ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > “ผู้ว่า ธปท.” จับเข่าคุยกับสื่อเรื่องอัตราดอกเบี้ย และ 3 เสาหลักกรอบนโยบายการเงินในอนาคต

“ผู้ว่า ธปท.” จับเข่าคุยกับสื่อเรื่องอัตราดอกเบี้ย และ 3 เสาหลักกรอบนโยบายการเงินในอนาคต

3 ธันวาคม 2013


หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติด้วยเสียง 6 ต่อ 1 ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% คือ จาก 2.50% เป็น 2.25% เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2556 สร้างความ “ประหลาดใจ” ให้กับแวดวงตลาดการเงิน และเมื่อดูตัวเลขเศรษฐกิจเดือนตุลาคม 2557 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2556 ซึ่งสรุปว่าเศรษฐกิจโดยรวม “ทรงตัว” มีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบเท่าๆ กัน จึงมีข้อสังเกตว่า การตัดสินของ กนง. “ตื่นตระหนก” มากเกินไปหรือไม่

แต่การตอบสนองของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทย ได้ทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ลงตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ กนง. มั่นใจว่าจะช่วยสร้าง “ความเชื่อมั่น” ของผู้บริโภค และภาคธุรกิจเอกชนไม่ให้ต่ำลงท่ามกลางบรรยากาศความไม่สงบทางการเมือง

อัตราดอกเบี้ย 3 แบงก์ใหญ่

ทั้งนี้ ในงาน “BOT Press Trip” ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดขึ้นที่จังหวัดปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2556 เนื่องในโอกาสปิดหลักสูตรธนาคารกลางสำหรับสื่อมวลชน โดยมีช่วงหนึ่งของงานใช้ชื่อว่า “เปิดใจผู้ว่าการ ธปท. จับเข่าคุยกับสื่อ (สุภาพบุรุษวังบางขุนพรหม)”

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. เล่าถึงเหตุผลเบื้องลึกที่ กนง. ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินลงเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาว่า การตัดสินครั้งนี้ยอมรับว่าเหนือความคาดหมายของตลาด เพราะตอนพิจารณาก็ดูข้อมูลของตลาดเห็นว่าสำนักวิเคราะห์ในตลาดประมาณ 20 แห่งส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ย มีเพียง 2 แห่งเท่านั้นที่คาดการณ์ว่า กนง. จะลดอัตราดอกเบี้ย

การตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ย เป็นการมองของ กนง. ในลักษณะมองไปข้างหน้ามากกว่าดูอดีตและปัจจุบัน เราคิดเผื่อเอาไว้ และที่ตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยก็เพราะเป็นการอนุมานไปข้างหน้าว่ามันจะมีเหตุการณ์ต่างๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงในด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศไทย เราก็รักษา sentiment (ความรู้สึก) ในบริบทที่เราพอทำได้

“ดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยรักษา sentiment เมื่อ กนง. ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง ธนาคารพาณิชย์เขาก็เห็น เขาอยู่ใกล้ลูกค้า เขาก็ตอบสนอง ก็เป็นการรักษา sentiment โดยเฉพาะด้านอุปโภคบริโภค เราเห็นชัดเจนว่า เวลานี้เกิดภาวะที่ชะลอตัวค่อนข้างรุนแรง ด้านนโยบายการเงินก็ยังพอมีพื้นที่อยู่บ้าง จึงปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง”

ดร.ประสารกล่าวว่า กนง. รู้และเข้าใจว่าดอกเบี้ยนโยบายในอัตรา 2.50% ความจริงอยู่ในระดับที่ช่วยสนับสนุนในเรื่องการขยายตัวของเศรษฐกิจอยู่พอประมาณ และระยะปานกลาง กนง. ต้องจับตาดูเสถียรภาพการเงิน

แต่เมื่อตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสสามออกมาชี้ค่อนข้างชัดเจนว่า การขยายตัวเศรษฐกิจปีนี้น่าจะอยู่ระดับต่ำกว่าที่คาดการค่อนข้างมาก ประกอบกับช่วงปีหน้าก็น่าจะอยู่ระดับต่ำกว่าที่ธปท.คาดการณ์ไว้ และในส่วนที่เทียบเคียงกันกับ “ศักยภาพ” การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ไปในทางต่ำกว่าศักยภาพมาก ประกอบกับด้านอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ไม่สูง และแนวโน้มระยะต่อไปมีโอกาสชะลอตัว

เมื่อดูด้านการขยายตัวสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ เมื่อต้นปีธปท.พูดถึงตัวเลขสินเชื่อขยายตัว 14% แต่เวลานี้ ธปท. ประเมินว่าสินเชื่อปีนี้อย่างเก่งขยายตัวได้ 9% เศษๆ และปีหน้าอาจอยู่ระดับประมาณ 7% ส่วนหนี้สินภาคครัวเรือน แน่นอนยังอยู่ระดับสูงเมื่อเทียบกับจีดีพี แต่เห็นชัดเจนว่ามีลักษณะของการชะลอลง

“เมื่อปัจจัยต่างๆ ประกอบกันแบบนี้ กนง. ก็เลือกที่จะดูแลหรือให้น้ำหนักในเรื่องการดูแลความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ”

ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธปท.
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.

อย่าไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจต้องอาศัยปัจจัยด้านอื่นๆ อีกด้วย รวมทั้งด้านการคลัง แต่เวลานี้ ที่ธปท.ประเมินสถานการณ์งบประมาณปี 2556 พบว่าเบิกใช้ต่ำกว่าที่ตั้งเป้าหมาย และดูสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะภาวะการเมือง ก็คิดว่าด้านการคลังจะไม่อยู่ในภาวะที่เป็นตัวผลักดันสำคัญในเรื่องการขยายตัวเศรษฐกิจไปข้างหน้าได้มากเหมือนอย่างที่เคยคาดการณ์กันไว้

เพราะฉะนั้น กนง. ก็ให้น้ำหนักการที่จะคอยประคองความเสี่ยงด้านอื่นๆ ไม่ให้แย่ลง และเป็นการตัดสินใจในลักษณะ “เผื่อ” เอาไว้ ที่สำคัญ ถือว่าเป็น “ความรับผิดชอบ” ของนโยบายการเงิน เพราะเมื่อเห็นแนวโน้มเศรษฐกิจไม่ดี ในขณะที่นโยบายการคลังยังหวังพึ่งไม่ได้ ถ้านโยบายการเงินไม่ทำอะไรเลย รอจนกว่าจะประชุมอีกครั้งในเดือนมกราคมปีหน้า (22 ม.ค. 2557) แล้วภาวะเศรษฐกิจแย่ลงค่อยพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ย ถ้าทำแบบนั้น การดำเนินนโยบายการเงินก็จะเป็นในลักษณะการวิ่งตามปัญหา หรือ “Behind the Curve”

เวลา กนง. ประเมินจะมีเหตุผลทั้งสองข้างว่าธปท.จะเลือกวางน้ำหนักตรงไหนมากกว่า แต่ กนง. จะพบกันอีก 6 สัปดาห์ ในเวลานั้น ถ้าจะมีข้อมูลใหม่ กนง. ก็สามารถประเมินสถานการณ์ใหม่ ถ้าเหตุการณ์ทุกอย่างไปในทางดี เศรษฐกิจมีแรงขับเคลื่อนไปในทางการเจริญเติบโต ในยามนั้นก็สามารถปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมได้

“แต่วันที่ประชุมเราชั่งน้ำหนักแล้ว แน่นอน ของพวกนี้มันไม่ง่าย ไม่ได้ขาว-ดำ ออกมา 100% ข้างใดข้างหนึ่ง ตามข้อเท็จจริง กนง. ก็เถียงกัน เพราะว่ามีเหตุผลอีกข้างหนึ่งด้วยเช่นเดียวกัน แต่ท้ายที่สุดก็ตัดสินใจให้น้ำหนักสถานการณ์แบบนี้ ก็ประคองกันไป จนกว่าจะมั่นใจว่าประเทศชาติปลอดภัยแล้ว เราก็อาจจะปรับอีก”

ดร.ประสารย้ำว่า ในส่วนของแบงก์ชาติพยายามดูแลส่วนของธปท.ให้ดีที่สุด ช่วง เม.ย. เถียงกันค่อนข้างมาก และมีแรงกดดันให้ กนง. ลดอัตราดอกเบี้ย 1% แต่เราบอก “ไม่ใช่” โดยคงดอกเบี้ยไว้ที่ 2.75% ไม่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพราะถ้าธปท.ทำลงไปก็เท่ากับทำเหมือนอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ที่ลดดอกเบี้ยลงไปถึง 0% แต่พอยามจำเป็นจะลด “กระสุน” ก็หมด

แต่ในยามนี้จะเห็นว่า นโยบายการเงินยังมีพื้นที่ โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ย แต่ไม่ได้ตั้งเป้าว่า การลดดอกเบี้ยจะไปกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน แต่โดยรวมเป็นการรักษา sentiment ของทั้งการอุปโภคบริโภคและการลงทุน มากกว่าจะเป็นการเล็งผลเลิศว่าจะกระตุ้นการลงทุนในประเทศ เพราะด้านอุปโภคบริโภคแผ่ว การลงทุนก็แผ่ว และแรงกระตุ้นจากด้านการคลังในระยะสั้นๆ ข้างหน้าก็คงไม่มาก

ส่วนเรื่องความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย แน่นอนเรื่องนี้ก็ trade-off (ได้อย่างเสียอย่าง) ว่า การลดทอนมาตรการ QE (QE tapering) จะทำเมื่อไร แต่ตอนนี้ยังไม่แน่นอน แม้กระนั้น ถ้าเกิดปรากฏการณ์มีเงินไหลออกบ้าง แต่กรอบนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนมีความยืดหยุ่นพอประมาณที่จะเป็นตัวปรับคอยดูแล และค่อนข้างเชื่อมั่นว่าลักษณะเงินไหลออกไม่น่ามีผลเรื่องดอกเบี้ย เนื่องจากด้านต่างประเทศก็มีปัจจัยอื่นๆ มากกว่าเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25%

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

สำหรับกรอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป ธปท. วางไว้ 3 เสาหลัก

เสาหลักแรก ควรมีการวางกรอบนโยบายที่ยืดหยุ่น ธปท. อยากมีกรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีความคล่องตัว มีความยืดหยุ่น มีเครื่องมือที่มีความหลากหลาย และสามารถผสมผสานใช้ได้อย่างเหมาะสม เพื่อที่จะไม่ไปติดกับดักผลกระทบสุดโต่งด้านใดด้านหนึ่ง

เสาหลักที่สอง ควรรักษาความน่าเชื่อถือของนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เรื่องนี้จะเป็นปัจจัยหลักที่จะรักษา sentiment และที่ต้องให้น้ำหนักมากยิ่งขึ้นกว่าในอดีต เพราะ sentiment จะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเงินไหลเข้าไหลออก บางทีไม่ใช่เรื่องปัจจัยพื้นฐานแต่เป็นเรื่อง sentiment เรื่องความน่าเชื่อถือสำคัญมาก ดังนั้น ในการทำนโยบายเศรษฐกิจต้องอยู่ในกรอบที่ต้องรักษาความน่าเชื่อถือไว้

เสาที่สาม การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ เพราะท้ายที่สุด นโยบายการเงินทำได้ประมาณหนึ่ง โดยเฉพาะการดูแลเสถียรภาพในระยะสั้น ซึ่งเคยเปรียบเปรยคล้ายเครื่องบิน อาจมีลมปะทะข้างหน้า มีลมส่งข้างหลัง แต่เราก็พยายามรักษาเสถียรภาพให้เครื่องบินไม่แกว่งมากนัก แต่สุดท้ายเครื่องบินจะไปได้หรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเครื่องยนต์ โดยเฉพาะด้านซัพพลาย อาทิ ความเข้มแข็งเรื่องการศึกษา เรื่องคน เรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ และอื่นๆ

เพราะฉะนั้น เสาหลักที่สาม หากจะทำได้ในบทบาทของ ธปท. คือพยายามทำให้พื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศไทยมีความเข้มแข็ง ซึ่งจะช่วยเอื้อให้เศรษฐกิจต่างๆมีความมั่นคง ปลอดภัย และยั่งยืนระยะยาว

แต่งตั้ง ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส เป็น “โฆษกแบงก์ชาติ”

ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส
ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่งตั้ง “ดร.รุ่ง มัลลิกกะมาส” เป็น “โฆษก ธปท.” มีผลตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2556

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว โดยเฉพาะผลกระทบจากปัจจัยต่างประเทศที่จะมากระทบต่อเศรษฐกิจไทย จำเป็นต้องมีการอธิบายเนื้อหารายละเอียด และสร้างความเข้าใจกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องมีผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจมหภาคเป็นอย่างดีมาทำหน้าที่เป็นโฆษก ธปท. เพื่อชี้แจงเรื่องเหล่านี้ ซึ่ง ดร.รุ่งน่าจะเหมาะสม เพราะมีความรู้ความสามารถด้านเศรษฐกิจมหภาคดีมาก

ทั้งนี้ ดร.รุ่งจบเศรษฐศาสตร์ปริญญาตรีที่ Harvard และปริญญาเอกที่ MIT

“อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งโฆษก ธปท. ที่ตั้งขึ้นเป็นการทดลองดูว่า วิธีการนี้จะเหมาะสม และเป็นที่พึงพอใจของผู้ที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ดังนั้น เมื่อทำไปได้สักระยะหนึ่งก็จะประเมินว่าควรจะมีตำแหน่งนี้หรือไม่ แต่ตอนนี้ต้องลองให้โอกาสผู้เป็นโฆษกทำหน้าที่ก่อน”

ทั้งนี้ ดร.ประสารมองว่า ตำแหน่งโฆษก ธปท. จะมีหรือไม่มีขึ้นอยู่กับผู้ว่า ธปท. แต่ละคน ซึ่งในอดีตไม่มีตำแหน่งโฆษก แต่จะมีผู้ที่ทำหน้าที่คล้ายๆ โฆษก ธปท. ซึ่งที่โดดเด่นมากในอดีตคือ คุณประทีป สนธิสุวรรณ จากนั้นก็เป็น ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ดร.ศิริ การเจริญดี ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ต่อมาก็เป็น ดร.เกลียวทอง เหตระกูล และ ดร.บัณฑิต นิจถาวร หลังจากนั้นก็ไม่มีใครอีกเลย

ทั้งนี้ 2 คนหลังเป็น “โฆษก ธปท.” โดยตำแหน่งในสมัย ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เป็นผู้ว่า ธปท. ได้แต่งตั้งตำแหน่งโฆษกขึ้นมาอย่างเป็นทางการ แต่ก่อนหน้านี้จะอยู่ในตำแหน่ง “ผู้อำนวยการสำนักผู้ว่าการ” ซึ่งทำหน้าที่เป็นประชาสัมพันธ์ของ ธปท. แต่ปัจจุบันไม่มีตำแหน่งนี้แล้ว เปลี่่ยนมาเป็น “ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร”