ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > มลภาวะจีน : ปัญหาที่ท้าทายมนุษยชาติ (4)

มลภาวะจีน : ปัญหาที่ท้าทายมนุษยชาติ (4)

26 พฤษภาคม 2014


รายงานโดย อิสรนันท์

วารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences (PNAS) ฉบับล่าสุดที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาเรื่อง “ผลกระทบของมลภาวะจากเอเชียต่อภูมิอากาศในโลก” จัดทำโดยคณะนักวิทยาศาสตร์จากรัฐเท็กซัส แคลิฟอร์เนีย และวอชิงตัน ซึ่งอาศัยแบบจำลองคอมพิวเตอร์เพื่อศึกษาปฏิกิริยาระหว่างเมฆกับละอองในอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งละอองที่เกิดจากมนุษย์ เช่น ละอองในอากาศจากรถยนต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ผลการศึกษาจากแบบจำลองคอมพิวเตอร์พบว่า มลภาวะในอากาศจากเอเชียโดยเฉพาะมลภาวะในจีนสามารถทำให้พายุที่ก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกทวีความรุนแรงมากขึ้น เหมือนกับทฤษฎีผีเสื้อกระพือปีกก็ไม่ปาน เพราะเมื่อก้อนเมฆหนาแน่นขึ้น จะทำให้เกิดฝนตกหนักขึ้นกว่าเดิม หรือทำให้อากาศอบอุ่นกว่าเดิม ตั้งแต่บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางเรื่อยไปจนถึงขั้วโลกเหนือ และการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจมีส่วนทำให้สภาพอากาศบริเวณชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ และในทวีปอเมริกาเหนือพลอยเปลี่ยนแปลงไปด้วย ดังที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

การเผยแพร่รายงานชิ้นนี้มีขึ้นในช่วงที่อังกฤษกำลังเผชิญกับมลภาวะทางอากาศอย่างรุนแรง ทั้งมลภาวะจากภาคอุตสาหกรรมและฝุ่นทรายจากทะเลทรายซาฮารา โดยทั้งกรุงลอนดอนและพื้นที่แถบนอร์ธ-เวสต์ ยอร์คไชร์ และเซาธ์ เวลส์ ได้รับผลกระทบมากที่สุด

หน่วยบริการรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน หรือสายด่วน 999 ต้องรับมือกับการที่ประชาชนพากันกระหน่ำโทรเข้าไปแจ้งว่ามีปัญหาด้านระบบการหายใจ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้แต่เรียกร้องให้ทุกคนหลีกเลี่ยงการออกไปอยู่กลางแจ้ง ขณะที่หน่วยรถพยาบาลในลอนดอน เวสต์มิดแลนด์ และอีสต์ออฟอิงแลนด์ ต่างได้รับแจ้งเหตุให้ไปรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจเพิ่มขึ้น 14 เปอร์เซ็นต์ และในช่วงเดียวกันนั้น ผลการสำรวจพบว่าหน้ากากอนามัยมียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 15 เปอร์เซ็นต์

ด้วยความเดือดร้อนจากมลภาวะทางอากาศอย่างรุนแรง ชาวเมืองผู้ดีอังกฤษยังได้รุมโจมตีนายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีซึ่งได้ยกเลิกการออกวิ่งจ็อกกิ้งในตอนเช้าว่าละเลยปัญหานี้ ทำราวกับว่าเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติของสภาพอากาศ ปล่อยให้มลภาวะลอยปกคลุมไปทั่วทุกหนทุกแห่ง

นักวิทยาศาสตร์ยังเตือนด้วยว่า ปัญหาภาวะหมอกควันจะนำไปสู่วิกฤติด้านสุขภาพ หลังจากทางการวัดระดับมลภาวะในอากาศได้ถึงระดับ 10 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของมาตราวัดอย่างเป็นทางการติดต่อกันเป็นวันที่สอง ท่ามกลางความวิตกว่า ประชาชนที่ป่วยเป็นโรคหอบหืดมากกว่า 1 ล้านคนจะมีอาการกำเริบหนักขึ้น หลังจากเริ่มมีผู้ป่วยโรคหอบหืดทั่วประเทศได้รับผลกระทบแล้วเกือบ 1 ใน 3 โดยต้องใช้ยาพ่นมากกว่าปกติ

ส่วนที่ประเทศจีน ปรากฏว่าเกิดพายุทรายพัดถล่มหลายเมืองอย่างรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปีเมื่อปลายเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมืองโบราณตุนหวง มณฑลกานซู่ ที่อยู่ติดกับทะเลทรายโกบี ต้องเผชิญกับคลื่นพายุทราย พัดถล่มทั่วทุกพื้นที่อย่างไม่ยั้ง นับเป็นพายุทรายครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปีนับตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา ทำให้ให้สภาพอากาศมืดครึ้มลงอย่างฉับพลันทันที จนแยกไม่ออกว่าเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน และยังมีผลต่อทัศนวิสัยการมองเห็นบนท้องถนนที่ลดลงเหลือไม่เกิน 20 เมตร

ขณะเดียวกันอากาศก็เย็นลงอย่างรวดเร็ว จนทางการต้องประกาศเตือนภัยสภาพอากาศในระดับสีแดง หรือระดับเลวร้ายที่สุด พร้อมกับประกาศงดการเรียนการสอนชั่วคราว ส่วนประชาชนจำต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ข้างนอกตลอดเวลา

อย่างไรก็ดี ความรุนแรงจากพายุทรายที่พัดผ่านหลายมณฑลตั้งแต่กานซู่ หูเป่ย หูหนาน เจียงซี และอันฮุย ได้บรรเทาลงหลังจากเกิดพายุฝนตามมา

ภัยธรรมชาติครั้งนี้มีขึ้นเพียงไม่นานหลังจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมของจีนเพิ่งเปิดเผยผลการตรวจคุณภาพอากาศใน 74 เมือง พบว่ามีแค่ 3-4 เมืองเท่านั้นที่อากาศอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย อีก 71 เมืองมีคุณภาพอากาศไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐาน สำหรับเมืองที่อากาศอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยได้แก่เมืองไหโขว่ในไหหลำ นครลาซาในทิเบต และโจวซานในมณฑลเจ้อเจียง ขณะที่นครเสิ่นเจิ้นติดอันดับ 10 เมืองที่มีคุณภาพอากาศดีที่สุด

ที่มาภาพ : http://www.theamazingpics.com/wp-content/uploads/2014/04/Photo-of-Oxygen-Bags-Being-Used-In-China-As-Smog-Gets-Worse.jpg
ที่มาภาพ : http://www.theamazingpics.com/wp-content/uploads/2014/04/Photo-of-Oxygen-Bags-Being-Used-In-China-As-Smog-Gets-Worse.jpg

สำหรับพื้นที่แถบกรุงปักกิ่ง เทียนสิน และเหอเป่ย ซึ่งถูกหมอกควันพิษปกคลุมนานกว่า 60 วันเมื่อปีที่แล้ว จัดได้ว่ามีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในประเทศ มีฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนในระดับเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 106 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงกว่ามาตรฐานความปลอดภัยขององค์การอนามัยโลกที่ระดับ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เช่นเดียวกับเมืองต่างๆ แถบบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี และดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง ในมณฑลกวางตุ้ง

สถานการณ์ดูยิ่งเลวร้ายลงไปอีกเมื่อหนังสือพิมพ์ลอสแอนเจลิสไทมส์ รายงานผลการศึกษามลภาวะในอากาศในกรุงปักกิ่งของนายถิง จู นักชีววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยซินหัวในกรุงปักกิ่งและผู้ร่วมงานอีก 7 คน ปรากฏว่าพบเชื้อจุลินทรีย์กว่า 1,300 สายพันธุ์ลอยปะปนอยู่ในอากาศที่เต็มไปด้วยหมอกควันพิษ โชคดีที่จุลินทรีย์ส่วนใหญ่เป็นแบคทีเรียที่ไม่มีอันตรายและมักพบอยู่ทั่วไป ยกเว้นเชื้อจุลินทรีย์และเห็ดราบางชนิดที่เป็นสาเหตุของโรคภูมิแพ้และโรคระบบทางเดินหายใจ

และหลังจากถูกกดดันมานานว่าจะต้องลงมือแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่นับวันเสื่อมโทรมลง อันเป็นผลพวงจากการเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในที่สุดคณะกรรมการประจำของสภาประชาชนหรือรัฐสภาจีน ได้ลงมติผ่านกฎหมายปกป้องสิ่งแวดล้อมฉบับแก้ไขปรับปรุงใหม่ให้ทันสมัยในรอบ 25 ปี โดยระบุชัดว่าการปกป้องสิ่งแวดล้อมเป็นภารกิจสำคัญของรัฐบาล แต่ยังจำกัดบทบาทของกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอที่จะมีส่วนร่วมในการติดตามบรรดาผู้ก่อมลภาวะ พร้อมกับกำหนดบทลงโทษที่หนักขึ้นสำหรับผู้ที่เป็นตัวการก่อมลภาวะ

ทั้งนี้ กฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่นี้ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2558 เป็นต้นไป จะเสริมเขี้ยวเล็บให้กับรัฐบาลในการประกาศสงครามกับกลุ่มผลประโยชน์อุตสาหกรรมเพื่อกำจัดมลภาวะในประเทศ ตลอดจนเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดของกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับเก่าที่มุ่งแต่กระตุ้นตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจ จนทำให้สิ่งแวดล้อมทั้งน้ำ อากาศ และดิน พินาศวอดวายอยู่ทุกวันนี้

ในกฎหมายใหม่ฉบับนี้จะให้อาญาประกาศิตแก่กระทรวงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่จะลงดาบฟันผู้ที่ละเมิดกฎหมายให้หนักหน่วงขึ้น รวมไปถึงการสั่งปิดโรงงาน การยึดทรัพย์สินของผู้ที่เป็นตัวการก่อให้เกิดมลภาวะ นอกจากนี้ ยังให้หลักประกันว่าจะเปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณะเกี่ยวกับการติดตามและการประเมินด้านสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมหลายคนให้ข้อสังเกตว่าการประกาศอย่างขึงขังของนายหลี่ เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรีกลางที่ประชุมสมัชชาประชาชนว่าจะทำสงครามกับปัญหามลภาวะจะไปได้สักกี่น้ำ เพราะไม่ทันไร ก็ปรากฏสัญญาณความขัดแย้งให้เห็นกันแล้ว เมื่อรัฐบาลปักกิ่งยังคงตั้งเป้าการเติบโตของเศรษฐกิจที่ร้อยละ 7.5 ซึ่งทำให้การรักษาสิ่งแวดล้อมประสบความคืบหน้าได้ยากมาก ขณะที่การเจรจาต่อรองที่ดำเนินมานานกว่าปีก็เป็นไปอย่างดุเดือดในกลุ่มผู้ได้รับผลประโยชน์ต่างๆ

ด้านนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมยังกังวลว่า การรณรงค์ของรัฐบาลอาจก่อปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ตามมา เนื่องจากรัฐบาลสนับสนุนให้ย้ายกระบวนการผลิตพลังงานสกปรก เช่น ถ่านหิน ไปอยู่ยังภูมิภาคที่ยังไม่เจริญ อย่างไรก็ตาม นายอู๋กลับปกป้องนโยบายดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า ภูมิภาคเหล่านั้นมีความสามารถในการรองรับมลพิษได้มากกว่า

แม้การรักษาสิ่งแวดล้อมถือเป็นนโยบายสำคัญอันดับแรกของผู้นำจงหนานไห่ แต่ระบบกฎหมายของจีนมักไม่เอื้อให้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับมลภาวะ อาทิ กรณีน้ำประปาปนเปื้อนเบนซินในเมืองหลันโจว ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ โดยชาวบ้าน 5 คนได้ยื่นฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายและคำขอโทษ ตลอดจนขอให้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพน้ำจากบริษัทผู้ผลิตน้ำประปาของเมือง แต่ศาลไม่รับฟ้อง โดยอ้างกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งระบุว่าประชาชนไม่มีสิทธิฟ้องในคดีที่เกี่ยวข้องกับมลภาวะ ยกเว้นหน่วยงานและกลุ่มองค์กรเท่านั้น ที่สามารถยื่นฟ้องได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากทางการก่อน

ขณะที่ความวัวไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก หรือเกิดปัญหา “ผีซ้ำด้ำพลอย” เมื่อกระทรวงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และกระทรวงที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันแถลงเมื่อกลางเดือน เม.ย ยอมเปิดเผยผลสำรวจตัวอย่างดินทั่วประเทศระหว่างปี 2548-2556 ที่ถูกปิดเป็นความลับของประเทศว่า ผืนดินของจีนเกือบ 1 ใน 5 หรือคิดเป็นเนื้อที่ราว 6 ล้าน 3 แสนตารางกิโลเมตร หรือเท่ากับมีขนาดใหญ่กว่าประเทศสเปนถึง 2 เท่า ปนเปื้อนสารพิษ ในจำนวนนี้ร้อยละ 19.4 เป็นพื้นที่เพาะปลูกที่ได้รับผลกระทบเป็นบริเวณกว้าง ถ้อยแถลงนี้เท่ากับหย่อน ระเบิดลูกใหม่เกี่ยวกับความปลอดภัยทางอาหาร

รายงานผลการสำรวจระบุว่า พื้นที่ซึ่งปนเปื้อนสารพิษหนักที่สุดได้แก่เขตอุตสาหกรรมบนดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีทางภาคเหนือ และดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียงทางภาคใต้ ตลอดจนหลายพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีการสะสมของสารพิษที่ปล่อยจากโรงงาน การทำเหมืองแร่ และเกษตรกรรมอยู่ชั่วนาตาปี

โดยกว่าร้อยละ 80 ของมลภาวะในดินเหล่านี้ปนเปื้อนโลหะแคดเมียม นิกเกิล และสารหนู มากที่สุด ซึ่งล้วนแต่เป็นสารก่อมะเร็ง โดยเฉพาะโลหะแคดเมียม ซึ่งต้นข้าวจะดูดซึมโลหะหนักชนิดนี้ ที่เป็นสารก่อมะเร็งที่อาจไปทำลายไต

ก่อนหน้านี้ กระทรวงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเคยยืนกรานเมื่อปีที่แล้วให้เก็บผลการสำรวจมลภาวะในดินเป็นความลับของประเทศ ทำให้กลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมพากันต่อต้านและกดดันอย่างหนัก จนท้ายที่สุด รัฐบาลปักกิ่งต้องยอมเปิดเผยความลับนี้ พร้อมกับรับปากว่าจะยอมเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับมลภาวะในอากาศให้แม่นยำมากขึ้น

ถ้อยแถลงนี้ยิ่งสร้างความวิตกให้กับประชาชน เพราะก่อนหน้านี้ เมื่อต้นปีที่แล้ว สื่อมวลชนได้รายงานข่าวการขายข้าวปนเปื้อนโลหะแคดเมียมจำนวนหลายหมื่นตันให้กับผู้ผลิตบะหมี่ในกวางโจว ทางภาคใต้ของประเทศมาตั้งแต่ปี 2552 แต่ทางการพยายามแก้ตัวว่าได้นำข้าวปนเปื้อนโลหะแคดเมียมไปผลิตสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร อาทิ แอลกอฮอล์สำหรับการผลิตอุตสาหกรรม เป็นต้น

ผลการเปิดโปงของสื่อมวลชน ทำให้ทางการต้องเร่งสอบสวนโรงสีข้าวหลายแห่งและพบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของข้าวที่ขายในเมืองนี้ปนเปื้อนแคดเมียม

ไหนๆ ความลับก็ไม่มีในโลกอยู่แล้ว กระทรวงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจึงสารภาพว่า “หมู่บ้านมะเร็ง” มีอยู่จริงและมีหลายแห่งทั่วประเทศ หลังจากสื่อมวลชนรายงานว่า พื้นที่ชนบทกว่า 100 แห่งในประเทศปนเปื้อนสารพิษ อีกทั้งยังพบหลักฐานว่าชาวบ้านป่วยเป็นโรคมะเร็งสูงขึ้น