ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “ผู้นำโกง” – ตามล่าขุมทรัพย์ผู้นำอาหรับ (2)

“ผู้นำโกง” – ตามล่าขุมทรัพย์ผู้นำอาหรับ (2)

19 พฤศจิกายน 2012


รายงานโดย: อิสรนันท์

นายไซน์หรือซิเน อัล-อาบิดัน เบน อาลี วัย 74 ปี ประธานาธิบดีคนที่ 2 ของตูนิเซีย ที่มาภาพ: http://www.thairath.co.th
นายไซน์หรือซิเน อัล-อาบิดัน เบน อาลี วัย 74 ปี ประธานาธิบดีคนที่ 2 ของตูนิเซีย ที่มาภาพ: http://www.thairath.co.th

นายไซน์หรือซิเน อัล-อาบิดัน เบน อาลี วัย 74 ปี ประธานาธิบดีคนที่ 2 ของตูนิเซียนับตั้งแต่ได้เอกราชจากอังกฤษเมื่อปี 2499 ผู้สามารถยึดเกาะบัลลังก์แห่งอำนาจอย่างเหนียวแน่นมากว่า 23 ปีนับตั้งแต่วันแรกที่ก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากนายฮาบิบ บูร์กิบา ประธานาธิบดีคนแรกเมื่อปี 2530 พลันมีอันตกม้าตายดื้อๆ เหมือนกับอดีตผู้นำของหลายประเทศ อาทิ อดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส แห่งฟิลิปปินส์ และอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตแห่งอินโดนีเซีย เนื่องจากความหลงมัวเมาในอำนาจ กล้าขึ้นเงินเดือนตัวเองจาก 2,000 ดินาร์ เมื่อปี 2530 เป็นเกือบ 4.7 ล้านดินาร์ ภายในปี 2541 ไม่นับรวมถึงการฉ้อราษฎร์บังหลวง การกอบโกยสมบัติแผ่นดินมาเป็นสมบัติส่วนตัว ผูกขาดอำนาจและใช้อำนาจในทางมิชอบ ช่วงที่นายเบน อาลี กำลังถูกโค่นล้มนั้น เจ้าตัวกำลังสั่งให้ตกแต่งเครื่องบินแอร์บัสมูลค่า 250 ล้านดอลลาร์ หรือราว 7,500 ล้านบาท ไว้ใช้เองภายใต้ข้ออ้างว่าเป็นเครื่องบินของทางการ

นอกจากนี้ ยังปล่อยให้วงศาคณาญาติและคนใกล้ชิดจำนวนหยิบมือหนึ่งทุจริตคอร์รัปชันจนร่ำรวยล้นฟ้า ใช้ชีวิตอย่างสุดหรูหราฟุ่มเฟือย ขณะที่ประชาชนมีแต่จนลงและจนลง ช่องว่างระหว่างคนมีกับคนจนมีแต่ถ่างกว้างขึ้น โดยไม่เคยมีใครคิดจะลดช่องว่างทางชนชั้นนี้ ปล่อยให้เป็นแผลกลัดหนองจนฟอนเฟะไปทั้งตัว

กว่านายเบน อาลี จะตระหนักถึงความจริงข้อนี้ก็สายเกินการณ์ไปเสียแล้ว กลายเป็นผู้นำอาหรับคนแรกที่ตกกระป๋องการเมืองจากการปฏิวัติประชาชนชาวอาหรับหรืออาหรับสปริงหรือการปฏิวัติดอกมะลิ ซึ่งลามไปทั่วอาหรับและแอฟริกาเหนือราวกับไฟลามทุ่ง ไม่ว่าจะเป็นที่อียิปต์ บาห์เรน เยเมน ลิเบีย ซีเรีย แอลจีเรีย จอร์แดน โอมาน และซูดาน ทำให้เก้าอี้ผู้นำหลายประเทศที่เหนียวแน่นมากว่า 20 ปี พลันมีอันล้มระเนนระนาดเหมือนกับตัวโดมิโนไม่มีผิด

จากนั้นเป็นต้นมา กระบวนการตามล่าผู้นำเหล่านั้น ซึ่งรีบหอบสมบัติล้นฟ้าพาครอบครัวไปเสวยสุขในต่างประเทศ เพื่อนำตัวมาลงโทษให้สาสมกับความผิดก็เริ่มขึ้น เช่นเดียวกับการตามล่าหาสมบัติที่ซุกซ่อนในหลายประเทศในรูปแบบต่างๆ เพื่อนำกลับคืนมาเป็นสมบัติแผ่นดินดังเดิม

แต่การตามล่าสมบัติเหล่านั้น ก็แสนยากเย็นแสนเข็ญยิ่งกว่าเข็นครกยักษ์ขึ้นภูเขาสูงชัน หรือเหมือนกับงมเข็มในมหาสมุทร คงต้องใช้เวลานานหลายปีหรือกว่าสิบปีกว่าจะทวงคืนสมบัติบางส่วนกลับคืนมา เฉกเช่นเดียวกันกับการตามล่าขุมทรัพย์ของมาร์กอสและซูฮาร์โต ซึ่งแม้เวลาจะล่วงเลยมาหลายสิบปี แค่ได้คืนมาบางส่วนก็ถือเป็นบุญของแผ่นดินแล้ว

ว่าไปแล้ว ชาวตูนีเซียอาจจะถือว่ามีกรรมและมีบุญหนักพอๆ กัน มีกรรมตรงที่ปล่อยให้นายเบน อาลี และวงศาคณาญาติของสองตระกูลผู้ยิ่งใหญ่ทั้งตระกูลเบน อาลี และตระกูลทราเบลซี ของสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งเจ้าของสารพัดฉายา อาทิ “มารี อ็องตัวแน็ต แห่งตูนีเซีย” และ “อิเมลดา มาร์กอส แห่งอาหรับ” มีเวลาปล้นชาติปล้นสมบัติของแผ่นดินนานถึง 23 ปี กว่าฟางเส้นสุดท้ายจะขาดผึงกลายเป็นดินระเบิดใหญ่ระเบิดไปทั่วทุกสังคม สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจรวมมูลค่ากว่า 2,200 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 66,000 ล้านบาท

ที่มาภาพ: http://www.thehindu.com
ที่มาภาพ: http://www.thehindu.com

แต่บุญยังดีที่นายเบน อาลี ใจเสาะตามประสาคนแก่วัยกว่า 70 ปี จึงรีบหนีออกจากประเทศอย่างฉุกละหุกไปเลียแผลอยู่ที่เมืองเจดดาห์ ริมชายฝั่งทะเลแดงในประเทศซาอุดีอาระเบีย หลังการลุกฮือของประชาชนแค่ 28 วัน โดยยอมตัดใจทิ้งสมบัติส่วนหนึ่งไว้เบื้องหลัง ซึ่งกลายเป็นหลักฐานสำคัญมัดตัวนายเบน อาลี และครอบครัวว่าทุจริตคอร์รัปชันและใช้อำนาจในทางมิชอบมากแค่ไหน

ท้ายสุดก็ถูกศาลตัดสินประหารชีวิตในข้อหาทุจริตคอร์รัปชัน ยักยอกทรัพย์สมบัติของแผ่นดิน ฟอกเงิน ถ่ายโอนเงินและทรัพย์สินไปต่างประเทศอย่างผิดกฎหมาย ค้ายาเสพย์ติด มีอาวุธไว้ในความครอบครอง และครอบครองวัตถุโบราณโดยผิดกฎหมาย รวมทั้งข้อหาอื่นๆ รวม 93 กระทง ด้วยกัน นอกเหนือจากอาจถูกนำตัวขึ้นศาลทหารในข้อหาขายชาติ ทรมาน และฆาตกรรม ซึ่งมีโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต

หลังการปฏิวัติประชาชนประสบความสำเร็จแล้ว รัฐบาลใหม่ของตูนิเซียได้ตั้งคณะกรรมการแห่งชาติขึ้นมาชุดหนึ่ง ประกอบด้วยตัวแทนจากกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการคลัง หน่วยรักษาความปลอดภัยประธานาธิบดี หน่วยปราบปรามยาเสพย์ติด และผู้เชี่ยวชาญด้านอัญมณี ทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันและการฟอกเงิน รวมทั้งการตามล่าหากรุสมบัติของนายเบน อาลี ที่ยังซุกซ่อนอยู่ในประเทศและต่างประเทศ

ปรากฏว่า หลังจากนั้นไม่นานนักก็พบขุมทรัพย์ที่ซ่อนอยู่ นอกเหนือจากมหาคฤหาสน์ยักษ์หลายสิบหลังและรถหรูราคาแพงอีกหลายสิบคันแล้ว ยังพบกรุสมบัติที่ซุกซ่อนไว้ตามจุดต่างๆ ทั่วทำเนียบประธานาธิบดี รวมถึงตู้นิรภัยหลังตู้หนังสือ และที่คฤหาสน์หรูในเมืองคาร์เธจ เมืองโบราณที่มีอายุมานานกว่าพันปี กรุสมบัติเหล่านี้มีทั้งเพชร ทองคำ อัญมณีที่เก็บไว้ในซองใส่อัญมณี 169 ซอง และเงินสดเป็นฟ่อนๆ จำนวนหลายล้านยูโรและดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งเงินปอนด์อีก 11,060 ปอนด์ ยาเสพย์ติด 40 กรัม โบราณวัตถุล้ำค่า และปืนกลผลิตในสหรัฐ 1 กระบอก

ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรียุติธรรมเพิ่งจะแถลงว่าพบยาเสพย์ติดขนาด 2 กิโลกรัม ที่บ้านพักของประธานาธิบดีในเมืองคาร์เธจ นอกจากนี้ ยังพบเงินสด 27 ล้านดอลลาร์ ที่คฤหาสน์หรูเยี่ยงพระราชวังที่ย่านซิดิ บู ซาอิด บริเวณชานเมืองทางตอนเหนือของกรุงตูนิส

สมบัติเหล่านี้เป็นสมบัติอันน้อยนิดที่นายเบน อาลี และครอบครัวทิ้งไว้หลังจากปกครองประเทศด้วยกำปั้นเหล็กมาตลอดช่วง 23 ปี จนถึงขณะนี้ยังไม่อาจประเมินได้ว่าตระกูลนี้มีทรัพย์สินรวมกันเท่าไรแน่ แต่จากการประเมินขององค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศ คาดว่าอาจสูงถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3 แสน 6 พันล้านบาท จากการที่นายเบน อาลี และวงศาคณาญาติตลอดจนคนใกล้ชิดกลุ่มหนึ่งได้เข้าไปผูกขาดเศรษฐกิจในประเทศถึงกว่า 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโดยรวมทั้งประเทศที่มีขนาดราว 44,000 ล้านดอลลาร์ โดยมีหุ้นใหญ่อยู่ในธุรกิจใหญ่น้อยเกือบทุกกิจการ ทั้งภาคธนาคาร โทรคมนาคม อสังหาริมทรัพย์ ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์หรู และธุรกิจอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน

นอกจากนี้ ยังเชื่อกันว่าอดีตครอบครัวหมายเลขหนึ่งตูนิเซียอาจมีทรัพย์สมบัติมูลค่า 3,500 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.05 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เก็บอยู่ในธนาคารฝรั่งเศส อดีตเจ้าอาณานิคม แต่รัฐบาลปารีสได้ประกาศจะอายัดทรัพย์สินทั้งหมดหากสืบสาวได้ว่าได้มาในสมัยบริหารประเทศ รวมไปถึงการเตรียมขับไล่สมาชิกครอบครัวนายเบน อาลี ออกไปจากแผ่นดินฝรั่งเศสด้วย ด้านสวิตเซอร์แลนด์ เป็นประเทศแรกๆ ที่สั่งอายัดทรัพย์สินของตระกูลเบน อาลี และคนใกล้ชิดที่ซุกเงินในบัญชีลับหลายร้อยล้านฟรังก์สวิส

ขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์เดอะวอลสตรีทเจอร์นัลได้เจาะข่าวลึกถึงกลวิธีการทำธุรกิจของคนในตระกูลเบน อาลี ด้วยการสัมภาษณ์นักการเมืองและนักธุรกิจใหญ่กว่าสิบคน พบว่า ตระกูลของบุรุษหมายเลขหนึ่งแห่งตูนีเซียได้ใช้วิธีสกปรก ใช้ทั้งอำนาจการเมืองและกฎหมายมาบีบบังคับขู่เข็ญคู่ต่อสู้ทางธุรกิจให้ยอมจำนน เพราะไม่อาจขัดขืนได้หากต้องการจะทำธุรกิจในประเทศนี้ต่อไป จนทำให้นักธุรกิจใหญ่น้อยหมดกำลังใจที่จะคิดหาโครงการใหม่ๆ เพราะทำไปก็แค่นั้น สุดท้ายก็ถูกทายาทของสองตระกูลผู้ยิ่งใหญ่ทั้งตระกูลเบน อาลี และทราเบลซีของสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งฮุบไปอีก

นักธุรกิจผู้หนึ่งเผยว่า เคยถูกทายาทของสองตระกูลผู้ยิ่งใหญ่ขอร้องแกมบังคับให้ต้องขายหุ้น 3 เปอร์เซ็นต์ของธนาคารยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งของตูนีเซีย ให้กับหลานชายคนหนึ่งของนายเบน อาลี และเมื่อหนังสือพิมพ์เดอะวอลสตรีทเจอร์นัลได้ตรวจสอบข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ตูนิเซียและพบว่า ในปลายปี 2551 หลานชายบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ผู้นี้ได้กว้านซื้อหุ้นในธนาคารแห่งนั้นไปกว่า 10% โดยไม่มีใครกล้าโวยวายถึงการได้หุ้นมาโดยมิชอบ “ตระกูลเบน อาลี มีอำนาจและกฎหมายอยู่ในมือ แล้วเราจะไปทำอะไรได้” นักธุรกิจผู้นั้นให้ความเห็นด้วยความขมขื่น

ยิ่งกว่านั้น ตระกูลเบน อาลี ยังกลั่นแกล้งนักธุรกิจผู้หนึ่งที่ต้องการเปิดเครือข่ายดีลเลอร์รถฝรั่งเศสแข่งกับธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถของสองตระกูลผู้นำ ด้วยการอายัดรถไว้ที่ศุลกากรเป็นเวลาหลายเดือน แถมยังเรียกตรวจสอบภาษี 17 รายการ จนทำให้ธุรกิจแทบจะล้มไปต่อหน้า ส่วนนักธุรกิจอีกผู้หนึ่งเผยว่ามีโครงการจะเปิดมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ แต่ก็ยอมตัดใจล้มโครงการนี้ทันทีหลังเข้าพบนายเบน อาลี แล้วก็ถูกหักหัวคิวง่ายๆ ว่าต้องแบ่งรายได้ 50-50 เพราะถ้าขืนทำไปก็มีแต่ตายกับตายลูกเดียว