ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 1 ทศวรรษข้าวจีทูจี (6): ป.ป.ช. ยัน เอกสารจีนไม่รับรองหลักฐานบริษัท GSSG

1 ทศวรรษข้าวจีทูจี (6): ป.ป.ช. ยัน เอกสารจีนไม่รับรองหลักฐานบริษัท GSSG

30 พฤษภาคม 2013


ความไม่ชอบมาพากลในการส่งออกข้าวจีทูจีของกระทรวงพาณิชย์ในโครงการรับจำนำข้าว อยู่ระหว่างการตรวจสอบเชิงลึก โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณี บริษัท GSSG IMP AND EXP CORP ที่นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรงพาณิชย์ อ้างว่าเป็นผู้รับมอบข้าวรายใหญ่จากประเทศจีน แต่ภายหลังถูกเปิดโปงว่าเป็นบริษัทที่ถูกอุปโลกน์ขึ้น เพราะจริงๆ แล้วมีการส่งต่อข้าวลอตใหญ่ให้บริษัทสยามอินดิก้าของไทย ที่มี “เสี่ยเปี๋ยง” หรือนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร นักธุรกิจผู้เคยมีคดีฟ้องร้องเรื่องข้าวสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
เป็นเจ้าของ

ล่าสุด คณะทำงานตรวจสอบคดีทุจริตจำนำข้าวของ ป.ป.ช. มีการเรียกเอกสารดำเนินการทั้งหมดในโครงการนี้จากทางกระทรวงพาณิชย์ตามคำร้องของพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง เริ่มจาก นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ผู้ยื่นคำร้องเมื่อเดือน ธ.ค. 2555 โดย นพ.วรงค์ได้นำหลักฐานเส้นทางทางการเงินที่ขุดคุ้ยพบว่าการเงินที่ชำระค่าข้าวหลายพันล้านบาทนั้นไม่ได้มาจากรัฐบาลจีนหรือบริษัท GSSG IMP AND EXP CORP ที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของรัฐบาลจีน แต่เป็นเงินของบริษัทสยามอินดิก้าทั้งสิ้น มีการโอนไปมาหลายทอดผ่านธนาคารพาณิชย์ในประเทศหลายสาขา รวมถึงพบเงินอีกส่วนหนึ่งถูกโยกไปยังบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นการฟอกเงินด้วย

นอกจากนั้น ทางคณะทำงาน ป.ป.ช. ยังมีการตรวจสอบข้อสังสัยกรณี บริษัท GSSG IMP AND EXP CORP เป็นบริษัทของรัฐบาลจีนจริงหรือไม่ โดยมีการเรียกเอกสารใบรับรองการจดทะเบียนบริษัท GSSG IMP AND EXP CORP มาจากกรมการค้าต่างประเทศ พร้อมกันนั้น ทาง ป.ป.ช. ได้มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและผู้เชี่ยวชาญทางด้านประเทศจีนมาร่วมยืนยันความถูกต้องของเอกสาร ซึ่งจากการตรวจสอบปรากฎว่าเอกสารของบริษัทดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าบริษัท GSSG ทำธุรกิจขายข้าว แต่ขายอุปกรณ์เครื่องกีฬาและพลาสติก รวมทั้งไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนของรายชื่อผู้ถือหุ้น และไม่มีการเซ็นรับรองความถูกต้องของเอกสารตามกฎหมาย

“ในเอกสารมีเพียงการประทับตราคำว่าบริษัท GSSG IMP AND EXP CORP เป็นรัฐวิสาหกิจของจีนจริง แต่ถือเป็นการประทับตราของทางบริษัท GSSG เอง ซึ่งถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะปกติแล้วเอกสารราชการลักษณะนี้จะต้องมีการยืนยันความถูกต้องและมีตราประทับจากรัฐบาลทั้ง 2 ฝ่าย คือสถานทูตจีนในประเทศไทยและสถานทูตไทยในประเทศจีน จึงถือเป็นเอกสารที่สามารถนำมาอ้างอิงประกอบการพิจารณาคดีของ ป.ป.ช.ได้” แหล่งข่าวจาก ป.ป.ช. ระบุ

ขณะเดียวกัน ในเอกสารที่กระทรวงพาณิชย์มอบให้ ป.ป.ช. ยังไม่มีการรับรองที่ชัดเจนว่า บริษัทดังกล่าวเป็นตัวแทนของรัฐบาลจีนในการทำสัญญาซื้อข้าวจีทูจีกับไทยจริงๆ เพราะตามหลักปฏิบัติสากลของรัฐบาลจีนจะมีระเบียบกำหนดไว้ว่า กรณีทำสัญญาซื้อขายธัญพืช รัฐบาลจะมอบให้ทาง “คอปโก้” ซึ่งเป็นหน่วยงานคล้ายกับองค์การคลังสินค้า (อคส.) เป็นผู้ดำเนินการ หรืออย่างสินค้ายางพารา จีนจะมอบให้บริษัทที่ให้ทำในนามรัฐบาลจีน คือ “ชิโนเคม” แต่ถ้าเป็นเรื่องการซื้อธัญพืชภายในประเทศ ก็จะให้ “เหลียงอิ๋ว” หน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์จีน เป็นผู้กำหนดราคาสูงสุดในการรับซื้อจากเกษตรกร ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่บริษัท GSSG ดังกล่าว ไม่ใช่ของรัฐบาล เพราะถ้าเป็นของรัฐบาลจริงก็จะระบุอำนาจในการดำเนินการแทนไว้ด้วย

นายเวิน เจียเป่า อดีตนายกรัฐมนตรีจีนเยือนไทย ที่มาภาพ : http://image.bangkokbiznews.com
นายเวิน เจียเป่า อดีตนายกรัฐมนตรีจีนเยือนไทย ที่มาภาพ: http://image.bangkokbiznews.com

ก่อนหน้านั้น เคยมีสัญญาณมาจากทางรัฐบาลจีนว่าไม่ต้องการเกี่ยวข้องกับเรื่องอื้อฉาวนี้ โดยเฉพาะนายก่วน มู่ เอกอัครทูตจีนประจำประเทศไทย ได้ออกมาปฏิเสธเรื่องความสัมพันธ์ของบริษัท GSSG กับทางรัฐบาลจีน รวมถึงระบุว่าจริงๆ แล้วการซื้อขายข้าวจีทูจีกับรัฐบาลไทย มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ใช่ลอตใหญ่ถึง 5 ล้านตัน อย่างที่รัฐบาลไทยกล่าวอ้าง ขณะเดียวกัน ในช่วงที่ นายเวิน เจียเป่า อดีตนายกรัฐมนตรีของจีน เดินทางมาเยือนไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 ก็ไม่ต้องการเซ็นสัญญาซื้อขายข้าวจีทูจีตามที่ไทยต้องการ และยังมีการแก้ไขถ้อยคำที่เป็นข้อผูกมัดของไทย โดยปฏิเสธที่จะระบุปริมาณข้าวตามข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์

แหล่งข่าวกล่าวว่า เอกสารการจดทะเบียนของ GSSG เกิดจากการประสานงานของเจ้าหน้าที่ทางด้านการพาณิชย์ของสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว ตามคำร้องขอของนางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะทำงานตรวจสอบการระบายข้าวรัฐบาลต่อรัฐบาล เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2555 เนื่องจากนายบุญทรงถูกโจมตีอย่างหนักถึงปัญหาการส่งมอบข้าวจีทูจีลอตดังกล่าวและโครงการจำนำข้าวที่ขาดทุนมหาศาล หลังจากนั้น นางวัชรีพร้อมทั้งนายบุญทรงได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า จากการตรวจสอบพบว่า บริษัท GSSG เป็นบริษัทที่ถือหุ้นโดยรัฐวิสาหกิจจีนจริง

ต่อมาได้มีการชี้แจงเรื่องนี้อีกครั้งที่สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่่ 18 เม.ย. 2556 โดยนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ลุกขึ้นตอบกระทู้ถามของ นพ.วรงค์ ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ระบุชัดเจนว่า ทางสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ที่มีสำนักงานอยู่ในประเทศจีน แจ้งมายังกรมการค้าต่างประเทศ ยืนยันว่าบริษัท GSSG เป็นหน่วยงานของรัฐบาลจีน และทางคณะกรรมการควบคุมบริหารและทรัพย์สินแห่งรัฐบาลประชาชนมณฑลกวางตุ้ง ก็แจ้งว่าบริษัทดังกล่าวเป็นรัฐวิสาหกิจของจีนจริง หลังจากนั้นจึงมีการขายข้าวแบบจีทูจีลอตดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ ป.ป.ช. อยู่ระหว่างการขอเอกสารจากทางกระทรวงพาณิชย์ คือสัญญาการซื้อขายข้าวจีทูจีกับทางรัฐบาลจีน เนื่องจากที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ไม่เคยมีการเปิดเผยข้อตกลงนี้ อ้างว่าสัญญาเป็นความลับมาโดยตลอด ขณะที่คนในแวดวงการค้าข้าววิจารณ์ว่า กระทรวงพาณิชย์อาจจะไม่มีสัญญาการซื้อขายแบบจีทูจีจริงๆ เพราะสัญญาข้าวจีทูจีของจีนจะดำเนินการโดยรัฐเท่านั้น เรื่องนี้ควรนำมาเปิดเผยสังคมอย่างโปร่งใส ไม่ใช่รู้เห็นกันอยู่ในกลุ่มคนไม่กี่คนที่มีหน้าที่ในการระบายข้าวจากสต็อก

นพ.วรงค์กล่าวว่า ตามปกติแล้วสัญญาข้าวจีทูจีคือการซื้อขายแบบรัฐบาลต่อรัฐบาลเท่านั้น ไม่ใช่รัฐบาลไทยกับรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทของจีน อีกทั้งเงินที่นำมาชำระค่าข้าวก็ต้องเป็นเงินของรัฐบาลจีนเท่านั้น และต้องมีการทำใบยืนยันการชำระค่าสินค้าหรือ L/C ระหว่างทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่ปล่อยให้บริษัทเอกชนรายใดมาชำระค่าข้าวแทนรัฐบาลก็ได้ ถือเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง

นอกจากนั้น หากบริษัท GSSG มาซื้อข้าวหน้าโกดัง หรือ EX-Warehouse ของกระทรวงพาณิชย์ ก็อาจไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ที่ไม่อนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจค้าข้าวโดยไม่ได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เนื่องจากเป็นธุรกิจที่สงวนไว้สำหรับคนไทย เว้นแต่บริษัทดังกล่าวจะได้รับการยกเว้นจากกฎหมายเฉพาะหรือได้รับการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เท่านั้น แต่เท่าที่ทราบคือบริษัท GSSG ไม่ได้มีถิ่นฐานหรือจดทะเบียนในประเทศไทย จึงไม่สามารถขอใบอนุญาตทำธุรกิจค้าข้าวจากคณะกรรมการฯ ตาม พ.ร.บ. ได้

นพ.วรงค์กล่าวอีกว่า การดำเนินการของบริษัท GSSG ยังอาจผิดตาม พ.ร.บ.การค้าข้าว พ.ศ. 2489 ที่กำหนดให้ผู้ซื้อขายข้าวต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการ โดยครอบคลุม 4 ประเภท คือ ผู้ค้าข้าวเพื่อการส่งออก ผู้ทำธุรกิจโรงสี ธุรกิจท่าข้าว และผู้ค้าส่ง ดังนั้น การที่บริษัท GSSG ไปซื้อข้าวหน้าคลังหรือค้าส่งให้บริษัทสยามอินดิก้ามารับช่วงต่อในประเทศ ก็ต้องมีใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.การค้าข้าวด้วย จึงเชื่อว่า GSSG อาจมีความผิดเพิ่มเติมรวมอีก 2 ประเด็นด้วย

“ที่ผ่านมาเราไม่เคยพบสัญญาจีทูจีของกระทรวงพาณิชย์ในเรื่องนี้เลย และการระบายข้าวยังถือเป็นการระบายที่ไม่ปกติ มีความไม่โปร่งใสอย่างมาก คงต้องให้ ป.ป.ช. ทำหน้าที่ ส่วนทางพรรคประชาธิปัตย์เองได้นำเอกสารเข้าชี้แจงไปครบถ้วนแล้ว และจะมีการอภิปรายเรื่องนี้อีกครั้งในสภาผู้แทนราษฎร” นพ.วรงค์ระบุ(อ่านต่อตอนที่7)