ThaiPublica > เกาะกระแส > ผอ.สถาบันIPPD ชี้ ความสุขคนไทยเปราะบางกว่าเศรษฐกิจ ช่วงโควิดจีดีพีลบ 12.2% – ความสุขดิ่ง 21%

ผอ.สถาบันIPPD ชี้ ความสุขคนไทยเปราะบางกว่าเศรษฐกิจ ช่วงโควิดจีดีพีลบ 12.2% – ความสุขดิ่ง 21%

29 กันยายน 2020


ดร.นพ.สรภพ เกียรติพงษ์สาร ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา (IPPD)

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2563 สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา (IPPD) จับมือภาคีเครือข่าย จัดงานประชุมวิชาการประจำปี 2563 หัวข้อ “Thailand 2020s and Beyond: Building a Better Society Together” เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาด้านนโยบายสาธารณะและการพัฒนาของประชาชน

ดร.นพ.สรภพ เกียรติพงษ์สาร ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนาเปิดเผยว่า นับตั้งแต่ที่ IPPD ก่อตั้งเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561 ได้ดำเนินงานด้านวิชาการและงานวิจัยด้านนโยบายสาธารณะและการพัฒนาร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีโครงการวิจัยที่สำคัญ ได้แก่

(1) โครงการวิจัย Beyond Growth เปิดมุมมองใหม่ต่อเป้าหมายของการพัฒนาจากที่เน้นตัวชี้วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งให้คนเป็นศูนย์กลางและเป้าหมายของการพัฒนา เพื่อเข้าใจ “สมการความสุข”

(2) โครงการวิจัยเรื่องนโยบายและมาตรการจัดการบรรจุภัณฑ์พลาสติก เพื่อนำเสนอทางเลือกการแก้ไขปัญหาถุงพลาสติกที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน และรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง

ดร.นพ.สรภพ เปิดประเด็นเรื่อง “กับดักความสุขปานกลาง” โดยอ้างอิงข้อมูลจาก World Happiness Report 2020 ว่าตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 คนไทยมีความสุขเป็นลำดับที่ 54 จาก 145 ประเทศ และอันดับความสุขของคนไทยยังคงทรงตัวต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี สะท้อนว่าคนไทยไม่ได้มีความสุขสุดๆ ขณะเดียวกันคนไทยก็ไม่ได้มีความเศร้าเกินไป กลายเป็นภาวะ ‘กับดัก’

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาเรื่องสมการความสุขเป็นหนึ่งในโครงการวิจัยของ IPPD ที่ชื่อ Beyond Growth

จากงานศึกษาข้างต้นทำให้ IPPD ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจความสุขของคนไทยจากประชากรตัวอย่าง 46,600 คนทั่วประเทศ ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่าง โดยดร.นพ.สรภพ บอกว่าวิธีการเลือกประชากรตัวอย่างเป็นวิธีที่สามารถสะท้อนภาพของคนไทยทั้งประเทศได้

“ความสุขคืออะไร มีองค์ประกอบอะไรบ้าง สิ่งที่เราสนใจศึกษาต่อคือ ‘สมการความสุข’ ของคนไทยในแต่ละพื้นที่แต่ละกลุ่มวัยกลุ่มต่างๆ เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร” ดร.นพ.สรภพกล่าว

ผลสำรวจพบว่ามี 4 ปัจจัยหลักที่กำหนดความสุขของคนไทย ได้แก่ การเงิน สุขภาพ ครอบครัว และความมั่นคง โดยประชากรแต่ละพื้นที่ให้น้ำหนักกับตัวแปรไม่เท่ากัน เช่น คนกรุงเทพให้ความสำคัญกับการเงินและสุขภาพ คนเชียงใหม่ให้ความสำคัญกับครอบครัวและการเงิน คนขอนแก่นให้ความสำคัญกับการเงิน ความมั่นคงและสุขภาพ ตามลำดับ คนภูเก็ตให้ความสำคัญกับการเงินเป็นอันดับแรก ตามด้วยความมั่นคงและสุขภาพ

เมื่อได้ตัวแปร “ความสุข” แล้วจึงนำไปเปรียบเทียบกับตัวแปร “GDP”

ดร.นพ.สรภพ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจกับความสุขไม่ได้ไปในทางเดียวกัน โดยช่วง 10 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2010-2019 GDP เพิ่มขึ้น 32.7% แต่ความสุขลดลง 3.2% ต่อมาได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจกับความสุขในช่วงวิกฤตโควิด-19 พบว่า GDP ของประเทศไทยลดลง 12.2% ส่วนความสุขลดลงถึง 21% และสรุปว่า

“ความสุขของคนไทยเปราะบางกว่าเศรษฐกิจ”

ดร.นพ.สรภพ อธิบายต่อว่า ในช่วงโควิด-19 คนไทยได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจสูง โดยพบว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศกว่า 60% มีรายได้ลดลง และมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 2-25%

นอกจากนี้ IPPD ยังได้สำรวจ “ความหวัง” ของคนไทยตั้งแต่เดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2563 โดยสอบถามว่า “ในอีก 5 ปีข้างหน้าคิดว่าอนาคตจะสดใสหรือไม่” ผลที่ได้คือ 11.4% ให้คำตอบว่ามีอนาคตที่แย่ลง แต่อีก 23.9% ตอบว่าจะมีอนาคตที่ดีกว่าเดิม ทั้งนี้ประชากรในแต่ละจังหวัดก็มีความหวังไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับบริบทพื้นที่

ขณะที่ข้อมูลจาก Gallup World Poll รายงานว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหวังเป็นลำดับที่ 90 จาก 145 ประเทศ

ดร.นพ.สรภพกล่าวอีกว่า นอกจากกับดักรายได้ปานกลางในมิติเศรษฐกิจแล้ว คนไทยยังติดกับดักความสุขปานกลางเนื่องจากปัจจัยต่างๆ ส่งผลให้คนไทยมองความหวังน้อยลงด้วย

ดร.นพ.สรภพกล่าวว่า นโยบายสาธารณะและการพัฒนาจะทำให้สังคมและประเทศดีขึ้นได้ หากเป็นนโยบายที่ให้ความสำคัญกับ ‘อนาคต’ โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางและเป้าหมายในการพัฒนา เป็นนโยบายที่ถูกออกแบบด้วยข้อมูลและหลักฐานที่หนักแน่น รวมถึงการใช้เครื่องมือใหม่ๆ และการรับฟังเสียงใหม่ๆ