ThaiPublica > เกาะกระแส > ปลัดคลังเตรียมตั้งคณะกรรมการเช็คบิลนักเมือง-ข้าราชการ รายบุคคล เรียกค่าเสียหายกรณีจำนำข้าวขาดทุน 7 แสนล้านบาท

ปลัดคลังเตรียมตั้งคณะกรรมการเช็คบิลนักเมือง-ข้าราชการ รายบุคคล เรียกค่าเสียหายกรณีจำนำข้าวขาดทุน 7 แสนล้านบาท

24 กุมภาพันธ์ 2015


นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ฐานะประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายของรัฐบาล (คนที่ 2 จากซ้ายมือ) แถลงข่าวปิดบัญชีจำนำข้าว วันที่ 24 กุมภาพันธ์  2558 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 1 กระทรวงการคลัง
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ฐานะประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายของรัฐบาล (คนที่ 2 จากซ้ายมือ) แถลงข่าวปิดบัญชีจำนำข้าว วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 1 กระทรวงการคลัง

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 14.00 น. นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายของรัฐบาล เรียกประชุมคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาผลขาดทุนโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

นายรังสรรค์เปิดเผยว่า การปิดบัญชีครั้งนี้ ที่ประชุมได้ปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ในการคำนวณค่าเสื่อมราคาสินค้าคงเหลือใหม่ จากเดิมคณะอนุกรรมการคำนวณค่าเสื่อมราคาสินค้าแบบขั้นบันได ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่จัดเก็บข้าว กล่าวคือ 1 ปี คิดค่าเสื่อมราคา 10% 2 ปี คิด 20% 3 ปี คิด 30% และ 4 ปี คิด 40% และจากการที่คณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ ซึ่งมี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ ได้มีการจัดเกรดคุณภาพข้าวออกเป็น 4 เกรด คือ A, B, C และ D

ดังนั้น เพื่อให้การคำนวณค่าเสื่อมราคาสินค้าสอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น คณะอนุกรรมการฯ จึงมีความเห็นตรงกัน คือ ให้ใช้วิธีการคำนวณค่าเสื่อมราคาตามประเภท อายุ และคุณภาพข้าว สรุปปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวเปลือก ณ วันที่ 30 กันยายน 2557 มียอดขาดทุนสุทธิ 7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.8 หมื่นล้านบาท (ปิดบัญชี ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2557) แบ่งเป็นโครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขาดทุนสุทธิ 5.36 แสนล้านบาท และโครงการรับจำนำข้าวรัฐบาลในอดีต 11 โครงการขาดทุนสุทธิ 1.63 แสนล้านบาท โดยคณะอนุกรรมการฯ ทำรายงานเสนอ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายในสัปดาห์หน้า

“ผลขาดทุนจำนำข้าวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากระยะเวลาในการปิดบัญชีห่างกันแค่ 4 เดือน และในช่วงปลายงวด ราคาข้าวในท้องตลาดปรับเพิ่มขึ้นตันละ 2,000 บาท เมื่อนำไปหักต้นทุนรับจำนำข้าว ทำให้ยอดขาดทุนลดลง แต่อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมอบหมายให้กรมการค้าภายใน องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) องค์การคลังสินค้า (อคส.) และกรมการค้าต่างประเทศ ไปตรวจสอบยอดการระบายข้าว เนื่องจากมีปริมาณแตกต่างกันเล็กน้อย ไม่มีผลกระทบต่อตัวเลขขาดทุนสุทธิเท่าไหร่” นายรังสรรค์กล่าว

ขาดทุนจำนำข้าว7 แสนล้านบาท

นายรังสรรค์กล่าวต่อว่า ตามรายงานของคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐระบุว่า รัฐบาลมีข้าวสารคงค้างในสต็อกทั้งสิ้น 17.5 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 2.3 แสนล้านบาท (ปิดบัญชี 22 พ.ค. 2557 สต็อก 19 ล้านตัน ระบายออกไป 1.6 ตัน) แบ่งเป็น ข้าวสารเกรด A1 ถึง B4 ประมาณ 7.5 ล้านตัน, ข้าวสารเกรด P-A หมายถึงข้าวที่มีคุณภาพดีผ่านเกณฑ์การตรวจสอบอีก 2.9 ล้านตัน, ข้าวสารเกรด C หมายถึงข้าวที่มีคุณภาพต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานต่อกว่าข้าวเกรด 4.7 ล้านตัน และข้าวกองล้ม หมายถึงข้าวที่กระสอบแตก ยังอยู่ระหว่างการตรวจนับ คาดว่าจะมีปริมาณ 4.25 แสนตัน

“หลังจากที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำหนังสือมาถึงกระทรวงการคลังให้ดำเนินการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ที่กระทำความผิดในการดำเนินโครงการจำนำข้าว ผมได้หารือกับนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, อัยการสูงสุด, คณะกรรมการกฤษฎีกา อย่างไม่เป็นทางการ สรุปว่าในเบื้องต้น ผมต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด เพื่อกำหนดตัวเลขความเสียหายที่ผู้กระทำผิดต้องรับผิดชอบเป็นรายบุคคล นำเสนอคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อสรุปสำนวนสอบส่งฟ้องศาลต่อไป” นายรังสรรค์กล่าว