ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสนโยบายการเงิน > ธปท.ชี้เครื่องมือ “ดอกเบี้ย” ต้องรักษาสมดุลเศรษฐกิจในประเทศก่อน แจง 4 มาตรการรับมือบาทแข็ง

ธปท.ชี้เครื่องมือ “ดอกเบี้ย” ต้องรักษาสมดุลเศรษฐกิจในประเทศก่อน แจง 4 มาตรการรับมือบาทแข็ง

10 พฤษภาคม 2013


แบงก์ชาติยอมรับ 4 แนวทางคุมเงินทุนไหลเข้า มาตรการประกันความเสียงเข้มที่สุด แต่สถานการณ์ปัจจุบันยังไม่จำเป็นต้องใช้ พร้อมชี้ “ดอกเบี้ย” เป็นปัจจัยหนึ่งดึงดูดเงินไหลเข้า แต่ภารกิจหลักต้องดูแลดุลยภาพเศรษฐกิจในประเทศ นักวิชาการคาด กนง. ลดดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมรอบหน้า

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ให้สัมภาษณ์เรื่องมาตรการคุมเงินไหลเข้า และอัตราดอกเบี้ยก่อนเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การกู้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ที่รัฐสภาพ เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2556
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ให้สัมภาษณ์เรื่องมาตรการคุมเงินไหลเข้าและอัตราดอกเบี้ย ก่อนเข้าชี้แจงคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การกู้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ที่รัฐสภา เมื่อ 9 พ.ค. 2556

เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2556 ดร.ประสาร ไตรรัตรน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ให้สัมภาษณ์เรื่องมาตรการสกัดเงินทุนไหลเข้า 4 แนวทาง ที่เสนอรัฐมนตรีคลัง ซึ่งถูกเปิดเผยหลังจากนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีคลังได้รายงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบในการประชุมครม. เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมาว่า มาตรการทั้ง 4 แนวทางไม่มีเรื่องอัตราดอกเบี้ยบรรจุอยู่ในข้อเสนอ

“ต้องยอมรับดอกเบี้ยเป็นตัวแปรหนึ่ง แต่ดอกเบี้ย ถูกให้รับภารกิจหนักในการดูแลดุลยภาพในประเทศ แต่ถ้าเศรษฐกิจของเราไม่ได้ถึงกับร้อนแรงก็ผ่อนภารกิจนั้นได้”

ทั้งนี้ มาตรการควบคุมเงินไหลเข้า 4 แนวทางที่แบงก์ชาติเสนอรัฐมนตรีคลัง ได้แก่

1. การออกพันธบัตรธปท. ที่สามารถกำหนดห้ามไม่ให้ต่างชาติซื้อพันธบัตร
2. การออกพันธบัตรของกระทรวงการคลังให้กำหนดระยะเวลาการถือครอง เช่น 3 เดือน หรือ 6 เดือน เพื่อป้องกันการเก็งกำไร
3. เสนอให้เก็บภาษีและค่าธรรมเนียมสำหรับต่างชาติที่มาลงทุนในตลาดตราสารหนี้เมื่อได้รับผลตอบแทน
4. กรณีที่นักลงทุนต่างประเทศนำเงินเข้ามา ต้องทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อบังคับไม่ให้ได้รับผลตอบแทนทางบวก ขณะเดียวกันก็ไม่ได้รับผลกระทบในเชิงลบ

“สำหรับมาตรการ 4 แนวทางนั้น เรื่องการทำประกันความเสี่ยงเป็นมาตรการเข้มที่สุด เพราะการป้องกันความเสี่ยง จะส่งผลให้คนที่นำเงินเข้ามาต้องทำประกันความเสี่ยงทั้งหมด ทำให้คนเข้ามาลงทุนจะไม่ได้กำไรจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน คือจะหวังกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้แล้ว แต่สถานการณ์ปัจจุบันยังไม่จำเป็นต้องดำเนินการ และบางสถานการณ์ต้องผสมผสานหลายเครื่องมือ ซึ่งจะทำเมื่อไรขอติดตามดูใกล้ชิด และดูความเหมาะสม”ผู้ว่าแบงก์ชาติกล่าว

อย่างไรก็ตาม ดร.ประสารยอมรับว่า ดอกเบี้ยก็เป็นเครื่องมือหนึ่ง เพราะว่าโดยรวมในเรื่องการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน และเงินทุนเคลื่อนย้ายจะมีตัวแปรหลัก 3 ตัว คือ ดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน และการบริหารจัดการเงินทุนเคลื่อนย้าย เพียงแต่ในบ้านเราตอนนี้ดอกเบี้ยรับภาระหนักอันหนึ่งคือ ดูแลสมดุลเศรษฐกิจในประเทศ

เนื่องจากภาพรวมเวลานี้เศรษฐกิจโลกแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรก เป็นพวกเศรษฐกิจที่เติบโตสูง 5% ขึ้นไป ซึ่งประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มแรก กลุ่มที่สอง เศรษฐกิจไม่เติบโต หรือติดลบ เช่น ยุโรป และกลุ่มที่สาม เติบโตน้อยเพียง 1-2% เช่น สหรัฐอเมริกา ขณะที่ญี่ปุ่นอาจอยู่ในกลุ่มสอง หรือ สามก็ได้ เนื่องจากตอนนี้อยู่กำลังฟื้นตัวเล็กน้อย ถ้าทำได้ดีก็จะอยู่ในกลุ่มที่สาม

ดร.ประสารกล่าวว่าทั้งสามกลุ่มมีดุลยภาพที่แตกต่างกัน พวกเติบโต 5-6% คล้ายๆ ไทย ส่วนใหญ่เศรษฐกิจในประเทศค่อนข้างเข้มแข็ง และเติบโตได้ดี กลุ่มนี้ก็มีดุลยภาพแบบหนึ่ง อัตราดอกเบี้ยก็มีภารกิจหนักในการพยายามดูแลดุลยภาพเศรษฐกิจในประเทศ แต่บังเอิญเราอยู่ในโลกเดียวกัน มีอีก 2 ดุลยภาพ คือ ดุลยภาพยูโร ดุลยภาพอเมริกา ซึ่งเวลานี้เศรษฐกิจกำลังซบเซา การฟื้นตัวอ่อนแอ ดอกเบี้ยเขาก็จะต่ำมาก ตัวนี้เป็นตัว “ลักลั่น” และทำให้เกิดปัญหาที่เราถกเถียงกันอยู่เรื่องการใช้ดอกเบี้ยหรือไม่

ผู้ว่าแบงก์ชาติย้ำว่า เรื่องดอกเบี้ยต้องพยายามดูให้เหมาะสม และจะผ่อนได้ขนาดไหน เพราะมีภาระกิจการหลักต้องดูดุลยภาพในประเทศ โดยถ้าเกิดเศรษฐกิจในประเทศค่อนไปในทางที่เริ่มโน้มเข้าหาแนวโน้มปกติ ไม่ได้เติบโตสูงมากนัก หรือไม่ได้ร้อนแรงมากนัก ก็เหมือนจะผ่อนภารกิจของดอกเบี้ยได้ ทำให้ดอกเบี้ยไทยจะไปหาอีกดุลยภาพหนึ่ง
แต่เป็นความยากลำบากตรงที่ว่า เวลาคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ดู ก็ดูว่าดุลยภาพในประเทศเป็นอย่างไร ถ้าบังเอิญเศรษฐกิจในประเทศเอื้อที่จะให้ดอกเบี้ยถอยไปสู่ดุลยภาพ ก็เป็นไปได้ตามหลักวิชา โดยดอกเบี้ยไทยเป็นตัวแปรสำคัญในการดูแลรักษาดุลยภาพในประเทศ

“เราต้องเข้าใจว่าว่าดอกเบี้ยบ้านเรามีภารกิจหลักคือ ดูดุลยภาพในประเทศ” ดร.ประสารกล่าวย้ำ

นอกจากนี้ ดร.ประสารระบุว่า ล่าสุดธนาคารกลางเกาหลีใต้ตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 2.75% เหลือ 2.50% เพราะภาวะเศรษฐกิจถูกกระทบจากเศรษฐกิจโลก ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงมากๆ และเงินเยนอ่อนลงมากทำให้เกาหลีใต้ถูกกระทบมาก เพราะเขาเป็นคู่แข่งกัน ขณะที่ธนาคารกลางออสเตรียก็ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เข้าใจว่าสาเหตุเพราะตอนหลังเศรษฐกิจเขาชะลอ

“การปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางเกาหลีใต้ และออสเตรเลีย เป็นตัวอย่างเล่าให้ฟังว่า ถ้าดุลยภาพในประเทศเขาเอื้อ เขาก็พยายามให้อัตราดอกเบี้ยไม่แตกต่างจากอีกดุลยภาพหนึ่ง เพราะเราต้องไม่ลืมว่า อเมริกา และยุโรป สกุลเงินเขาใช้กันแพร่หลาย การที่เราอยู่ในอีกดุลยภาพหนึ่งก็สร้างแรงเสียดทาน เหมือนเราเศรษฐกิจโต 5-6% เขาเศรษฐกิจหนึ่งโต 1% คนละดุลยภาพกัน จึงเป็นปัญหาค่อนข้างยุ่งเวลานี้ในตลาดการเงิน แต่ไม่ต้องห่วง เพราะเราก็ติดตามอยู่ และติดตามภาวะที่เป็นไป และพยายามดูแลป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบอะไรมาก”ดร.ประสารกล่าว

ทั้งนี้ ในการประชุม กนง. ครั้งต่อไปวันที่ 29 พ.ค. 2556 ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ คาดการณ์ว่า กนง. อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เพื่อให้สอดคล้องกับธนาคารกลางประเทศต่างๆ ในภูมิภาคที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ย อาทิ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และอินเดีย เพื่อไม่ให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยแตกต่างกันมาก

ด้าน ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ อดีตคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คาดการณ์ว่า การประชุมกนง. รอบหน้าอาจพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อล่าสุดเดือนเม.ย.2556 ขยายตัวในอัตราชะลอลงอยู่ โดยเงินเฟ้อทั่วไปขยายตัว 2.42% และเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.18% อยางไรก็ตาม กนง. คงต้องประเมินว่า สาเหตุที่เงินเฟ้อชะลอลงมาจากปัจจัยชั่วคราว หรือมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง

“ถ้าประเมินแล้วงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่อง ก็เป็นจังหวะที่ กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้ แต่ถ้าเงินเฟ้อไม่ชะลอลงในระยะยาว ในกรณีนี้ที่ผ่านมา กนง.จะไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยลง” ดร.ตีรณกล่าว

ขณะที่ แหล่งข่าวกนง.รายหนึ่งกล่าวว่า ในการประชุม กนง. นัดพิเศษเมื่อวันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกที่ผู้ว่าการแบงก์ชาติ แสดงความเห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจในประเทศชะลอลง ดังนั้นหากปัจจัยเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก และเครื่องชี้เศรษฐกิจเปลี่ยนไปจากการประเมินครั้งก่อนในทางแย่ลงอย่างมีนัยสำคัญ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยก็อาจผ่อนคลายลงได้อีก แต่เป็นการปรับลดดอกเบี้ยเพื่อดูแลภาวะเศรษฐกิจในประเทศเป็นเป้าหมายหลัก ไม่ใช่วัตถุประสงค์เพื่อเงินทุนไหลเข้า

อย่างไรก็ดี หาก กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในการประชุมครั้งหน้า เพราะเศรษฐกิจมีสัญญาณชะลอลง ทั้ง ดร.สมภพ ดร.ตีรณ และแหล่งข่าว กนง. เห็นพ้องตรงกันว่า ไม่ใช่เรื่องแปลก และจะไม่กระทบต่อความน่าเชื่อถือของผู้ว่าแบงก์ชาติ เพราะเป็นการตัดสินของ กนง.

อ่านเพิ่มเติม การชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย