โดยยังไม่ได้กำหนดวันทดแทน
ด้านนายเผด็จ มุ่งธัญญา แกนนำเครือข่ายสมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น จัดประชุมสมาชิกที่เดือดร้อนและได้มติที่ประชุมว่า จะทำหนังสือยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง ในฐานะที่เพิ่งรับกรมส่งเสริมสหกรณ์มาดูแลโดยตรง อีกทางหนึ่งจะร้องเรียนไปที่คณะกรรมาธิการฟอกเงิน รัฐสภา เพื่อหาทางออกให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือไม่ให้สหกรณ์ล้ม
มาตรา 22 พ.ร.บ.สหกรณ์ฯ ถ้าคณะกรรมการทำให้สหกรณ์หรือสมาชิกเสียผลประโยชน์ หรือฐานะทางการเงินสหกรณ์ ตามรายงานการตรวจสอบ นายทะเบียนมีอำนาจออกคำสั่งให้ปฏิบัติการให้กรรมการพักการทำงานหรือให้พ้นจากตำแหน่งได้