ThaiPublica > เกาะกระแส > KTB เปิดลงทะเบียน “ชิมช้อปใช้” เฟส 2 อีก 3 ล้านราย ใช้จ่ายผ่าน G-Wallet 2 ครบ 50,000 บาท รับคืน 8,500 บาท เริ่ม 24 ต.ค.

KTB เปิดลงทะเบียน “ชิมช้อปใช้” เฟส 2 อีก 3 ล้านราย ใช้จ่ายผ่าน G-Wallet 2 ครบ 50,000 บาท รับคืน 8,500 บาท เริ่ม 24 ต.ค.

22 ตุลาคม 2019


เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (เสื้อสีฟ้า) พร้อมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลังและธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ แถลงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2562 ระยะที่ 2 ณ ห้องแถลงข่าวกระทรวงการคลัง

KTB เปิดลงทะเบียน “ชิมช้อปใช้” เฟส 2 อีก 3 ล้านราย ใช้จ่ายผ่าน G-Wallet 2 ครบ 50,000 บาท รับเงินคืน 8,500 บาท เริ่ม 24 ต.ค.นี้

ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 22 ตุลาคม 2562 มีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2562 ระยะที่ 2 นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลังและธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ณ ห้องแถลงข่าว กระทรวงการคลัง

โดยนายอุตตม กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.ได้มีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2562 ระยะที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจต่อจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2562 ระยะที่ 1 ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก และประสบความสำเร็จด้วยดี ประกอบกับประเทศไทยยังคงต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศและปัจจัยเสี่ยงภายนอกประเทศ ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2562 ระยะที่ 2 ซึ่งประกอบด้วย 4 มาตรการ ดังนี้

1.มาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ “ชิมช้อปใช้”

มาตรการ “ชิมช้อปใช้” ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยมีผู้ได้รับสิทธิ์ทั่วประเทศครบ 10 ล้านคนแล้ว ซึ่งกระทรวงการคลังได้เห็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากมาตรการดังกล่าว เนื่องจากก่อให้เกิดผลทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจ (Multiple Effects) กระทรวงการคลังจึงได้ออกแบบมาตรการส่งเสริมการบริโภคในประเทศชุดที่ 2 หรือที่เรียกว่า “ชิมช้อปใช้ เฟส 2” เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศผ่าน g-Wallet โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพในการเดินทางและใช้จ่าย ซึ่งจะทำให้มีการกระจายการใช้จ่ายไปยังเศรษฐกิจฐานราก ให้ชุมชนได้รับประโยชน์มากขึ้น และจะมีการปรับปรุงเงื่อนไขเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

โดย“ชิมช้อปใช้ เฟส 2” จะเปิดให้ผู้ที่ไม่เคยได้รับสิทธิ์ลงทะเบียนเพิ่มจำนวน 3 ล้านคน ซึ่งนอกจากจะได้รับวงเงินสนับสนุน 1,000 บาท สำหรับการใช้จ่ายผ่าน g-Wallet 1 และเงินชดเชยร้อยละ 15 ของยอดใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาท จากเงินของประชาชนเองผ่าน g-Wallet 2 (จ่ายเงินชดเชยให้ไม่เกิน 4,500 บาท) เช่นเดียวกับ “ชิมช้อปใช้” เดิมแล้ว ยังจะได้รับสิทธิ์เงินชดเชยร้อยละ 20 ของยอดใช้จ่ายในส่วนที่เกิน 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาท (เงินชดเชยไม่เกิน 4,000 บาท) ซึ่งสิทธิ์นี้จะขยายให้แก่ผู้ได้รับสิทธิ์ 10 ล้านคนแรกที่ไม่ถูกตัดสิทธิ์ด้วย

สำหรับการใช้จ่ายผ่าน g-Wallet 2 สามารถเติมเงินได้ง่ายและสะดวก โดยนอกจากจะเติมเงินผ่านการสแกน QR Code ของทุกธนาคาร หรือ กรอกตัวเลข g-Wallet 15 หลักผ่าน mobile banking ของธนาคารต่าง ๆ แล้ว ยังสามารถเติมเงินเข้า g-Wallet 2 ผ่านเครื่อง ATM ได้อีกด้วย

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังจะปรับเวลาเริ่มลงทะเบียนใหม่ โดยแบ่งเป็น 2 รอบ รอบละ 500,000 ราย รอบแรกเริ่มลงทะเบียนเวลา 6.00 น. และรอบที่ 2 เริ่มลงทะเบียนเวลา 18.00 น. เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้สนใจลงทะเบียน ซึ่งจะเริ่มเปิดรับลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2562 จำนวนวันละไม่เกิน 1 ล้านคน โดยมาตรการ “ชิมช้อปใช้ เฟส 2” นี้ ประชาชนสามารถใช้ได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 และร้านค้าสามารถสมัครเข้าร่วมมาตรการได้ถึง 31 ธันวาคม 2562 เช่นกัน

ทั้งนี้ กรมสรรพากรสนับสนุนนโยบายเรื่อง Digital Economy ดังนั้น จึงไม่มีนโยบายมุ่งตรวจสอบกลุ่มผู้ใช้ e-Payment อยู่แล้ว ในทางตรงกันข้าม กรมสรรพากรเห็นว่า ผู้ใช้ e-Payment จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการที่ดี ซึ่งจะไม่ถูกตรวจสอบและได้รับบริการที่ดี เช่น การคืนภาษีเร็ว จากกรมสรรพากรด้วย

จ่ายผ่าน G-Wallet 2 ครบ 50,000 บาท รับเงินคืน 8,500 บาท

ด้านนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตามมติที่ประชุม ครม.เห็นชอบให้ดำเนินมาตรการ “ชิมช้อปใช้” เฟส 2 ในวันที่ 24 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนเพิ่มเติมอีก 3 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งทางธนาคารกรุงไทยจะเปิดให้ลงทะเบียนวันละ 1 ล้านคน แบ่งเป็นวันละ 2 รอบ ได้แก่ รอบที่ 1 เวลา 6.00 น. กำหนดจำนวนผู้รับสิทธิ 5 แสนคน รอบที่ 2 เวลา 18.00 น. กำหนดจำนวนผู้รับสิทธิอีก 5 แสนคนเช่นกัน ซึ่งธนาคารมีความมั่นใจว่าระบบแอปพลิเคชั่นของธนาคารทั้งถุงเงิน และเป๋าตังมีความพร้อมในการรองรับร้านค้า และผู้ลงทะเบียนรับสิทธิได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยในเฟสที่ 2 ธนาคารขอเชิญชวนผู้รับสิทธิตามมาตรการชิมช้อปใช้ เมื่อใช้จ่ายผ่านกระเป๋า G-Wallet 1 รับสิทธิ 1,000 บาท ครบแล้ว ยังสามารถใช้สิทธิในกระเป๋า G- Wallet 2 เพื่อรับเงินคืนสูงสุด 20% หรือประมาณ 8,500 บาท โดยขั้นตอนการเติมเงินง่ายมากและไม่ซับซ้อน โดยการเติมเงินผ่านการสแกน QR Code ด้วยแอปของทุกธนาคาร โดยเข้าไปที่แอปเป๋าตัง เลือกกดสัญลักษณ์รูป QR Code (เติมเงิน G-Wallet) ด้านบนมุมซ้าย ต่อมาทำการบันทึกรูปภาพ QR Code ลงในโทรศัพท์ หลังจากนั้นเข้าแอปธนาคารของท่านและกดเลือกสแกน QR – Code จากรูปภาพที่บันทึกไว้ในโทรศัพท์ และใส่จำนวนเงินที่ต้องการเติมเงิน

นอกจากนี้ ยังสามารถเติมเงินง่ายๆ ผ่านตู้ ATM ของ 5 ธนาคารใหญ่ ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย , ธนาคารกสิกรไทย , ธนาคารกรุงเทพ , ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงศรีอยุธยา โดยการเติมเงินจะต้องใช้ตู้เอทีเอ็มที่ตรงกับบัตรเอทีเอ็มของธนาคารนั้นๆ ให้เข้าที่เมนู เติมเงิน เติมเงินพร้อมเพย์ หรือโอนเงิน แล้วแต่เมนูหน้าแรกของตู้เอทีเอ็มธนาคารนั้นๆ หลังจากนั้นเลือกบัญชีว่าจะให้ทำการโอนเงินจากบัญชีออมทรัพย์หรือกระแสรายวัน พร้อมใส่หมายเลข G-Wallet 15 หลัก ที่ได้จาก QR Code หลังจากนั้นใส่จำนวนเงินที่ต้องการและกดยืนยัน

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย

ส่วนวิธีการชำระเงินเพื่อรับสิทธิเงินคืน 15-20% โดยเข้าแอปเป๋าตัง กดที่เมนูใช้สิทธิรับเงินคืน 15-20 % และเลือกใช้จ่ายร้านค้าถุงเงิน หลังจากนั้นจะได้ QR Code เพื่อให้ร้านค้าใช้แอปถุงเงินสแกน โดยผู้รับสิทธิต้องตรวจสอบยอดเงินที่ต้องชำระ และกดยืนยันการชำระเงิน ในส่วนของการรับเงินคืนนั้นจะได้รับเงินคืนภายในเดือนถัดไป หลังจากการเสร็จสิ้นการใช้สิทธิของมาตรการ ทั้งนี้ มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเฟสที่ 2 ขั้นตอนการลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิจะเหมือนเฟสที่ 1 โดยลงทะเบียนผ่าน WWW.ชิมช้อปใช้.com กรอกรายละเอียดข้อมูลส่วนตัว พร้อมเลือกจังหวัดที่ประสงค์จะเดินทางไปใช้สิทธิ โดยไม่ใช่จังหวัดตามสำเนาทะเบียนบ้าน หลังจากนั้นภายใน 3 วันธนาคารจะส่ง SMS เพื่อให้โหลดแอปเป๋าตัง โดยไม่ต้องมีบัญชีธนาคารกรุงไทย เพื่อรับสิทธิ 1,000 บาท ผ่านกระเป๋า G- Wallet 1 และผู้ได้รับสิทธิสามารถเติมเงินในกระเป๋า G- Wallet 2 เพื่อนำไปใช้จ่ายในร้านที่ร่วมโครงการ ชิมช้อปใช้ ได้ทุกจังหวัด ที่ไม่ตรงกับทะเบียนบ้าน เพื่อรับสิทธิเงินคืน โดยยอดใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาท รับเงินคืน 15% และยอดใช้จ่ายตั้งแต่ 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาท รับเงินคืน 20 % หรือสูงสุด 8,500 บาท ทั้งนี้ ผู้รับสิทธิตามมาตรการชิมช้อปใช้ เฟสที่ 1 และเฟสที่ 2 สามารถใช้จ่ายผ่านกระเป๋า G- Wallet 2 ได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562

เผยยอดใช้จ่ายเงินผ่าน G-Wallet2 เกือบ 9,000 ล้าน

โดยจะเห็นว่า ผู้รับสิทธิในเฟสแรก สามารถจ่ายเงินผ่านแอปเป๋าตังได้อย่างสะดวก จะเห็นยอดการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ล่าสุด ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2562 มียอดการใช้จ่ายผ่าน G-Wallet ทั้งสิ้นจำนวน 8,892.40 ล้านบาท แบ่งเป็น ร้านค้าประเภทชิม 14.5% ร้านค้าประเภทช้อป 55.6% ร้านค้าประเภทใช้ 1.4% และร้านค้าประเภททั่วไปอีก 28.5% ซึ่งจากยอดการใช้จ่ายดังกล่าว ส่วนใหญ่เกิดจากการใช้จ่ายที่ได้รับสิทธิ 1,000 บาท จากกระเป๋าช่องที่ 1 แต่กระเป๋าช่องที่ 2 ยังคงมีไม่มากนัก

นอกจากนี้ มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ ชิมช้อปใช้ เฟสที่ 2 ธุรกิจที่จะเข้าร่วมโครงการมีความหลากหลายมากขึ้น ครบวงจรสำหรับการเดินทาง อาทิเช่น โรงแรม แพ็คเกจทัวร์ และรถเช่า เป็นต้น

นายผยง กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้จ่ายในประเทศ และทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ประชาชนที่ได้รับสิทธิในเฟสที่ 1 จำนวน 10 ล้านคน และในเฟสที่ 2 อีก 3 ล้านคน นำเงินไปใช้จ่าย ตามมาตรการของโครงการ สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และกระจายไปสู่ฐานรากของชุมชน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล

2.มาตรการลดภาระให้กับผู้ซื้อที่อยู่อาศัย (มาตรการลดภาระฯ)

ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เหมาะสมกับศักยภาพของประชาชนแต่ละกลุ่ม โดยรัฐบาลจะลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนอง ดังนี้

    2.1 ลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนจากเดิมร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 0.01
    2.2 ลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิมร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.01

ทั้งนี้ เฉพาะการซื้อขายที่อยู่อาศัยที่ดินพร้อมอาคาร หรือ ห้องชุดในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย โดยการจดทะเบียนการโอน และการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยต้องดำเนินการในคราวเดียวกัน ซึ่งมีระยะเวลานับตั้งแต่วันที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยมีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 24 ธันวามคม 2563

3.มาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) (มาตรการสินเชื่อฯ)

นอกจากการสนับสนุนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนองแล้ว ธอส.จะสนับสนุนสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนทั่วไปที่มีความต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย โดยการให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ราคาพิเศษและเงื่อนไขผ่อนปรน สำหรับมาตรการสินเชื่อจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2562 จนถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2563 โดยมีวงเงินสินเชื่อทั้งหมด 50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 2.5 ในช่วง 3 ปีแรก

มาตรการลดภาระฯ และมาตรการสินเชื่อฯ มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง กลุ่มคนเริ่มทำงานใหม่ที่กำลังก่อร่างสร้างตัว รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อ เพื่อให้บุตรหลานหรือทายาท โดยต้องเป็นการซื้ออยู่อาศัยประเภท บ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว อาคารพาณิชย์ (เพื่อการอยู่อาศัย) และห้องชุด ทั้งนี้ ต้องเป็นที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จพร้อมอยู่ที่ไม่เคยผ่านการครอบครองโดยบุคคลอื่นมาก่อน
การกำหนดราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วยนั้น เนื่องจากเป็นระดับราคาที่อยู่อาศัยที่เป็นที่ต้องการของกลุ่มเป้าหมาย โดยที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จพร้อมอยู่ ณ เดือนตุลาคม 2562 ที่ระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท มีอยู่ประมาณ 34,731 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 57 ของที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จทั้งหมด และคาดว่าจะมีที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จในปี 2563 อีกประมาณ 145,269 หน่วย จึงมีที่อยู่อาศัยรวมกว่า 180,000 หน่วย ให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายเป็นเจ้าของได้

คาดว่าทั้ง 2 มาตรการ จะช่วยกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ให้เติบโต ก่อให้เกิดการขยายตัวของ supply chain ภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องต่าง ๆ เช่น ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจพัฒนาการคมนาคม เป็นต้น นอกจากนี้ เพื่อให้ ธอส. ซึ่งเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเป็นผู้นำตลาดในการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ทำให้ธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตาม ดังนั้น คาดว่ามาตรการนี้จะช่วยเหลือให้ผู้บริโภคหรือประชาชนให้ได้รับประโยชน์ และสามารถเข้าถึงการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ง่ายขึ้น

ธอส.ชี้มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ช่วยลูกค้าเซฟเงินค่าดอกเบี้ย 5 ปี 1.23 แสนบาท

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า สำหรับมาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารอาคารสงเคราะห์จะอยู่ภายใต้กรอบวงเงิน 50,000 ล้านบาท ธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน ปีที่ 1 – ปีที่ 3 คงที่ 2.50% ต่อปี , ปีที่ 4 – ปีที่ 5 คงที่ 4.625% ต่อปี ส่วนปีที่ 6 จนถึงตลอดอายุสัญญากู้เงิน กรณีสวัสดิการ MRR – 1.00% ต่อปี กรณีรายย่อย MRR – 0.75% (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ธอส. เท่ากับ 6.625% ต่อปี) วัตถุประสงค์ให้กู้เพื่อซื้อที่ดินพร้อมอาคารหรือ ห้องชุดจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศที่มีราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาท

“มาตรการสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารอาคารสงเคราะห์ นับเป็นนโยบายที่รัฐบาลที่ต้องการสร้างโอกาสทำให้คนไทยมีบ้านเป็นจริง เพราะกำหนดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกเพียง 2.50% นับเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดในตลาด และยังช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัยในช่วง 3 ปีแรก เช่น กรณีกู้ 1 ล้านบาท ตลอดระยะเวลา 3 ปีแรกจะผ่อนชำระเริ่มต้นเพียง 3,300 บาทต่องวดเท่านั้น หากเทียบกับเงินงวดผ่อนชำระของอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อปกติในช่วง 3 ปีแรกวงเงินกู้ 1 ล้านบาท ผู้กู้จะสามารถประหยัดเงินงวดได้จำนวน 80,400 บาท หรือ หากเปรียบเทียบกับการผ่อนชำระอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อปกติในช่วง 5 ปีแรก ผู้กู้สามารถประหยัดเงินงวดได้ถึง 123,600 บาทนอกจากนี้ยังได้รับการลดค่าใช้จ่ายในการซื้อที่อยู่อาศัยตามมติที่ประชุม ครม. ซึ่งให้ลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์จาก 2 % เหลือ 0.01 % และลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนจำนองจาก 1 % เหลือ 0.01 % อีกด้วย” นายฉัตรชัย กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อยื่นคำขอกู้และทำนิติกรรมได้ ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2562 ถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2563 ติดต่อขอรับคำปรึกษากับเจ้าหน้าที่สินเชื่อ หรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000 หรือ www.ghbank.co.th และ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์

ล้างท่อเบิกจ่ายงบฯ “สัมมนา – ฝึกอบรม”

4.มาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรม สัมมนาประจำปีงบประมาณ 2562 ไปพลางก่อน (Front Load) เพื่อให้มีเม็ดเงินสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรม สัมมนา ประจำปีงบประมาณ 2562 ไปพลางก่อนลงสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยหน่วยรับงบประมาณเร่งรัดเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรม สัมมนา ประจำปีงบประมาณ 2562 ไปพลางก่อน สำหรับวงเงินนั้นได้รับการจัดสรรจากสำนักงบประมาณ

กระทรวงการคลังเชื่อมั่นว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2562 ระยะที่ 2 จะช่วยให้ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่การใช้จ่ายระดับฐานรากจนไปถึงระดับประเทศ ตลอดจนการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อที่อยู่อาศัย และการลดภาระค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดทะเบียนจำนองที่อยู่อาศัย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่มีรายได้น้อยและปานกลางที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองสามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้ง่าย เป็นการช่วยบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนนอกจากนี้ การเร่งรัดการเบิกจ่ายของภาครัฐจะช่วยเพิ่มเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ทำให้ช่วยลดผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและกระตุ้นเศรษกิจให้ฟื้นตัวเร็วยิ่งขึ้น