ThaiPublica > เกาะกระแส > อ่านสัญญาณ”กนง.” คงดอกเบี้ย 3% เก็บกระสุนไว้ใช้ยามจำเป็น

อ่านสัญญาณ”กนง.” คงดอกเบี้ย 3% เก็บกระสุนไว้ใช้ยามจำเป็น

14 มิถุนายน 2012


ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 13 มิถุนายน 2555 คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3% ต่อปี เป็นตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์

โดยสาระสำคัญของการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งระบุในการแถลงผลการประชุม กนง. คือ

“คณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในขณะนี้มีความเสี่ยงด้านการขยายตัวมากกว่าความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ โดยปัจจัยเสี่ยงหลักคือเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีความไม่แน่นอนสูงอันเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจในยุโรป คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนปรนต่อไป เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้มั่นคงและรองรับความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก และมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 3 ต่อปี โดยจะติดตาพัฒนาการของเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะปรับนโยบายการเงินตามสถานการณที่เปลี่ยนแปลงไป”

หากสังเกตให้ดีจะพบว่า สาระสำคัญ หรือ key massage ที่ กนง. ต้องการส่งสัญญาณให้ตลาดการเงินรับทราบคือ ข้อความสุดท้ายที่ระบุว่า “พร้อมที่จะปรับนโยบายการเงินตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป” เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า คณะกรรมการฯ เปิดช่องเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยอย่างเห็นได้ชัด

แสดงให้เห็นว่า กนง. พร้อมจะปรับลดดอกเบี้ยได้ตลอดเวลาหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปในทางเลวร้ายลงกว่าที่คาด หรือกรณีเกิดสถานการณ์วิกฤตฉุกเฉินก็สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ทันที ซึ่งในอดีต กนง. ก็เคยเรียกประชุมฉุกเฉิน ก่อนกำหนดการที่วางไว้ เพื่อพิจารณาตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยทันทีในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ทั้งนี้การประชุม กนง. ครั้งต่อไปกำหนดไว้วันที่ 25 กรกฎาคม 2555

แต่ภายใต้ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มมากขึ้นจากปัญหาในกลุ่มประเทศยูโรที่ไม่น่าไว้วางใจ โดยธนาคารโลกถึงกับออกข่าวเผยแพร่เรียกร้องให้ประเทศกำลังพัฒนาสร้างความเข้มแข็งให้กับพื้นฐานเศรษฐกิจในประเทศเพื่อให้รอดพ้นจากวิกฤติของเศรษฐกิจโลก การตัดสินใจของคณะกรรมการฯ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ มีคำถามว่า ผ่อนปรนเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกหรือไม่ และอาจเป็นการตัดสินใจที่ล่าช้าไปหรือไม่ท่ามกลางความเสี่ยงสูง เพราะแม้แต่ธนาคารโลกยังออกมาเตือนให้รับมือวิกฤตครั้งนี้

ทั้งนี้ ข่าวที่ธนาคารโลกเผยแพร่ ตอนหนึ่งระบุว่า ในกรณีเลวร้าย หากสถานการณ์ในยุโรปทวีความรุนแรงขึ้น สถานการณ์ของประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับผลกระทบตามไปด้วย ทั้งนี้ ประเทศกำลังพัฒนาในยุโรปและเอเชียกลางมีความเปราะบางเป็นพิเศษเนื่องจากมีการค้าระหว่างประเทศและการเงินที่ผูกติดกับประเทศที่มีรายได้สูงในทวีปยุโรปเป็นส่วนใหญ่ และประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกก็ต้องรับผลที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่พึ่งพารายได้จากการส่งเงินกลับประเทศ การท่องเที่ยว การส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ หรือประเทศที่มีหนี้ระยะสั้นเป็นจำนวนมาก

“ประเทศกำลังพัฒนาจำเป็นต้องเลือกใช้นโยบายเพื่อลดความเสี่ยงลงโดยการปรับลดหนี้ระยะสั้น อาทิ การลดการขาดดุลของงบประมาณ และกลับมาใช้นโยบายการเงินที่เป็นกลางมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ประเทศมีช่องว่างในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบผ่อนคลายได้ หากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเลวร้ายลงมาก” นายแอนดรูว์ เบิร์นส์ ผู้จัดการของแผนกเศรษฐศาสตร์มหภาค และผู้เขียนหลักของรายงานฉบับนี้ ( รายละเอียด ข่าวประชาสัมพันธ์ ของธนาคารโลก )

ด้าน นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) ในฐานะเลขาธิการ กนง. ตอบคำถามเรื่องการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยครั้งนี้ว่าผ่อนปรนเพียงพอหรือไม่ และอาจล่าช้าไปหรือไม่ว่า คณะกรรมการฯ เห็นว่าการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนปรนขณะนี้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ และการเงินของประเทศ

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ มองว่า เศรษฐกิจโลก และปัญหายุโรปเป็นความเสี่ยงที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจ และคณะกรรมการฯ มีความห่วงใย ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด เนื่องจากมองว่าปัญหายุโรปอาจไม่สามารถดูแลให้อยู่ในวงจำกัดได้ โดยอาจขยายวงกว้างและมีความรนแรงมากขึ้น เพราะฉะนั้นจะกระทบเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงการส่งออกของไทย

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท.
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท.

“แต่ในการดำเนินนโยบายการเงิน เราไม่สามารถดำเนินนโยบายการเงินในสถานการณ์เลวร้ายที่สุด แต่ดำเนินนโยบายการเงินในสถานการณ์ที่จะเป็นไปได้มากที่สุด” นายไพบูลย์กล่าว

ทั้งนี้ ธปท. ประเมินว่าเศรษฐกิจยุโรปจะหดตัวมากกว่าที่คาดการไว้จากเดิมหดตัว 0.5% เป็นหดตัว 0.7% และปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจจีน และเศรษฐกิจอเมริกาลงด้วยเช่นกัน

นายไพบูลย์กล่าวอีกว่า ขณะนี้ธปท. สบายใจระดับหนึ่งเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่ทุเลาลง และทั้งปีมั่นใจว่าเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในกรอบเป้าหมายที่กำหนดไว้ ( กรอบเป้าหมายเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.5-3%) เพราะฉะนั้น การดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวดจะไม่มีความจำเป็น และความสามารถในการรองรับกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น กนง. เห็นว่าเราควรจะ “สงวนกระสุน” ไว้ในยามจำเป็น

แต่ ณ จุดใดที่เรียกว่า “จำเป็น” ต้องใช้กระสุนทีมีอยู่ มีคำอธิบายจากแหล่งข่าว 1 ใน 7 ของ กนง. อธิบายว่า แต่ละจังหวะเวลาในการดำเนินนโยบายทุกอย่างมีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการเงิน การคลัง หรือแม้แต่การออกกฎหมาย เป็นต้น เพราะแต่ละจังหวะเวลาในการดำเนินนโยบายจะมีผลต่างกัน แต่จังหวะเวลาที่เหมาะสม คือต้องดำเนินนโยบายแล้วได้ผลหรือมีประสิทธิภาพมากที่สุด

“สถานการณ์ปัจจุบันแม้ปัจจัยเสี่ยงในต่างประเทศมีมากขึ้นและมองไปข้างหน้ายังไม่น่าวางใจ แต่เศรษฐกิจในประเทศยังเติบโตแข็งแกร่ง ดังนั้นหากใช้นโยบายดอกเบี้ยตอนนี้อาจสิ้นเปลืองกระสุนโดยไม่จำเป็น แต่ถ้าเหตุการณ์ในกรีซ ซึ่งจะมีการเลือกตั้งวันที่ 17 มิถุนายนนี้ หากพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งเป็นฝ่ายไม่ต้องรัดเข็มขัด สถานการณ์ตอนนี้หากกรีซไม่มีหนทางแก้ไขปัญหาแล้ว จะลดดอกเบี้ยตอนนั้นก็ยังไม่สาย” แหล่งข่าว กนง. กล่าว

ปัญหาวิกฤตหนี้ในกรีซที่เริ่มลุกลามไปสเปน และกำลังจะบานปลายมาถึงอิตาลี สร้างความกังวลว่า อาจขยายวงกว้างไปถึงฝรั่งเศส และประเทศอื่นๆ จนกลายเป็นลูกโซ่ หรือ “โดมิโน” เนื่องจากประชาชน และนักลงทุนเริ่มไม่เชื่อมั่นในการแก้ปัญหาของยุโรป

ในกรณีเกิดเป็น หากเกิดขึ้นจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกรุนแรง และย่อมส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยด้วย แต่ที่น่ากังวลมากกว่าการส่งออกคือ ผลกระทบต่อตลาดการเงิน ต่อการเคลื่อนเงินทุน

“ในภาวะความไม่แน่นอนสูง การดำเนินนโยบายการเงินต้องมีความยืดหยุ่นพอสมควร และต้องใช้ในจังหวะที่เหมาะสม ไม่อย่างนั้นถ้าเกิดเหตุฉุกเฉิน จะไม่มีกระสุนไว้ใช้ยามจำเป็น” แหล่งข่าว กนง. กล่าว

ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินมาตรการรองรับวิกฤตยุโรปในครั้งนี้ และเพื่อให้กระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพ ทางธปท. มีการจัดให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กับ คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ประชุมร่วมกัน เพื่อเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ของแต่ละคณะกรรมการ ซึ่งจะทำให้ประเมินสถานการณ์ได้มีความสมบูรณ์ และบูรณาการสามารถมีมาตรการได้ทันทวงที โดยเครื่องมือที่ใช้จะมีการผสมผสานทั้งด้านนโยบายสถาบันการเงิน และนโยบายการเงินเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและเสถียรภาพระบบการเงิน

“คณะกรรมการทั้ง 2 คณะจะเสนอผลการวิเคราะห์ความเสี่ยงเชิงระบบว่า ระบบการเงินมีจุดเสี่ยงตรงไหน และประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นมีอะไรบ้าง และจุดไหนต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และถ้าเป็นไปได้ก็จะเสนอแนะมาตรการรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้” นายไพบูลย์กล่าว

ทั้งนี้การดำเนินนโยบายการเงินของธปท. ต้องใช้ทั้ง “ศาสตร์” และ “ศิลป” ยิ่งในภาวะความไม่แน่นอนสูงเช่นนี้ การใช้นโยบายแต่ละครั้ง หรือการจะยิ่งกระสุนแต่นัดต้องมีความหมาย ได้ผลสัมกฤทธิ์ตรงเป้าหมายเท่านั้น