เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2558 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถนนสนามบินน้ำ จ.นนทบุรี คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้จัดงานแถลงข่าวเนื่องในโอกาสทำงานมาครบ 9 ปี นับแต่ได้รับการแต่งตั้งโดยประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 19 เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2549 โดยกรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 9 คน ได้ร่วมงานแถลงข่าวอย่างพร้อมเพรียง
ป.ป.ช. แถลงผลงาน 9 ปี ทำคดีจบ 2.6 หมื่นคดี – เผยรัฐเสียหาย 5 แสนล้าน
นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า นับแต่ได้รับแต่งตั้งโดยประกาศ คปค. จนถึงปัจจุบัน มีกรรมการ ป.ป.ช. 4 คน พ้นจากการดำรงตำแหน่งเพราะมีอายุครบ 70 ปี ทำให้มีกรรมการ ป.ป.ช. เข้ามาใหม่ 4 คน และตนพร้อมด้วยกรรมการ ป.ป.ช. อีก 4 คน ได้แก่ นายภักดี โพธิศิริ นายประสาท พงษ์ศิวาภัย นายวิชัย วิวิตเสวี และนายวิชา มหาคุณ ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากดำรงตำแหน่งครบวาระเก้าปีแล้ว ปัจจุบัน อยู่ระหว่างรอให้กรรมการ ป.ป.ช. ใหม่ 5 คน ที่อยู่ระหว่างการสรรหาเข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทน ซึ่งคาดว่าจะเป็นภายในเดือนธันวาคม 2558 ระหว่างนี้เรื่องสำคัญก็จะพยายามทำให้เห็นหน้าเห็นหลัง เพื่อส่งมอบงานให้กรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหม่เข้ามาสานต่องานในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
“หลังจากนั้นพวกผมก็ต้องเซย์กู๊ดบาย” ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าว
นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า หลังจากตนเข้ารับตำแหน่งโฆษกของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อจากนายกล้านรงค์ จันทิก อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ก็พยายามปรับปรุงรูปแบบการประชาสัมพันธ์ให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยเน้นการเปิดเผยการทำงานของ ป.ป.ช. ยกเว้นเป็นกรณีที่หากเปิดไปแล้วอาจกระทบต่อสำนวนคดีหรือพยานหลักฐาน
นายวิชากล่าวถึงภาพรวมการทำงานในช่วงเวลา 9 ปีที่ผ่านมาว่า นับแต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดนี้เข้ามารับตำแหน่งในปี 2549 ถึงปัจจุบัน มีคดีค้างเก่า 11,578 คดี คดีรับใหม่ 26,000 คดี รวมมีคดีที่ต้องพิจารณาทั้งสิ้น 37,578 คดี ดำเนินการแล้วเสร็จ 26,530 คดี คงเหลือ 11,048 คดี โดยคดีที่คงเหลืออยู่ในขั้นตอนการแสวงหาข้อเท็จจริงเบื้องต้น 8,836 คดี และขั้นตอนการไต่สวน 2,212 คดี จะเห็นได้ว่า ยังมีภาระหน้าที่ที่ ป.ป.ช. ต้องดำเนินการต่ออีก
โดยในส่วนของคดีที่เหลือ ผู้ถูกกล่าวหา 50% เป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 25% เป็นข้าราชการระดับกลาง (ซี 8 – ซี 9) 15% เป็นข้าราชการระดับล่าง (ซี 8 ลงไป) 10% เป็นข้าราชการระดับสูง (ซี 10 ขึ้นไป) และ 5% คืออื่นๆ เช่น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง องค์กรอิสระ ศาล ฯลฯ
จะเห็นได้ว่า ภาระหนักคือผู้บริหาร อปท. ทั้งเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ฯลฯ ซึ่งเราก็ยอมรับว่าหนักใจ แต่หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งห้ามเลือกตั้งผู้บริหาร อปท. ใหม่ในระหว่างนี้ ทำให้ ป.ป.ช. มีเวลาเข้าไปตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินที่ผู้บริหาร อปท. ยื่นเข้ามาในเชิงลึก และจะเริ่มดำเนินคดีร่ำรวยผิดปกติกับผู้บริหาร อปท. บางแห่ง
“ทั้งนี้ จากการสำรวจมูลค่าความเสียหายจากคดีทุจริตต่างๆ เฉพาะที่มีการชี้มูลระหว่างปี 2556-2558 รวม 193 คดี พบว่ายังมีรวมกันสูงถึง 5.2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ 4 แสนล้านบาท รัฐวิสาหกิจ 1.2 แสนล้านบาท และ อปท. 168 ล้านบาท” นายวิชากล่าว
จากนั้น มีการเปิดโอกาสให้กรรมการ ป.ป.ช. แต่ละคนกล่าวถึงความคืบหน้าการไต่สวนคดีสำคัญที่อยู่ในความรับผิดชอบของตัวเอง รวมทั้งสิ้น 23 คดี
ชงสำนวนโกง VAT ให้ ป.ป.ช. ชุดใหญ่แล้ว – คดีรถหรูยังไม่คืบ
นายวิชา มหาคุณ (6 คดี)
– คดีที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าว มี 3 สำนวน
- กรณีทุจริตขายข้าวแบบกับประเทศอินโดนีเซีย ผ่านองค์กรสำรองข้าวอินโดนีเซีย (บูล็อก) ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กับพวก เป็นผู้ถูกกล่าวหา อยู่ระหว่างเสนอให้ที่ประชุม ป.ป.ช. ขยายการไต่สวนไปยังบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ขององค์การคลังสินค้า (อคส.)
- กรณีกล่าวหาอดีตผู้อำนวยการ อคส. ทุจริตขายข้าว อยู่ระหว่างการไต่สวน
- กรณีกล่าวหาอดีตผู้อำนวยการ อคส. เรียกรับสินบน อยู่ระหว่างการไต่สวน
– คดีจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองโดยมิชอบ ปัจจุบัน ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เดินทางมารับทราบและชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเกือบหมดแล้ว มีเพียงบางคนที่ยังขอขยายเวลาในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา คาดว่าจะสรุปสำนวนได้ภายในปี 2558
– คดีสั่งสลายการชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 โดยมิชอบ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นผู้ถูกกล่าวหา สอบพยานครบทุกปากแล้ว เหลือเพียงรอเอกสารบางอย่างจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ก็สามารถสรุปสำนวนได้ทันที
– คดีเหมืองทองคำ ได้เสนอที่ประชุม ป.ป.ช. ให้แก้ข้อกล่าวหาให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยจะไต่สวนกรณีการให้สินบนข้ามชาติ โดยมีบริษัทเอกชนจดทะเบียนในออสเตรเลีย มีการโอนเงินให้เจ้าหน้าที่รัฐผ่านสถาบันการเงินทั้งในไทยและฮ่องกง
– คดีทุจริตก่อสร้างโรงพักทดแทน 396 แห่งทั่วประเทศ ได้ขยายผลไปไต่สวน พล.ต.อ. ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ด้วย ขณะที่สำนวนในส่วนของนายสุเทพ อดีตรองนายกฯ ในฐานะประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ (กตร.) เดิมจะสรุปสำนวนแล้ว แต่เมื่อศาลปกครอง จ.เชียงใหม่ มีคำพิพากษาเกี่ยวกับคดีนี้ จึงทำเรื่องขอคำพิพากษาดังกล่าวมาประกอบสำนวนคดีนี้ ทำให้ต้องเลื่อนเวลาการเสนอสำนวนเข้าที่ประชุม ป.ป.ช. ชุดใหญ่ออกไปก่อน
– คดีทุจริตภายในสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ที่เดิมมีนายสมศักดิ์ ตาไชย อดีตเลขาธิการ สกสค. กับพวก เป็นผู้ถูกกล่าวหา แต่ตนเตรียมเสนอที่ประชุม ป.ป.ช. ขยายผลไปยังผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ รวมถึงบริษัทเอกชน เบื้องต้นคาดว่าจะต้องเรียกตัวแทนสโมสรเพื่อนตำรวจมาให้ถ้อยคำเรื่องเส้นทางการเงินด้วย
นายภักดี โพธิศิริ (2 คดี)
– คดีทุจริตขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) มูลค่า 4 พันล้านบาท ที่มีนายสาธิต รังคศิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร กับพวก เป็นผู้ถูกกล่าวหา มี 2 สำนวนแยกตามพื้นที่ ในพื้นที่ กทม. สรุปสำนวนเสร็จแล้วรอส่งให้ที่ประชุม ป.ป.ช. พิจารณา แต่พื้นที่ จ.สมุทรปราการ ยังอยู่ระหว่างการไต่สวน
– คดีเลี่ยงภาษีนำเข้ารถยนต์หรู ที่มีนายราฆพ ศรีศุภอรรถ อดีตอธิบดีกรมศุลกากร กับพวก เป็นผู้ถูกกล่าวหา ยังอยู่ระหว่างการไต่สวน เพราะเกี่ยวข้องกับบุคคลและรถยนต์จำนวนมาก นอกจากนี้ ยังต้องประสานต่างประเทศเพื่อขอเปรียบเทียบราคารถยนต์หรูดังกล่าวว่ามีการสำแดงราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงหรือไม่
(อ่านซีรีส์ข่าว มหากาพย์นำเข้ารถหรู ของสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า)
ลุยสอบเส้นทางการเงินคดี G to G ล็อตสาม
นายประสาท พงษ์ศิวาภัย (2 คดี)
– คดีทุจริตขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ที่มีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นางปราณี ศิริพันธ์ อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นผู้ถูกกล่าวหา อยู่ระหว่างการไต่สวน พฤติการณ์ในคดีนี้ใกล้เคียงกับคดีทุจริตขายข้าว G to G รวม 2 ล็อตแรก ที่ส่งฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปแล้ว โดยสำนวนนี้มีบริษัทเอกชนจีนเกี่ยวข้อง 4 บริษัท มีแคชเชียร์เช็คเกี่ยวข้อง 1,822 ฉบับ รวมมูลค่า 96,390 ล้านบาท อยู่ระหว่างจัดกลุ่มและตรวจสอบเส้นทางการเงิน แต่มีแคชเชียร์เช็ครวมมูลค่า 1,500 ล้านบาท ที่บริษัทเอกชนไทยแห่งหนึ่งทำเรื่องขอคืนจากกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องตรวจสอบต่อไปว่าเกี่ยวข้องกับบริษัทเอกชนที่เป็นจำเลยในคดีที่มีการส่งฟ้องศาลฎีกาฯ ไปแล้วหรือไม่ ถ้าพบว่าเกี่ยวข้องอาจต้องอายัดไว้ก่อน
(อ่าน ความคืบหน้าคดีทุจริตขายข้าว G to G ล็อตแรก และการชี้มูลของ ป.ป.ช. ในล็อตที่สอง)
– คดีทุจริตก่อสร้างบ้านเอื้ออาทร มี 5 โครงการ ทำเสร็จไปแล้ว 1 โครงการ เหลืออีก 4 โครงการ ทั้งหมดยังอยู่ระหว่างการไต่สวน โดยจะมีการเชิญบริษัทเอกชนผู้เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำเพิ่มเติม เพื่อดูว่าจะสานไปถึงระดับรัฐมนตรีได้หรือไม่
นายวิชัย วิวิตเสวี (3 คดี)
– คดีกล่าวหาอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโยกย้ายข้าราชการมิชอบ คณะอนุกรรมการไต่สวนได้มีมติแจ้งข้อกล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหาเดินทางมาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแล้ว อยากจะสรุปสำนวนให้เสร็จในปี 2558 ก่อนพ้นจากตำแหน่ง
– คดีทุจริตจัดซื้อเครื่องตรวจสอบวัตถุต้องสงสัย GT200 จากอังกฤษ แม้จะได้ข้อสรุปชัดเจนว่าเครื่อง GT200 ไม่มีประสิทธิภาพ แต่เป็นเรื่องยากที่จะตรวจสอบว่าการจัดซื้อดังกล่าวเป็นไปโดยมิชอบหรือไม่ ทั้งนี้ แม้ทางการอังกฤษได้ปฏิเสธการให้เอกสารทางเทคนิคกับ ป.ป.ช. เพราะคดีนี้ในไทยมีโทษสูงถึงประหารชีวิต แต่คาดว่าจะสามารถแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ที่เกี่ยวข้องได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2558
– คดีเปลี่ยนองค์คณะพิจารณาคดีเขาพระวิหารของศาลปกครอง เมื่อปี 2551 โดยมิชอบ ได้สรุปสำนวนให้ที่ประชุม ป.ป.ช. พิจารณาไปแล้วเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน แต่ถูกตีกลับมาให้ตรวจสอบยืนยันข้อมูลอีก 1-2 จุด คาดว่าจะสามารถสรุปสำนวนได้เร็วๆ นี้ก่อนพ้นจากตำแหน่ง ปัจจุบัน มีผู้ถูกกล่าวหาเพียงรายเดียวคือนายจรัญ หัตถกรรม อดีตหัวหน้าคณะตุลาการศาลปกครองสูงสุด เพราะพยานหลักฐานไม่ถึงนายอักขราทร จุฬารัตน อดีตประธานศาลปกครองสูงสุด
เตรียมสรุปสำนวนคดีฟุตซอล – แจ้งข้อหา “ธาริต เพ็งดิษฐ์” ร่ำรวยผิดปกติ เดือนหน้า
นายปรีชา เลิศกมลมาศ (3 คดี)
– คดีทุจริตก่อสร้างสนามฟุตซอลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความคืบหน้า 80% มีโรงเรียนใน จ.นครราชสีมา มุกดาหาร และอำนาจเจริญ เกี่ยวข้อง 70 แห่ง สอบปากคำพยานไปแล้ว 240 ปาก แจ้งคำสั่งกับผู้เกี่ยวข้องไปแล้ว 105 คน โดยมีหนึ่งคนเป็นอดีต ส.ส. คาดว่าจะใช้เวลาเก็บตกอีก 1-2 เดือน ถึงจะสรุปสำนวนได้
– คดีกล่าวหานายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ทุจริต มีความคืบหน้า 90% คาดว่าจะแจ้งข้อกล่าวหาได้เร็วๆ นี้ ส่วนคดีร่ำรวยผิดปกติ เมื่อปี 2557 ศาลแพ่งได้มีคำสั่งไปแล้วว่าให้ทรัพย์สินของนายสุพจน์ 46 ล้านบาท ตกเป็นของแผ่นดิน
– คดีกล่าวหานายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ ร่ำรวยผิดปกติ จะแจ้งข้อกล่าวหาในเดือนพฤศจิกายน 2558 ปัจจุบันนายธาริตได้ยื่นฟ้องศาลให้เอาผิดคณะอนุกรรมการไต่สวนทั้ง 9 คน ศาลชั้นต้นยกคำร้อง แต่มีการอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์จะพิจารณาคดีในเดือนพฤศจิกายน 2558 เช่นกัน
นายณรงค์ รัฐอมฤต (2 คดี)
– คดีตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินอดีตรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าว จำนวน 5 คน ได้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ, นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกฯ, นายบุญทรง เตริยาภิรมย์, นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายยรรยง พวงราช อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีความคืบหน้า 80% คาดว่าจะสรุปสำนวนในส่วนของนายภูมิและนายยรรยงได้ภายในปี 2558 ส่วนสำนวนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายนิวัฒน์ธำรง และนายบุญทรง จะสรุปสำนวนต้นปี 2559
– คดีทุจริตขายข้าวสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มี 3 สำนวน กรณีกล่าวหานางพรทิวา นาคาศัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ขายข้าวต่ำกว่าราคาตลาดและไม่อนุมัติบริษัทเอกชนบางรายเข้าร่วมการประมูล ได้ยกคำร้องไปแล้ว เพราะข้อกล่าวหาไม่มีมูล ปัจจุบันจึงเหลือเพียงสำนวนขอให้ถอดถอนนางพรทิวา กับนายวีระศักดิ์ จินารัตน์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เท่านั้น
เตรียมแจ้งข้อหาคดีปาล์มน้ำมัน ปตท. – บี้แก้โกงท้องถิ่น
พล.ต.อ. สถาพร หลาวทอง (2 คดี)
– คดีทุจริตจัดซื้อที่ดินเพื่อปลูกปาล์มน้ำมันในประเทศอินโดนีเซีย มีนายนิพิฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตผู้บริหาร บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP เป็นผู้ถูกกล่าวหา โดยเป็นคดีที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ยื่นคำร้องมายัง ป.ป.ช. เองตั้งแต่ปี 2556 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานและไต่สวนพยานบุคคล โดยล่าสุด นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ซีอีโอ PTT ในฐานะอดีตซีอีโอ PTTEP เพิ่งเดินทางมาให้ถ้อยคำ ยังเหลือพยานบุคคลปากสำคัญที่ต้องเดินทางมาให้ถ้อยคำภายในตุลาคม 2558 หลังจากนั้นคาดว่าจะสรุปสำนวนเพื่อดูว่าจะแจ้งข้อกล่าวหากับบุคคลใดได้
– คดีทุจริตก่อสร้างฝายแม้ว ที่มีนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับพวก เป็นผู้ถูกกล่าวหา คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2551 เดิมมีการทำเป็นสำนวนเดียว แต่เนื่องจากเหตุเกิดในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จ.แพร่ ตาก พิษณุโลก เชียงราย และเชียงใหม่ จึงให้สำนักงาน ป.ป.ช. แต่ละจังหวัดไปรวบรวมข้อเท็จจริง จังหวัดใดเสร็จแล้วก็ให้ส่งเข้ามา โดยคดีนี้จะดำเนินการกับผู้ถูกกล่าวหาใน 2 ส่วน คือ ฝ่ายนโยบายกับฝ่ายปฏิบัติ ก่อนหน้านี้มีฝ่ายปฏิบัติถูกแจ้งข้อกล่าวหาไป 20 กว่าคน หลังจากนี้จะดูว่าฝ่ายนโยบายมีใครเกี่ยวข้องบ้าง
นางสาวสุภา ปิยะจิตติ (3 คดี)
– คดีทุจริตขายมันสำปะหลัง G to G ที่มีนายบุญทรงกับพวก รวม 36 คน เป็นผู้ถูกกล่าวหา เบื้องต้นพบว่าบริษัทเอกชนจีนที่มาขอซื้อไม่ใช่ตัวแทนรัฐบาลจีน แต่มาอ้างว่าเป็นตัวแทนรัฐบาลจีน เพื่อขอซื้อมันสำปะหลังแบบ G to G ที่จะได้ราคาถูกกว่าปกติ แล้วก็นำไปขายต่อให้กับบริษัทเอกชนไทย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการไต่สวนพยานบุคคลและเอกชน โดยเฉพาะการตามรอยเส้นทางการเงินของแคชเชียร์เช็คกว่า 2,000 ฉบับ
– คดีทุจริตเงินอุดหนุน อบจ. สมุทรปราการ ที่มีนายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม อดีตนายก อบจ.สมุทรปราการ กับพวก เป็นผู้ถูกกล่าวหา โดยส่งเงินไปอุดหนุนวัดกว่า 80 วัด รวม 800 ล้านบาท อ้างว่าจะนำไปทำเมรุเผาศพ ก่อนจะพาเจ้าอาวาสไปหักหัวคิว คาดว่าจะสรุปสำนวนได้เร็วๆ นี้
– คดีพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยมิชอบ ได้รับมอบหมายจากที่ประชุม ป.ป.ช. ให้เป็นผู้รับผิดชอบสำนวน โดยคดีนี้มีองค์คณะเป็นผู้ไต่สวน เพราะเป็นคดีสำคัญ
“ปัจจุบันได้รับมอบหมายให้ดูแลการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของ อปท. ซึ่งพบปัญหาเยอะมาก ทั้งไม่ยื่นเอกสาร ยื่นเอกสารไม่ครบ หรือไม่ยื่นเอกสารรายการแสดงการเสียภาษี จึงขออนุมัติจากที่ประชุม ป.ป.ช. ว่า ถ้า อปท. แห่งใดเตือนไป 3 ครั้ง แล้วยังไม่ยื่นจะทำเป็นคดีส่งให้ศาลฎีกาฯ ทันที ทั้งนี้ ตั้งแต่สมัยอยู่ในกระทรวงการคลังก็พบว่ามี อปท. ถึง 3 พันแห่งจากทั้งหมด 7.8 พันแห่ง ที่จัดทำบัญชีรายจ่ายไม่เรียบร้อย ปิดงบไม่สำเร็จ แสดงถึงความไม่บริสุทธิ์ใจ ส่วนตัวมองว่าถ้าแก้ปัญหาเรื่องการทำบัญชีของ อปท. ได้ จะช่วยปัญหาการทุจริตได้เยอะมาก จึงคิดว่า ในอนาคตจะกำหนดว่า หาก อปท. ไหนปิดงบไม่ทัน จะถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ทันที” นางสาวสุภากล่าว
ชง กรธ. ขอขยายอำนาจช่วยสกัดทุจริตเชิงนโยบาย
นายปานเทพ ยังกล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เดินทางไปให้ความคิดเห็นเรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญ ต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2558 ว่า ได้ยืนยันสิ่งที่อยากให้ ป.ป.ช. เป็น 2 เรื่อง คือ ให้ ป.ป.ช. ยังคงเป็นองค์กรอิสระที่ทำงานโดยปราศจากการแทรกแซง และให้ ป.ป.ช. เป็นหน่วยงานหลักในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน โดยให้คงอำนาจไว้เหมือนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ทุกประการ
นอกจากนี้ ยังมีการเสนอแนะแก้ไขปัญหาการทำงานของ ป.ป.ช. ที่ผ่านมา รวม 3 ข้อ คือ
1. ให้บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยอื่นๆ ทั้งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน และกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพราะมีภารกิจที่ใกล้เคียงกันในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน
2. ให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการป้องกันการทุจริตที่เกิดจากนโยบายของภาครัฐ หรือที่เรียกกันว่า “ทุจริตเชิงนโยบาย” โดยให้ กกต. ไปดูตั้งแต่การประกาศว่าจะทำ และให้ ป.ป.ช. เข้าไปดูเมื่อเริ่มดำเนินการแล้ว ว่าโครงการใด หน่วยงานเจ้าของโครงการไม่มีมาตรการป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริตคอร์รัปชัน จะไม่สามารถดำเนินการต่อได้
3. ให้คำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. ผูกพันทุกองค์กรต้องปฏิบัติตาม เพราะขณะนี้บางหน่วยงานมีระเบียบของตัวเอง ทำให้แม้ ป.ป.ช. จะชี้มูลความผิดก็ไม่สามารถนำตัวบุคคลดังกล่าวมาลงโทษได้ หรือแม้ถอดถอนออกจากตำแหน่งหนึ่งแล้วก็ยังไปดำรงตำแหน่งอื่นได้อีก
ด้านนายวิชากล่าวว่า เบื้องต้น กรธ. ก็มองว่าจะให้ ป.ป.ช. เป็นหน่วยงานกลางในการรับร้องเรียนคดีทุจริตทั้งหมดทั้งมวล โดยสามารถแจกจ่ายไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ ทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ตำรวจ หรือต้นสังกัดของผู้ถูกกล่าวหา เพื่อให้ ป.ป.ช. มีเวลาในการพิจารณาคดีใหญ่ๆ ที่มีผลกระทบในวงกว้างและประชาชนให้ความสนใจ ส่วนคดีเล็กๆ ก็มอบหมายให้หน่วยงานอื่นไปดำเนินการแทน
ทั้งนี้ ป.ป.ช. ยังได้เสนอต่อ กรธ. ให้เขียนไว้ในหมวดว่าด้วยการปกครองท้องถิ่นว่า ผู้บริหาร อปท. รายใดที่ถูก ป.ป.ช. ชี้มูล จะย้ายไปดำรงตำแหน่งใน อปท. อื่นไม่ได้ เพราะปัจจุบันยังมีช่องโหว่ของกฎหมายที่ทำให้เกิดการวนตำแหน่ง เมื่อถูก ป.ป.ช. ชี้มูลก็ย้ายไปอยู่ใน อปท. อื่น ไม่รวมถึงกรณีอื่นที่เราเสนอต่อ กรธ. ไปว่า หากเกิดความขัดแย้งระหว่างองค์กรเรื่องอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. อยากให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด ไม่ใช่ให้หน่วยงานนั้นๆ ที่มีระเบียบเฉพาะเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด ไม่เช่นนั้น เมื่อ ป.ป.ช. ชี้มูลไปแล้วหน่วยงานนั้นไม่ปฏิบัติตาม สุดท้ายก็จะเอาใครมาลงโทษไม่ได้ แล้วคนก็จะไม่เคารพกฎหมาย เพราะมองว่า ป.ป.ช. ไร้น้ำยา