รายงานโดย : อิสรนันท์
ขณะเดียวกัน ทางการสามารถจับกุมสมาชิกของครอบครัวของนายเบน อาลีอย่างน้อย 33 คน ขณะพยายามหลบหนีออกนอกประเทศ มีข่าวลือที่ไม่ยืนยันว่าน้องเขยของนายเบน อาลี ถูกกลุ่มผู้ประท้วงรุมทำร้ายจนเสียชีวิตที่สนามบินตูนิส ขณะที่นักบินคนหนึ่งซึ่งยืนกรานไม่ยอมนำเครื่องบินทะยานขึ้นจากสนามบิน เนื่องจากมีคนในครอบครัวของนางไลลา 5 คนโดยสารอยู่ด้วยหมายจะหลบหนีออกประเทศ นักบินผู้นั้นก็กลายเป็นวีรบุรุษของประเทศทันที
นับเป็นมหาหายนภัยที่คนในตระกูลเบน อาลีและทราเบลซีที่ไม่เคยคิดฝันมาก่อนว่าบ่วงกรรมนี้จะตามทันราวติดจรวด สมบัติต่างๆที่สะสมมาจากการทุจริตฉ้อฉลและการใช้อำนาจบาตรใหญ่ถูกอายัด ธนาคารซีย์ตูนาที่ก่อตั้งโดยนายมาเตรีถูกธนาคารกลางเข้าควบคุมเพื่อปกป้องเงินฝากของประชาชน ขณะเดียวกัน อัยการตูนีเซียก็ประสานงานกับรัฐบาลฝรั่งเศสขอให้สอบสวนบัญชีเงินฝากในธนาคารหลายแห่ง อสังหาริมทรัพย์และทรัพย์สินอื่นๆ รวมมูลค่าราว 1.8 หมื่นล้านบาทที่เชื่อว่าเป็นของนายเบน อาลี นางไลลา และลูกหลาน ถ้าพิสูจน์ว่าเป็นของนายเบน อาลีจริงก็ขอให้อายัดทรัพย์สินเหล่านี้ก่อนจะดำเนินการคืนให้กับประชาชน ในภายหลัง
“คนในตระกูลทราเบลซีล้วนแต่เป็นพวกหัวขโมย พวกขี้โกงและฆาตกร” ชาวตูนีเซียหลายคนให้ความเห็น “พวกเขาพร้อมจะทำทุกอย่างเพียงเพื่อให้ได้เงินมาเข้ากระเป๋าตัวเองเท่านั้น”…พูดจริงๆ ประธานาธิบดีก็ทำอะไรดีให้ประเทศไว้มาก แต่ครอบครัวของเขาและของเมียล้วนแต่ทำร้ายประเทศ”
แคเธอรีน เกราเซียต ผู้ร่วมเขียนหนังสือเรื่อง “La Regente de Carthage” เกี่ยวกับนางไลลา ทาเบลซี ให้ความเห็นว่าตระกูลทาเบลซีของเธอเป็นตัวการแท้จริงของการล้มรัฐบาลนายเบน อาลี “ชาวตูนีเซียต่างรู้ดีว่าอะไรเป็นสาเหตุสำคัญทำให้พวกตัวเองต้องเจ็บป่วยหรือยากจนอย่างนี้…แต่เราก็ไม่สามารถโทษว่าต้นเหตุมาจากตระกูลทราเบลซีเพียงอย่างเดียว ต้องโทษนายเบน อาลีด้วยที่ปล่อยให้พวกนั้นทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ”
ในหนังสือเล่มนี้เปิดเผยว่านางไลลา ทราเบลซี เกิดเมื่อปี 2500 เป็นลูกคนที่ 5 จากพี่น้องรวมทั้งหมด 11 คนของพ่อค้าขายผลไม้แห้ง ส่วนแม่ก็เป็นแค่แม่บ้านธรรมดาๆคนหนึ่ง เมื่อโตขึ้นเธอก็ยึดอาชีพเป็นช่างทำผม และได้แต่งงานครั้งแรกแต่ชีวิตแต่งงานครั้งนั้นก็ยุติลงหลังจากนั้นไม่นานนัก ต่อมา เธอแต่งานหนที่สองกับนายเบน อาลี เมื่อปี 2535 แม้จะมีอายุห่างกันถึง 21 ปีก็ตาม
โดยการแต่งงานครั้งนี้ซึ่งเป็นการแต่งงานครั้งที่ 2 ของนายเบน อาลี เช่นกัน มีขึ้นหลังจากนายเบน อาลี ยึดอำนาจโดยสงบปราศจากาการนองเลือดจากนายฮาบิบ บูร์กิบา ประธานาธิบดีคนแรกของประเทศหลังจากได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสเมื่อปี 2497 แต่ความที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานเกินไปถึง 30 ปี ทำให้ระยะหลังนายบูร์กิกาเริ่มเลอะเลือน ไร้ความสามารถในการบริหารประเทศ จนเป็นเหตุให้นายเบน อาลี ยึดอำนาจได้อย่างง่ายดายพร้อมกับประกาศว่าจะเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมจนกลายเป็นขวัญใจของประชาชนทันที
นางไลลา ทราเบลซีกับนายเบน อาลี มีลูกสาวด้วยกัน 2 คนคือ เนสรีน และฮาลิมา และลูกชาย 1 คนคือ ไซน์ เอล อะบีดีน จากเดิมที่นายเบน อาลี มีลูกติดจากภรรยาคนแรกเป็นลูกสาว 3 คนคือกาซวา ดอร์ซาฟและไซรีน การแต่งงานกับบุรุษเหล็กของตูนีเซีย ทำให้ตระกูลทราเบลซี ซึ่งเคยเป็นตระกูลชนชั้นกลางก้าวกระโดดขึ้นมาเป็นผู้กุมอำนาจเศรษฐกิจสำคัญของประเทศทันที ทั้งตระกูลของเบน อาลีและทราเบลซี มีหุ้นใหญ่ในธนาคาร สายการบิน ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ผู้ให้บริการอินเตอร์เนต สถานีวิทบุและโทรทัศน์ อุตสาหกรรมใหญ่น้อยและร้านค้าปลีกรายใหญ่
นอกจากนี้ นางไลลาและพี่น้อง 10 คนต่างทำตัวเหมือนมาเฟีย ทั้งเรียกเก็บค่าคุ้มครองจากเจ้าของร้านค้าต่างๆ ทั้งบีบบังคับให้ธุรกิจใหญ่น้อยต้องยอมมอบหุ้นก้อนใหญ่ให้ ขณะเดียวกัน บรรดาวงศาคณาญาติต่างถูกตราหน้าเช่นกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของการทุจริตคอรัปชั่น
เบล ฮุสเซน พี่ชายคนโตซึ่งเป็นหัวหน้าตระกูลได้ขึ้นมากุมอำนาจด้วยวิธีการคล้ายกับมาเฟียหรือเจ้าพ่อใหญ่ ส่วนไอเหม็ด ทราเบลซี หลานชายคนโปรดสุดของนางไลลา แม้จะมีเสียงเล่าลือกันว่าเป็นแกะดำของครอบครัว เป็นเพลย์บอยผู้ใช้ชีวิตสุดหรูหรา สะสมแต่รถหรูและเรือยอชต์
อัยการของฝรั่งเศสเคยสงสัยว่าไอเหม็ดและหลานชายอีกคนของนางไลลาเป็นคนสั่งการให้มีการขโมยเรือยอชต์ลำหนึ่งของวานิชธนกรชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งเมื่อปี 2549 แล้วนำไปจอดโชว์อย่างไม่เกรงกลัวกฎหมายใดๆที่ท่าเรือที่ซิดิ บู ซาอิด คฤหาสน์หรูส่วนตัวของนายเบน อาลี แต่ผู้พิพากษาของฝรั่งเศสได้ตัดสินให้ศาลตูนีเซียเป็นคนดำเนินคดีผู้ต้องสงสัยทั้ง 2 คน แต่ปรากฎว่าผู้พิพากษาที่เป็นผู้ที่ตัดสินชี้ขาดคดีนี้เป็นลุงของผู้ต้องหาทั้งสองคน จนถึงขณะนี้คดีนี้ก็ยังเงียบหายเป็นคลื่นกระทบฝั่ง
สื่อตูนีเซียหลายฉบับรายงานว่าไอเหม็ด ทราเบลซี เป็นคนหนึ่งที่พยายามหลบหนีออกนอกประเทศเพียงไม่กี่ชั่วโมงที่ประเทศก้าวไปสู่กลียุค แต่ก็ถูกม็อบที่โกรธแค้นคนหนึ่งทำร้าย บางสื่อรายงานว่าถูกชาวประมงคนหนึ่งแทงในเมืองที่ตัวเองเป็นนายกเทศมนตรีอยู่ และไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลทหารแห่งหนึ่งในเวลาต่อมา แต่ข่าวนี้ไม่ได้รับการยืนยันแต่อย่างใด
ระหว่างที่ยังเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของตูนีเซีย นางไลลา พยายามสร้างภาพตัวเองว่าเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งผู้มุ่งช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในประเทศนี้ โดยเป็นประธานสมาคมบาสมา ซึ่งรณรงค์เพื่อสร้างโอกาสในการทำงานให้กับคนพิการ นอกจากนี้ ยังเป็นประธานองค์การสตรีอาหรับ ซึ่งมุ่งมั่นจะเสริมอำนาจให้กับผู้หญิงทั่วอาหรับมากขึ้น และเธอยังได้ก่อตั้งสมาคมไซดา ซึ่งตั้งชื่อตามแม่ของเธอเมื่อกลางปี 2533 เพื่อพัฒนาการดูแลผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งในตูนีเซีย
แต่ภาพลักษณ์ที่เธอพยายามสร้างขึ้นมาก็ไม่อาจลบภาพที่เป็นตัวตนแท้จริงของเธอ ซึ่งเป็นคนชอบความหรูหราฟุ้งเฟ้อ ชอบเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัวไปช็อปปิ้งที่ดูไบเป็นประจำ แต่ละครั้งมีข่าวว่าหมดเงินหลายล้านปอนด์ หรือบินไปกิน
อาหารหรูๆราคาแพง รวมไปถึงไอศครีมรสเลิศจากแซงค์ โทรเปซ ที่คฤหาสน์หรูริมชายหาดท่ามกลางสียงคลื่นและลมทะเลยามตะวันตกดิน นอกจากนี้ ยังชอบรถหรูขับเคลื่อนด้วยความเร็วสูง ซึ่งครอบครัวนี้มีมากกว่า 50 คัน ไม่นับคฤหาสน์หลังงามอีกหลายหลัง
เชื่อว่าคนของตระกูลหมายเลขหนึ่งของตูนีเซียที่เรียกกันสั้นว่า “มาเฟีย” ได้โกงเงินแผ่นดินไปเข้ากระเป๋าของตระกูลราว 3,500 ล้านปอนด์ ส่วนใหญ่ฝากไว้ในบัญชีลับธนาคารฝรั่งเศส
“พวกเขา ครอบครัวของนางไลลา เป็นพวกขโมย เป็นพวกชอบตบทรัพย์แม้กระทั่งเป็นฆาตกร” ชาวตูนีเซียหลายคนให้ความเห็น
ขณะที่ครอบครัวนายเบน อาลี ได้รับฉายาว่าเป็น “มาเฟีย” เช่นกัน จากพฤติกรรมกอบโกยผลประโยชน์สร้างความมั่งคั่งให้แก่วงศ์ตระกูล ปล่อยปละละเลยให้ประชาชนในประเทศเผชิญภาวะปากกัดตีนถีบและตกงาน
แคเธอรีน เกราเซียต เผยว่านางไลลาพยายามขัดขวางไม่ให้มีการเผยแพร่และวางจำหน่ายหนังสือเล่มนี้่อ้างว่าเป็นการระบายสีใส่ไคล้เธอ แต่ผู้พิพากษาฝรั่งเศสได้ปฏิเสธคำร้องขอของนางไลล่าที่ให้เรียกเก็บหนังสือเล่มนี้ ในเมื่อเป็นข้อมูลที่รู้กันไปทั่ว จนได้ข้อสรุปปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นทั้งในวงศ์ตระกูล เบน อาลี และทราเบลซี และในรัฐบาลของนายเบน อาลี เป็นสาเหตุสำคัญนำไปสู่การประท้วงรุนแรง ปิดฉากการปกครองประเทศด้วยกฎเหล็กนาน 23 ปี