หลังกระทรวงพาณิชย์ถูก “เปิดโปง” ความไม่ชอบมาพากลในการขายข้าวในสต็อคให้กับบริษัท GSSG IMP AND EXP CORP ซึ่งอ้างว่าเป็นตัวแทนของรัฐบาลจีนมาซื้อข้าวแบบจีทูจี แต่สุดท้ายมีการมอบอำนาจให้บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เป็นผู้ดำเนินการอีกทอดหนึ่ง มาจนถึงขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์ก็ยังไม่มีการเปิดเผยหลักฐานชัดๆ ของสัญญาข้าวจีทูจีลอตนี้ ว่ามีรายละเอียดข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร หรือแท้จริงแล้วมีการทำสัญญากับจีนหรือไม่??
วงในธุรกิจค้าข้าวทราบดีว่า หลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยขายข้าวแบบจีทูจีให้แก่รัฐบาลจีนน้อยมาก โดยเฉพาะระยะ 10 ปีหลัง แทบจะไม่มีข้าวจีทูจีเลยด้วยซ้ำ เนื่องจากรัฐบาลจีนค่อนข้างระมัดระวังในการเปิดตลาดสินค้าอ่อนไหว โดยเฉพาะสินค้าข้าวที่จีนต้องปกป้องชาวนาของตัวเอง หากไม่จำเป็นจีนจะไม่นำเข้าข้าวจากต่างประเทศ มีเพียงการเปิดตลาดตามพันธกรณีขององค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) ที่จีนผูกพันในช่วงที่เข้าเป็นสมาชิก ว่าจะเปิดตลาดข้าวไม่เกินปีละ 5.32 ล้านตัน โดยเก็บภาษีในอัตรา 1% แต่ถ้ามีการนำเข้ามากกว่านี้จะเสียภาษีสูงถึง 64%
ยิ่งเมื่อดูข้อมูลลึกลงไปอีกจะพบว่า โควตานำเข้าข้าวของจีนจำนวน 5.32 ล้านตันดังกล่าว ได้ถูกแบ่งเป็นสองส่วน คือ รัฐบาลนำเข้าเอง 50% หรือประมาณ 2.66 ล้านตัน ส่วนที่เหลืออีก 2.66 ล้านตันปล่อยให้เอกชนเป็นผู้นำเข้า และในจำนวนนี้ยังถูกจำแนกเป็นการนำเข้าข้าวเมล็ดสั้นครึ่งหนึ่ง และข้าวเมล็ดยาวอีกครึ่งหนึ่ง และในทางปฏิบัติ จีนไม่เคยนำเข้าเต็มปริมาณโควตาแม้แต่ปีเดียว
เมื่อค้นสถิติการนำเข้าของจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พบว่า รัฐบาลจีนนำเข้าข้าวปีละไม่ถึง 1 ล้านตัน เช่น ในปี 2552 จีนนำเข้าเพียง 3.4 แสนตัน ในปี 2553 นำเข้า 3.7 แสนตัน ในปี 2554 นำเข้า 5.8 แสนตัน ยกเว้นปี 2555 ที่นำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 2.6 ล้านตัน แต่ข้าวส่วนใหญ่ที่รัฐบาลจีนซื้อไปเป็นข้าวหอมมะลิมาจากเวียดนามและกัมพูชาถึง 80% เนื่องจากมีราคาถูกกว่าข้าวหอมมะลิจากประเทศไทย ซึ่งมีโครงการรับจำนำข้าวหอมมะลิตันละ 20,000 บาท ทำให้ไทยโค้ดราคาส่งออกอยู่ที่ 1,200 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน แพงกว่าคู่แข่งมากกว่า 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน
ตามข้อมูลใบขนส่งสินค้าที่บันทึกไว้กับกรมศุลกากร ระบุว่า ยอดการส่งออกข้าวจีทูจีของไทยไปประเทศจีนในปี 2555 มีเพียง 212 ตัน ถือเป็นเครื่องตอกย้ำว่า รัฐบาลจีนแทบจะไม่มีการนำเข้าแบบจีทูจีกับไทย ตรงข้ามกับข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์และคณะกรรมการนโยบายข้าว (กนข.) ที่พยายามอ้างว่า ได้จัดทำสัญญาขายข้าวแบบจีทูจีกับประเทศจีน อินโดนีเซีย และโกตดิวัวร์ไปแล้วถึง 7,320,000 ล้านตัน โดยมีการส่งมอบไปแล้ว 1,460,000 ล้านตัน
เพราะในข้อเท็จจริงก็คือ เมื่อคำนวณตัวเลข จากสัญญาส่งมอบข้าวให้อินโดนีเซียในช่วงปีที่ผ่านมา พบว่ามีไม่เกิน 3 แสนตัน และสัญญาขายให้รัฐบาลโกตดิวัวร์ก็มีไม่เกิน 1 แสนตันเท่านั้น ดังนั้น เมื่อหักกลบดูตัวเลขทั้งหมดแล้ว จะเหลือข้าวจีทูจีที่ขายให้กับรัฐบาลจีน 1,600,000 ตัน แต่คำถามก็คือ เหตุใดจึงไม่ปรากฎตัวเลขเดียวกันในใบขนส่งสินค้าที่กรมศุลกากร และยังขัดแย้งกับข้อมูลการนำเข้าข้าวของจีนเองที่ระบุว่า ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากกัมพูชาและเวียดนาม มีการนำเข้าจากไทยเพียง 10% ด้วยซ้ำ
ข้อมูลในเว็บไซต์กระทรวงพาณิชย์จีนhttp://english.mofcom.gov.cn ที่เปิดเผยเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2556 โดยนาย Shen Danyang โฆษกกระทรวงพาณิชย์ แถลงต่อสื่อมวลชนถึงตัวเลขการนำเข้าข้าวของจีนว่า ส่วนใหญ่เป็นการดำเนินการของ “ภาคธุรกิจ” ไม่ใช่รัฐบาล เพราะภาคธุรกิจเห็นว่าราคาข้าวในตลาดโลกลดลง และเป็นไปตามความต้องการของตลาดภายในประเทศที่สูงขึ้น นอกจากนั้น นาย Shen Danyang ยังยืนยันว่า จะดูแลไม่ให้การนำเข้าข้าวตามกรอบดับบลิวทีโอเกิน 50% ของโควตาที่ผูกพันไว้แน่นอน สะท้อนถึงเงื่อนไขการนำเข้าข้าวของจีนที่เข้มงวด
อีกทั้งการนำเข้าข้าวจีทูจี จะจัดซื้อผ่าน “คอปโก้” ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงพาณิชย์ของจีน แต่เดิมจะเรียกชื่อว่า “ซีลอยฟู้ด” ในกระทรวงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ ลักษณะคล้ายองค์การคลังสินค้า (อคส.) ที่เป็นหน่วยงานดำเนินการนำเข้าสินค้าเกษตรที่ขาดแคลนในประเทศ หรือรับซื้อผลผลิตเวลาที่ราคาตกต่ำ ดังนั้น หากรัฐบาลอ้างว่ามีสัญญาข้าวจีทูจีจริง ก็ควรมีเอกสารจากคอปโก้มายืนยันด้วย
เช่นเดียวกัน อย่างกรณีของสัญญาข้าวจีทูจีกับรัฐบาลฟิลิปปินส์ ประเทศไทยก็จะเซ็นกับหน่วยงานที่เรียกว่า “เอ็นเอฟเอ” โดยเอ็นเอฟเอจะเป็นผู้เปิดประมูล เชิญชวนประเทศต่างๆ มาแข่งกันเสนอราคา ใครให้ราคาต่ำที่สุดก็จะได้ออเดอร์จีทูจีลอตนั้นไป หรือของอินโดนีเซียที่รู้จักกันในชื่อ “บูลอค” และอิหร่านก็เคยทำสัญญาจีทูจีกับไทยในอดีต โดยอาศัยบรรษัทรัฐวิสาหกิจเป็นผู้จัดซื้อ โดยมีคู่สัญญาก็คือกรมการค้าต่างประเทศของไทย เป็นต้น
“การทำสัญญาจีทูจีจะต้องนำเข้าโดยรัฐบาลเท่านั้น แต่ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ไม่เคยแสดงเอกสารฉบับนี้ให้สังคมรับรู้รับทราบ จึงมั่นใจว่าในปีที่ผ่านมารัฐบาลจีนไม่เคยทำสัญญาซื้อข้าวจีทูจีลอตใหญ่จากไทย”
เมื่อเร็วๆนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังมีความพยายามบีบบังคับให้จีนเซ็นบันทึกความเข้าใจหรือ“เอ็มโอยู” เรื่องการซื้อข้าว 5 ล้านตัน จากประเทศไทย หลังจากโดนตรวจสอบได้ว่าอาจมีการนำข้าวออกจาก “โกดังรับจำนำ” ในราคาถูก แล้วอ้างว่าทำสัญญาขายข้าวจีทูจีเพื่อให้บริษัท สยามอินดิก้า นำไปขายต่อหรือเวียนเทียนเข้าโครงการจำนำ แต่ปรากฎว่ารัฐบาลจีน “ไม่เล่นด้วย” ขอให้มีการเขียนเอ็มโอยูใหม่ว่า เป็นบันทึกความร่วมมือการค้าข้าวทวิภาคีระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ไม่มีคำว่าจีทูจี และตัวเลขที่กระทรวงพาณิชย์ไทยต้องการให้ระบุในเอ็มโอยูถึง 5 ล้านตัน ถูกตัดออกเพราะเกินกว่าโควตาที่จีนเปิดให้นำเข้าจากทุกประเทศ
ดังนั้น เอ็มโอยูที่นายกรัฐมนตรี เหวิน เจียเป่า ซึ่งเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน พ.ย. 2555 เป็นสักขีพยานในการลงนาม ในข้อ 3 จะระบุไว้กว้างๆ ว่า ทั้งสองฝ่ายจะสนับสนุนหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและบริษัททุกรูปแบบในการสนับสนุนการค้าข้าวให้เพิ่มมากขึ้น “เท่าที่จะเป็นไปได้” บนพื้นฐานของกฎเกณฑ์การตลาด ตรงนี้ถือเป็นการหลีกเลี่ยงการใช้คำว่าจีทูจีและเปิดทางให้มีการซื้อขายกันในภาคธุรกิจมากกว่าการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลจีนทันเกม และถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องการนำเข้าข้าวจากไทยไปทำลายตลาดที่อ่อนไหวในประเทศ
“สิ่งที่รัฐบาลไทยบอกว่าจีนจะนำเข้าข้าวแบบจีทูจี 5 ล้านตัน จึงไม่เป็นความจริงแม้แต่น้อย เพราะจีนใช้ระบบโควตาภาษีของดับบลิวทีโอเป็นเครื่่องมือปกป้องเกษตรกรไม่ให้กระทบกระเทือนจากสินค้าที่มาจากต่างประเทศ เป็นโควตาข้าวที่ค่อนข้างเข้มงวด พยายามนำเข้าให้น้อยที่สุด ถ้าเมื่อไหร่ที่ไม่ต้องการนำเข้า จีนก็จะอ้างว่ามอบให้เอกชนเป็นผู้นำเข้าหลัก และจะไม่เปิดให้นำเข้าจนเต็มโควตา” แหล่งข่าวระบุ
ขณะนี้ ปัญหาการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการข้าวจีทูจีกับจีนกำลังถูกสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบข้อเท็จจริงอยู่ว่า มีการซิกแซกขั้นตอนการขายข้าวและมีการทำสัญญาจีทูจีแบบ “กำมะลอ” เพื่อขายให้แก่เอกชนหรือไม่ ใครเป็นผู้บงการ และสุดท้าย เงินก้อนใหญ่นี้เข้ากระเป๋าใคร?(อ่านตอนที่6)
เรื่องข้าวของ “จีน”
หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า จีนไม่ใช่ประเทศ “ผู้นำเข้า” ข้าวรายใหญ่ของโลก แต่กลับเป็นประเทศที่ “ผลิตข้าว” ได้มากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก โดยในแต่ละปี จีนปลูกข้าวได้ถึง 200 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้นจากในอดีตที่เคยอยู่ประมาณ 180-190 ล้านตัน สำหรับปีนี้คาดว่าผลผลิตข้าวของจีนจะพุ่งทะลุ 204 ล้านตัน สาเหตุก็เนื่องจากช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลจีนเอาจริงกับเทคโนโลยีปรับปรุงสายพันธุ์และปริมาณผลผลิตต่อไร่ ทำให้ได้ข้าวคุณภาพดีขึ้นเพียงพอต่อความต้องการในประเทศ
ผลผลิตข้าวของจีน แบ่งออกเป็นสองประเภท คือ ข้าว “จาปอนิก้า” หรือข้าวเมล็ดสั้น ประมาณ 1 ใน 4 ของปริมาณการผลิตทั้งประเทศ อีกสายพันธุ์ก็คือ ข้าว “อินดิก้า” หรือข้าวเมล็ดยาว สัดส่วนของการผลิต 3 ใน 4
แหล่งผลิตข้าวของจีนจะอยู่บริเวณฝั่งแม่น้ำหลัก 3 สาย ไหลพาดผ่านแดนมังกรจากตะวันออกไปตะวันตก ครอบคลุมตั้งแต่บริเวณภาคเหนือจรดใต้ ได้แก่ แม่น้ำหวงโห ตอนเหนือ มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาคุนหลุนความยาว 5,400 กิโลเมตร มาลงทะเลที่อ่าวโป๋วไห่ที่มณฑลซางตง, แม่น้ำแยงซีเกียง มีต้นกำเนิดอยู่ที่ธิเบตกับเทือกเขาคุนหลุนมาลงทะเลที่เมืองตั้งไห่ ความยาว 6300 กิโลเมตร และ แม่น้ำเจียงซู จากยูนาน ไปลงทะเลที่กวางโจว ความยาว 2,400 กิโลเมตร
ข้าวเมล็ดสั้นของจีนส่วนใหญ่ มีถิ่นที่ปลูกอยู่ทางภาคอีสาน ในเมืองเหลียวหนิง และทางใต้ที่เมือง อันฮุย เจียงจู เซ่อเจียง แถวๆ เซี่ยงไฮ้ ซึ่งแต่เดิมพื้นที่ทางด้านใต้ของจีนเคยเป็นแหล่งปลูกข้าวเมล็ดยาว แต่เนื่องจากรัฐบาลจีนมีการวิจัยพบว่าสภาพอากาศเหมาะกับการปลูกข้าวเมล็ดสั้นได้ดีกว่า จึงส่งเสริมให้ปลูกข้าวเมล็ดสั้นที่ถือเป็นข้าวคุณภาพดี ราคาสูง แข่งขันกับข้าวหอมมะลิได้มาก เพราะกลิ่นหอมเหมือนกันและเวลาหุงเสร็จแล้วจะดูน่ารับประทาน
ด้านข้าวเมล็ดยาว ส่วนใหญ่อยู่แถบแม่น้ำแยงซีเกียง แถวเมืองหูหนาน เป็นข้าวประเภทไฮบริดหรือพันธุ์ผสม การคิดค้นใหม่ๆ ทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ประมาณ 1,200 กิโลกรัมต่อไร่ เทียบกับผลผลิตของประเทศไทยประมาณ 400-500 กิโลกรัมต่อไร่ ต่างกันมากกว่า 2 เท่า ขณะที่เมืองเจียงซี ปลูกข้าวเมล็ดสั้นมากเป็นอันดับสอง เช่นเดียวกับเมืองซื่อชวน หรือเสฉวนที่คนไทยรู้จัก ก็เป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญไม่แพ้กัน
หลังจากจีนเปิดประเทศ คนจีนรุ่นใหม่มีรายได้สูงขึ้น ก็นิยมรับประทานข้าวหอมมะลิและข้าวเมล็ดสั้นมากขึ้น โดยมีการสั่งซื้อข้าวหอมมะลิจากประเทศไทย แต่ภายหลังช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีพ่อค้าหัวใสเห็นว่าราคาข้าวหอมมะลิแพงจึงนำข้าวหอมพันธุ์อื่นๆ เข้ามาขาย เช่น ข้าวหอมปทุม หรือข้าวหอมของจังหวัดต่างๆ มาขาย แต่คุณภาพก็สู้ข้าวหอมมะลิไม่ได้ รวมทั้งมีการปลอมปนข้าวหอมมะลิแท้กับข้าวประเภทอื่นๆ ทำให้แบรนด์ข้าวหอมมะลิของไทยเสื่อมความนิยมลงไป
ประกอบกับรัฐบาลจีนให้การดูแลชาวนาที่ปลูกข้าวอย่างดี โดยมีการกำหนดราคารับประกันขั้นต่ำเช่นเดียวกับนโยบายที่ประเทศไทยเคยทำ จึงไม่ต้องการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศเพราะเกรงปัญหาทางการเมืองภายใน แต่หากจำเป็นต้องนำเข้าก็จะดำเนินการซื้อเท่าที่จำเป็นและซื้อในราคาที่ไม่สูงกว่าราคารับประกันภายในประเทศ เมื่อประเทศไทยมีโครงการรับจำนำข้าว ยิ่งทำให้ข้าวหอมมะลิไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่ง สุดท้ายจีนจึงเลือกซื้อข้าวหอมมะลิจากกัมพูชาและเวียดนามในภายหลัง