ThaiPublica > เกาะกระแส > กนง.คงดอกเบี้ย 2.75 % เอื้่อเศรษฐกิจ จับตาสินเชื่อผู้มีรายได้น้อยผิดชำระมากขึ้น

กนง.คงดอกเบี้ย 2.75 % เอื้่อเศรษฐกิจ จับตาสินเชื่อผู้มีรายได้น้อยผิดชำระมากขึ้น

28 พฤศจิกายน 2012


ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธปท.
ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธปท.

กนง.มีเสียงเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.75% หลังประเมินเศรษฐกิจโลกและในประเทศดีขึ้น ลดความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และแรงกดดันเงินเฟ้อยังต่ำ แต่ห่วงสินเชื่ออุปโภคบริโภคผิดชำระหนี้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เล็งใช้มาตรการกำกับเฉพาะจุดหากจำเป็น

ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2555 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.75% ต่อปี เนื่องจากกนง.ประเมินว่าภาวะที่ความเสี่ยงด้านการขยายตัวของทางเศรษฐกิจลดลง และแรงกดดันเงินเฟ้อยังทรงตัวระดับต่ำ

ขณะเดียวกัน กนง. ก็ส่งสัญญาณว่า จะติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด โดยพร้อมจะดำเนินนโยบายที่เหมาะสมตามความจำเป็น

“แม้เศรษฐกิจสัญญาณเศรษฐกิจโลกจะดีขึ้น และความเสี่ยงเงินเฟ้อจะทรงตัว แต่คณะกรรมการกนง.ก็ตระหนักถึงความเสี่ยงในระยะต่อไป” นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ในฐานะเลขานุการ กนง. กล่าว และสรุปเหตุผลหลักที่กนง.มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.75% ว่า มี 4 ปัจจัยที่ชัดเจน

เรื่องแรก ตัวเลขเศรษฐกิจโลกที่ปรากฎมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ และจีนดีขึ้นกว่าที่คาด แสดงถึงการมีเสถียรภาพมากขึ้น และสัญญาณดีขึ้นกว่าการประชุมครั้งก่อน

เรื่องที่สอง เศรษฐกิจไทยดีขึ้นจากตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ประกาศล่าสุด สะท้อนถึงแรงขับเคลื่อนเศรฐกิจมาจากอุปสงค์ในประเทศทั้งการลงทุน และการบริโภคสูงขึ้นชัดเจน และสูงกว่าที่คาดไว้ และตัวเลขเบื้องต้นเศรษฐกิจการเงินเดือนตุลาคม 2555 บ่งชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะอุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวต่อเนื่อง และดีกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ครั้งก่อน

เรื่องที่สาม เท่าที่ติดตามผลกระทบภาคการส่งออกที่ชะลอลงจะกระทบต่อเนื่องการใช้จ่ายในประเทศในวงจำกัด คือกระทบเฉพาะการผลิตเพื่อการส่งออก แต่การผลิตเพื่อขายในประเทศยังขยายตัวดีขึ้น และคาดว่าการส่งออกจะฟื้นตัวกลับมาได้ในครึ่งแรกของปี 2556 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

เรื่องที่สี่ สินเชื่อโดยรวมของระบบธนาครพาณิชย์ยังขยายตัวสูงประมาณ 15% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่กรรมการหลายท่านมีความเป็นห่วงว่าสินเชื่อบางประเภ เช่น สินเชื่ออุปโภคบริโภคที่สูงขึ้น และการผิดนัดชำระหนี้ที่ทยอยเพิ่มขึ้นมาก (ดูรายละเอียดในตารางประกอบ)

ที่มา ธนาคารแห่งประเทศไทย
ที่มา ธนาคารแห่งประเทศไทย

“แนวทางการดูแลสินเชื่อ กนง. พิจารณาว่าการรักษาเสถียรภาพระบการเงิน เราสามารถผสมผสานการดูแล โดยอาจนำมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อ หรือมาตรการ macro prudential มาใช้ โดยเรื่องนี้จะมีการหารือในการประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน กับคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินในเดือนหน้า” นายไพบูลย์กล่าว

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้่ว่าการธปท.มั่นใจว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.75% และอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 3% เพราะฉะนั้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันเป็นระดับที่เอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเอื้อต่อธุรกรรมทางการเงิน

“อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันค่อนข้างสมดุลทั้งด้านราคา การเติบโต และด้านเงินเฟ้อ”ดร.ประสารกล่าว

สำหรับประเด็นสินเชื่ออุปโภคโบริโภค ผู้ว่าการธปท.ระบุว่า สินเชื่อบ้านไม่น่าเป็นห่วง แต่สินเชื่ออื่นๆ ที่ไม่ใช่สินเชื่อบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าผู้มีรายได้น้อย เป็นกลุ่มลูกค้ารายย่อย ประชาชนทั่วไป จะต้องระวังเพราะระดับหนี้เพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง เรื่องนี้ธปท. จะคุยกับผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ในวันที่ 3 ธ.ค. นี้ ว่าอย่าเร่งหรือกระตุ้นการก่อนหนี้อย่างเดียว ต้องให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการเงิน และการออมควบคู่กันไปด้วย

“เมื่อขยายฐานสินเชื่อเอากลุ่มผู้มีรายได้น้อยเข้ามาอยู่ในระบบการเงิน หรือ financial inclusive ก็ต้องให้ความรู้ ความเข้าใจทางการเงิน หรือ financial literacy ควบคู่กัน”ดร.ประสารกล่าว

นอกจากนี้ ผู้ว่าการธปท. มีความเห็นว่า หากจำเป็นต้องออกมาตรการดูแลการขยายตัวของสินเชื่ออุปโภคบริโภค จะไม่ใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือ เพราะการใช้อัตราดอกเบี้ยจะกระทบครอบคลุมในวงกว้าง แต่สินเชื่ออาจมีปัญหาเฉพาะจุด ดังนั้นหากต้องจำเป็นต้องดูแลสินเชื่อที่เพิ่มสูงขึ้น อาจใช้มาตรการกำกับสถาบันการเงิน (macro prudential) ซึ่งดูแลปัญหาเฉพาะจุดได้ แต่จะไม่เข้าไปยุ่งกับมาตรฐานการปล่อยเครดิต เพราะไม่ต้องการไปลงไปยุ่งกับการทำธุรกิจของธนาคารพาณิชย์

“เรื่องมาตรการนี้อย่าเพิ่งไปคิดอะไร ตอนนี้ยังไม่มีอะไรในใจ เป็นเรื่องการทำความคิดให้ชัดเจน”ดร.ประสารกล่าว

หมายเหตุ : บทวิเคราะห์ SCB EICวิเคราะห์-ธปท. คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.75% มองความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลง