ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “ผู้นำโกง” – ตามล่าขุมทรัพย์ผู้นำอาหรับ (1)

“ผู้นำโกง” – ตามล่าขุมทรัพย์ผู้นำอาหรับ (1)

5 พฤศจิกายน 2012


รายงานโดย : อิสรนันท์

palestinians arab spring ที่มาภาพ : http://www.hollywoodrepublican.net
palestinians arab spring ที่มาภาพ : http://www.hollywoodrepublican.net

หลายคนอาจจะเชื่อในคำทำนายเกี่ยวกับวันสิ้นโลก อันมีสมมุติฐานมาจากคำทำนายของชาวมายาว่าโลกจะถึงกาลพินาศในช่วงวันที่ 21-22 ธันวาคม 2555 เมื่อถึงช่วงนั้นจะเกิดมหันตภัยจากภัยธรรมชาติในรูปแบบต่างๆ ทั้งแผ่นดินไหว น้ำท่วมโลกจากเหตุโลกร้อน ซูเปอร์พายุเหมือนไซโคลนแซนดี้ที่ถล่มมหานครนิวยอร์กและมลรัฐทางภาคตะวันออกของสหรัฐรุนแรงสุดในรอบร้อยปี ฯลฯ แต่หลายคนอาจจะแย้งว่า ตัวการสำคัญที่ทำให้โลกถึงกาลวิบัติมาเนิ่นนานแล้วนั้นมาจากน้ำมือมนุษย์ผู้โลภมาก ผู้สมคบคิดกันทุจริตคอร์รัปชันจนทำให้คนจนทั่วโลกต้องอดตายนับแสนนับล้านคน

เครือข่ายความยุติธรรมทางภาษีได้เคยเสนอรายงานยาวเหยียดชิ้นหนึ่ง โดยอาศัยข้อมูลจากจากธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) สหประชาชาติ (ยูเอ็น) และ ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ โดยเลือกศึกษาเฉพาะสินทรัพย์ทางการเงินที่ฝากในบัญชีธนาคารและการลงทุนต่างๆ ไม่รวมสินทรัพย์อื่นๆ ที่ไม่ต้องเสียภาษี เช่น อสังหาริมทรัพย์หรือเรือยอชท์ เป็นต้น พบว่าในแต่ละปี รัฐบาลทั่วโลกต้องสูญเสียรายได้จากภาษีรวมแล้วเกือบ 250,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 7.75 ล้านล้านบาท) ซึ่งมากพอที่หลายประเทศซึ่งกำลังประสบวิกฤติหนี้สินสามารถนำไปชำระหนี้ได้

การที่รัฐต้องสูญเสียรายได้ก้อนใหญ่จากการจัดเก็บภาษี ส่วนใหญ่เป็นผลพวงจากการทุจริตคอร์รัปชันทั้งจากภาครัฐและเอกชน หรือจากการสมคบคิดของทั้งสองส่วน รายงานชิ้นนี้ยังระบุด้วยว่า ระหว่างปี 2504-2553 มหาเศรษฐีทั่วโลกรวมแล้วราว 92,000 คนจาก 139 ประเทศ หรือแค่กระผีกริ้นเดียวเมื่อเทียบกับประชากรทั้งโลก ได้แอบซุกเงินไว้ในบัญชีลับของธนาคารเอกชนชั้นนำ 50 แห่ง อาทิธนาคารยูบีเอส, เครดิต สวิส และโกลด์แมน แซคส์ ในประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นสวรรค์ของผู้หลบเลี่ยงภาษี เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง ลักเซมเบิร์ก และหมู่เกาะเคย์แมน จนสามารถเลี่ยงการจ่ายภาษีเงินเป็นเงินมากกว่า 13 ล้านล้านปอนด์ (ประมาณ 650 ล้านบาท) หรือตัวเลขที่แท้จริงอาจสูงถึง 32 ล้านล้านปอนด์ (ราว 992 ล้านล้านบาท) ซึ่งมากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐและญี่ปุ่นเสียอีก

ขณะที่องค์การเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศ ซึ่งมีสำนักงานในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ได้จัดอันดับ “10 สุดยอดผู้นำโคตรคอร์รัปชัน” เป็นประจำทุกปี ปรากฏว่าส่วนใหญ่มักจะเป็นคนหน้าเดิม โดยพี่ใหญ่ของสุดยอดผู้นำโคตรคอร์รัปชันที่ยังไม่สามารถหาใครมาแซงหน้าได้ก็คือ อดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต แห่งแดนอิเหนา อินโดนีเซีย ซึ่งโกงเงินแผ่นดินราว 15,000-35,000 ล้านดอลลาร์ ตลอดช่วง 31 ปีที่เรืองอำนาจ ตามด้วยอดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส แห่งแดนตากาล็อก ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นผู้นำคนแรกที่ทำให้โลกเพิ่งประจักษ์ว่า “โค-ตะ-ระ-โกง” ตลอดช่วง 14 ปี คิดเป็นเงินถึง 5,000-10,000 ล้านดอลลาร์ และที่ตามมาติดๆ เป็นอันดับสามก็คือ อดีตประธานาธิบดีโมบูตู เซเซ เซโก แห่งซาอีร์ ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกทันทีที่นายโมบูตู เซโก เซโก ถูกยึดอำนาจและหนีไปลี้ภัยที่โมร็อกโก โดยขึ้นชื่อว่าโกงกินบ้านเมืองราว 5,000 ล้านดอลลาร์ภายในช่วง 32 ปี

อันดับ 4 ก็คือ อดีตประธานาธิบดีซานี อะบาชา แห่งไนจีเรีย ซึ่งอยู่ในตำแหน่งแค่ 5 ปี แต่ก็ทำสถิติโกงถึง 2,000-5,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนอดีตประธานาธิบดีสโลโบดัน มิโลเซวิก แห่งยูโกสลาเวีย โกงเงินแผ่นดินราว 1,000 ล้านดอลลาร์ภายในช่วง 11 ปี ก่อนจะถูกจับในข้อหาทุจริตคอร์รัปชัน อดีตประธานาธิบดีฌ็อง โคล้ด ดูวาลิเยร์ แห่งเฮติ มีโอกาสโกงกินบ้านเมืองแค่ 300-800 ล้านดอลลาร์ในช่วง 15 ปี ก่อนจะถูกบีบให้ลาออกและหนีไปลี้ภัยที่ฝรั่งเศส อดีตประธานาธิบดีอัลแบร์โต ฟูจิโมริ แห่งเปรู เชื่อว่าโกงเงินแผ่นดินราว 600 ล้านดอลลาร์ ก่อนระหกระเหินหนีไปอยู่ในหลายประเทศ และขณะนี้ต้องโทษจำคุก 25 ปี ในข้อหามีส่วนรู้เห็นในการสังหารทหารคนหนึ่ง

อดีตประธานาธิบดีพาฟโล ลาซาเรนโก แห่งยูเครน สร้างสถิติผู้นำที่โกงเร็วที่สุดในโลก แค่ปีเดียวเท่านั้นก็โกงได้ถึง 114-200 ล้านดอลลาร์ ก่อนจะถูกบีบให้ลาออกโทษฐานทุจริตคอร์รัปชันและฟอกเงิน และอดีตประธานาธิบดีอาร์นัลโด อาเลแมน แห่งนิการากัว ซึ่งโกงเงินแผ่นดิน 100 ล้านดอลลาร์ในช่วง 5 ปี แต่ทันทีที่พ้นตำแหน่ง ก็ถูกฟ้องในข้อหาฟอกเงินและทุจริตคอร์รัปชัน ก่อนจะถูกตัดสินจำคุก 20 ปี และอันดับ 10 ของ “สุดยอดผู้นำโคตรโกง” ก็คือ อดีตประธานาธิบดีโจเซฟ เอสตราดา แห่งฟิลิปปินส์ ที่กินมูมมามมากถึง 78-80 ล้านดอลลาร์ภายในช่วง 3 ปี ก่อนจะถูกพลังประชาชนโค่นล้มและถูกศาลพิเศษตัดสินให้จำคุกในข้อหาคอร์รัปชัน

ทั้งหมดนี้กลายเป็นข้อมูลเก่าทันที หลังเกิดการ “ปฏิวัติดอกมะลิ” หรือ “อาหรับสปริง” ในหลายประเทศในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ จนรัฐบาลของหลายประเทศล้มระเนนระนาดเป็นโดมิโนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน จากตูนีเซีย เยเมน ไปจนถึงอิยิปต์ ซึ่งล้วนแต่เป็นมหามิตรกับสหรัฐที่หนุนหลังผู้นำประเทศเหล่านี้ให้ครองอำนาจนานหลายสิบปี ก่อนจะหันหลังให้อย่างไม่ใยดีทันทีที่ประชาชนลุกฮือต่อต้านทั้งประเทศ แบบเดียวกับที่สหรัฐเคยทำกับอดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอสแห่งฟิลิปปินส์ และอดีตพระเจ้าชาห์ ปาห์ลาวี แห่งอิหร่าน

สาเหตุหลักที่ทำให้ประชาชนลุกฮือโค่นล้มรัฐบาลก็หนีไม่พ้นอภิปัญหาอมตะนิรันดร สืบเนื่องจากการทุจริตคอร์รัปชันของผู้นำประเทศและคนใกล้ชิด จนทำให้เศรษฐกิจประเทศมีแต่ถดถอยหลัง ประชาชนมีแต่ยากจนจนเกือบจะอดตาย ตรงข้ามกับราคาอาหารที่มีแต่ปรับตัวสูงขึ้น เช่นเดียวกับอัตราว่างงานที่มีแต่สูงขึ้น สวนทางกับค่าแรงที่มีแต่ถูกกดให้ต่ำตลอดกาล

จากรายงานของกระทรวงการต่างประเทศของสวิตเซอร์แลนด์ระบุว่า ช่วงที่เกิดการปฏิวัติประชาชนในตะวันออกกลางนั้น ธนาคารสวิสได้อายัดเงินในบัญชีลับของอดีตผู้นำตะวันออกกลาง 4 ประเทศ ประกอบด้วย ตูนิเซีย อียิปต์ ลิเบีย และซีเรีย รวมแล้วเป็นเงินเกือบ 1 พันล้านฟรังก์สวิส หรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาท แยกเป็นเงินในบัญชีลับของนายไซนี เอล อบิดีน เบน อาลี อดีตผู้นำตูนิเซีย ประมาณ 1,800 ล้านบาท ของนายฮอสนี มูบารัก อดีตผู้นำอียิปต์ มีจำนวนทั้งสิ้นราว 21,000 ล้านบาท อีกราว 3,000 ล้านบาท เป็นของ พ.อ.โมอัมมาร์ กัดดาฟี อดีตผู้นำลิเบีย และอีกราว 3,000 ล้านบาท ซุกซ่อนอยู่ในบัญชีลับของประธานาธิบดีซีเรีย

แต่หลังจากนั้น รัฐบาลของหลายประเทศทั้งในสหรัฐและยุโรป ก็ได้ช่วยกันตามล่าหาขุมทรัพย์ของอดีตผู้นำเผด็จการที่ซุกซ่อนอยู่ในหลายประเทศในรูปแบบต่างๆ ได้อีกหลายหมื่นล้านบาท!!

(อ่านต่อตอนต่อไป)