ThaiPublica > สัมมนาเด่น > แนวทางหนีกับดักรายได้ปานกลาง กับการปฏิรูปภาคบริการไทย โดย TDRI

แนวทางหนีกับดักรายได้ปานกลาง กับการปฏิรูปภาคบริการไทย โดย TDRI

31 มกราคม 2013


ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ - ภาพจาก waymagazine
ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์–ภาพจาก: waymagazine

ในการประชุมสัมมนาการมอบยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ และชี้แจงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2555 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนประเทศ ในปี 2557 และรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558

โดยยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศประกอบไปด้วยแนวทาง 4 ข้อ คือ 1. ยุทธศาสตร์การสร้างความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจากการเป็นประเทศรายได้น้อย สู่การเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางและมีรายได้มากขึ้นต่อไป 2. ยุทธศาสตร์ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสความเสมอภาค และความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม 3. ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับสิ่งแวดล้อม และ 4. ยุทธศาสตร์การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ข้อแรก ที่รัฐบาลจะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ด้วยการสร้างความสามารถในการแข่งขัน หลังจากที่มีความพยายามมาอย่างต่อเนื่องโดยรัฐบาลหลายชุด แต่จนถึงทุกวันนี้ ประเทศไทยก็ยังไม่สามารถหลุดพ้นกับดักนี้ไปได้

ในการเสวนาสาธารณะเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2555 โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ เรื่อง “แนวทางหนีกับดักรายได้ปานกลาง กับการปฏิรูปภาคบริการไทย” ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ จึงได้เสนอแนวทางให้ปฏิรูปภาคบริการไทย เพื่อให้ประเทศสามารถหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

โดยในการสัมมนา หลังจากที่มีการนำเสนอประเด็นเรื่องหนี้สาธารณะและค่าแรงขั้นต่ำแล้ว ดร.เดือนเด่นได้พูดถึงแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยว่า ประเทศไทยจะไม่สามารถหลุดพ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางได้ หากไม่มีการปฏิรูปสาขาบริการ

3.-TDRI-Public-Seminar-25.1.13_Page_05

เพราะที่ผ่านมา แนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย มักมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาภาคการผลิตโดยละเลยภาคบริการ ทั้งที่ความเป็นจริง ภาคบริการถือว่ามีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยมาก เนื่องจากมีสัดส่วนคิดเป็นครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และมีจำนวนแรงงานกว่าร้อยละ 45 ของประเทศที่อยู่ในภาคบริการ

ดังนั้น การจะพัฒนาเศรษฐกิจให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ภาคบริการของไทยจึงจำเป็นต้องมีการพัฒนา โดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภาพ เพราะที่ผ่านมา ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ มุ่งเน้นไปที่ภาคการผลิตหรือภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก จนละเลยภาคบริการ ทำให้ไม่เกิดการพัฒนาเท่าที่ควร ผลิตภาพแรงงานในภาคบริการจึงต่ำมากเมื่อเทียบกับผลิตภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรม

จากการวิเคราะห์ผลกระทบเศรษฐกิจ จากนโยบายปรับขึ้นอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท ของทีดีอาร์ไอ แสดงให้เห็นว่า การขึ้นอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำจะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจ ไม่ทำให้อัตราการขยายตัวของ GDP ติดลบ หากผลิตภาพแรงงานไทยสามารถเพิ่มขึ้นได้ร้อยละ 8.4 ซึ่งใกล้เคียงกับผลการวิเคราะห์โดย ธปท. ที่ระบุว่า การขึ้นอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำจะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจเช่นกัน หากผลิตภาพแรงงานไทยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4 เป็นร้อยละ 8 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นเท่าตัว

3.-TDRI-Public-Seminar-25.1.13_Page_07

แต่ปัญหาคือ การจะเพิ่มผลิตภาพแรงงานในภาคบริการแบบก้าวกระโดดนั้น จะสามารถทำได้อย่างไร เพราะที่ผ่านมา ผลิตภาพแรงงานในภาคบริการของไทยต่ำมากแทบจะทุกสาขาในภาคบริการ โดยเฉาะสาขาขายส่ง ขายปลีก สาขาบริหารราชการ สาขาการศึกษา และสาขาบริการรับใช้ภายในบ้าน ที่ผลิตภาพต่ำถึงขนาดติดลบ จนทำให้ภาคบริการกลายเป็นตัวถ่วงการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทย

โดยเบื้องต้น ดร.เดือนเด่นสรุปว่า สาเหตุที่ภาคบริการมีผลิตภาพแรงงานต่ำ และมีการขยายตัวช้ากว่าภาคการผลิต เพราะภาคบริการปิดกั้นเงินทุนและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ อันเป็นผลมาจาก พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ที่จำกัดหุ้นส่วนต่างชาติที่ร้อยละ 49 และกฎ กติกา การกำกับดูแลในบางสาขาบริการไม่เอื้อต่อการแข่งขัน ทำให้เกิดการผูกขาด

การมีภาคบริการที่ล้าหลัง ส่งผลให้แรงงานในภาคบริการกว่าล้านคนมีรายได้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เพราะธุรกิจทำรายได้น้อย จึงไม่สามารถจ่ายเงินเดือนที่สูงให้พนักงานได้ และผลิตภาพที่ต่ำทำให้ต้นทุนของภาคบริการสูงเกินควร หรือคุณภาพต่ำเกินควร เกิดการบั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิต เนื่องจากภาคการผลิตยังคงต้องได้รับการสนับสนุนจากภาคบริการ

แม้ในปัจจุบัน ภูมิภาคอาเซียนจะมีโอกาสที่ดี มีเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้าสู่ภูมิภาค จากการประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ แต่ประเทศไทยกลับไม่ได้รับประโยชน์จากโอกาสที่กำลังเติบโตเท่าใดนัก

3.-TDRI-Public-Seminar-25.1.13_Page_06

เมื่อพิจารณาจากส่วนแบ่ง FDI ของประเทศไทย เปรียบเทียบกับ FDI ทั้งหมดที่ไหลเข้าสู่ภูมิภาคอาเซียน พบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค มีส่วนแบ่ง GDP ในอาเซียน 19% แต่กลับได้รับส่วนแบ่ง FDI ในภูมิภาคเพียง 13% เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศสิงคโปร์ ที่มีส่วนแบ่ง GDP เพียง 9% แต่กลับได้รับส่วนแบ่งจาก FDI ของภูมิภาคนี้สูงที่สุดถึง 42%

สาเหตุสำคัญที่ทำให้การลงทุนตรงในภูมิภาคไหลเข้าสู่ประเทศสิงคโปร์มากกว่าไทย ดร.เดือนเด่นได้ตั้งข้อสังเกตว่า เพราะแนวโน้มการเคลื่อนย้ายเงินลงทุน ที่การลงทุนในอาเซียนมีแนวโน้มจะมุ่งไปสู่ภาคบริการมากขึ้น แต่ประเทศไทยปิดกั้นการลงทุนของคนต่างด้าว ทำให้เงินทุนจากต่างประเทศไหลไปประเทศอาเซียนอื่นๆ โดยเฉพาะสิงคโปร์ ที่เปิดเสรีภาคบริการมากที่สุด ดังนั้น ในอนาคต เมื่อมีการเปิดเสรีการลงทุนระหว่างประเทศอาเซียน ประเทศไทยจะกลายเป็นเพียงแหล่งรับเงินทุนมือสองผ่านสิงคโปร์เท่านั้น

3.-TDRI-Public-Seminar-25.1.13_Page_13

ดังนั้น ในส่วนข้อเสนอแนะในการเพิ่มประสิทธิภาพของภาคบริการไทย ดร.เดือนเด่นจึงเสนอว่าประเทศไทยต้องทำการปรับปรุงใน 3 ประเด็น คือ 1. เปิดเสรีภาคบริการ 2. ปฏิรูปกฎ กติกา ในการกำกับดูแล และ 3. ปรับปรุงกฎระเบียบว่าด้วยการลงทุนจากต่างประเทศ

สำหรับการเปิดเสรีภาคบริการ จะทำให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีมากขึ้น แต่การเปิดเสรี ดร.เดือนเด่นได้เน้นว่าเราไม่จำเป็นต้องเปิดเสรีทุกสาขา โดยประเทศไทยควรมี Roadmap ในการเปิดเสรีแต่ละภาค และให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 เพื่อกำหนดสาขาบริการที่ให้การคุ้มครองบนพื้นฐานของผลประโยชน์เศรษฐกิจส่วนรวม มิใช่ของผู้ประกอบการธุรกิจนั้นๆ

โดยสาขาบริการที่ควรจะเปิดเสรีควรเป็นบริการที่สนับสนุนภาคธุรกิจ เช่น การเงิน ประกันภัย ขนส่ง สื่อสาร และพลังงาน โดยเฉพาะสาขาพลังงาน ที่มีลักษณะผูกขาดหรือกึ่งผูกขาด โดยมีผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดไม่กี่ราย

3.-TDRI-Public-Seminar-25.1.13_Page_14

และแม้ว่าจะมีการเปิดเสรีแล้ว แต่การลงทุนจากต่างชาติก็อาจไม่สามารถเข้ามาได้อย่างเต็มที่ เพราะมีกฎ กติกา บางอย่างที่เป็นอุปสรรค จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปกฎ กติกา ในการกำกับดูแลด้วย เช่น ในสาขาโทรคมนาคม ที่ยังไม่มีกติกาให้ผู้ประกอบการรายใหม่และผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเชื่อมต่อหรือเช่าใช้โครงข่ายคมนาคมได้อย่างเป็นธรรม ผู้ประกอบการรายใหม่จึงไม่กล้าเข้ามาลงทุนในตลาด หรือสาขาพลังงาน ที่ผู้ประกอบการรายอื่นยังไม่สามารถใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายท่อก๊าซของ ปตท. และสายส่งไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ. ได้อย่างเป็นธรรม

และข้อเสนอสุดท้าย คือ การปรับปรุงกฎระเบียบว่าด้วยการลงทุนจากต่างประเทศ ที่ยังมีกฎระเบียบไม่จูงใจการลงทุนจากต่างประเทศ เช่น ข้อกำหนดจ้างงานคนไทย 4 คน ต่อคนต่างด้าว 1 คน และข้อจำกัดเกี่ยวกับการจ้างงานวิชาชีพที่เป็นคนต่างด้าว ขณะที่นโยบายส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ที่ให้สิทธิประโยชน์แก่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ ก็ควรจะเปลี่ยนนโยบายมาสนับสนุนภาคบริการ โดยเฉพาะบริการที่สนับสนุนภาคธุรกิจ และบริการที่มีมูลค่าเพิ่มในประเทศสูง

ซึ่งหากประเทศไทยสามารถปฏิรูปภาคบริการได้ด้วยการเปิดรับเงินลงทุนจากต่างประเทศ และสลายการผูกขาดในประเทศได้ จะทำให้ทุนและเทคโนโลยีไหลเข้าสู่ภาคบริการมากขึ้น ผลิตภาพ และค่าจ้างแรงงานในภาคบริการก็จะเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ประสิทธิภาพธุรกิจบริการไทยสูงขึ้นตามไปด้วย สุดท้าย ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยโดยรวมก็จะสูงขึ้นตามลำดับ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้ในที่สุด