ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > มลภาวะในจีน ปัญหาที่ท้าทายมนุษยชาติ (ตอนที่12): มลพิษที่สารพัดพิษ ทั้ง”ดิน-น้ำ”ปนเปื้อนสารพิษอย่างร้ายแรง

มลภาวะในจีน ปัญหาที่ท้าทายมนุษยชาติ (ตอนที่12): มลพิษที่สารพัดพิษ ทั้ง”ดิน-น้ำ”ปนเปื้อนสารพิษอย่างร้ายแรง

12 กุมภาพันธ์ 2015


อิสรนันท์..รายงาน

เปลี่ยนศักราชใหมได้แค่เดือนเดียว รัฐบาลแดนมังกรก็ทยอยประกาศผลงานให้เห็นว่าเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขสารพัดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและมลภาวะในประเทศที่สุมเป็นภูเขาเลากา ทั้งมลภาวะในดิน น้ำ และอากาศ ขณะเดียวกัน ก็คอยติดตามผลการผันน้ำจากแม่น้ำแยงซีไปยังกรุงปักกิ่งและปริมณฑลเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งว่าจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ เหมือนกับที่เขื่อนซานเจี๋ยหรือเขื่อนสามโตรกหรือไตรผากำลังทำให้โตรกผาในหลายพื้นที่ถล่มเป็นแถบๆ อยู่ในขณะนี้

ข่าวดีข่าวแรกก็คือ ปัญหาหมอกควันพิษในกรุงปักกิ่งเริ่มดีขึ้นบ้างแล้ว แม้จะยังเกินมาตรฐานอยู่ โดยเว็บไซต์ของสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในมหานครปักกิ่งรายงานเมื่อต้นปีนี้ว่าเมื่อปีที่แล้ว ค่าพีเอ็ม 2.5 หรือปริมาณฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว ลดลงถึง 4 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อนหน้า แม้จะยังคงเกินค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกจำกัดไว้ที่ 25 ไมโครกรัมต่ออากาศ 1 ลูกบาศก์เมตร อยู่ราว 3 เท่าก็ตาม แต่ก็ทำให้อากาศในกรุงปักกิ่งมีคุณภาพดีเยี่ยมถึง 93 วัน ในจำนวนนี้มีคุณภาพอากาศดีกว่าเมื่อปี 2556 อยู่ 22 วัน ส่วนวันที่มีมลภาวะทางอากาศสูงมากมีอยู่ 45 วัน ลดลงจากปีก่อนหน้า 13 วัน

ข่าวดีอีกข่าวหนึ่งมาจากถ้อยแถลงของสมาคมถ่านหินแห่งชาติจีนที่ว่า สามารถลดการผลิตถ่านหินลงเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปีที่แล้วปริมาณการผลิตถ่านหินลดลงเหลือแค่ 3,500 ล้านตัน น้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าประมาณ 2.1 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าตลอดทั้งปีจะลดลงถึง 2.5 เปอร์เซ็นต์ แต่ในช่วงเดียวกัน ผลกำไรของบริษัทถ่านหินรายใหญ่ในประเทศได้วูบลงถึง 44 เปอร์เซ็นต์ เหลือแค่ 11,050 ล้านหยวน (ราว 594,000 ล้านบาท ) ส่วนหนึ่งสืบเนื่องจากราคาถ่านหินลดลงทั่วโลก อีกส่วนหนึ่งมาจากปริมาณการใช้ถ่านหินลดลง ปัจจัยทั้ง 2 ประการนี้ยิ่งทำให้รัฐบาลมีทางเลือกที่จะเร่งเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานสะอาดมากขึ้น จากขณะนี้ที่พึ่งพาถ่านหินในการผลิตกระแสไฟฟ้าถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ถ้าทำได้ตามที่ประกาศไว้ก็จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง จากขณะนี้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปล่อยรายใหญ่ของโลก

ข่าวดีข่าวที่ 3 ก็คือ ศาลสูงสุดของจีนได้ไฟเขียวให้กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่ต่อกรกับบรรดาตัวการก่อมลภาวะทั้งหลาย สามารถยื่นฟ้องบริษัทหรือบุคคลในข้อหาละเมิดกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมได้ทั่วประเทศ โดยไม่ต้องคำนึงว่าเอ็นจีโอเหล่านั้นมีสำนักงานอยู่ที่ใด พร้อมกันนั้นก็ให้ลดค่าธรรมเนียมศาลด้วย คำสั่งศาลสูงสุดครั้งนี้มีขึ้นขณะที่รัฐบาลปักกิ่งกำลังพยายามควบคุมมลภาวะตามเมืองใหญ่ๆ เมื่อปลายปีที่แล้วทางการได้สั่งปรับบริษัท 6 แห่ง กรณีปล่อยสารเคมีลงแม่น้ำ ในจำนวนนี้รวมไปถึงการสั่งปรับบริษัทแห่งหนึ่งที่เมืองไท่โจว ทางตะวันออกของมณฑลเจียงซู เป็นเงิน 160 ล้านหยวน (ราว 800 ล้านบาท) โทษฐานปล่อยน้ำเสียประมาณ 25,000 ตัน ลงแม่น้ำ 2 สาย ส่วนพนักงานของบริษัทนี้ 14 คน ที่เกี่ยวข้องกับการทิ้งน้ำเสียถูกตัดสินจำคุก 2-8 ปี ในข้อหาก่อมลภาวะวันส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่ก่อนหน้านี้ โทษสูงสุดในความผิดเดียวกันก็แค่ปรับ 37.14 ล้านหยวน (ราว 186 ล้านบาท)

ด้านไชน่า บิสซิเนส นิวส์ รายงานโดยอ้างถ้อยแถลงร่วมของกระทรวงที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ และกระทรวงเกษตรที่ประกาศนโยบายจะร่วมกันปกป้องพื้นที่เกษตรกรรมรอบๆ เขต 14 เมืองใหญ่ทั่วประเทศ รวมไปถึง ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว และเฉิงตู ด้วยการสร้าง “เข็มขัดพื้นที่เพาะปลูกถาวร” ขึ้น จำกัดให้เป็นพื้นที่สำหรับการเกษตรเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้แผนพัฒนาและขยายเขตเมืองลุกลามจนกลืนกินพื้นที่เพาะปลูก อันจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงแหล่งอาหารในอนาคต โดยในเบื้องต้นทางการได้เตรียมนำร่องนโยบายปกป้องพื้นที่การเกษตรตามเมืองใหญ่ที่มีประชากรมากกว่า 5 ล้านคน จากนั้นจึงจะขยายไปยังเมืองขนาดเล็กรองๆ ลงไปทั่วประเทศ

ในรายงานของไชน่า บิสซิเนส นิวส์ ยังได้เปิดเผยรายละเอียดผลการสำรวจของสถาบันสำรวจและการวางผังที่ดินจีนที่พบว่าเขตเมืองต่างๆ ทั่วประเทศได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา และรุกล้ำกินพื้นที่เกษตรกรรมโดยรอบเพิ่มขึ้นทุกขณะ จากการสำรวจที่ดินทั่วประเทศ พบว่าระหว่างปี 2539-2552 พื้นที่เพาะปลูก 130,000 ตารางกิโลเมตร หรือเท่ากับครึ่งหนึ่งของแดนผู้ดีอังกฤษ ถูกพัฒนาให้กลายเป็นเขตเมือง เฉพาะปี 2556 เพียงปีเดียว พื้นที่เขตเมืองทะยานสูงขึ้นแตะ 8 ล้านเฮกเตอร์ หรือราว 50 ล้านไร่ ส่งผลให้ตัวเลขพื้นที่เพาะปลูกต่อหัวประชากรเมื่อปี 2552 มีเพียงแค่ 0.101 เฮกเตอร์ หรือ ประมาณครึ่งไร่เศษเท่านั้น ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของค่าเฉลี่ยทั่วโลก

รายงานชิ้นนี้ได้อ้างความเห็นของนักวิเคราะห์หลายคนที่เตือนว่า แม้ว่านโยบายควบคุมการขยายเขตเมืองเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ที่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ การหยุดยั้งไม่ให้รัฐบาลท้องถิ่นแสวงหากำไรก้อนงาม จนยอมขายที่ดินในชนบทให้กับบรรดานักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ดังกรณีที่อนุญาตให้ทลายภูเขาอันงดงามหลายลูกที่มณฑลซานตงเพื่อแปลงเป็นหมู่บ้านจัดสรรหรูราคาแพง

จะว่าไปแล้ว มาตรการดังกล่าวข้างต้น สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากกว่าการแก้ปัญหาของเทศกิจในเสฉวนที่เดินตามรอยเทศบาลปักกิ่งและเมืองใหญ่หลายเมืองด้วยการประกาศจะเอาจริงเอาจังกับการกวาดล้างถึงขั้นปิดโรงงานทำหมูรมควันและกุนเชียง โดยทางการโทษว่าเป็นตัวการทำให้เมืองต๋าโจวต้องเผชิญกับปัญหาหมอกควันอย่างหนัก ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา มีฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว หรือพีเอ็ม 2.5 อยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

นับเป็นเมืองใหญ่ล่าสุดที่คุมเข้มการผลิตอาหารประเภทปิ้งย่าง หลังจากกรุงปักกิ่งและเมืองใหญ่หลายแห่งได้สั่งกวาดล้างร้านอาหารประเภทปิ้งๆ ย่างๆ หรือบาร์บีคิว ถือเป็นหนึ่งในมาตรการขจัดปัญหามลภาวะทางอากาศ เมื่อเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว หน่วยคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในปักกิ่งและเหอหนาน ยังได้สั่งห้ามชาวนาเผาฟางข้าว เพื่อแก้ปัญหาหมอกควันพิษ ท่ามการเสียงโวยวายไปทั่วว่าแก้ไม่ถูกจุด เนื่องจากชาวนาได้เผาฟางข้าวมาช้านานนับร้อยๆ ปีแล้ว

มาตรการคุมเข้มโรงงานทำกุนเชียงและหมูรมควันนี้มีขึ้นแม้ว่าอาสาสมัครของศูนย์พัฒนาสวัสดิการสังคมปาอวี่ อันเป็นกลุ่มคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของภาคเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร จะแถลงถึงผลการสำรวจแหล่งผลิตกุนเชียงและหมูรมควัน 12 แห่ง เป็นเวลา 3 วัน เพื่อศึกษาผลกระทบของกระบวนการรมควันเนื้อหมูว่าทำให้เกิดควันในรัศมีเพียง 50 เมตรเท่านั้น

คำสั่งที่สวนกระแสชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทำให้ชาวเน็ตต่างวิจารณ์กันขรมถึงการสั่งกวาดล้างการทำหมูรมควันและกุนเชียงว่าจะกระทบต่อวัฒนธรรมการกินอยู่ของลูกหลานมังกร ซึ่งจะถนอมอาหารกันด้วยการรมควันและทำเป็นกุนเชียง ชาวเน็ตคนหนึ่งถึงกับโพสต์ด้วยข้อความเผ็ดร้อนว่า “การทำหมูรมควันมีประวัติศาสตร์มายาวนาน มีแต่คนงี่เง่าเท่านั้นที่บอกว่าหมูรมควันทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศ”

ที่มาภาพ : http://i1.huffpost.com/gen/1536839/thumbs/n-CHINA-FARM-large570.jpg
ที่มาภาพ : http://i1.huffpost.com/gen/1536839/thumbs/n-CHINA-FARM-large570.jpg

ท่ามกลางข่าวดีก็มีข่าวร้ายปนเข้ามาด้วย เมื่อกระทรวงคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และกระทรวงที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ได้ร่วมกันแถลงยอมรับเป็นครั้งแรกว่าดินในประเทศนี้ปนเปื้อนสารพิษร้ายแรง ถือเป็นระเบิดลูกใหม่ในด้านความปลอดภัยอาหาร หลังจากปกปิดข้อมูลนี้เป็นความลับมานาน ก่อนหน้านี้ เมื่อปีที่แล้ว กระทรวงนี้เคยแถลงยืนยันไม่ยอมเปิดเผยผลการสำรวจตัวอย่างดิน อ้างว่าเป็นความลับของประเทศ แม้ว่ากลุ่มรณรงค์สิ่งแวดล้อมต่างๆ จะพยายามกดดันอย่างหนักให้เปิดเผยข้อมูลนี้ เหมือนกับที่เคยกดดันรัฐบาลจนต้องยอมเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับมลภาวะในอากาศที่แม่นยำมากขึ้น การยอมอ่อนข้อของทางการครั้งนี้ ยิ่งตอกย้ำถึงความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของดิน หลังจากอุตสาหกรรมในประเทศขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้งในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ทั้ง 2 กระทรวงได้ร่วมกันเปิดเผยว่า จากผลสำรวจตัวอย่างดินจากทั่วประเทศ ระหว่างปี 2548–2556 คิดเป็นเนื้อที่ราว 6 ล้าน 3 แสนตารางกิโลเมตร ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่เพาะปลูกราว 19.4 เปอร์เซ็นต์ ปรากฏว่าพบพื้นที่ที่ปนเปื้อนสารพิษกินบริเวณถึงเกือบ 1 ใน 5 หรือมีขนาดใหญ่กว่าประเทศสเปนถึง 2 เท่า ในจำนวนนี้รวมไปถึงพื้นที่เพาะปลูกบริเวณกว้างด้วย ขณะที่แหล่งข่าวบางกระแสอ้างผลการศึกษาล่าสุดเช่นกันว่าดินที่ปนเปื้อนสารพิษนั้นมีมากถึง 2 ใน 3 ของตัวอย่างดินที่สำรวจ นอกจากนี้ ยังพบว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของน้ำก็ปนเปื้อนสารพิษจนไม่สามารถใช้และดื่มได้

โดยพื้นที่ที่ปนเปื้อนสารพิษมากที่สุด ได้แก่ เขตอุตสาหกรรมบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี และดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียงในกวางโจว ทางภาคใต้ของประเทศ ตลอดจนหลายพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้ ตัวการใหญ่ที่ทำให้ดินปนเปื้อนสารพิษก็คือโรงงาน บริษัทเหมืองแร่ และเกษตรกรรม

ผลการศึกษายังพบว่า กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของดินปนเปื้อนสารพิษนี้ปนเปื้อนโลหะหนักอย่างแคดเมียม นิเกิล และสารหนู มากที่สุด ซึ่งล้วนเป็นสารก่อมะเร็ง โดยเฉพาะแคดเมียม นอกจากเป็นสารก่อมะเร็งแล้ว ยังอาจทำลายไตและมีผลเสียอื่นๆ ต่อสุขภาพ

ที่น่าห่วงมากที่สุดก็คือข้าว อันเป็นอาหารหลักของลูกหลานมังกรนั้นอาจจะดูดซึมสารพิษนี้ เมื่อต้นปีที่แล้ว สื่อจีนรายงานว่านับตั้งแต่ปี 2552 มีการขายข้าวปนเปื้อนโลหะแคดเมียมหลายหมื่นตันในราคาถูก ให้กับผู้ผลิตบะหมี่ในภาคใต้ของประเทศ แม้ว่าผู้ตรวจการของรัฐบาลจะแถลงเตือนว่าไม่สามารถนำไปรับประทานแม้จะแปลงรูปเป็นบะหมี่ก็ตาม เพราะอาจเป็นอันตรายได้หากรับประทานข้าวปนเปื้อนสารพิษ ทำได้เพียงแค่ผลิตสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร เช่น แอลกอฮอล์สำหรับการผลิตอุตสาหกรรม แต่ปรากฏว่าหลังจากนั้นไม่กี่เดือน ทางการกลับตรวจพบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของข้าวที่ขายในเมืองกวางโจวปนเปื้อนแคดเมียม จนต้องสั่งสอบโรงสีข้าวหลายแห่ง

นอกจากนี้ กระทรวงคุ้มครองสิ่งแวดล้อมยังยอมรับด้วยว่า ขณะนี้ได้เกิด “หมู่บ้านมะเร็ง” ขึ้นจริง หนำซ้ำไม่ได้มีแค่แห่งเดียว หากแต่มีหลายแห่งในประเทศ หลังจากสื่อรายงานว่า พื้นที่ในชนบทกว่า 100 แห่ง ปนเปื้อนสารพิษ หนำซ้ำ ยังพบหลักฐานว่าชาวบ้านป่วยเป็นโรคมะเร็งสูงขึ้น

ไม่ทันไร ผู้นำจงหนานไห่ก็ประสบปัญหา “ผีซ้ำด้ำพลอย” เมื่อมีข่าวร้ายอีกข่าวหนึ่งประดังเข้ามา นอกเหนือจากมลพิษในดินและมลภาวะในอากาศแล้ว อีกปัญหาหนึ่งที่กำลังท้าทายรัฐบาลอยู่ก็คือมลพิษทางน้ำ จนทำให้แม่น้ำ ลำคลอง และทะเลสาบหลายแห่งเปลี่ยนสี อันเนื่องจากการปล่อยน้ำเสียที่มีสารพิษปนเปื้อนหลายสิบล้านตันลงน้ำในแต่ละปี จนส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชน ผลการสำรวจยังพบว่า มีประชาชนกว่า 500 ล้านคน ยังคงดื่มและใช้น้ำจากแหล่งธรรมชาติที่ไม่สะอาดปลอดภัยเพียงพอหรือปนเปื้อนสารพิษ ขณะที่ทางการยังไม่สามารถคลี่คลายหรือขจัดปัญหาผลพิษในน้ำได้ภายในเร็ววัน

ที่มาภาพ : http://i.guim.co.uk/static/w-620/h--/q-95/sys-images/Guardian/Pix/pictures/2014/1/23/1390501281988/3f422c0c-68d3-428a-9ffb-8849adfab56e-1020x612.jpeg
ที่มาภาพ : http://i.guim.co.uk/static/w-620/h–/q-95/sys-images/Guardian/Pix/pictures/2014/1/23/1390501281988/3f422c0c-68d3-428a-9ffb-8849adfab56e-1020×612.jpeg

ทั้งข่าวดีและข่าวร้ายในแดนมังกร มีขึ้นในช่วงที่กรุงเตหะราน นครหลวงของอิหร่าน รวมทั้งเมืองอิสฟาฮาน เมืองท่องเที่ยว และเมืองมัชฮัด เมืองสำคญทางศาสนา ประสบวิกฤติมลภาวะทางอากาศที่ปนเปื้อนคาร์บอนมอนนอกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์ หนักหน่วงที่สุดเมื่อปลายปีที่แล้ว กระทั่งต้องหามชาวบ้านเกือบ 400 รายส่งโรงพยาบาลหลังเกิดปัญหาด้านหัวใจและระบบทางเดินหายใจ อีกราว 1,500 คน ต้องได้รับการรักษาอาการป่วยภายนอก นอกจากนี้ ทางการก็พร้อมจะสั่งปิดโรงเรียน หากสถานการณ์เลวร้ายลง รวมไปถึงกำหนดมาตรการจำกัดด้านการจราจรทั่วทั้งเมืองหลวง โดยในเบื้องต้นได้แนะนำผู้ป่วยและคนชราให้หลีกเลี่ยงสัญจรในตัวเมืองที่เต็มไปด้วยมลภาวะ

ต้นเหตุของมลภาะทางอากาศในอิหร่านก็เหมือนกับจีนแทบไม่ผิดเพี้ยน เนื่องจากอิหร่านเป็นประเทศที่มีคนใช้รถยนต์โดยเฉลี่ยมากกว่าประเทศอื่นๆ เมื่อปีที่แล้ว มีรถยนต์กว่า 4 ล้านคันปล่อยไอเสียขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ และสถานการณ์นี้มีแต่เลวร้ายลงในช่วงฤดูหนาว เนื่องจากอากาศเย็นนำพาหมอกควันพิษที่ก่อให้เกิดมะเร็งปกคลุมไปทั่วเมือง ที่เลวร้ายกว่านั้น น้ำมันที่ใช้บางส่วนนั้นมีคุณภาพต่ำ

กระทรวงสาธารณสุขอิหร่านเคยแถลงยอมรับเมื่อปี 2555 ว่า ปัญหามลภาวะทางอากาศทำให้มีผู้คนราว 80,000 คนทั่วประเทศเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่มีถิ่นฐานในกรุงเตหะรานถึง 4,500 คน

ขณะที่แดนมังกรกำลังขะมักเขม้นกับการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอยู่นั้น องค์การนาซาและสำนักงานสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ ได้เปิดเผยผลการศึกษาที่ตรงกันว่า ปีที่แล้วเป็นปีที่โลกร้อนมากที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึก โดยอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้น 0.96 องศาเซลเซียส สูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของศตวรรษที่ 20 และยังทำลายสถิติโลกร้อนสุดเมื่อปี 2548 และ 2553 ส่งผลให้หลายพื้นที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนสุดเป็นประวัติการณ์ ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย หรือพื้นที่ทางตะวันตกของสหรัฐฯ แต่บริเวณฝั่งตะวันออกของประเทศนี้กลับมีอุณหภูมิลดต่ำลงกว่าค่าเฉลี่ย ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่เย็นที่สุดในโลก

อากาศร้อนสุดนี้ ยังครอบคลุมไปถึงพื้นที่ตอนในของทวีปอเมริกาใต้ และหลายประเทศในทวีปยุโรป รวมไปถึงอังกฤษ ซึ่งทุบสถิติอากาศร้อนสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 2453 โดยอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีสูงกว่าค่าเฉลี่ยระหว่างปี 2524-2553 ราว 1.1 องศาเซลเซียส และสูงกว่าสถิติร้อนที่สุดเมื่อปี 2549 ราว 0.2 องศาเซลเซียส แต่ในขณะเดียวกัน ปี 2557 ยังถือเป็นปีที่อังกฤษมีฝนตกชุกที่สุดมากเป็นอันดับ 4 นับตั้งแต่ปี 2453

เช่นเดียวกับฝรั่งเศส ซึ่งทุบสถิติร้อนที่สุดนับตั้งแต่ปี 2443 โดยค่าเฉลี่ยอุณหภูมิตลอดทั้งปีสูงกว่าค่าเฉลี่ยระหว่างปี 2524-2553 ราว 1.2 องศาเซลเซียส ขณะที่สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของเยอรมนีและเบลเยียมรายงานตรงกันว่าค่าเฉลี่ยอุณหภูมิในประเทศตลอดทั้งปี 2557 สูงกว่าเกณฑ์ราว 1.4 องศาเซลเซียส ส่วนสำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติของออสเตรเลียรายงานว่า ปีที่แล้วถือเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นอันดับ 3 รองจากสถิติเมื่อปี 2556 และ 2548

ด้านรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมบราซิลแถลงว่า ประเทศกำลังเผชิญภัยแล้งหนักสุดในรอบกว่า 80 ปีวิกฤติการณ์ครั้งนี้จะส่งผลกระทบทั้งต่อภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม และอาจบั่นทอนเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมกับเตือนประชาชนในมหานครใหญ่ที่มีประชาชนอาศัยหนาแน่นอย่างเซาเปาโลและรีโอเดจาเนโร ให้บริโภคน้ำอย่างประหยัด ทางการยังได้เตรียมมาตรการประหยัดไฟ อาทิ คิดค่าไฟแพงขึ้นสำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟมาก ส่วนครัวเรือนใดที่ใช้ไฟน้อยก็จะได้ลดค่าไฟ รวมถึงจำกัดการดึงน้ำจากแม่น้ำเข้าไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม เนื่องจากน้ำในเขื่อนที่จะใช้ในการผลิตไฟฟ้ามีปริมาณน้อยลง อ่างเก็บน้ำหลักในรัฐรีโอเดจาเนโรมีปริมาณน้ำลดลงจนแตะระดับศูนย์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ก่อสร้าง

นักวิทยาศาสตร์ของนาซาชี้ด้วยว่าสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้โลกร้อนขึ้นเป็นเพราะอุณหภูมิของมหาสมุทรสูงขึ้น ทำให้อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกทำลายสถิติเดิมเมื่อปี 2548 และ 2553 ซึ่งเป็น 2 ปีที่โลกทำสถิติร้อนที่สุด และเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2540 ที่ปรากฏการณ์เอลนีโญไม่ได้มีส่วนทำให้โลกร้อนขึ้น ซึ่งหากอุณหภูมิของโลกยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ตาม ไม่ว่าจะเป็นระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงจนทำให้ชุมชนชายฝั่งจมหาย หรือทำให้เกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงยิ่งขึ้น ทั้งคลื่นพายุซัดฝั่ง และภาวะความแห้งแล้งที่จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร แหล่งอาหารสำคัญของมนุษย์