ตามที่สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้นำเสนอซีรี่ส์ข่าว 1ทศวรรษ ขายข้าวจีทูจี เนื่องจากมีความไม่ชอบมาพากลในการส่งออกข้าวจีทูจีของกระทรวงพาณิชย์ในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบเชิงลึก โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
วันนี้(3 พฤศจิกายน 2556)คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งอนุกรรมการไต่สวนกรณีกล่าวหานายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวนั้น
ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนได้ความว่า การเจรจาที่อ้างว่าเป็นการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ หรือ G to G ระหว่างรัฐบาลไทยกับผู้แทนหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนจำนวน 2 หน่วยงานนั้น พยานหลักฐานยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้เห็นได้ว่าเป็นการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ และพบด้วยว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลอื่นมีส่วนร่วมกระทำความผิดในโครงการดังกล่าว ซึ่งยังมิได้เป็นผู้ถูกกล่าวหามาแต่เดิม
คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงลงมติให้ขยายการไต่สวนไปยังบุคคลดังต่อไปนี้ ได้แก่
1. ผู้แทนเจรจาฝ่ายไทย ได้แก่ นายมนัส สร้อยพลอย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายทิฆัมพร นาทวรทัต เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริหารการค้าข้าว นายอัครพงศ์ ทีปวัชระ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขานุการกรมการค้าต่างประเทศ
2. นายภูมิ สาระผล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว
3. ผู้แทนเจรจาฝ่ายสาธารณรัฐประชาชนจีน แบ่งตามหน่วยงาน คือ Guangdong stationery & sporting goods imp. & exp. Corp. และ Hainan grain & oil industrial trading company และตัวแทนของหน่วยงานทั้งสอง
4. กลุ่มบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากผู้แทนฝ่ายจีน ได้แก่ นายรัฐนิธ โสจิระกุล นายสมคิด เอื้อนสุภา และนายลิตร พอใจ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทสยามอินดิก้า จำกัด
5. บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงจากการไต่สวนเกี่ยวกับสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง พบว่าเงินที่ชำระค่าซื้อขายข้าวกับหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนดังกล่าวนั้น ส่วนใหญ่เกี่ยวพันกับบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ประกอบกับบริษัทนี้เคยเป็นนายจ้างในอดีตของนายสมคิด เอื้อนสุภา และนายลิตร พอใจ
นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการไต่สวนยังตรวจพบว่า การกำหนดให้เป็นการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ ก็เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคา ทำให้เกิดความเสียหายจากการขายในราคาต่ำกว่าราคาตลาด นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2554 ถึงมิถุนายน 2556 มีปริมาณส่งมอบข้าวไปยังจีนทุกรายเพียง 375,000 ตันเศษ จากปริมาณที่ต้องส่งมอบตามสัญญา จำนวน 4,800,000 ตัน ซึ่งกรมศุลกากรได้ยืนยันว่า ในห้วงเวลาดังกล่าวไม่มีข้าวส่งออกโดยผ่านพิธีการศุลกากรแต่อย่างใด
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการจะได้เร่งดำเนินการไต่สวน เพื่อพิจารณาว่ามีบุคคลอื่นเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดอีกหรือไม่ และจะได้พิจารณาดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวต่อไปโดยเร็ว