กนง. ประเมินเศรษฐกิจมีความเสี่ยงด้านการเติบโตมากกว่าด้านเสถียรภาพ และการเมืองยังเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวในระยะต่อไป จึงมีมติ 4 ต่อ 3 ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2.25% เหลือ 2% ต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี 3 เดือน และประเมินจีดีพีทั้งปีนี้โตต่ำกว่า 3% พร้อมแจงการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโครงการ 2 ล้านล้านขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่กระทบจีดีพี
ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 12 มีนาคม 2557 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 2 ของปีนี้ ปรากฏว่า คณะกรรมการ 4 ต่อ 3 เสียง มีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2.25% เป็น 2%
ทั้งนี้ ผลการประชุมกนง.ครั้งแรกของปีนี้ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2557 กรรมการ 4 ต่อ 3 เสียง มีมติให้คงดอกเบี้ยไว้ที่ 2.25% แต่ครั้งนี้ ด้วยคะแนนเสียงที่ไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีมติให้สวิงตรงข้ามคือให้ปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% เป็น 2% ซึ่งถือเป็นระดับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2553 ซึ่ง กนง. ประกาศปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจาก 1.75% เป็น 2%
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน เลขานุการ กนง. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ว่า กรรมการฯ ประเมินเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีต่อเนื่อง ด้านเศรษฐกิจเอเชียโดยรวมได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลัก แต่เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มชะลอลง
โดยเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปี 2556 และเดือนมกราคม 2557 ชะลอลงตามอุปสงค์ในประเทศที่หดตัว โดยการใช้จ่ายภาคเอกชนได้รับผลกระทบจากความเชื่อมั่นที่ลดลง ขณะที่การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การเมืองมากขึ้น รวมทั้งในระยะต่อไปความไม่แน่นอนทางการเมืองยังเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน
ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงประเมินว่า ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจมีมากขึ้นท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ยังยืดเยื้อ เงินเฟ้อพื้นฐานแม้ปรับขึ้นบ้างแต่ยังอยู่ระดับต่ำ นโยบายการเงินจึงสามารถผ่อนคลายเพิ่มเติมได้บ้างเพื่อเพิ่มแรงสนับสนุนให้กับเศรษฐกิจ และเอื้อให้ภาวะการเงินผ่อนคลายต่อเนื่องในช่วงที่เศรษฐกิจยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว คณะกรรมการ 4 ต่อ 3 จึงมีมติให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25%
แต่กรรมการเสียงข้างน้อย 3 คนเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% เนื่องจากเห็นว่าภาวะการเงินปัจจุบันผ่อนปรนอยู่แล้ว และอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปัจจุบันได้มาจากปัจจัยทางการเงิน จึงเห็นควรรอจังหวะที่เหมาะสมเมื่อนโยบายการเงินมีประสิทธิผลในการสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.96% เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า เร่งขึ้นจาก 1.93% ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.22% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจาก 1.04% ในเดือนที่ผ่านมา
“เมื่อพิจารณาความสมดุลเศรษฐกิจพบว่า ความเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากกว่าด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ กรรมการเสียงส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้ปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% น่าจะมีส่วนช่วยพยุงความเชื่อมั่น และทำให้ภาวะการเงินมีความผ่อนปรนมากขึ้น ก็น่าจะมีส่วนสนับสนุนภาวะการใช้จ่ายได้บ้าง แต่กรรมการเสียงข้างน้อย เห็นว่าภาวะขณะนี้อาจจะมีไม่มาก น่าจะสงวนกระสุนไว้ใช้ยามจำเป็นในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ” นายไพบูลย์กล่าว
เลขา กนง. กล่าวว่า เรื่องประสิทธิผลของการลดดอกเบี้ยเป็นปัจจัยหลักประการหนึ่งที่ทำให้ความเห็น กนง. ไม่ตรงกัน แต่คงต้องติดตามรอดูการตอบสนองของตลาด ไม่ว่าจะเป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยของตลาด การปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ การปรับอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรในตลาดตราสารหนี้ รวมทั้งการปรับอัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้ของเอกชน ซึ่งคิดว่าถ้าอัตราดอกเบี้ยลดลงก็น่าจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายและการลงทุนมากขึ้นบ้าง
ขณะที่ในส่วนของประชาชน อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงมีผลทั้งสองทาง คือ ในแง่ผู้ออมก็คงมีรายได้จากดอกเบี้ยมาใช้สอยลดลงบ้าง แต่ประชาชนที่มีภาระเงินกู้ก็สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยได้บ้าง แต่โดยรวมแล้วการที่นโยบายดอกเบี้ยผ่อนปรนลงน่าจะมีส่วนช่วยผ่อนคลายภาวะการเงินในระบบเศรษฐกิจ ก็คงจะมีส่วนช่วยความเชื่อมั่น และกระตุ้นการใช้จ่ายระดับหนึ่ง ก็ต้องรอดูระหว่างนี้
นายไพบูลย์กล่าวว่า แม้โดยรวมจะมีความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น แต่ กนง. ยังคงประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2557 ไว้ต่ำกว่า 3% เท่ากับการประเมินครั้งก่อน และได้ลดทอนเม็ดเงินที่ภาครัฐจะใช้สอยในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากความไม่แน่นอนทางการเมือง แต่ไม่เกี่ยวกับการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ
“ตอนประชุม กนง. คำวินิฉัยของศาลยังไม่ออก แต่เรื่องโครงการลงทุน 2 ล้านล้าน สมมติฐานของแบงก์ชาติได้ตัดทอนลดลงเหลือ 1 ใน 4 ตั้งแต่การประชุม 2 ครั้งที่ผ่านมา โดยเหลือแต่โครงการต่อเนื่องที่ดำเนินการอยู่ และโครงการที่ไม่ต้องทำการศึกษาประเมินผลกระทบซึ่งมีการทำไปแล้ว ทั้งสองส่วนนี้สามารถลงทุนได้ภายใต้กรอบการลงทุนงบประมาณปกติ และกรอบการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ เพราะฉะนั้น คำวินิจฉัยของศาลจึงไม่ได้กระทบกระเทือนประมาณการเศรษฐกิจของไทยที่คาดว่าจะต่ำกว่า 3%” นายไพบูลย์กล่าว
สำหรับผลของการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ต่อค่าเงินบาท นายไพบูลย์ประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยอาจมีผลกระทบบ้างต่ออัตราแลกเปลี่ยน ต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน แต่ไม่ได้มีความสัมพันธ์เป็นอัตโนมัติ และไม่แน่นอนเสมอไป และจริงๆ แล้วการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ตลาดก็คาดการณ์อยู่บ้างแล้ว เพราะฉะนั้น การเซอร์ไพรซ์ไม่น่าจะเกิดขึ้น
“นอกจากนั้น กนง. ได้ประเมินภาวะตลาดการเงินโลก และการเคลื่อนย้ายเงินทุน และอัตราแลกเปลี่ยน ก็พบว่าช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างมีเสถียรภาพพอสมควร อย่างน้อยก็มีเสถียรภาพมากกว่าการประชุมครั้งก่อน อย่างไรก็ตาม ธปท. มีหน้าที่ติดตามดูแลสถานการณ์” นายไพบูลย์กล่าว
ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะแถลงรายงานนโยบายการเงิน ซึ่งเป็นการประเมินภาวะเศรษฐกิจไทย และตัวเลขเครื่องชี้เศรษฐกิจในปี 2557 ในวันที่ 21 มีนาคม 2557