ThaiPublica > เกาะกระแส > กนง.คงดอกเบี้ย 0.5% ห่วงบาทแข็งเร็ว เตรียมแถลงมาตรการ 20 พ.ย.

กนง.คงดอกเบี้ย 0.5% ห่วงบาทแข็งเร็ว เตรียมแถลงมาตรการ 20 พ.ย.

18 พฤศจิกายน 2020


กนง. มีมติคงดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า กระตุ้นคลังเร่งเบิกจ่าย ดูแลกลุ่มเปราะบางให้ตรงจุด คณะกรรมการฯห่วง 3 ความเสี่ยงใหญ่ “เงินบาทแข็ง-ดอกเบี้ยต่ำสินเชื่อไม่กระจาย -ตลาดแรงงาน” เตรียมแถลง 20 พฤศจิกายน มาตรการดูแลค่าเงินแข็งทั้งระยะสั้น-ยาว

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)แถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 7/2563 ว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและให้เน้นมาตรการช่วยเหลือที่ตรงจุดมากขึ้น

คณะกรรมการฯ ประเมินว่าแม้เศรษฐกิจไทยปรับดีขึ้นกว่าคาดแต่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าและยังต้องการแรงสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเปราะบางและมีความไม่แน่นอนสูง คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ และรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัดเพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุด

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2563 ปรับตัวดีขึ้นกว่าที่คาด อย่างไรก็ดี ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าและแตกต่างกันมากระหว่างภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณสองปีก่อนที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมจะกลับสู่ระดับก่อนการระบาด ส่งผลให้ตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง โดยเฉพาะรายได้ของแรงงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะกดดันการบริโภคภาคเอกชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเมื่อปัจจัยสนับสนุนชั่วคราวเริ่มหมดลง ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ด้านระบบการเงินมีเสถียรภาพ แม้ว่าจะมีความเปราะบางขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจและความเสี่ยงต่อฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจและครัวเรือน สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบน้อยลงจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น และจะอยู่ใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมายในปี 2564 ด้านการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย

สภาพคล่องในระบบอยู่ในระดับสูงและต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจและครัวเรือนบางส่วนที่ต้องการสภาพคล่องยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. ปรับแข็งค่าขึ้นเร็วจากนักลงทุนต่างชาติที่กลับมาลงทุนในสินทรัพย์ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่เพิ่มขึ้น ภายหลังผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนป้องกัน COVID-19 คณะกรรมการฯ กังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเร็ว ซึ่งกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง จึงเห็นควรให้ติดตามตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด รวมทั้งพิจารณาความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม

คณะกรรมการฯ เห็นว่าการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานภาครัฐมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป โดยนโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการทางการเงินและสินเชื่อควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ที่ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและทันการณ์ รวมทั้งผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เกิดผลในวงกว้าง สำหรับมาตรการการคลังมีบทบาทสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จึงควรเร่งเบิกจ่ายและให้ความช่วยเหลือกลุ่มที่เปราะบางอย่างตรงจุด ควบคู่กับการเร่งดำเนินนโยบายด้านอุปทานเพื่อปรับรูปแบบธุรกิจและยกระดับทักษะแรงงาน ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างยั่งยืนในระยะยาว

ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ รวมถึงติดตามความเพียงพอของมาตรการภาครัฐและปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ ความคืบหน้าของการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจและครัวเรือน ในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น

นายทิตนันทิ์กล่าวว่า คณะกรรมการฯยังได้หารือกันมากเกี่ยวกับความเสี่ยง 3 ประเด็นใหญ่ที่มีความกังวลได้แก่ ค่าเงินบาทแข็ง ดอกเบี้ยต่ำแต่สินเชื่อไม่กระจายตัว และตลาดแรงงานเปราะบาง โดยมีรายละเอียดดังนี้

เตรียมมาตรการดูแลค่าเงินบาทเพิ่มเติม

เรื่องแรก สถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าเร็ว มีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังเปราะบาง ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการที่ธปท. เข้าไปดูเสถียรภาพของค่าเงิน และการไหลเข้าของเงินทุนเคลื่อนย้าย

“จากการเฝ้าติดตามของ ธปท.พบว่าสภาพคล่องในตลาดโลกมีเหลือมาก และเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น พอร์ตโฟลิโอของนักลงทุนต่างชาติ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 มีเงินไหลเข้าทั้งตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากความเชื่อมั่นจากผลการเลือกตั้งของสหรัฐฯและข่าวการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 คณะกรรมการกนง. มีการหารือเรื่องค่าเงินบาทค่อนข้างมากและมีความกังวลมาก จึงเห็นควรให้พิจารณาความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติมทั้งระยะสั้นและระยะยาว”นายทิตนันทิ์ กล่าว

นายทิตนันทิ์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน อ่อนค่าลงเล็กน้อย 0.6% เทียบกับสิ้นปีก่อน แต่หากเทียบการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทในช่วงรอบการประชุมกนง. ครั้งก่อนกับครั้งนี้ พบว่า ค่าเงินบาทแข็งขึ้น 4.3% ขณะที่ดัชนี US Index ติดลบ 2.1% ซึ่งส่งผลต่อการแข็งค่าของทุกสกุลเงินในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในแถบเอเชีย และค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วติดอันดับ 3

“มีการทบทวนความจำเป็นในการดูแลเงินบาทมากขึ้น จะให้ความสำคัญเข้าไปดูแลทั้งระยะสั้น ระยะยาว ศุกร์นี้จะมาคุยรายละเอียดใน media brief”

ทั้งนี้ ในวันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีการบรรยายสรุปเรื่อง “FX ecosystem”

สินเชื่อกระจุกตัวรายใหญ่แม้ดอกเบี้ยต่ำ

สำหรับความเสี่ยงเรื่องที่สอง คือ สินเชื่อกระจุกตัว ขณะที่อัตราดอกเบี้ยโดยรวมในตลาดการเงินต่ำเป็นประวัติการณ์ โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ต่ำ 0.50% และดอกเบี้ยอื่นๆทุกประเภทอยู่ที่ระดับต่ำมาก แต่สภาพคล่องหรือการปล่อยสินเชื่อยังกระจายไม่ทั่วถึง เนื่องจากความเสี่ยงด้านเครดิต (credit risk) ที่สูงขึ้น โดยสิ้นกันยายน 2563 สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอียังหดตัว 3.1% แม้มีมาตรการซอฟโลนช่วยแล้วก็ตาม ขณะที่การขยายตัวของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เร่งตัวสูง 10.8% ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภค ขยายตัว 4.8%

ตลาดแรงงานเปราะบางฉุดรายได้-บริโภคครัวเรือน

เรื่องที่สาม ความเสี่ยงตลาดแรงงานที่ยังมีความอ่อนไหวมาก เนื่องจากอัตราการว่างงานปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 2.1% แม้ขณะนี้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น แต่อยู่ในกลุ่มผู้ที่อยู่นอกตลาดแรงงานที่เริ่มมองหางานทำ ซึ่งเป็นการจ้างงานในระยะสั้น ขณะที่ผู้ที่ว่างงานก็ยังไม่มีงาน และผู้ที่มีงานทำอยู่แล้วพบว่ามีชั่วโมงทำงานลดลงที่เพิ่มขึ้น กับยังมีบางส่วนถูกเลิกจ้าง และอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจริงๆ เป็นลูกจ้างอิสระที่รายได้ลดลงมาก

“ตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นแหล่งสร้างรายได้ของครัวเรือน จะเป็นตัวกำหนดพลวัตรการบริโภค คณะกรรมการให้ติดตามต่อไปว่า ตลาดแรงงานมีความเปราะบางเป็นอย่างไร และเกี่ยวโยงกับความสามารถต่อการชำระหนี้ครัวเรือนอย่างไร”นายทิตนันทิ์ กล่าว